Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' อัดล็อกดาวน์พ่นพิษ ทำเชื้อโควิดกระจายตัว ชี้รัฐบาลล้มเหลว ส่อทำระบบสาธารณสุขพัง สั่งบังคับประหารผู้ประกอบการ 'ก้าวไกล' อัด ‘ประยุทธ์’ โยนบาปโควิดให้ ‘แรงงาน’ สังเวยบริหารล้มเหลว ซัด สิ่งที่ควรทำคือเยียวยา -รุกตรวจ -หาเตียง อย่าตีมึนปล่อย ‘ส่งเชื้อกลับบ้าน’ แลกตัวเลข กทม.ลด พร้อมร้องรบ.ต้องชดเชย ค่าเสียโอกาสของเจ้าของธุรกิจร้านอาหารด้วย

28 มิ.ย.2564 จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด 19 ล่าสุดโดยล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 4 จังหวัดภาคใต้ สั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ห้ามทานอาหารในร้าน ห้างสรรพสินค้าปิดเวลา 3 ทุ่ม มีผล 28 มิ.ย.นี้ นั้น

เพจบุ๊กแฟนเพจ 'พรรคเพื่อไทย' รายงานท่าทีของพรรค โดยระบุว่า อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า คำสั่งรัฐบาลให้ปิดแคมป์ก่อสร้างกลายเป็นปรากฏการณ์ ‘ผึ้งแตกรัง’

ล็อกดาวน์พ่นพิษ ทำเชื้อโควิดกระจายตัว

“แรงงานก่อสร้าง คลัสเตอร์ใหญ่ในกรุงเทพฯ จำนวนมาก แตกกระจายตัวกลับต่างจังหวัดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าถนนมิตรภาพขาออกไปภาคอีสาน มีรถกระบะขนข้าวของเครื่องใช้จำนวนมากออกเดินทาง ทำให้รถติดยาวตั้งแต่ค่ำวันศุกร์จนถึงวันอาทิตย์ตอนดึก ทั้งที่ไม่ใช่ช่วงเทศกาลสำคัญ” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

ที่จังหวัดนครราชสีมา มีช่างทาสีจากแคมป์ก่อสร้าง 8 คน เดินทางกลับบ้าน พบติดเชื้อโควิดรวม 8 คน ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดจากปัญหาความด้อยประสิทธิภาพในการสื่อสารในภาวะวิกฤตของรัฐบาล ซึ่งมิใช่เป็นครั้งแรก แต่เป็นปัญหาตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตโควิดระลอกแรก ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งการประกาศมาตรการของรัฐแทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหา กลับกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ประชาชนมากขึ้น และแทนที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับกลายเป็นการทำลายความเชื่อมั่นจนไม่เหลือ จนทำให้กระแส #ประยุทธ์ออกไป ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1

การประกาศมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ ตอนตี 1 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไร้แผน ไร้ทิศทาง ไร้มาตรการรองรับ ไม่เข้าใจธรรมชาติของแรงงานรายวันทั้งๆ ที่รัฐบาลมีคนที่เข้าใจธุรกิจรับเหมาก่อสร้างร่วม ครม.อยู่หลายคน แต่ไม่รู้ว่าได้พูดคุยปรึกษาหารือกันหรือไม่ หรือปรึกษากันแล้วไม่ฟังกัน จึงปล่อยให้เกิดการประกาศมาตรการทำลายวงการก่อสร้างได้พังพินาศเยี่ยงนี้

การประกาศของรัฐบาลที่ออกมาเลี่ยงใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่ใช้คำว่า ‘มาตรการคุมเข้มสูงสุด’ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเยียวยา ดังนั้นรัฐบาลจึงควรถามประชาชนด้วยว่าคนทำมาหากินที่ล็อกดาวน์ตัวเองมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้จะล็อกดาวน์ตัวเองไปได้อีกนานแค่ไหน รัฐบาลอาจคิดว่าล็อกดาวน์รอบนี้ ‘เจ็บแต่จบ’ แต่ถ้า ‘เจ็บแล้วไม่จบ’ กลายเป็นเจ็บซ้ำซาก พลเอกประยุทธ์ จะรับผิดชอบอย่างไร มาตรการ 120 วันเปิดประเทศ ผ่านไปไม่ถึง 10 วันก็ต้องกลับมาล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล เสียแล้ว อย่าว่าแต่เปิดประเทศเลย แค่เปิดโรงเรียนให้สำเร็จก็ยังยาก

