Skip to main content
sharethis

ศาลอนุญาตให้ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่อาสาอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันฯ เดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนีหลังได้รับทุน โดยศาลได้ไต่สวนคำร้องไปทั้งหมด 7 ครั้งก่อนจะมีคำสั่งอนุญาต พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์ทั้งในไทย-เยอรมนี

1 เม.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้เวลา 13.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หลังยื่นคำร้องครั้งที่ 7 เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี ของ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116

รวิสราได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของรัฐบาลเยอรมนี The German Academic Exchange Service (DAAD) แต่ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวของศาลทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ โดยที่ผ่านมาเธอได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาลแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2565 โดยครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 รวิสรายื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง โดยเสนอชื่อผู้กำกับดูแล รวม 4 คน ผู้กำกับดูแลในประเทศไทยได้เสนอชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อครั้งเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบิดาของตนเอง  ส่วนผู้กำกับดูแลในประเทศเยอรมนีได้เสนอชื่อพี่สาวของรวิสรา และชัช ขำเพชร นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งขณะนี้ทั้งสองอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ก่อนศาลได้นัดไต่สวนคำร้องอีกครั้งในวันนี้

ตามกำหนดของรวิสราหลังได้รับทุนการศึกษา เธอต้องเดินทางไปศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2565 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก่อน

ศาลไต่สวนพยาน 3 ปาก ก่อนรอคำสั่งกว่า 4 ชม. เวลา 13.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 603 ศาลได้นั่งบัลลังก์และดำเนินการไต่สวนคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนีของรวิสรา โดยในวันนี้มีพยานทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บิดาของรวิสรา และรวิสราเอง

พยานปากที่ 1: อาจารย์คณะอักษรฯ จุฬาฯ (ผู้เสนอชื่อเป็นผู้กำกับดูแลในไทยคนที่ 1) – จบ ป.เอกจากเยอรมัน สมัยเรียนไม่เคยสอบชิงทุนที่รวิสราได้รับเลยสักครั้ง

อาจารย์คณะอักษรฯ จุฬาฯ (สงวนชื่อและนามสกุล) อายุ 31 ปี ผู้เสนอชื่อเป็นผู้กำกับดูแลในประเทศไทยคนที่ 1 เบิกความว่า รู้จักกับรวิสราตั้งแต่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยขณะนั้นได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาเยอรมันให้กับรวิสราและนักเรียนคนอื่นๆ อยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ต่อมาเมื่อรวิสราสอบคัดเลือกจนมีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ทางอาจารย์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้บรรจุเป็นอาจารย์ผู้สอนภาษาเยอรมันที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ ด้วยเช่นเดียวกัน โดยอาจารย์ได้เป็นผู้สอนภาษาเยอรมันให้กับรวิสราตั้งแต่เธอเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 และเมื่อรวิสราเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ตนก็ยังได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในชั้นปีดังกล่าวให้กับรวิสราและนักศึกษาคนอื่นๆ ในปีเดียวกันนั้นด้วย

ตั้งแต่อาจารย์ได้เป็นครูพิเศษสอนภาษาเยอรมันให้กับรวิสราเมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้น ม.6 ตนกับรวิสราก็ได้ติดต่อพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวผ่านอินเทอร์เน็ตตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อรวิสรามีปัญหาก็มักจะมาปรึกษาพยานเสมอ ทั้งเรื่องการเรียน ชีวิตส่วนตัว และความสัมพันธ์กับเพื่อน โดยอาจารย์ได้เห็นถึงความประพฤติ ชีวิตส่วนตัว และความตั้งใจศึกษาเล่าเรียนของเธอมาโดยตลอด

ในความเห็นของอาจารย์ รวิสราเป็นนักเรียนและนิสิตที่มีผลการเรียนดีเด่นตลอดมา รวิสราเป็นคนที่มีความเสมอต้นเสมอปลาย รู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาเกือบ 10 ปี หากเธอมีปัญหาอะไรก็มักจะมาปรึกษาตลอดและรวิสรามักจะนำคำแนะนำที่ได้รับไปปรับใช้เสมอ อีกทั้งยังได้นำคำแนะนำที่ได้ไปบอกต่อกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย

ในคดีนี้ รวิสราถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 อาจารย์ก็ได้ทราบรายละเอียดเป็นอย่างดีและขณะถูกแจ้งข้อกล่าวหา อาจารย์ก็ได้ส่งข้อความและติดต่อให้กำลังใจกับรวิสราตลอดมา โดยในครั้งนั้นอาจารย์ไม่ได้เดินทางไปเป็นนายประกันให้ เนื่องจากกำลังศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2564

ศาลถามว่าอาจารย์จะสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลของรวิสราได้หรือไม่ เพราะหน้าที่บางอย่างนั้นต้องมีการกำชับ ตักเตือน ซึ่งอาจทำให้เกิดความโกรธเคืองหรือลำบากใจระหว่างกันได้

อาจารย์เบิกความตอบว่า เชื่อว่ารวิสราจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัดและจะไม่ประพฤติตนไม่ดีอย่างแน่นอน เพราะหากรวิสราปฏิบัติตนไม่ดีระหว่างไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีก็จะส่งผลกระทบต่ออาจารย์และตัวเธอเองด้วย จึงเชื่อว่ารวิสราจะไม่ทำให้ชื่อเสียงของตนเอง อาจารย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ที่จะได้รับทุนการศึกษาในโครงการนี้ต่อไปในอนาคต

อาจารย์เบิกความเพิ่มเติมว่า ในฐานะของอาจารย์มีความเห็นว่าทุนการศึกษานี้เป็นทุนที่ทรงเกียรติและมีคุณค่า มีขั้นตอนในการสอบคัดเลือกที่ยากลำบากมาก แม้ตนเป็นผู้จบระดับชั้นปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี แต่เมื่อครั้งที่ศึกษาเป็นนิสิตอยู่นั้น แม้จะเป็นผู้เรียนคนหนึ่งที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีที่สุดในขณะนั้น แต่ก็ไม่เคยสอบชิงทุนที่รวิสราได้รับได้เลยสักครั้ง เมื่อทราบว่ารวิสราได้รับทุนการศึกษานี้ ตนก็มีความยินดีอย่างยิ่งและต้องการจะสนับสนุนให้รวิสราได้ไปเรียนตามที่ตั้งใจ

พยานปากที่ 2: ธนชาติ เอกสกุล (บิดาของรวิสรา และผู้เสนอชื่อเป็นผู้กำกับดูแลในไทยคนที่ 2) – พร้อมทำหน้าที่ผู้กำกับดูแล เสนอพี่สาวเป็นผู้กำกับดูแลในเยอรมันอีกคน

บิดาของรวิสราเบิกความว่า พี่สาวของรวิสรา ซึ่งเสนอชื่อเป็นผู้กำกับดูแลในประเทศเยอรมนีอีกคนหนึ่งนั้นเป็นพี่สาวโดยสายเลือดของรวิสรา เธอเป็นคนสุขุม คอยดูแลน้องสาวมาตั้งแต่ยังเล็ก ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดมา รวิสราให้ความนับถือและเชื่อฟังพี่สาวเป็นอย่างมาก เพราะพี่สาวจะคอยแนะนำเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต และอื่นๆ ให้กับน้องสาวตลอดมา

พี่สาวเคยได้รับทุนการศึกษานี้มาก่อนเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเธอทำงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) มีหน้าที่กำกับดูแลเด็กและปกป้องสิทธิเด็ก ที่ประเทศเยอรมนี โดยจะเดินทางกลับมาประเทศไทยสม่ำเสมอ แต่ช่วงหลังนี้มีเหตุการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จึงไม่ค่อยได้เดินทางกลับเมืองไทยเช่นเคย บิดาของรวิสราเบิกความอีกว่า พี่สาวของรวิสราเชื่อฟังพ่อแม่ เป็นเด็กดี เป็นคนที่ตั้งใจเรียน ไม่เกเรมาตั้งแต่เด็กเช่นเดียวกับรวิสรา และพี่สาวของรวิสราไม่เคยถูกดำเนินคดีหรือถูกกล่าวหาในคดีใดมาก่อน

