Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยมีการยื่นฟ้องรายที่ 4 คดี ม. 112 จาก สภ.บางแก้ว ที่ประชาชนแจ้งความเหตุโพสต์ 4 ข้อความใน 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส'

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ปุญญพัฒน์ (นามสมมุติ) ชายอายุ 28 ปี เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามนัด หลังได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง จากคดีที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยถูกระบุว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความ 4 ข้อความ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 9-10 พ.ค. 2563 โดยมี 2 ข้อความกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และการพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนี 

เมื่อปุญญพัฒน์เดินทางถึงศาล จึงได้ทราบว่า พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ววานนี้ (14 ก.ค. 2564) 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 ปุญญพัฒน์ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยเขาต้องออกเดินทางจากบ้านในจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่เวลา 03.00 น. เพื่อมาที่ สภ.บางแก้ว ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่ที่ศิวพันธ์ มานิตย์กุล เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดี ก่อนที่ปุญญพัฒน์จะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และถูกนำตัวมาขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง ศาลอนุญาตฝากขัง แต่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้วางเงินสดจำนวน 150,000 บาท เป็นหลักประกัน

พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องปุญญพัฒน์ต่อศาล ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

หลังศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.803/2564 ศาลได้ออกหมายขังปุญญพัฒน์ระหว่างพิจารณาคดี ในวันนี้ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่วางเป็นหลักประกันในชั้นฝากขัง ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ทำให้ปุญญพัฒน์ได้รับการปล่อยตัวให้ออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 30 ก.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

คดีของปุณณพัฒน์นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 4 ที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งฟ้องคดี หลังก่อนหน้าที่มีการสั่งฟ้องคดีในข้อหาเดียวกันกับ พิพัทธ์, ธีรวัช  และ มีชัย ทั้งนี้ ทุกคดีที่กล่าวถึงล้วนเป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีทั้งสิ้น 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตรา 112 เพื่อดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เมื่อปลายปี 2563 มีคดีมาตรา 112 ที่มีประชาชนเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษถึง 52 คดี หรือคิดเป็นประมาณ 49 เปอร์เซ็นต์ของคดีทั้งหมด (107 คดี)

(อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net