“ในสถานการณ์วิกฤติที่คนติดเชื้อวันนี้ทะลุ 5,000 คนไปแล้ว เสียชีวิตหลายสิบคนต่อวัน รัฐต้องเร่งจัดหาวัคซีนให้หลากหลาย ทั่วถึง รวดเร็ว และทันการณ์ เพราะเป็นทางรอดเดียวที่เหลืออยู่”  อนุสรณ์ กล่าว

รัฐบาลล้มเหลว ส่อทำระบบสาธารณสุขพัง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและถือว่าเลวร้ายที่สุด ผู้ติดเชื้อล้นโรงพยาบาล น่าตกใจที่ระบบสาธารณสุขไทยถึงจุดที่ต้องเลือกว่าคนไข้คนไหนจะได้ไปต่อ นี่คือผลจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลวจนแพทย์รับไม่ไหว พลเอกประยุทธ์ คุยโวว่าประเทศไทยมีวัคซีนที่ดีจำนวนมากและหลากหลายที่สุด แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการจองซื้อวัคซีน หลายยี่ห้อยังอยู่ระหว่างการร่างสัญญา จนคนไทยไม่มีทางเลือก เพราะรัฐบาลผูกขาดวัคซีนไว้แต่เพียงผู้เดียว เสียงสะท้อนของประชาชนที่ว่า ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด เริ่มมองเห็นความจริง ซึ่งจะส่งผลร้ายกับคนไทยทั้งประเทศ

มาตรการรัฐ สั่งบังคับประหารผู้ประกอบการ

การุณ โหสกุล ส.ส. กทม. กล่าวว่า ประชาชนสับสนกับการตัดสินใจของรัฐบาล ทั้งที่ไม่กี่วันก่อน พลเอกประยุทธ์ เพิ่งประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วัน แต่ยังไม่ทันได้เห็นแผนเปิดประเทศ ความผิดพลาดของรัฐบาลปล่อยให้โควิดระบาดเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 111 คลัสเตอร์ สุดท้ายต้องประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง แต่มาตรการดังกล่าวกลับซ้ำเติมผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจบริการ รวมถึงการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างอาจกลายเป็นดาบสองคม เกิดการแพร่ระบาดในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ ‘คลัสเตอร์สงกรานต์’

“มาตรการที่สั่งให้ร้านอาหารขายให้ลูกค้าเฉพาะที่ซื้อกลับบ้านเท่านั้น เปรียบเสมือนคำสั่งประหารชีวิต เพราะการที่ลูกค้าไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้จะทำให้ยอดขายต่ำกว่าทุน การบังคับใช้มาตรการนี้ถึง 30 วัน จึงสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เพราะผู้ประกอบการทั้งหลายต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมด โดยรัฐบาลยังไม่มีแผนการเยียวยาที่เหมาะสมและชัดเจน จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจบริการต้องล้มหายตายจาก ปิดกิจการอีกนับหมื่นรายและมีผู้ได้รับผลกระทบอีกนับแสนรายอย่างแน่นอน”

'ก้าวไกล' อัด ‘ประยุทธ์’ โยนบาปโควิดให้ ‘แรงงาน’ สังเวยบริหารล้มเหลว ซัด สิ่งที่ควรทำคือเยียวยา -รุกตรวจ -หาเตียง อย่าตีมึนปล่อย ‘ส่งเชื้อกลับบ้าน’ แลกตัวเลข กทม.ลด  