พ่อของรวิสราเบิกความว่า หากศาลอนุญาตให้ตนเป็นผู้กำกับดูแลรวิสราในไทย ตนมั่นใจสามารถทำหน้าที่นี้ได้และจะทำให้ดีที่สุด จึงขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ลูกสาวได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี เพราะในคดีนี้เธอเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา โดยยังไม่ถูกศาลตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา

ศาลกล่าวว่า ตามระเบียบการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลของศาลยุติธรรม ในข้อที่ 9 ระบุว่าผู้กำกับดูแลนั้นมีหน้าที่คอยสอดส่องและกำกับดูแลให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด จากนั้นศาลได้ถามกับพ่อของรวิสราว่า หากพบว่าลูกสาวกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด จะรายงานต่อศาลโดยทันทีหรือไม่

บิดาของรวิสราเบิกความว่า ตนจะรายงานโดยทันทีอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะเป็นพ่อลูกกัน ซึ่งตามธรรมชาติของมนุษย์แล้วควรจะต้องให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ครอบครัวของตนนั้นอยู่กันด้วยเหตุและผล สามารถแนะนำและตักเตือนกันได้ หากลูกทำผิดพ่อแม่ก็สามารถตักเตือนได้ ในทางกลับกันหากพ่อแม่ทำผิด ลูกก็สามารถแย้งและตักเตือนได้เช่นเดียวกัน

ศาลกล่าวว่า นายชัช ขำเพชรที่ได้เสนอชื่อมาเป็นผู้กำกับดูแลในประเทศเยอรมนีอีกคนหนึ่งนั้น ครั้งล่าสุดศาลได้มีคำสั่งว่า จำเลยไม่ได้รู้จักกับนายชัชมาก่อน เพียงแต่ได้รับการแนะนำจากอาจารย์ที่ใกล้ชิดมา จึงเชื่อว่านายชัชก็ไม่ได้รู้จักกับจำเลยเช่นกัน ศาลเชื่อว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้จนถึงปัจจุบันก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นายชัชจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลได้ เนื่องจากตามระเบียบแล้วผู้กำกับดูแลจะต้องมีความสนิทสนมกับจำเลย เพื่อจะได้ทำหน้าที่ในการดูแลตักเตือนกันได้ หากไม่มีความสนิทกันผู้กำกับดูแลจะทำหน้าที่ได้ยากและมีความลำบากใจ

ขณะเดียวกันศาลได้บอกกับอาจารย์อักษรฯ จุฬาฯ ที่เสนอชื่อเป็นผู้กำกับดูแลอีกคนในประเทศไทยในการยื่นคำร้องครั้งนี้ว่า การเป็นผู้กำกับดูแลจะต้องมีความใกล้ชิดกันมากกว่าการเป็นอาจารย์และลูกศิษย์ และพร้อมจะรายงานให้ศาลทราบเมื่อจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขของศาล ซึ่งอาจทำให้ผู้กำกับดูแลมีความลำบากใจได้

ศาลยังได้บอกอีกว่า เดิมทีที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งออกไปเกี่ยวกับพี่สาวของรวิสราที่เสนอชื่อมาเป็นผู้กำกับดูแลในประเทศเยอรมนีเลยนั้น เป็นเพราะว่าต้องการให้จำเลยไปหาผู้กำกับดูแลคนอื่นที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นญาติ แต่ทั้งนี้ศาลเข้าใจว่าการจะหาบุคคลอื่นที่มีความสนิทสนมในประเทศเยอรมนีมาเป็นผู้กำกับดูแลนั้นทำได้ยาก

