Skip to main content
sharethis

หาดพัทยาดำเนินโครงการเติมทรายเพื่อแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งมาเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว  แม้เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ แต่มีคำถามจากภาคประชาสังคมต่อความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของโครงการ เมื่อพบว่าหาดทรายบางส่วนเกิดความเสียหายเพราะน้ำระบายจากตัวเมือง ทั้งยังมีข้อกังวลจากชาวประมงท้องถิ่นเรื่องแหล่งทำกินบนชายหาดที่หดหาย

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หาดพัทยา แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งถึงขั้นวิกฤต จนเหลือความยาวหน้าชายหาดเพียง 3 เมตร ได้มีความพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่นจากถุงกระสอบทราย แต่ก็ไม่ได้ผลและส่งผลต่อทัศนียภาพ

มาตรการเสริมกระสอบทรายเพื่อแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งพัทยา

เผยแพร่ครั้งแรกในสกู๊ปจากสำนักข่าวคมชัดลึก  เมื่อปี 2556

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยืนยันตรงกันว่า สาเหตุของปัญหากัดเซาะมีทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งกีดขวางรุกล้ำบริเวณชายหาดที่เร่งการกัดเซาะรุนแรง เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน ถนนเลียบชายฝั่ง และกำแพงกันคลื่น ซึ่งล้วนแล้วทำลายเนินทรายธรรมชาติ ทำให้กระแสน้ำทะเลเลี้ยวเบน สะท้อนทรายที่เคยมีอยู่หน้าหาดออกไปและไม่กลับมา 

การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยกำแพงกันคลื่นโครงสร้างแข็ง มักถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการป้องกันชายฝั่ง และความเสี่ยงที่จะทำลายระบบนิเวศชายหาด

“ในส่วนของพื้นที่ของพัทยา หากเราทำลักษณะโครงสร้างแข็งก็จะไม่สอดคล้องกับบริบทของการท่องเที่ยว ดูแล้วอาจเป็นทัศนะอุจาดด้วยซ้ำไป เราจึงใช้วิธีการเสริมทรายขึ้นบนชายหาด (Beach Nourishment) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในระดับนานาชาติที่ใช้พัฒนาบูรณะพื้นที่ชายฝั่งทะเล”

เอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา เล่าว่าก่อนที่จะมีโครงการเติมทราย นักท่องเที่ยวที่อ่าวพัทยาจัดว่าบางตามากทีเดียว พวกเขามักจะมุ่งหน้าสู่เกาะล้าน เพราะมีชายหาดราวๆ 6-7 แห่ง

เอกราช คันธโร 

เมื่อปี 2560 กรมเจ้าท่าจึงทุ่มงบประมาณราว 430 ล้านบาท นำทรายมาเสริมตั้งแต่พัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ เป็นระยะทางทั้งสิ้น 2.8 กิโลเมตร กว้าง 35 เมตร โดยใช้แหล่งทรายจากใต้ท้องทะเลลึกด้านทิศตะวันตกของเกาะรางเกวียน

วิธีการนี้เป็นมาตรการแบบอ่อน (Soft Solution) ที่นำทรายจากแหล่งอื่นมาเสริมบนชายหาดที่มีการกัดเซาะเพื่อขยายพื้นที่ชายหาด หรือสร้างชายหาดใหม่

โครงการดังกล่าวสร้างความพึงพอใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ตั้งแต่ผู้ประกอบการโรงแรมไปจนถึงคนขับรถแท็กซี่เพราะทำให้ชายหาดกลับมามีสภาพใกล้เคียงลักษณะเดิมมากที่สุด การคำนวนความคุ้มทุนพบว่างบประมาณที่ลงทุนไปแต่ละบาทในโครงการ จะได้กลับคืนมาประมาณ 37 บาท 

หาดพัทยา เมื่อ ส.ค. 2566

เอกราชให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า โครงการเติมทรายเป็นวิธีที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดในทุกด้าน ทั้งด้านสภาพอากาศ มลภาวะ และผลกระทบต่อทะเล แม้โครงการได้รับการยกเว้นการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แต่ก็มีคณะกรรมการระดับจังหวัดให้ความเห็นชอบ และกำกับควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนเรื่องการติดตามผลลัพธ์และซ่อมบำรุง ยังไม่ถึงขั้นต้องซ่อมใหญ่หรือเติมทรายใหม่ตั้งแต่เริ่มโครงการมา เนื่องจากอัตราการกัดเซาะพื้นที่ยังถือว่าน้อย เฉลี่ยต่อปีประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร

ส่วนการกัดเซาะอย่างมีนัยสำคัญจะเกิดในกรณีมีคลื่นลมแรงหรือพายุใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

