Skip to main content
sharethis

คุยกับรวิสรา ‘เดียร์’ เอกสกุล บัณฑิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พนักงานออฟฟิศที่อาสาอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันฯ จากศิษย์ร่วมสถาบันเดียวกับประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่การเติบโตทางความคิด ความฝันจะเห็นสังคมไทยที่เท่าเทียม และความโชคดีที่เธอมีในสังคมที่เลวร้าย

ป้าย "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" ถูกชูที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยเมื่อ 26 มี.ค. 2563

หนึ่งสิ่งที่เป็นที่จดจำในการชุมนุมประวัติศาสตร์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยเมื่อ 26 ต.ค. 2563 คือบทบาทของผู้ชุมนุมทั่วไปที่ผลักดันเหตุการณ์วันนั้นไปข้างหน้า ตั้งแต่การรวมตัวที่สี่แยกจัตุรัสจามจุรี จนไปถึงการยื่นจดหมายตั้งคำถามถึงการประทับในเยอรมนีของพระมหากษัตริย์ไทยและอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน

สำหรับผู้ชุมนุมและผู้ที่ติดตามข่าวสาร รวิสรา เอกสกุล หรือ “เดียร์” คือผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งที่ไปอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันต่อหน้าผู้ชุมนุมเรือนหมื่น ในเวลาไม่นาน ความชำนาญทางภาษาของเธอนำมาซึ่งการถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และยุยงปลุกปั่น

ในวันที่วันนัดไต่สวนมูลฟ้องของคดีดังกล่าวกำลังหดใกล้เข้ามา (13 พ.ค. 64) ประชาไทชวนทำความรู้จักที่มาที่ไปของเดียร์ เส้นทางการเติบโตทางความคิดของอดีตนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เกียรตินิยมอันดับ 2 ติวเตอร์ภาษาเยอรมัน พนักงานออฟฟิศ และประชากรที่ฝันอยากเห็นความเสมอภาคในประเทศสารขัณฑ์

จากศิษย์เก่าโรงเรียนเดียวกับประยุทธ์ สู่สัมผัสแรกของสังคมที่เหลื่อมล้ำ

ก่อนย้ายเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยและทำงานที่ กทม. เดียร์ใช้ชีวิตอยู่ที่ อ.เมืองลพบุรี เมืองที่เคยอบอวลด้วยกลิ่นอายมรดกประวัติศาสตร์การเมืองกึ่งสมัยคณะราษฎรที่สร้างโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้เคยใช้ชีวิตในช่วงที่มรดกข้างต้นยังไม่ถูกล้างบางเหมือนปัจจุบัน และเรียนในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย หนึ่งในโรงเรียนที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับสมาชิกคณะราษฎร

แต่นั่นยังไม่ใช่เวลาที่เดียร์ฟูมฟักความคิดทางการเมืองมากนัก นอกจากรู้ถึงปัญหาภายในระบบราชการจากแวดวงญาติๆ เรื่องราวทางการเมืองจากพี่สาวที่เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรู้ว่านักเรียนที่พิบูลวิทยาลัยจะถูกเรียกว่าเป็นลูกของจอมพล ป. และมีศิษย์เก่าที่เป็นรุ่นพี่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ตอนนั้นที่เขา (ประยุทธ์) เพิ่งขึ้นมาเป็นนายกฯ ที่โรงเรียนก็ติดป้ายไวนิลขอแสดงความยินดีกับศิษย์เก่า ซึ่งเราก็อับอาย” เดียร์เล่า

“ตอน ม.ปลายเราเป็น ignorant เลยเพราะว่าผู้ใหญ่เขาบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ไม่เกี่ยวกับเด็ก แล้วผู้ใหญ่ก็ชอบบอกว่าตั้งใจเรียนให้ได้ก่อนเถอะ เราก็โอเคตั้งใจเรียนแล้วก็ไม่ได้สนใจการเมืองเลย จนกระทั่งมาอยู่อักษรฯ แล้วเป็นติวเตอร์ภาษาเยอรมันแล้วได้ไปสอนเด็กหลายๆโรงเรียนทำให้เราได้เห็นความเหลื่อมล้ำมากๆ ของการศึกษาไทย