และในคำร้องที่ได้ยื่นต่อศาลครั้งที่ 2 โดยเสนอให้เอกอัครราชทูตประเทศไทยประจำประเทศเยอรมนีเป็นผู้กำกับดูแลและจำเลยจะไปรายงานตัวต่อสถานทูตทุก 30 วันนั้น ศาลเห็นว่าสามารถทำได้ แต่จะให้เอกอัครราชทูตรายงานต่อศาลนั้นคงเป็นการยากและอาจเป็นการสร้างภาระต่อท่านได้ ทั้งนี้ศาลไม่ทราบว่าขอบเขตอำนาจของศาลสามารถทำได้เพียงนั้นหรือไม่ด้วย และมีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ระหว่างศาลกับสถานทูตหรือไม่

ศาลยังบอกอีกว่า ในการพิจารณาคำร้องครั้งนี้ศาลไม่ได้มีธงคำตัดสินในใจ ศาลพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ศาลกล่าวว่า สิ่งสำคัญในการพิจารณาคำร้องครั้งนี้ก็คือจำเลยถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ซึ่งมีระเบียบมาตรการของศาลยุติธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่ ศาลไม่ได้กังวลเพียงแค่เรื่องจะหลบหนี แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการจะไปกระทำผิดซ้ำในที่ๆ ศาลไม่มีอำนาจควบคุม ตักเตือน และลงโทษจำเลยได้

บิดาของรวิสราแถลงยืนยันว่าตั้งแต่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ รวิสราก็ไม่ได้ไปกระทำผิดซ้ำอีก และหากศาลอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อ ตนจะติดตามตัวเธอเพื่อให้เดินทางมาศาลตามนัด .

พยานปากที่ 3: รวิสรา เอกสกุล (ผู้ร้อง) – หากไม่ไปเรียนปรับพื้นฐานตามกำหนดในอีก 3 วันนี้อาจถูกตัดสิทธิ์ทุนเด็ดขาด และไม่สามารถสอบชิงทุนในปีหน้าได้อีก เหตุขาดคุณสมบัติผู้สมัคร

รวิสราเบิกความว่า ทุนการศึกษาที่ได้รับในครั้งนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้นำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศชาติของตนเอง นอกจากประเทศไทยแล้วก็ยังมีประเทศกำลังพัฒนาอีกประมาณ 100 ประเทศที่ได้รับทุนการศึกษานี้ ในแต่ละปีมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้รับทุนการศึกษาในหลักสูตรมหาบัณฑิต ด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Master of Management in Non-Profit Organizations) นี้ เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค (University of Applied Science Osnabruck) เฉลี่ยจำนวน 9-10 คนเท่านั้น โดยในปีนี้มีผู้ได้รับทุนการศึกษาในหลักสูตรนี้และเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวเพียง 8 คนจากทั่วโลก

โครงการดังกล่าวกำหนดให้ต้องเข้ารับการเรียนปรับพื้นฐานภาษาก่อนเป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากการเรียนการสอนทั้งหมดของมหาวิทยาลัยจะเป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด ดังนั้นโครงการจึงกำหนดให้ผู้เรียนเข้าเรียนปรับพื้นฐานเพื่อให้ได้ระดับภาษาตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อน นอกจากนี้การไปเรียนปรับพื้นฐานจะทำให้ได้พบเจอเพื่อนร่วมรุ่นการศึกษาเดียวกัน รวมถึงจะได้รู้จักนักเรียนทุนคนอื่นๆ ในโครงการเดียวกัน

รวิสราเชื่อว่า การที่เยอรมนีให้ทุนการศึกษากับผู้เรียนในไทย เป็นเพราะว่าไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์อันดีกันตลอดมามากกว่า 120 ปี และเยอรมนีเชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมาก โดยเฉพาะหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) เพราะแม้รวิสราจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แต่เยอรมนีก็ยังยินดีมอบทุนการศึกษาดังกล่าวให้

การเรียนปรับพื้นฐานที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีกำหนดอยู่ในระหว่างวันที่ 4 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2565 นั้นเป็นส่วนสำคัญของการเรียนจริงในระดับปริญญาโท และหากตนไม่ได้เดินทางไปเรียนปรับพื้นฐาน ก็อาจจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ไปศึกษาต่อในทุนการศึกษานี้แล้ว และหากจะเข้าสอบชิงทุนในปีถัดไป ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากโครงการได้กำหนดเงื่อนไขของผู้สมัครสอบคัดเลือก ว่าจะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาจบระดับปริญญาตรีไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น

