Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อนไร้พรหมแดน ค้านกองทัพไทยส่งกลับกะเหรี่ยงผู้ลี้ภัย 3 พันคนกลับพม่า ชี้เป็นการส่งไปสู่การประหัตประหาร โฆษก กต. ยันดูแลผู้ที่ข้ามชายแดนมาอยู่ฝั่งไทยแล้ว ขณะที่ ส.ส.ชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล ร้องกองทัพ เปิดทางภาคประชาสังคมช่วยเหลือชาวพม่าหนีภัยสงครามข้ามแดนเข้าไทย

 

29 มี.ค.2564 จากกรณีกองทัพพม่ารัฐประหารตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และมีประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านอย่างต่อเนื่อง จนการปราบปรามอย่างหนักทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่ามีท่าทีไม่ยอมรับการรัฐประหารนำมาสู่การสู้รบกันอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา กองทัพพม่าส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีและทิ้งระเบิดกองกำลังกองกำลังสหภาพกะเหรี่ยง บริเวณ อ.มื่อตรอหรือมูตรอ จ.ผาปูน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ และเป็นจังหวัดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนของประเทศไทย

28 มี.ค.ที่ผ่านมา เริ่มมีรายงานจากสื่อท้องถิ่นว่ามีประชาชนอพยพหนีการทิ้งระเบิด ทั้งเด็กและคนแก่ต้องหลบตามเพิงผาในถ้ำบ้าง ในเรือกสวนไร่นาและในป่าบ้าง ซึ่งจากการประเมินล่าสุดคาดว่ามีถึง 8,000 คน และยังมีบางส่วนที่อพยพข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทยแล้ว คาดว่ามีสูงถึง 3,000 คน

29 มี.ค. มีความพยายามจะเข้าไปดูแลและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้อพยพที่ประสบเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น มูลนิธิเพื่อนไร้พรหมแดน หรือ Friends Without Boarders และ The Border Consortium หรือ TBC ซึ่งเป็นองค์กรพาร์ทเนอร์ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ต้องการที่จะเข้าไปช่วยในระดับเบื้องต้น แต่กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่

มูลนิธิเพื่อนไร้พรหมแดน ค้านกองทัพไทยส่งกลับกะเหรี่ยงผู้ลี้ภัยไปสู่การประหัตประหาร

วันเดียวกัน (29 มี.ค.64) มูลนิธิเพื่อนไร้พรหมแดน ออกคำแถลงขอโทษถึงผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันกลับจากประเทศไทยในเย็นวันที่ 29 มี.ค. 2564 รวมราวกว่า 3000 คน คนเหล่านี้ไม่สามารถกลับคืนชุมชนเนื่องจากความหวาดกลัว จึงได้แต่พักอยู่ริมน้ำและในพื้นที่บริเวณใกล้แม่น้ำสาละวิน ผู้ลี้ภัยถูกส่งกลับ แม้พวกเขาจะคัดค้าน โดยมีความหวาดกลัวอันมีมูลเหตุที่พิสูจน์ได้ คือ ในวันนี้ ยังคงมีปฏิบัติการทางอากาศในพื้นที่จังหวัดมื่อตรอใกล้ชายแดนไทย และกองทัพพม่ายังใช้โดรนบินสำรวจอีกหลายจุด

"ที่โหดร้ายที่สุด ก็คือการที่เครื่องบินรบพม่าได้ยิงขีปนาวุธเข้าใส่โรงเรียนมัธยมปลายหมายเลข 3 (โรงเรียนดอกูท่า) จังหวัดมื่อตรอ จำนวน 5 ครั้ง ทำลายโรงเรียนทั้งหลังพังพินาศ ล่าสุดยังไม่ทราบว่ามีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่อย่างไร ในนามของประชาชนไทยที่เป็นมิตรกับประชาชนพม่าทุกชาติพันธุ์ เราขอโทษ และยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยและมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับการกระทำของกองทัพไทยในการส่งกลับผู้ลี้ภัยไปสู่การประหัตประหาร" คำแถลงขอโทษของ มูลนิธิเพื่อนไร้พรหมแดน

