Skip to main content
sharethis

เลื่อนไต่สวนประกัน 'จัสติน' รอบที่ 3 ผู้บริหารศาลอาญาอ้างความเสมอภาค ต้องนำตัวมาไต่สวนเหมือนคดีอื่น หลังราชทัณฑ์งดนำตัวไต่สวนผ่านจอภาพ นัดอีกครั้ง 1 มิ.ย. 2564 แต่คู่มือที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ศาลอาญาไม่มีส่วนใดระบุว่า การไต่สวนเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการประกันตัว ขณะที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลต้องมีคำสั่งโดยเร็ว

19 พ.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว ‘จัสติน’ หรือ ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมจาก จ.สมุทรปราการ ในคดีแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ของกลุ่มรีเดม (REDEM) โดยมีนายประกันและพี่สาวของชูเกียรติเดินทางมาศาล

ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชูเกียรติเป็นครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ แต่ในวันที่ 14 พ.ค. ศาลสั่งให้เลื่อนการไต่สวนไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2564 เนื่องจากเรือนจำแจ้งว่า ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคในเรือนจํา และมีปัญหาข้อขัดข้องในการเบิกตัวผู้ต้องขังมาสื่อสาร ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องหามาไต่สวนทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้

พี่สาวของชูเกียรติทำหนังสือสอบถามถึงผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เรือนจำออกหนังสือแจ้งต่อศาลว่า กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือกระทบสิทธิผู้ต้องขัง หากศาลจะกำหนดให้มีการไต่สวน ก็สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังได้ ศาลจึงมีคำสั่งกำหนดวันนัดไต่สวนใหม่เป็นวันที่ 19 พ.ค. 2564

ไต่สวนจำเลยทางจอภาพไม่ได้

19 พ.ค. 2564 ศาลแจ้งต่อพยานและทนายความที่มาร่วมไต่สวนว่า ศาลสอบถามเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นหนังสือที่ ศย.300.002/สค.2792 ลงวันที่ 17 พ.ค. 2564 ว่า ทางเรือนจำสามารถนำตัวชูเกียรติมาไต่สวนในวันที่ 19 พ.ค. 2564 ได้หรือไม่ วันเดียวกันนั้นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมีหนังสือตอบกลับว่า สามารถนำตัวมาไต่สวนได้

อย่างไรก็ตาม วันที่ 18 พ.ค. 2564 ราชทัณฑ์มีหนังสืออีกฉบับมายังศาลอาญา ที่ ยธ.0768/4834 โดยกล่าวถึงหนังสือที่ได้แจ้งไปก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าสามารถนำตัวชูเกียรติมาไต่สวนทางคอนเฟอร์เรนซ์ได้ว่า บัดนี้ เรือนจำยกระดับมาตรการ Bubble and seal ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวชูเกียรติมาไต่สวนที่ศาล หรือไต่สวนทางจอภาพได้ ตั้งแต่ 16-30 พ.ค. 2564

ศาลจึงไม่สามารถเบิกตัวชูเกียรติมาไต่สวนในวันนี้ได้ ทนายความแถลงขอให้ศาลพิจารณาบันทึกถ้อยคำของชูเกียรติซึ่งลงลายมือชื่อว่า ยินยอมปฎิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนด และรับปากว่าจะไม่กระทำการใดให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ เพื่อประกอบกับการไต่สวนพยาน 3 ปาก ทนายผู้ต้องหายังแถลงอีกว่า หากศาลต้องการให้ผู้ต้องหามาให้ถ้อยคำด้วยตนเอง อาจอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ แล้วกำหนดวันนัดให้ผู้ต้องหามาให้ถ้อยคำด้วยตนเองในภายหลังได้

ศาลกล่าวว่า ขอปรึกษาหารือก่อน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนที่ได้รับการประกันตัว ต้องได้ให้ถ้อยคำด้วยตนเอง ศาลจึงควรดำเนินการในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์

10.05 น. เริ่มการไต่สวนพยานปากแรก นูรเดียนา พี่สาวของชูเกียรติ อายุ 59 ปี เข้าเบิกความว่าตนเป็นผู้ดูแลอุปการะชูเกียรติและเป็นนายจ้าง ตลอดเวลา 7-8 ปี ตั้งแต่เรียนจบ ซึ่งชูเกียรตินับถือตนเป็นพี่สาว