สำหรับผู้เป็นพี่สาวนั้น มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก รวิสรามีพี่สาวเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต ทุกย่างเก้าสำคัญของชีวิตที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ความเห็นของพี่สาวคือความเห็นที่สำคัญรองลงมาจากพ่อแม่

รวิสราได้แถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า ในชีวิตของคนๆ หนึ่งจะเติบโตไปเป็นคนที่ดีได้ มีสถาบันที่มีอิทธิพลและกำหนดทิศทางชีวิตอยู่ 2 สถาบันด้วยกันได้แก่ หนึ่งคือ สถาบันครอบครัว ซึ่งครอบครัวของตนเองนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างมาก มีพ่อ แม่ และพี่สาว ที่เป็นคอยแบบอย่างที่ดีให้ และที่ตนเองได้ดีทุกวันนี้ก็เป็นเพราะว่าตนเองให้ความเคารพพ่อแม่และพี่สาวเป็นอย่างดีมาตลอด

สถาบันที่สอง คือ สถาบันการศึกษา ซึ่งจะพัฒนาให้เด็กเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ และโชคดีที่ตนมีโอกาสเจอกับอาจารย์ผู้สอนที่ดี คืออาจารย์คณะอักษรฯ ที่เสนอชื่อเป็นผู้กำกับดูแลคนใหม่ในครั้งนี้ อาจารย์เป็นแรงบันดาลใจให้ตนสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากตนจะให้ความเคารพและยำเกรงแล้ว ตนยังรู้สึกว่าอาจารย์เป็นเสมือนคนในครอบครัวคนหนึ่ง การไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีนั้น ตนไม่ได้มีเจตนาคิดจะหลบหนีหรือกระทำการผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด เพราะว่าตนรักและห่วงใยทุกๆ คนที่อยู่ในประเทศไทยที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการให้การรับรองและช่วยเหลือให้เธอได้ไปเรียนในครั้งนี้เป็นอย่างมาก และยืนยันว่าจะไม่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน

สุดท้ายรวิสราเบิกความว่า ขอให้ศาลพิจารณาคำร้อง โดยมองว่าตนคือผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าทำผิด  ศาลได้ตอบกลับว่า ศาลเชื่อว่าทุกๆ ศาลมีความเห็นเป็นเช่นนี้ เพียงแต่ไม่ได้เขียนอธิบายหลักการดังกล่าวลงไปในคำสั่งก็เท่านั้น ศาลเชื่อว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทุกคนคิดเช่นรวิสรากล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือพนักงานอัยการ เพราะหลักการนี้ถูกรับรองอยู่ในกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และพูดทิ้งท้ายว่า ศาลพิจารณาคำร้องในครั้งนี้ โดยมองรวิสราในฐานะประชาชนทั่วไปคนหนึ่งเสมือนคดีอื่นๆ

ศาลอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร พร้อมตั้ง 3 ผู้กำกับดูแล และกำหนดเงื่อนไข

ต่อมา เวลา 19.34 น. นายสันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้รวิสราเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2565 จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 2567 ตามที่จำเลยที่ 11 ระบุวันเดินทางกลับไว้ในคำร้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ลงวันที่ 7 ก.พ. 2565

แต่การที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 11 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีนั้นมีช่วงระยะเวลานาน ซึ่งในระหว่างนั้น ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยไว้ระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 รวมทั้งภายหลังเสร็จการพิพากษาแล้ว ศาลต้องกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาอีก จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขข้อปฏิบัติและข้อห้ามเพิ่มเติม เพื่อมิให้จำเลยที่ 11 มีโอกาสไปกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับข้อกล่าวหาในคดีนี้อีก โดยห้ามจำเลยที่ 11 ทำกิจกรรมหรือก่อเหตุหรือเข้าร่วมชุมนุมที่จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยและในระหว่างที่อยู่ในประเทศเยอรมนี