ขณะที่ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานด้วยว่า ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. เขตบางขุนเทียน และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความเห็นต่อแนวทางบริหารสถานการณ์โควิด 19 โดยเฉพาะการลักหลับออกคำสั่งปิดแคมป์แรงงานเป็นเวลา 30 วัน ว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ออกมาเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่านี่คือเข้าสู่ระลอก 4 แล้ว โดยการกระจายเชื้อเกิดขึ้นเป็นวงกว้างไม่ใช่เฉพาะในแคมป์แรงงานหรือร้านอาหารเท่านั้น แต่สามารถจะพบได้จากชีวิตประจำวันในชุมชน หมู่บ้าน หอพัก คอนโดมิเนียม ที่ทำงาน แต่การสั่งที่เน้นลงไปที่แรงงานเป็นเรื่องของการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่นั่งเป็นประธานสารพัดชุดเฉพาะกิจ ไม่ว่าจะเป็น ประธานศูนย์อำนวยการจัดการวัคซีนแบบ Single Command, ผู้อำนวยการ ศบค.กรุงเทพและปริมณฑล, ผู้อำนวยการ ศบค. และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ได้รวบอำนาจใน พ.ร.บ. ทั้ง 31 ฉบับจากสาธารณสุขและหน่วยงานมาไว้กับตนเอง ต้องการหาแพะมารับบาปแทนตัวเองที่ไม่สามารถบริหารสถานการณ์ได้ หรือต้องบอกว่าเป็นตัวการสำคัญที่ลากให้สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้ 

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. เขตบางขุนเทียน และโฆษกพรรคก้าวไกล

“การโทษไปที่แคมป์แรงงานก็เพื่อบอกชาวกรุงเทพว่าคนกลุ่มนี้เป็นต้นเหตุของตัวเลขที่พุ่งสูงในช่วงนี้ทั้งที่สถานการณ์ที่เป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสียทั้งหมด ในสถานการณ์นี้ยังมีคนทำงานหรือคนกรุงเทพทั่วไปอย่างพวกเราที่ต้องออกไปทำงานแลกข้าว แลกอาหาร แลกค่าแรง ที่หยุดงานไม่ได้และยังสามารถที่จะกระจายเชื้อได้อยู่ดี แต่อาจเป็นเพราะแรงงานเป็นกลุ่มที่มีปากเสียงในสังคมน้อยอยู่แล้ว จึงทำให้รัฐบาลเลือกพวกเขามาเป็นเหยื่อรองรับอารมณ์ของสังคมแทนตัวเองในครั้งนี้ และพยายามตีเนียนหาวิธีลดตัวเลขผู้ติดเชื้อและการหาเตียงในกรุงเทพฯด้วยการลักหลักออกประกาศปิดแคมป์ตอนตี 1 เป้าหมายเพื่อให้เกิดความโกลาหลและให้คนรีบกลับต่างจังหวัดก่อนประกาศจะมีผลบังคับใช้จริง กรุงเทพจะได้มีเตียงเหลือพอ โร้ดแม็ปนี้เป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เองที่หลุดพูดออกมา การกระทำแบบนี้ต้องบอกว่าเลวร้ายมากเพราะนอกจากวิกฤติในกรุงเทพจะไม่ลดแล้วยังจะเป็นการส่งเชื้อให้กระจายไปทั่วประเทศอีกด้วย และถ้าเกิดสถานการณ์นั้นเมื่อไหร่ เชื่อได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะออกมาด่าตราหน้าพวกเขาว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่สถานการณ์นี้เป็นท่านเองที่สร้างมันขึ้นมาทั้งนั้น”