“ถ้าเป็นเด็กเก่ง เด็กเตรียม (อุดม) ก็จะเก่งมาก คะแนนก็จะพุ่งสูงมากในขณะที่โรงเรียนอื่นที่ไม่ใช่เตรียม ไม่ใช่สาธิตจุฬาฯ ไม่ใช่สาธิตปทุมวัน มาตรฐานมันก็จะไม่เท่ากับเด็กเก่ง แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับเด็กคนอื่นเลยทั้งๆที่เขาก็เสียเงินเพื่อการศึกษาเหมือนกัน เขาก็จ่ายค่าเทอมเหมือนกันแต่ทำไมเขาได้คุณภาพของการเรียนภาษาเยอรมันที่ไม่เท่ากัน มันก็เลยทำให้เราเริ่มคิดว่าจะทำยังไงดีให้ระบบการศึกษามันดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้คิดถึงการเมือง”

หลังจากสัมผัสความเหลื่อมล้ำ นิสิตอักษรศาสตร์เริ่มมองว่าจะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง เธอเริ่มต้นจากการอยากไปทำอาชีพครู แต่คิดว่าคงจะทำอะไรไม่ได้มากในโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ ในระหว่างทางที่ครุ่นคิด นิสิตผู้เป็นทวิตเตี้ยนก็ได้ซึมซับความเห็น ข่าวสารจากทวิตเตอร์และได้ข้อสรุปว่าการเมืองที่ดีคือคำตอบ จากนั้นจึงเริ่มแสดงความเห็นทางการเมืองและออกไปร่วมชุมนุมในโลกออฟไลน์

เดียร์ฝันถึงสังคมไทยที่เหลื่อมล้ำน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่มากๆ

“คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำที่สูงขนาดนี้ ไม่ต้องมีคนต้องรีบตื่นตั้งเเต่ตี 5 เพื่อรอรถเมล์เพื่อไปทำงานได้เงินวันละ 300 เป็นหนี้ไม่มีข้าวกิน ในขณะที่คนรวยก็รวยมากๆ อยากให้ความเหลื่อมล้ำมันลดลง อยากให้ชีวิตมีความเท่าเทียมกัน เพราะสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญตั้งเเต่เเรกเลยคือระบบการศึกษาที่เด็กสามารถเข้าถึงทั่วกันหม ไม่มีที่ไหนต้องเเย่งกันสอบเข้า เด็กเป็นหมื่นคนที่ต้องเเย่งกันสอบเข้าเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น อยากให้เรียนที่ไหนก็ได้ใกล้บ้านก็ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกัน ไม่ต้องเรียนในมหา’ ลัยก็ได้เเต่ต้องมีงานทำ”

ก้าวแรกสู่การชุมนุม

เธอออกมาร่วมการชุมนุมขนาดใหญ่ครั้งแรกเมื่อ 16 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นก็ไปแทบทุกการชุมนุม เธอเล่าว่าไม่มีข้อเสนอจากที่ชุมนุมข้อใดเลยที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีอำนาจที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สามารถตรวจสอบได้ว่าภาษีของประชาชนที่ถูกใช้จ่ายไปเพื่อสถาบันฯ สมเหตุสมผลหรือไม่ ภาษีส่วนนั้นสามารถนำไปใช้อย่างอื่นที่ทำให้ประเทศไทยดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่

“เราไปร่วมม็อบธรรมดาเลย ไปนั่งฟัง ไปให้กำลังใจ ไปแสดงพลังว่าเราเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วย”

เหมือนสุภาษิตที่ว่า เมื่อเริ่มขยับจึงรู้สึกว่ามีโซ่ตรวน สำหรับคนอายุ 25 ปีที่เพิ่งเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองครั้งแรก เธอรู้สึกถึงโซ่ตรวนที่พันธนาการเสรีภาพในการชุมนุมเอาไว้แน่นขนัดตั้งแต่คืนก่อนการชุมนุม