และเมื่อจำเลยที่ 11 มีความตั้งใจที่จะไปศึกษาต่อ จึงให้จำเลยที่ 11 ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและให้ส่งผลการศึกษาเล่าเรียนมาให้ศาลทราบภายใน 1 เดือน นับแต่วันประกาศผลการศึกษาของแต่ละภาคการศึกษา ให้ตั้งอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บิดา และพี่สาวของจำเลยที่ 11 เป็นผู้กำกับดูแล โดยให้บุคคลทั้งสามติดต่อประสานงาน และร่วมมือกันในการกำกับดูแล หรือให้คำปรึกษา หรือคอยกำชับ หรือตักเตือนให้จำเลยที่ 11 ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัดและป้องกันการหลบหนีของจำเลยที่ 11 และให้ผู้กำกับดูแลเสนอรายงานเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและข้อห้ามตามคำสั่งของศาล ในระหว่างที่พักอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีต่อศาลทุกๆ เดือน โดยให้รายงานต่อศาลครั้งแรกภายในวันที่ 30 เมษายน 2565 และครั้งต่อไปภายในวันสิ้นเดือนของเดือนถัดไป

และให้จำเลยที่ 11 เดินทางกลับประเทศไทยก่อนถึงวันนัดพิจารณาของศาลในวันที่ 2 มีนาคม 2566 และให้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนกว่าจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จ มีหนังสือแจ้งให้เพิกถอนหนังสือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของจำเลยที่ 11 ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

 

ด้าน กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งในทนายความของรวิสรา ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกครั้งที่มีการยื่นเอกสาร จะมีเรื่องที่ต้องแก้ไขและตำหนิติติงมาจากผู้พิพากษาเวรในแต่ละวันที่ไปยื่น และก็มีการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาและออกคำสั่งที่ขัดแย้งกันอยู่ การไม่แจ้งให้ชัดเจนว่าจำเลยต้องเตรียมอะไรมาให้พร้อม เป็นปัญหาที่ทำให้ต้องมีการเตรียมตัวหลายครั้ง แทนที่จะสามารถสั่งให้ชัดเจนได้ในครั้งเดียว

กิตติศักดิ์ยกตัวอย่าง ในการยื่นครั้งที่ 5 และครั้งที่ 6 ที่มีผู้พิพากษาเป็นคนละคนกัน ก็มีความเห็นไปคนละทาง ในครั้งที่ 5 ระบุว่าผู้กำกับดูแลควรเป็นญาติสนิทจึงจะน่าเชื่อถือกว่า แต่ในครั้งที่ 6 กลับมองไปอีกทาง ระหว่างการยื่นก็มีการบอกกล่าวข้อมูลผ่านเจ้าหน้าที่อย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ทำให้มีข้อมูลงอกออกมาเรื่อยๆ ทำให้ไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรกันแน่

“หนึ่ง ศาลควรยืนยันหลักสิทธิ เสรีภาพบุคคลที่ยังไม่พิพากษาถึงที่สุด เขาควรมีสิทธิในการศึกษา การเดินทาง การไปตั้งข้อจำกัดเพียงเพราะกังวลว่าเขาจะหลบหนี เป็นการปิดกั้นโอกาสของเขาทั้งที่ยังไม่ได้รับการดำเนินคดีจนตัดสินว่ามีความผิด ศาลกังวลว่าเขาจะหนี แต่ไม่ได้กังวลเลยว่าเขาจะเดือดร้อนจากการไม่ได้รับโอกาสในการศึกษา แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ เราขอขอบคุณศาลที่ตระหนักในท้ายที่สุด และเห็นถึงความจำเป็นของสิทธิในการศึกษา เลยอนุญาตให้จำเลยได้ออกไปเรียนต่อ แม้จะตั้งข้อกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอย่างที่ทราบมา” กิตติศักดิ์กล่าว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net