Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504[1] รัฐไทยได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งครอบคลุมระบบนิเวศบริเวณป่าไม้ ภูเขา ทะเลฯลฯ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดปรากฎการณ์ “นำคนออกจากป่า” โดยห้ามไม่ให้พวกเขาอาศัยหรือเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณดังกล่าว ทั้งที่คนเหล่านั้นอาจใช้ทรัพยากรหรือดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณนั้นมาก่อนที่รัฐประกาศเป็นเขตอุทยานฯ การพยายามกำหนดเขตอนุรักษ์ของรัฐดังที่กล่าวไปวางบนฐานคิดนิเวศวิทยาเชิงลึก (Deep Ecology) ซึ่งเห็นว่ากิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศได้รับความเสียหาย ในแง่นี้จึงต้องปล่อยให้ทรัพยากรธรรมชาติในระบบนิเวศนั้นๆ ฟื้นฟูด้วยตัวเอง โดยแยกมนุษย์ออกจากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ดีแนวคิดข้างต้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology) เพราะความเป็นจริงการบริหารจัดการทรัพยากรไม่สามารถแยกมนุษย์ออกจากระบบนิเวศ เพราะทั้งสองสิ่งสัมพันธ์กันและที่สำคัญการบริหารจัดการทรัพยากรได้เกี่ยวข้องกับระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองฯลฯ ซึ่งมากกว่าการคำนึงถึงระบบนิเวศเพียงอย่างเดียว  

ในปี พ.ศ.2562 มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐในเขตอุทยานแห่งชาติ  ครั้งสำคัญ หลังจากที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 กฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้สามารถใช้ทรัพยากรในเขตอุทยานฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยปรากฏอยู่ในมาตรา 64, 65 ในส่วนของมาตรา 64 เกี่ยวข้องกับที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐบาลต้องมีนโยบายช่วยเหลือผู้คนที่ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ ทว่าคนเหล่านั้นต้องอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนที่จะประกาศเขตอุทยานฯ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต้องสำรวจการถือครองที่และพื้นที่ทำกินในอุทยานฯ แต่ละแห่งและจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่อุทยานฯ โดยกำหนดหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติของบุคคลที่สามารถใช้ประโยชนจากที่ดินหรืออยู่อาศัย[2] และมาตรา 65 เกี่ยวข้องกับการเก็บหาทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ ซึ่งกระบวนการที่จะอนุญาตให้ผู้คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประเภทดังกล่าว อุทยานฯ แต่ละแห่งต้องสำรวจข้อมูลพื้นฐานของประเภททรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ และหากเห็นว่ามีจำนวนเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ กรมอุทยานฯ ต้องเสนอรัฐมนตรีเพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนคราวละ 20 ปี เป็นประกาศกระทรวงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยแต่ละอุทยานฯ ต้องกำหนดมาตรการการใช้ทรัพยากรและคุณสมบัติต่างๆ ของบุคลที่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในเขตอุทยานฯ และบุคคลที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย[3]   

ถึงแม้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในเขตอุทยานฯ แต่ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดและกระบวนการสำคัญ คือ การเก็บข้อมูลที่ดินทำกินหรือข้อมูลการเก็บหาทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ในแต่ละอุทยานฯ เพราะข้อมูลเหล่านั้นจะนำไปใช้สำหรับการออกมาตรการหรือกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานฯ ต่อไป บทความขนาดสั้นชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นหรือข้อสังเกตบางประการต่อเนื้อหาของรายงานสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต[4] และอุทยานลำน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง[5] ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้มาตรา 65 ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยข้อมูลที่นำมาประกอบบทความชิ้นนี้มาจากการสนทนาและประชุมร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดพังงา ซึ่งมีส่วนในการเข้าไปใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดระนองที่เข้าไปใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานลำน้ำกระบุรี ดังนี้  

  1. ข้อมูลการสำรวจคลาดเคลื่อนกับบริบทการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

รายงานสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ภายใต้มาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งจัดทำโดยอุทยานฯ แต่ละแห่งมีการระบุข้อมูลชุมชนที่เข้าไปใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ และรายละเอียดการเก็บหาทรัพยากรชนิดดังกล่าว ทั้งจำนวน ระยะเวลา ความถี่ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้มีข้อเสนอแนะหรือมาตรการต่างๆ ต่อการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในเขตอุทยานฯ  ในอนาคต อย่างไรดีผู้เขียนพบว่าการสำรวจข้อมูลของอุทยานฯ ยังคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น รายงานสำรวจและประมาณสภาพทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ซึ่งอุทยานฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดภูเก็ตและประกาศอุทยานฯ ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเล ในรายงานระบุว่าชุมชนที่เข้าไปใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีเพียง 5 ชุมชนและเป็นชุมชนชายฝั่งที่อยู่ในจังหงวัดภูเก็ต ทว่าในความเป็นจริงยังมีชุมชนชายฝั่งของจังหวัดพังงาหลายชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับอุทยานฯ เข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในอุทยานแห่งชาติสิรินาถตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่อุทยานฯ ใน พ.ศ.2524 มาจนถึงปัจจุบัน ในแง่นี้การระบุว่ามีเพียง 5 ชุมชนที่เข้าไปใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ในเขตอุทยานฯ จึงไม่ตรงกับบริบทการใช้ทรัพยากรของชาวประมงพื้นบ้านที่เกิดขึ้นจริง[6] ซึ่งสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้พิจารณาถึงพลวัตรและความหลากหลายของอาชีพประมงพื้นบ้านที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลโดยไม่มีเขตการปกครองของรัฐเป็นปัจจัยกำหนดพื้นที่ทำการประมงเพียงอย่างเดียว หรือในรายงานการสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดระนอง ผู้เขียนพบว่าในรายงานชิ้นนี้ยังขาดข้อมูลสัตว์น้ำอีกหลายชนิดที่ชาวประมงพื้นบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์ และเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อชาวประมงพื้นบ้านอย่างมาก[7]

  1. การขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่อุทยานฯ ของชาวประมง

การขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติของชาวประมงพื้นบ้าน ปรากฏอยู่ในรายงานที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ชนิด แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างข้อเสนอแนะของรายงานการสำรวจและประเมินสภาพทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ฯ ของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ซึ่งมีจำนวน 5 ข้อ โดย 1 ใน 5 ข้อ มีการเสนอว่า “การดำเนินการสำรวจประเมินสถานภาพทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยาแห่งชาติ พ.ศ.2562 เหมาะที่จะดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีราษฎรที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นปกติธุระ ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ประกอบอาชีพทำสวนเป็นหลัก มีการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นครั้งคราว  ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นปกติธุระ” (ขีดเส้นใต้และเน้นคำโดยผู้เขียน)

ข้อเสนอแนะข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐขาดความเข้าใจบริบทการพึ่งพิงทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติทางภาคใต้อย่างมาก เพราะถึงแม้ในภาพรวมหากประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้เป็นเกษตรกรทำสวนตามที่ข้อเสนอแนะกล่าวจริง แต่การวิเคราะห์การใช้ทรัพยากรต้องคำนึงถึงบริบทเชิงพื้นที่ ซึ่งไม่ควรให้ความสำคัญเพียงแต่ภาพรวมเพียงอย่างเดียว ประชากรในพื้นที่ภาคใต้บางส่วนได้พึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่เขตอุทยานฯ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นในการประกอบอาชีพ  เช่น ชุมชนชายฝั่งโคกกลอย จังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติสิรินาถที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทางทะเล เกษตรกรในชุมชนที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำและทรัพยากรอื่นๆ ในพื้นที่อุทยานฯ และชาวประมงบางส่วนยังได้ประกอบอาชีพการประมงเป็นอาชีพหลัก เป็นต้น ในแง่นี้ทรัพยากรสัตว์น้ำจึงมีความสำคัญต่อชาวประมง หากอุทยานฯ มีข้อเสนอแนะว่าการดำเนินการตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้เข้าไปใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ในอนาคตนั้น ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ สะท้อนว่าเจ้าหน้าอุทยานฯ ยังขาดความเข้าใจวิถีชีวิตหรือการพึ่งพิงทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งพวกเขาอาจใช้ทรัพยากรในบริเวณนั้นก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ

การตั้งข้อสังเกตต่อข้อมูลและเนื้อหาของรายงานของอุทยานทั้ง 2 ชิ้น ไม่อาจสะท้อนข้อมูลและเนื้อหาของรายงานสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรใหม่ทดแทนได้ที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยอุทยานแห่งชาติแห่งอื่นๆ แต่ข้อสังเกตข้างต้นสะท้อนทัศนะคติหรือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการใช้ทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติของชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่อุทยานฯ ทั้งนี้ข้อมูลในรายงานฯ ซึ่งจัดทำโดยอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งจะใช้ประกอบการพิจารณาและออกมาตรการสำหรับใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ในเขตอุทยานฯ ในอนาคต ในแง่นี้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรในอุทยานฯ ต้องทำความเข้าใจบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ของกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เข้าไปใช้ทรัพยากรในเขตอุทยานฯ แต่ละแห่ง ไม่เช่นนั้นการดำเนินการตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติฯ อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิของชุมชนที่มีสิทธิใช้ทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวอย่างชอบธรรม

 

 

บรรณานุกรม

กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านหินช้าง. “สรุปการประชุมพิจารณาข้อมูลการใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีที่จัดทำภายใต้มาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562.” พิจารณาข้อมูลในรายงานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและชี้แจงโครงการที่ เสนอโดยกลุ่มชาวประมง, ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหินช้าง, 9 กุมภาพันธ์ 2564.

เครือข่ายประมงพื้นบ้านโคกกลอย จังหวัดพังงา. “สรุปการประชุมพิจารณาข้อมูลในรายงานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านโคกกลอย จังหวัดพังงา.” พิจารณาข้อมูลในรายงานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและแจ้งสถานการณ์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมง, ห้องประชุมหมู่ 8 ตำบลโคกกลอย, 1 กุมภาพันธ์ 2564.

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 78 ตอนที่ 80 (3 ตุลาคม 2504)

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 7 ก (29 พฤษภาคม 2562)   

อุทยานแห่งชาติสิรินาถ. รายงานการสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนได้และลดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ. นครศรีธรรมราช : สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5, 2562.

อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี. รายงานสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้และลด การพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี. สุราษฎร์ธานี : สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4, 2562.  

 

อ้างอิง

[1] พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 78 ตอนที่ 80 (3 ตุลาคม 2504)

[2] พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, มาตรา 64 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 7 ก (29 พฤษภาคม 2562): 162.   

[3] พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562, มาตรา 65 ราชกิจจารุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 7 ก (29 พฤษภาคม 2562): 163.   

[4] อุทยานแห่งชาติสิรินาถ, รายงานการสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนได้และลดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ. (นครศรีธรรมราช: สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5, 2562)

[5] อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี, รายงานสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้และลดการพึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี. (สุราษฎร์ธานี: สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4, 2562)  

[6] เครือข่ายประมงพื้นบ้านโคกกลอย จังหวัดพังงา, “สรุปการประชุมพิจารณาข้อมูลในรายงานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านโคกกลอย จังหวัดพังงา” (พิจารณาข้อมูลในรายงานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและแจ้งสถานการณ์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมง, ห้องประชุมหมู่ 8 ตำบลโคกกลอย, 1 กุมภาพันธ์ 2564).

[7] กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านหินช้าง, “สรุปการประชุมพิจารณาข้อมูลการใช้ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้ในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีที่จัดทำภายใต้มาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562” (พิจารณาข้อมูลในรายงานการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและชี้แจงโครงการที่เสนอโดยกลุ่มชาวประมง, ห้องประชุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหินช้าง, 9 กุมภาพันธ์ 2564).

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นิติกร ดาราเย็น เป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งที่ทำงานร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านชุมชนชายฝั่งจังหวัดพังงาและระนอง   

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net