“คืนก่อนที่จะมีการชุมนุมมันจะมีข่าวลือมากมายในทวิตเตอร์ว่า ระวังนะคะ พ่อเราเป็นทหารบอกมาแบบนั้นแบบนี้ แล้วเรากำลังเก็บกระเป๋าก็ต้องหยิบแว่นตากันน้ำ หยิบชุดกันฝน ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่ขึ้นมาในหัวว่าทำไมวะ คือการชุมนุมมันเป็นสิทธิพื้นฐานของเราหรือเปล่าภายใต้ประเทศที่มีประชาธิปไตย ทำไมเราต้องเตรียมตัวหนักขนาดนี้ ทำไมเราต้องรู้ว่าเรากำลังจะไปตาย ทำไมเราต้องรู้สึกว่าเราต้องร่ำลาคนที่รักเพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเจอกันอีกหรือเปล่า เลยรู้สึกว่าแบบทำไมประเทศมันเป็นแบบนี้ ทำไมเราถึงใช้สิทธิที่เป็นของเราไม่ได้”

“มันเป็นความโกรธเพราะไม่เข้าใจ แต่มันก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเรายิ่งต้องออกไปต่อให้มันมีข่าวลือที่พยายามจะหยุดให้คนไม่ออกไป เราก็ยิ่งต้องออกไปให้รู้ว่ามันเป็นสิทธิ์ของเรา เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะทำร้ายเราได้”

“รู้สึกโกรธทุกครั้งเห็นการใช้ความรุนเเรงการสลายการชุมนุมเห็นผู้บริสุทธิ์โดนจับทั้งๆที่ยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมมันทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ควรมีใครเลยที่ต้องโดนกระทำเเบบนี้ เพนกวิน รุ้ง โดนจับเราเจ็บปวดที่สุด คือเราเจ็บปวดทั้งหมดเพราะมันไม่ยุติธรรม”

อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมันฯ ด้วยมือที่สั่นเทา

เมื่อ 26 ต.ค. เดียร์ไปร่วมชุมนุมเหมือนทุกครั้ง ขณะที่กำลังกินลูกชิ้นก็มีเพื่อนหลายคนติดต่อมาว่ามีการหาคนอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน เธอใช้เวลาคิดอยู่พักหนึ่งก่อนจะแสดงความจำนงเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ฉบับนั้น

“ตอนที่เราติดต่อกับคนในทวิตเตอร์ไปเขาก็ถามว่า “พี่พร้อมหรือเปล่า พร้อมรับความเสี่ยงไหม?” ตอนนั้นเราก็ยังรู้สึกว่ามันเสี่ยงอะไรวะ แค่อ่านมันจะต้องเสี่ยงอะไรหรอแต่เราก็คิดว่าเราพร้อมนะเพราะว่าเรามีครอบครัวที่เข้าใจ เรามีเพื่อน เรามีงาน เรามีทุกอย่างที่มันเกิดอะไรขึ้นทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราพร้อมซัพพอร์ตเราหมดก็เลยตกลงออกไป

“อีกความรู้สึกนึงก็คือเหมือนภาษาเยอรมันเป็นสิ่งเดียวที่ให้เรารู้สึกภูมิใจในตัวเอง เป็นสิ่งเดียวที่เราเก่งก็เลยรู้สึกว่านี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ถ้าภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่เราเก่งและเมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าเราจะช่วยม็อบยังไงนอกจากออกไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม แต่ครั้งนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้มากกว่าเดิมเราก็เลยอยากทำเพราะเราทำได้”

เดียร์เล่าว่าถ้าย้อนไปดูคลิปจะเห็นว่ามือเธอสั่นจากทั้งความตื่นเต้นและความโกรธที่เกิดจากความเข้าใจในเนื้อหาของแถลงการณ์