ณัฐชา กล่าวว่า การกระทำกับแรงงานเช่นนี้คือภาพสะท้อนอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลนี้มองคนไม่เท่ากันมาโดยตลอดและบริหารวิกฤติอย่างอำมหิต แรงงานคือคนอีกระดับที่จะถูกจัดการอย่างไรก็ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่แรงงานต้องการก็ไม่ต่างจากคนอื่นในประเทศนี้ เขาต้องการได้รับการตรวจที่รัฐบาลต้องตรวจเชิงรุก เขาต้องการพื้นที่กักตัวแยกตัวที่ได้รับการดูแลอย่างเป็นมนุษย์ไม่ใช่คุกสังกะสีที่เรียกว่าแคมป์คนงานที่มีทหารเฝ้าคุม เขาต้องการหมอพยาบาลและการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และเขาก็ต้องการการชดเชยเยียวยาอย่างสมเหตุสมผลเมื่อมีคำสั่งของรัฐมากระทบ ตนเชื่อว่า หากพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ ยอมรับ และเข้าใจ ไม่ว่ามาตรการจะเข้มงวดแค่ไหนเขาก็ยินดีจะปฏิบัติตาม

“ถ้ารัฐบาลมองคนเท่ากันจะไม่มีประกาศลักหลับเช่นนี้ออกมา สิ่งที่ผู้นำที่มีวุฒิภาวะทั่วโลกทำให้เห็นตลอดคือ ทุกครั้งที่เขาจะมีมาตรการใดออกมากระทบต่อพี่น้องประชาชน เขามักเริ่มต้นด้วยคำขอโทษ เริ่มต้นด้วยความเห็นใจและเริ่มต้นด้วยการชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากนั้นเขาจะพูดถึงวิธีการดูแลเยียวยาที่เขาจะทำเพื่อชดเชยผลกระทบเหล่านี้ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการแถลงข่าวอย่างยิ้มแย้มเล่นมุกกันในวันที่ผู้ติดเชื้อพุ่งไปกว่า 4,000 คนต่อวันและมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการลักหลับออกคำสั่งโดยไม่พูดถึงการเยียวยาอะไรเลยและหายหน้าไปเพราะติดเสาร์อาทิตย์ ผมคิดว่าหากเราจะต้องมีผู้นำที่ไร้วุฒิภาวะเช่นนี้ สู้เราไม่มีเสียเลยจะดีกว่า เพราะถ้าไม่มีเรายังพอหาทางออกกันเองได้ แต่ถ้ามีแบบนี้ ต่อให้คนทั้งประเทศมีทางออก คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ นี่แหล่ะที่จะขวางทางออกไปหาความหวังของประเทศนี้ตลอดเวลา”

ณัฐชา ยังได้กล่าวต่อว่า วิกฤตของพี่น้องแรงงานที่กำลังประสบในขณะนี้ตนเองสัมผัสได้ดีในฐานะที่เคยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและอยู่ในสายงานนี้มาตลอดตั้งแต่เรียนจบในฐานะเด็กอาชีวะคนหนึ่ง การสั่งแรงงานก่อสร้างหยุดทำงานเป็นเวลาหนึ่งเดือน มันคือ ‘คำสั่งตาย’ สั่งให้พวกเขาอด สั่งให้ขาดรายได้และจะขาดลมหายใจในท้ายที่สุด คำสั่งที่ออกมาจึงเป็นเหมือนคำสั่งของคนที่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้เลย เหตุใดตนจึงกล้าพูดเช่นนี้ นั่นก็เพราะแรงงานก่อสร้างมากกว่าร้อยละ 90 คือผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันไหนที่ไม่ทำงานเท่ากับว่าไม่มีรายได้ ส่วนที่พักของคนงานจะถูกสร้างและออกแบบเพื่อนอนตอนกลางคืนอย่างเดียว เวลากลางวันอาศัยอยู่ไม่ได้เพราะก่อสร้างด้วยสังกะสี อากาศจะร้อนจนแทบสุก ปกติเขาจึงทำงานเกือบ 7 วัน น้อยมากที่จะอยู่ที่แคมป์นอกจากกลับมานอน ดังนั้น เมื่อมีการสั่งพวกเขาห้ามทำงาน จึงเท่ากับสั่งให้เขาต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีรายได้ภายในแคมป์สังกะสีร้อนๆเป็นเวลาหนึ่งเดือนซึ่งแค่อยู่จริงแค่วันสองวันก็แทบอยู่ไม่ได้แล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเมื่อคำสั่งออกมาว่าจะต้องอยู่แบบนี้เป็นเดือนๆ ทำไมเขาจึงตัดสินใจไปเสี่ยงตายเอาที่บ้านเกิดดีกว่า