นูรเดียนาเบิกความว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 ตนได้รับแจ้งจากทางเรือนจำว่าชูเกียรติติดโควิด-19 หลังจากตนมายื่นประกันตัวในวันดังกล่าว ทำให้ศาลไม่สามารถเบิกตัวชูเกียรติมาไต่สวนได้ ที่ผ่านมาพยานได้ติดตามอาการป่วยของชูเกียรติมาโดยตลอดและได้รับใบรับรองแพทย์มาในวันที่ 10 พ.ค. 2564 ว่าชูเกียรติหายจากอาการป่วยแล้ว ตนจึงยื่นคำร้องขอไต่สวนประกันตัวอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ค. 2564 และศาลได้นัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2564 ก่อนจะได้รับแจ้งเป็นครั้งที่ 2 จากศาลว่า เรือนจำไม่สามารถนำตัวชูเกียรติมาไต่สวนได้ เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิดในเรือนจำ

เมื่อทราบดังนั้น ตนได้ทำหนังสือสอบถามทางเรือนจำถึงเหตุที่ไม่สามารถนำตัวชูเกียรติมาไต่สวนได้ โดยเรือนจำได้ทำหนังสือตอบกลับว่า หากศาลมีการกำหนดวันนัดไต่สวน เรือนจำสามารถดำเนินการไต่สวนผ่านทางจอภาพได้ ตนจึงยื่นขอให้ไต่สวนการประกันตัวในวันที่ 14 พ.ค. 2564 โดยศาลได้มีคำสั่งนัดไต่สวนในวันนี้

พี่สาวชูเกียรติรับรองว่า หากชูเกียรติได้รับการปล่อยตัว จะดูแลควบคุมชูเกียรติอย่างใกล้ชิด โดยจะให้มาช่วยตนทำงาน หากศาลกำหนดวันนัดสืบพยาน ตนจะให้ชูเกียรติมาตามวันนัด โดยผู้ต้องหาไม่เคยไปต่างประเทศ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

จากนั้น ชลิตา บัณฑุวงศ์ เข้าเบิกความว่า ตนรู้จักชูเกียรติผ่านทางลูกศิษย์ โดยได้สนทนากับเขาหลายครั้ง จากการที่ชูเกียรติมาพูดคุยขอคำปรึกษาเกี่ยวกับสังคมการเมือง เนื่องจากตนสอนอยู่ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และชูเกียรตินับถือตนเป็นอาจารย์

หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และให้พยานเป็นผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย พยานก็ยินดีรับผิดชอบจะกำกับดูแลชูเกียรติให้ปฎิบัติตนตามเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนด พร้อมทั้งมาตามนัดหมายของศาล

ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนพยาน 2 ปาก ศาลได้พักการพิจารณา และเริ่มไต่สวนพยานปากที่ 3 ในเวลา 14.00 น. โดย มนทนา ดวงประภา ทนายความ เข้าเบิกความยืนยันว่าเป็นผู้นำบันทึกถ้อยคำไปให้ชูเกียรติลงลายมือชื่อรับรองเอกสารที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

รายละเอียดในบันทึกถ้อยคำระบุว่า ผู้ต้องหาขอให้ถ้อยคำต่อศาลว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี เนื่องจากผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่อย่างใด

ผู้ต้องหามีฐานะปานกลาง ไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลหรืออันธพาล อีกทั้งพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมได้โดยง่าย โดยที่ผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงได้ ทั้งผู้ต้องหามีภูมิลำเนาและมีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีของศาล

รวมทั้งจะไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และยินดีปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือคำสั่งศาลโดยเคร่งครัดทุกประการ กล่าวคือจะไม่กระทำการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในคดีนี้ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

ผู้ต้องหาจะไม่ออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และจะมาศาลตามกำหนดนัด โดยยินยอมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นอาจารย์นักวิชาการที่ผู้ต้องหาเคารพนับถือและพบปะพูดคุยและ ติดต่อกันสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหายป่วยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ตามใบรับรองแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ฉบับลงวันที่ 11 พ.ค. 2564

