Skip to main content
sharethis

จากกรณีธรรมนัสไม่สิ้นสภาพ ส.ส. และ รมต. เลขา ครป. ระบุรอดด้วยข้ออ้างแบบศรีธนญชัย ไม่สนขัด รธน. อดีต กก.ศูนย์คุณธรรม ชี้ทางออกต้องปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดย สสร. ที่มาจากประชาชน

ธรรมนัส ไม่สิ้นสภาพ ส.ส. และ รมต. ศาล รธน.ชี้คำพิพากษาที่ออสเตรเลีย ไม่ส่งผลที่ไทย

เลขา ครป. ระบุ 'ธรรมนัส' รอดด้วยข้ออ้างแบบศรีธนญชัย ไม่สนขัด รธน.

6 พ.ค. 2564 จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่าธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. และ รมต. ปมต้องคำพิพากษาคดีพัวพันยาเสพติด ที่ศาลออสเตรเลีย โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า คำพิพากษาศาลต่างประเทศไม่ถือเป็นคำพิพากษาของรัฐไทย และไม่มีผลต่อการขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จึงไม่ต้องสิ้นสภาพ ส.ส. และ รมต. 

วันนี้ เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แสดงความเห็นว่า ความจริงแล้วการนำศาลรัฐธรรมนูญมาใช้ตามแบบเยอรมนีตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นปัญหามาตั้งแต่ต้น เนื่องจากบริบทประเทศและวัฒนธรรมทางการเมืองไม่เหมือนกัน ทำให้องค์กรอิสระถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ สำหรับประเทศไทย การตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญควรจบที่รัฐสภาที่มาจากประชาชน ไม่ใช่อรหันต์ทางกฎหมายเพียงแค่ 9 คนและไม่ได้มีที่มาจากรัฐสภา

"การที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่มีความผิดต้องพ้นจากสถานภาพ ส.ส.และรัฐมนตรี เนื่องจากต้องคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศไม่ใช่ศาลไทยนั้น ผมขอวิจารณ์โดยสุจริตใจเพื่อประโยชน์สาธารณะว่า ถือเป็นความอัปยศของบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ที่ทำให้องค์กรอิสระต้องมัวหมองและเสื่อมถอยลง เนื่องจากนำหลักการรัฐธรรมนูญมารับใช้ความโน้มเอียงทางการเมือง (Politicize) มากเกินไป จนไม่สามารถคงสถานะเป็นองค์กรอิสระที่จะปกป้องรักษาหลักการรัฐธรรมนูญได้เพราะถูกทำให้เป็นองค์กรทางการเมืองไปแล้ว" เมธากล่าว

เมธาระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญยกประเด็น "อำนาจอธิปไตย" ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาพิจารณาตัดสินว่า คำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ร.อ.ธรรมนัส จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) ซึ่งในมาตราดังกล่าวไม่ได้ระบุเลยว่าต้องเป็นความผิดภายในหรือภายนอกประเทศ และไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าว แค่คุณสมบัติมีความผิดตามมาตราดังกล่าวก็ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญแล้ว 

"การพิจารณาจึงเป็นเพียงการหาข้ออ้างแบบศรีธนญชัยเพื่อให้ ร.อ.ธรรมนัส ได้ทำหน้าที่ผู้แจกเงินของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป โดยไม่สนใจคุณสมบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือมาตรฐานทางจริยธรรมที่สำคัญกว่าตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 ที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 76 และ 258" เมธากล่าว

เมธากล่าวต่อว่า อย่าลืมว่าประเทศไทยยังเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ. 1988 (The United Nations Convention against lllicit Traffic in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances, 1988) ร่วมกับ 153 ประเทศ และ 1 องค์การระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดเขตอำนาจรัฐ (Jurisdiction) และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition) ไว้ด้วย และสามารถดำเนินการโอนการดำเนินคดี (Transfer of Proceedings) ได้ โดยกำหนดให้รัฐภาคีจะต้องดำเนินการตามพันธกรณี โดยจะต้องได้รับการลงโทษอย่างรุนแรงเหมาะสมกับฐานความผิดและให้มีดำเนินการริบทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติด (Forfeiture of the Process of lllicit Trafficking) อีกด้วย 

ดังนั้น เรื่องนี้รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ กระบวนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยสถานะทางการเมืองเท่านั้น แต่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบมลทินดังกล่าว และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการเลือกปฏิบัติกระบวนการทางกฎหมาย ละเมิดกติกาสากลที่ยังดำเนินอยู่

"คนไทยไม่ทนอีกต่อไปแล้ว หากพล.อ.ประยุทธ์ ออกไป รัฐมนตรีสีเทาก็ออกไปด้วยหมด ไม่ว่าจะเป็น ร.อ.ธรรมนัส นายศักดิ์สยาม หรือนายสมศักดิ์ ที่การ์ดตกจนทำให้เกิดการระบาดโควิด" เมธากล่าว

 

อดีต กก.ศูนย์คุณธรรม ชี้ทางออกต้องปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดย สสร. ที่มาจากประชาชน

อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการศูนย์พัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า กรณีตัดสินคดีล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีผู้ต้องขังในคดีค้ายาเสพติดในออสเตรเลียไม่ผิดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ได้ล้มล้างหลักการทางกฎหมายและความเป็นนิติรัฐที่คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ อมร จันทรสมบูรณ์เคยให้ความเห็นไว้เมื่อปี พ.ศ. 2525 ว่า 

"ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"

หรือกรณี ณรงค์ วงศ์วรรณเพียงถูกสงสัยและกล่าวหาว่าพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดหรือไม่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยังหลุดลอยไป

อนุสรณ์ชี้ว่า กรณีการตัดสินล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินความเป็นรัฐมนตรีของอดีตผู้ต้องหาค้ายาเสพติดในออสเตรเลียจึงเป็นกรณีที่อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีการพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการได้บุคคลที่มีจริยธรรม ปราศจากมลทินโดยเฉพาะข้อกล่าวหาร้ายแรงมาทำหน้าที่บริหารประเทศ

"ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นความผิดทั้งในประเทศไทยและออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศต่างๆทั่วโลก และผูกพันและมีพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และความร่วมมือต่อนานาชาติในการต่อต้านยาเสพติดที่ยอมรับกันว่าเป็นภัยต่อมนุษยชาติและความมั่นคงปลอดภัยของสังคมโดยรวม เมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมืองฝ่ายค้านมีปัญหาเรื่องการถือครองหุ้น โดนตัดสิทธิทางการเมืองและถูกดำเนินคดีอาญาแล้ว ย่อมเห็นถึงความไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจนในประเทศนี้" อนุสรณ์ระบุ 

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า กรณีของประเทศไทย เรามีปัญหากระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่น้อย เช่น กรณีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตและไม่มีการส่งฟ้องคดีก็ดี กรณีบอส อยู่วิทยา พยานสำคัญเสียชีวิตกระทันหัน หรือ กรณีอื่นที่เกิดขึ้นและไม่เป็นข่าว การตัดสินคดีแบบหลายมาตรฐานของศาลรัฐธรรมนูญไทยจนถึงศาลยุติธรรมก็ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นและเกียรติภูมิของประเทศในสายตาประชาคมโลก ส่งผลลบต่อเสถียรภาพของระบบศาลและความยุติธรรม สั่นคลอนระบบการเมืองในระยะยาว ทำให้ความสงบเรียบร้อยและสันติธรรมของสังคมถูกละเมิด  นอกจากนี้ยังมีกรณีการอุ้มฆ่าอุ้มหายก็ดี  การฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารก็ดีแล้วระบบตุลาการตีความหรือตัดสินว่าไม่มีความผิดใดๆก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบตุลาการและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาระบบนิติรัฐนิติธรรมในประเทศนี้ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาและมีการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างแท้จริง ประเทศจะไม่มีอนาคต ประชาชนส่วนใหญ่จะดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดโอกาส ขาดหลักประกันในชีวิตโดยความเฉพาะการเข้าถึงความเป็นธรรมและความยุติธรรม  ประเทศต้องการความสามัคคีและเอกภาพในการฝ่าวิกฤติ Covid-19 กรณีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดกรณีพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีของอดีตผู้ต้องหาออสเตรเลียคดีค้ายาเสพติดจะทำให้การแก้ปัญหา Covid-19 มีความซับซ้อนมากขึ้นเพราะประชาชนจะสูญเสียความเชื่อมั่นต่อองค์กรของรัฐ

อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ระบบยุติธรรมไทยถูกตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องถึงความน่าเชื่อถือและความเป็นธรรม กรณีผู้พิพากษายิงตัวตายประท้วงการมีคำสั่งให้ยัดข้อหาผู้บริสุทธิ์ก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมตกต่ำมากพออยู่แล้ว เมื่อเจอเข้ากับกรณีการตัดสินคดีล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้ที่ผลการตัดสินถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าขัดกับหลักจริยธรรมแห่งสามัญสำนึกของวิญญูชนและหลักกฎหมายแล้ว ย่อมทำให้เราไม่อาจนิ่งดูดายเฉยโดยไม่ช่วยกันออกมาขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปในระบบศาลรัฐธรรมนูญและระบบศาลยุติธรรมของไทยได้ ปัญหาโศกนาฏกรรมระบบยุติธรรมไทยซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤติเศรษฐกิจ 

"สังคมไหนก็ตาม ที่คุณสามารถซื้อหาความยุติธรรมได้ด้วยอำนาจเหนือกฎหมายหรืออำนาจเงินแล้ว เท่ากับว่า ระบบยุติธรรมเป็นสินค้าส่วนบุคคล (Private Goods) หรือ อาจเป็นสินค้าร่วม (Common-Pool Goods) เฉพาะของคนที่มีอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ใช่สินค้าสาธารณะ (Public Goods) อีกต่อไป ประชาชนและคนยากจนถูกกีดกันให้ออกไปจากกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ขั้นตำรวจอัยการเช่นนี้แล้ว หากมีผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมที่ทรงคุณธรรมและยึดถือความเป็นธรรม มีความเป็นธรรมมากขนาดไหนก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะคดีไม่ถึงศาลยุติธรรม สังคมไทยต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ร่วมกันอย่างเร่งด่วนที่สุดก่อนที่ปัญหาจะลุกลามนำมาสู่ความรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงสู่การเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต สิ่งที่เราต้องการ คือ สังคมที่สงบสันติและเคารพกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่แล้วโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง อย่าได้ทำให้ความไม่มีนิติรัฐเพิ่มความไม่พอใจของผู้คนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีที่สุด เมื่อไม่มีนิติรัฐแล้ว อย่าไปหวังว่า บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะนำโครงการขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย" อนุสรณ์กล่าว

อนุสรณ์ชี้ เบื้องต้นรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และ ระบบการปกครองโดยกฎหมายเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย คือ เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐนิติธรรม (Rule of Law) อันเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นแล้ว โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อาศัยการลงทุนจากต่างชาติจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หากกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำลงได้บ้าง 

"ที่มาของอำนาจรัฐนี้ต้องมาจากประชาชน ทางออกและจุดเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูประบบยุติธรรมและปฏิรูปประเทศนั้นต้องดำเนินการโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่มั่นคงยั่งยืนและการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดย สสร. ที่มาจากประชาชนเท่านั้น" อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้าย   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net