“ล่าสุด ได้ยินว่าท่านจะชดเชยค่าแรงให้แค่ร้อยละ 50 เรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน แต่หนี้และดอกเบี้ยชัดมากและยังเดินเต็มที่ ปกติแรงงานยังสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการกินกับไซต์งานได้ แต่เท่าที่ทราบเรื่องกระทั่งเรื่องการดูแลอาหารการกินก็ยังไม่ชัดเจน ที่ร้ายกว่านั้นคืองบเยียวยาท่านยังจะไปเอามาเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้ จึงยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมมาก เพราะเงินก้อนนี้คือเงินของนายจ้างและลูกจ้างที่สะสมไว้เพื่ออนาคต ส่วนรัฐมีแต่ค้างหนี้ประกันสังคมอีกหลายหมื่นล้านบาท ไม่ยอมจ่ายแล้วยังจะไปล้วงเงินกระเป๋าของเขาเองแล้วบอกว่าเป็นเงินเยียวยาได้อย่างไร กู้เงินมาแล้วตั้งมากมายทำไมจึงไม่ใช้เงินของรัฐชดเชย เงินกองทุนประกันสังคมที่ควรจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของคนทำงานหรือเป็นบำนาญยามแก่เฒ่าของลูกจ้างกลับถูกรัฐบาลล้วงกระเป๋ามาใช้เพื่อแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของตัวเอง ถ้ายังทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆกองทุนประกันสังคมก็อาจมีความเสี่ยงที่จะล้มได้”

ณัฐชา ย้ำว่า ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และศบค.รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้ออกคำสั่งที่สิ้นคิดนี้ว่า จะต้องมีการชดเชยทันทีอย่างเต็มที่ การชดเชยในที่นี้คือการชดเชยรายได้ การรับผิดชอบต่อชีวิตข้างหลังของพวกเขา ไม่ใช่แค่การแจกอาหารแห้งให้ประทังชีวิต  ภาระที่อยู่เบื้องหลังของคนงานก่อสร้างคือครอบครัว พ่อแม่ ลูกเมีย หากพวกเขาไม่มีรายได้ อีกหลายชีวิตก็ไร้อนาคตเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กระทบเฉพาะแรงงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้ทั้งระบบ อย่างผู้รับเหมาก่อสร้างเองก็มีผลกระทบเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่ส่งมอบงานล่าช้าเขาก็ต้องจ่ายค่าปรับ ยังมีค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่แพงขึ้น หรือต้องสั่งใหม่ ต้นทุนเหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จนถึงตอนนี้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศอวดครวญ ร่ำร้อง เป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ไหวแล้ว การบริหารจัดการที่ล้มเหลวซ้ำๆของรัฐบาลเวลานี้ไม่ต่างอะไรเลยกับการบดขยี้ชีวิตของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เชื่อว่าสำหรับประชาชนตอนนี้คงเหลือแค่คำตอบเดียวเท่านั้นที่เขาอยากให้ความหวังเป็นจริงที่สุด นั่นก็คือ การได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไปเสียที

'ธัญวัจน์​ ก้าวไกล​' ร้องรบ.กรณีประกาศล็อคดาวน์ ต้องชดเชย ค่าเสียโอกาสของเจ้าของธุรกิจร้านอาหารด้วย