“ถ้าย้อนกลับไปดูคลิปก็จะเห็นว่าเรามือสั่นมาก แน่นอนว่าเราตื่นเต้นเพราะว่าเราไม่เคยทำอะไรต่อหน้าคนเยอะๆเป็นหมื่นเป็นพันคนขนาดนี้มาก่อนก็คือตื่นเต้น และอีกความรู้สึกนึงก็คือด้วยความที่เราเข้าใจเนื้อหาที่มันอยู่ในแถลงการณ์แล้วในพาร์ทของเราเป็นเกี่ยวกับการพูดถึงรัฐบาลที่ใช้ควาามรุนแรงในการสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม ที่แยกปทุมวันซึ่งวันนั้นเราก็อยู่ตรงนั้นด้วยแล้วเราก็วิ่งหนีรถน้ำเหมือนกันก็เลยทำให้เราโกรธมากกว่าเดิม ก็เลยมีทั้งความรู้สึกตื่นเต้น โกรธและก็อิน”

โชคดีที่คนรอบข้างเข้าใจ โชคร้ายที่อยู่ในสังคมไทย

แม้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์หมุดหมายสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ไทย เธอเล่าว่าชีวิตหลังจากอ่านแถลงการณ์จบก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ถือเป็นเรื่องที่โชคดีมากที่ครอบครัว เพื่อนฝูงและคณาจารย์ที่ทั้งให้กำลังใจและช่วยเหลือในสิ่งที่ช่วยได้ สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแม้ในวันที่เธอตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับผู้ชุมนุมและแกนนำคนอื่นๆ ในข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ

“เราไม่ได้คิดว่าเราไปพูดจะกลายเป็นคนดังขนาดนั้นเพราะเรามาในพื้นฐานที่ว่าออกมาในฐานะใครสักคนก็ได้ รู้สึกว่ามันไม่ได้เปลี่ยนเเปลงอะไรเยอะขนาดนั้นเเต่ก็คำนวณความเสี่ยงว่าโดนด่า โดนคุกคาม โดนดำเนินคดีจะทำยังไง เราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนที่ได้เปรียบกว่าคนอื่น คนที่โดนเหมือนเราพ่อเเม่เป็นสลิ่มไม่กล้าบอกที่บ้าน ที่ทำงานเป็นสลิ่มไม่กล้าบอกที่ทำงาน ในขณะที่พ่อเเม่เราไม่เป็นสลิ่ม เพื่อนรอบตัวก็ดี ก็มีเงินเดือนที่เข้าบัญชีทุกเดือน ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราควรเอาสิ่งที่เรามีเสียสละไปให้คนอื่นได้เเล้ว”

“ตอนที่เราโดนคดีทำให้เราเห็นได้ชัดว่าคนรอบตัวเราดีมากจริงๆคือวันแรกที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 9 ธันวาคม เพื่อนหลายๆคนก็ทำงานแล้วแต่ก็ลางานมาเพื่อมาให้กำลังใจ เขาก็แสดงให้เราจริงๆว่าเขาอยู่ข้างเรา เขามีอุดมการณ์เหมือนเรา เขาก็พร้อมที่จะสู้ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา”

การตกเป็นผู้ต้องหาทำให้แผนการในชีวิตของเธอเปลี่ยนไป แม้ปัจจุบันยังมีงานทำ แต่การที่ต้องเผื่อเวลาให้กระบวนการทางกฎหมายที่ไม่รู้จะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ก็ทำให้รู้สึกเศร้าเพราะเดิมทีเธอมีแผนจะขอทุนเรียนต่อที่เยอรมัน แต่ก็ต้องพับความฝันเอาไว้ก่อนโดยหวังว่าการดำเนินคดีที่เกิดจากความกระตือรือร้นทางการเมืองของเธออาจทำให้ได้รับโอกาสที่ดีกว่าในอนาคตก็ได้

“วันที่เราตัดสินใจออกไปเราไม่ได้ประเมินสถานการณ์อะไรไว้เลยว่าจะโดนคดี เเต่ก็อาจจะโดนคุกคามอะไรหรือเปล่า เเต่ภายหลังมีข่าวลือออกมาว่าจะมีการดำเนินคดี เราก็ยังไม่คิดว่าเราจะโดนเพราะว่าเราเป็นใครก็ไม่รู้ เราปิดหน้า ไม่รู้จะหาเราเจอได้ยังไง เเต่ว่าก็โดนเซอไพรส์ตรงที่ว่าตำรวจไทยก็เก่งกว่าที่เราคิด” เดียร์เล่า