โฆษก กต. ยันดูแลผู้ที่ข้ามชายแดนมาอยู่ฝั่งไทยแล้ว

บีบีซีไทย รายงานว่า ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชนว่า "ไม่เป็นความจริง""รายงานข่าวดังกล่าว อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่ไม่เป็นทางการเพียงช่องทางเดียว โดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวของทางการในพื้นที่ ซึ่งต่างยืนยันว่า ข่าวการผลักดันส่งชาวเมียนมากลับประเทศนั้น ไม่เป็นความจริง แต่ฝ่ายไทยยังคงยืนยันที่จะให้การดูแลผู้ที่ข้ามชายแดนมาอยู่ฝั่งไทยแล้ว และยังคงประเมินสถานการณ์และความต้องการในพื้นที่ต่อไป"

ธานี กล่าวด้วยว่า ฝ่ายไทยได้ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมาและบริเวณแนวชายแดนอย่างใกล้ชิดมาระยะหนึ่งแล้ว และได้มีการประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง สำหรับนโยบายต่อกลุ่มผู้หลบหนีเข้ามาในไทยนั้น ขอให้มั่นใจว่า ไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับกลุ่มผู้อพยพเข้าไทยด้วยเหตุผลต่าง ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน และที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่าง ๆ ที่หนีภัยการสู้รบหรือสถานการณ์ความไม่สงบจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามหลักมนุษยธรรมและหลักสากลระหว่างประเทศมาโดยตลอด

ส.ส.ชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล ร้องกองทัพ เปิดทางภาคประชาสังคมช่วยเหลือชาวพม่าหนีภัยสงครามข้ามแดนเข้าไทย

ขณะที่ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า มานพ คีรีภูวดล ส.ส.ชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล ออกมาเรียกร้องกองทัพ เปิดทางภาคประชาสังคมเข้าช่วยเหลือชาวพม่าหนีภัยสงครามข้ามแดนเข้าไทย พร้อมเรียกร้องให้รัฐไทยต้องตอบให้ได้ทำไมสนับสนุนคณะรัฐประหารพม่า

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อกังวลของผมต่อสถานการณ์ดังกล่าว ในสภาวะสงครามเช่นนี้ มีผู้หนีภัยสงครามจำนวนไม่น้อยข้ามแดนมายังประเทศไทย ทางการไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมเป็นอันดับแรก และคำนึงถึงกรอบความร่วมมือในระดับสากลด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตรงกันข้าม การเข้าไปช่วยเหลือขั้นพื้นฐานตามหลักมนุษยธรรมแก่เด็กหรือคนแก่ ที่ได้รับบาดเจ็บที่หนีภัยสงครามมากลับไม่สามารถทำได้ และถูกยับยั้งโดยเจ้าหน้าที่ของไทย ข้อเรียกร้องของผมต่อสถานการณ์ดังกล่าวมีดังต่อไปนี้:

1.เมื่อสถานการณ์การสู้รบสงบลง ขอให้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้อพยพลี้ภัย เข้าให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและมีมาตรการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดอย่างรัดกุม

2.ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้อพยพ ต้องเปิดให้ภาคประชาสังคมของไทยและนานาชาติ เข้าตรวจสอบได้ เช่น การลงชื่อเข้าเยี่ยม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้อพยพ โดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงสูง โดยการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงของโควิด

3.เมื่อสถานการณ์สงบลงและมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้อพยพพร้อมกับไปยังถิ่นฐานเดิม ขอให้ UNHCR และกระทรวงมหาดไทยเป็นพยานความสมัครใจ หากมีผู้ไม่สมัครใจจะกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ควรมีการดำเนินการระหว่าง UNHCR ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยคัดกรองผู้อพยพโดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการประหัตประหารหากถูกส่งตัวกลับ 

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อเรียกร้องของผมไปยังทางการไทย ในกรณีผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารของเมียนมาร์ กับกองกำลังสภาพกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับชายแดนไทย และผู้อพยพบางส่วนก็ได้ข้ามฝั่งมายังไทยและรอการช่วยเหลืออยู่

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีคำตอบให้กับท่าทีสนับสนุนรัฐบาลทหารของเมียนมาร์อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน ในฐานะประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน แม้จะมีหลักการการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในระหว่างกัน แต่การรัฐประหารและการสู้รบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในครั้งนี้ อยู่นอกเหนือเงื่อนไขใดใด และเป็นเรื่องของหลักมนุษยธรรมที่ต้องยึดถืออยู่แล้ว ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย มีท่าทีที่เคารพหลักการสากล เคารพความเป็นมนุษย์และสันติสุขของประชาชนชาวเมียนมาร์ทุกคน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net