ธัญวัจน์​ กมลวงศ์วัฒน์​ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล​ กล่าวถึงการประกาศกึ่งล็อคดาวน์ที่ประกาศเมื่อ
เมื่อคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2564  โดยเริ่มวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายนนี้ โดยออกประกาศมาตรการต่าง ๆ ห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ดื่มในร้าน ให้เป็นการซื้อกลับบ้านเท่านั้น รวมถึงเวลาเปิดปิดห้างสรรพสินค้า ผับบาร์ที่ถูกตอกตะปูปิดเงียบ เจ้าของธุรกิจที่มีภาระมากมาย ทั้งค่าที่ดิน ค่าเช่า ค่าแรงงาน เงินผ่อนที่ต้องหา ยิ่งเป็นการประกาศและมีผลเร็ววัน ยิ่งเกิดการประมาณการซื้อของหรือวัตถุดิบที่ต้องเน่าเสียเพราะความกระทันหัน “อีกครั้ง”  วันนี้ต้องบอกว่าแนวโน้มจะล้มแล้วยากที่จะลุก เพราะวันนี้คำว่าคนทำมาหากิน คงใช้ไม่ได้ เพราะกลายเป็นคำว่า “คนทำมาหาหนี้” ยิ่งทำ ยิ่งดึง ยิ่งมีหนี้ และไร้วี่แววในการ “ชดเชย” ค่าเสียโอกาสจากการประกาศมาตราการการควบคุมโรค

ธัญวัจน์กล่าวเพิ่มเติมว่าด้วยความเคารพบุคคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ทำงานอย่างหนัก แต่รัฐบาลเคยพิจารณาว่าแรงงานของการปฏิบัติการในการสาธารสุขเพียงพอหรือไม่ งบประมาณเพียงพอหรือ เพราะสามารถบอกได้เลยว่าผู้ประสานงานและรับเคสนั้นติดต่อยาก ไม่รับสาย เท่าทีทราบก็เพราะเมื่อคืนมีคนแจ้งให้ดิฉันช่วยประสานกว่าจะติดต่อได้ก็ยากเย็นมาก และเมื่อไปสอบถามเพิ่มเติมก็ไม่มีคนรับสาย จนวินาทีนี้ก็ยังไม่มีคนมารับผู้ป่วยที่นอนหายลำบาก นี่แปลว่าการ “ควบคุมโรค” อาจมีแรงงานไม่เพียงพอที่จะเชื่อมการประสานให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว และนั่นหมายถึงการควบคุมโรคก็อาจไม่มีประสิทธิภาพพอ 

เราเข้าใจว่าการประกาศล็อคดาวน์วันนี้ก็เพื่อป้องกันการระบาด หากท่านอยากประชาชนเข้าใจท่าน การประกาศการล็อคดาวน์ในแต่ละครั้ง ท่านต้องประกาศมาตราการการ “ชดเชยค่าเสียโอกาส” ให้กับประชาชนด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่เป็นกำลังฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ที่รัฐยังไม่เคยมีท่าทีใด ๆ ที่จะ “ชดเชย” และพรรคก้าวไกลก็นำเสนอทางแก้ปัญหาให้ท่านหลายครั้ง และอยากให้ผู้มีอำนาจช่วยฟังเสียงและนำไปแก้ปัญหาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือการจ้างงาน นโยบายการเงิน และ ดอกเบี้ย รวมถึง “ค่าเสียโอกาส” ที่รัฐต้อง “ชดใช้” 

เงินกู้หนึ่งล้าน ๆ ที่ยังเบิกจ่ายน้อยมาก และไม่หมดกับโครงการ โคก หนอง นา ที่สรุปเหลือแค่หนองเล็ก ไม่มีประสิทธิภาพ ทำแล้วไม่ทราบว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาปัจจุบันอย่างไร มันถึงเวลาที่ท่านต้องคิดถึงฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ เพราะคนในสังคมเป็นทั้งปัจจัยการผลิต และ ผู้บริโภค ดังนั้นแรงงานในภาคธุรกิจสำคัญที่สุด แล้วเราต้องอุ้มและชดเชยภาคธุรกิจ และหากท่านจะแก้ปัญหานี่คือสิ่งแรกที่ท่านต้องให้ความสำคัญ และท่านต้องออกมาตราการการ “ชดเชย” เร็วที่สุด

สุดท้ายนี้ดิฉันขอเรียกร้องให้รัฐบาลทำทันทีทุกครั้งที่ประกาศ “ล็อคดาวน์” ต้องประกาศ “การชดเชย” ด้วย​ ธัญวัจน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net