เลื่อนการไต่สวน อ้างเพื่อความเสมอภาค

ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น เวลา 15.00 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ มีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนชูเกียรติออกไป ระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คณะผู้บริหารศาลเห็นว่าเพื่อรักษาความเสมอภาคในการสั่งคดีของศาล จึงเห็นสมควรจะต้องให้ผู้ต้องหามาเบิกความต่อศาล จึงให้เลื่อนการไต่สวนผู้ต้องหาออกไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น. เบิกตัวผู้ต้องหามาในวันนัด หรือโดยระบบสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพ”

หลังจากศาลกำหนดนัดใหม่ พี่สาวของชูเกียรติยืนขึ้นแถลงว่า ความเสมอภาคที่ศาลกล่าวถึงนั้นคืออะไร ชูเกียรติหายจากโควิดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ติดโควิดอีก

เมื่อศาลบอกว่าเบิกตัวชูเกียรติมาศาลไม่ได้ ทางครอบครัวก็พยายามขอให้ไต่สวนการปล่อยตัวชั่วคราวของชูเกียรติผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยประสานงานกับทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และศาลอาญาเข้าใจถึงความพร้อมของการไต่สวนชูเกียรติจากในเรือนจำ แต่ก็ยังมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาออกไป ทางครอบครัวจึงขอถามว่า ความเสมอภาคที่ว่าคืออะไร ตรงไหนคือความเสมอภาค

ศาลตอบคำถามของพี่สาวชูเกียรติเพียงสั้นๆ ว่าความเสมอภาคก็คือความเหมือนกัน ในคดีอื่นๆ ได้สั่งคดีอย่างไรในคดีนี้ก็ต้องทำเหมือนกัน ก่อนสิ้นสุดการพิจารณา

ปัจจุบัน ‘จัสติน’ หรือ ชูเกียรติ แสงวงค์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยถูกฝากขังระหว่างสอบสวนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2564

การไต่สวนประกันตัวไม่ใช่กระบวนการปกติ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า วันที่ 18 พ.ค. 2564 ในการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และธวัช สุขประเสริฐ 2 จำเลยคดีล้อมรถควบคุมตัว 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก และ 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์ ไม่ได้มีการเบิกตัวจำเลยทั้งสองมาไต่สวนผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ทนายจำเลยยื่นบันทึกถ้อยคำแถลงของจำเลยทั้งสองประกอบการไต่สวน และศาลอาญาก็ดำเนินการไต่สวนพยาน ก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวได้ แม้จำเลยคดีเดียวกันอีก 3 ราย ศาลใช้วิธีไต่สวนผ่านคอนเฟอเรนซ์ก่อนให้ประกันตัว

นอกจากนี้ กระบวนการประกันตัวตามปกติในคดีอาญาทั่วไป ผู้ประกันเพียงแค่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเพื่อส่งให้ศาลพิจารณาคำร้อง และศาลมักจะมีคำสั่งโดยไม่ต้องไต่สวน ในคู่มือการขอปล่อยชั่วคราวและการบังคับคดีผู้ประกันที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ศาลอาญา ก็ระบุขั้นตอนในการยื่นคำร้องขอปล่อชั่วคราวว่า หลังผู้ประกันนำคำร้องส่งให้เจ้าหน้าที่จะต้องรอฟังคำสั่งศาล ส่วนเจ้าหน้าที่จะเสนอคำร้องให้รองอธิบดีผู้พิพากษาพิจารณาสั่ง จากนั้นจึงจะแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันลงชื่อรับทราบ ไม่มีกระบวนไต่สวนระบุไว้แต่อย่างใด

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 ยังระบุด้วยว่า เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ ในกรณีของชูเกียรติ หากนับจากวันยื่นประกันตัวเมื่อ 12 พ.ค. 2564 ถึงวันที่ศาลเลื่อนไปไต่สวนในวันที่ 1 มิ.ย. 2564 จะใช้เวลาอย่างน้อย 21 วัน ในการทำคำสั่งของศาล ส่วนในคดีทั่วไปศาลมักจะมีคำสั่งในวันเดียวกับที่ยื่นประกัน

แม้หลักเกณฑ์การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวส่วนหนึ่ง ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ว่า ศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้น เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้ แต่ก็ไปเป็นเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความหนักเบาแห่งข้อหา, พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด,พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร, เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด, ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่, ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่, และตำรวจ อัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหายคัดค้านการประกันตัวหรือไม่มาประกอบการพิจารณา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net