“มันก็มีบ้างช่วงที่รู้สึกเศร้า ว่าเหมือนที่โดนคดีมันไม่ได้หมายความว่าจะต้องติดคุกทันที มันหมายความว่าเราจะต้องเสียเวลาที่การต่อสู้คดีไปอีก ไม่รู้ว่า 1 ปี 2 ปี 3 ปี ซึ่งจริง ๆ ปีนี้เรามีเเผนที่จะขอทุนเรียนต่อที่เยอรมัน มันก็เลยทำให้เราพับเก็บความฝันนั้นไปก่อน เราก็เลยเสียดายมาก เเต่ว่าเราก็พยายามให้กำลังใจตัวเอง เเละกำลังใจจากรอบข้าง ว่าจริง ๆ การโดนคดีมันก็ไม่ได้เเย่ขนาดนั้น มันเป็นการเริ่มต้นใหม่อะไรสักอย่าง”

เดียร์เล่าว่าไม่เคยคิดที่จะลี้ภัยเพราะทราบว่าชีวิตการเป็นผู้ลี้ภัยไม่ได้สวยหรู เธอยังอยากใช้ชีวิตกับเพื่อนและครอบครัวยังอยู่ที่นี่ และอยากจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เธอทำไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่างไรเสีย การถูกพิจารณาคดีก็ทำให้เธอกังวลว่าคนข้างนอกที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนเธอมาตลอดจะเป็นห่วง

“สิ่งที่เรากังวลที่สุดคือคนที่อยู่ข้างนอกโดยเฉพาะพ่อกับเเม่เขาก็เป็นห่วงเรามากๆ เราก็เเบบไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่ข้างนอกเขาจะเป็นยังไงบ้าง เเละคนข้างนอกก็ไม่รู้ว่าเราที่อยู่ข้างในจะเป็นยังไง คงจะต้องทุกข์ใจเพราะต่างฝ่ายก็ต่างไม่รู้ความเป็นตายร้ายดียังไง เป็นห่วงครอบครัวที่สุด”

“เราจะไม่ค่อยพูดอะไรเท่าไหร่ เเต่พ่อเเม่เขาก็จะถามเราว่าวันที่ 25 ถ้าเราโดนอะไรที่เเย่ที่สุดเขาไม่ให้ประกันตัวจริง ๆ เราจะโอเคไหมถ้าเราจะเข้าไปอยู่ในคุกเราจะไหวหรือเปล่าเราก็ตอบไหว เราโอเค คือเขาก็ห่วงความรู้สึกเรา”

มืออ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตฯ ทิ้งท้ายถึงเพื่อนๆ ว่าไม่ต้องห่วงเธอหากต้องติดคุก ขอให้สู้ต่อไปกับการเคลื่อนไหว ส่วนข้อความถึงผู้มีอำนาจ เธอฝากบอกว่า คุกขังความคิดไม่ได้

“ถ้าสมมติว่าเราได้เข้าไปอยู่ในคุกเเล้วทำให้เขารู้สึกว่า ถ้าเขาเอาเราเข้าไปอยู่ในคุกเเล้วสามารถทำให้มันจบได้ให้ทุกคนเงียบได้ ก็อยากบอกเขาว่ามันไม่สำเร็จ เขาไม่สามารถทำร้ายเราได้ ไม่สามารถทำให้เราเงียบได้ ต่อให้เราอยู่ในคุกก็ไม่ได้ทำให้เราหยุดสื่อสารกับสังคมได้ ยิ่งทำให้สังคมข้างนอกรู้สึกโกรธมากขึ้น เขายิ่งออกมาพูดมากขึ้น ดังนั้นเเล้วรัฐก็ไม่ควรที่จะใช้วิธีนี้” เดียร์กล่าว

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขอันดับเกียรตินิยมของรวิสราให้ถูกต้อง จากอันดับ 1 เป็นอันดับ 2 แก้ไขเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 เวลา 11.25 น. จึงขออภัยในการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดมา ณ ที่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net