“พัทยาถ้าไม่เติมทราย คลื่นมาถึงถนนมันก็อยู่ไม่ได้ จะสั่งย้ายเมืองก็ไม่ได้ ต้องหารูปแบบที่เหมาะสม” 

อีกเสียงจาก ปรานต์ ดิลกคุณากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยกับมาตรการเติมทรายเช่นกัน เพราะการทำโครงการพัฒนาต้องคำนึงถึงหลายมิติ ถ้าจะใช้การปักไม้ ก็อาจสร้างปัญหาทางทัศนียภาพ ถ้าใช้การถอยร่นอาคารหรือเวนคืน ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะพื้นที่มีความเป็นเมืองสูง

ปรานต์ ดิลกคุณากุล

เรื่องต้องจับตา

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นจุดอ่อนเดียวที่ทำให้โครงการเติมทรายหาดพัทยาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเป็น “โครงสร้างอ่อน” ที่ไม่ต้องทำ EIA  

“พอไม่มีการทำ EIA มันก็ขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างเคสพัทยา คนขายของ ประมงพื้นบ้าน ไม่ได้เข้ามาให้ความเห็นอย่างเต็มที่” 

ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย EEC Watch ซึ่งเป็นกลุ่มประชาสังคมที่จับตาโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า  EIA มีความสำคัญเพราะช่วยคาดการณ์ผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากการพัฒนาโครงการ และหาทางป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

สมนึก จงมีวศิน

ในอดีต ก่อนจะสร้างกำแพงกันคลื่นต้องผ่านการทำ EIA แต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ต้องผ่านการทำ EIA ในปี 2556 ส่งผลให้กำแพงกันคลื่นผุดขึ้นมากกว่า 125 โครงการทั่วประเทศ งบประมาณก่อสร้างก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 กลุ่มภาคประชาสังคม Beach for Life และเครือข่ายอนุรักษ์ชายหาดปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลนำ EIA กลับมาบังคับใช้กับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น 

จนกระทั่งวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง

อย่างไรก็ดีประกาศกระทรวงดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างแข็งเท่านั้น ยังไม่รวมถึงการเติมทรายที่เป็นโครงสร้างอ่อน

ในกรณีของหาดพัทยา พบข้อมูลในบันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ซึ่งผู้แทนกรมเจ้าท่าให้ข้อมูลต่อ กมธ. ว่า แม้จะไม่ต้องทำ EIA สำหรับโครงการเติมทราย แต่ก็มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ภายในองค์กร รวมทั้งทำมาตรการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตั้งม่านดักตะกอนที่เกิดจากการถมทราย

หาดจอมเทียน  อีกหนึ่งหาดใน จ.ชลบุรี ที่มีโครงการเติมทรายโดย กรมเจ้าท่า

ถ่ายเมื่อ ส.ค. 2566

นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงความยั่งยืนของโครงการ อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach For Life ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ว่าทุกๆ ครั้งที่ฝนตกหนัก น้ำจากเมืองจะไหลลงทะเลผ่านชายหาดลงทะเล ทำให้ทรายที่เติมบนหาดได้รับความเสียหาย เกิดการกัดเซาะเป็นทางน้ำตัดผ่านบริเวณทรายที่เติมทรายไป

โดยเมืองพัทยามอบหมายให้ฝ่ายเครื่องจักรกล สำนักช่างสุขาภิบาล ดำเนินการปรับพื้นที่ชายหาดให้พร้อมสำหรับฤดูกาลนักท่องเที่ยวที่จะมาถึงนี้ 

อนุวัตร ทองคำ ผู้อำนวยสำนักการช่างสุขาภิบาล กล่าวว่า ชายหาดเสียหายบ่อยครั้งในช่วงหน้าฝน และการปรับพื้นที่หาดมักทำในเวลากลางคืนเพราะต้องการหลีกเลี่ยงนักท่องเที่ยวในตอนกลางวัน

ความเสียหายหาดพัทยา เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 

ภาพโดย ทิวากร กฤษมณี

การปรับภูมิทัศน์ฟื้นฟูหาดพัทยาเมื่อ 10 ต.ค. 

จากเฟซบุ๊ก สำนักช่างสุขาภิบาล เมืองพัทยา

เสียงจากคนยังชีพริมหาด

“เขาพยายามไม่ให้เราเข้าไปจอดเรือบริเวณเก่า อ้างว่ามันเป็นแหล่งท่องเที่ยว หาดจะไม่สวยงาม รกหูรกตา มีเรือประมงพื้นบ้าน มีอุปกรณ์การทำประมงมาวางเกะกะ”

อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.ชลบุรี กล่าวถึงผลกระทบจากโครงการเติมทรายหาดพัทยาและหาดจอมเทียน ทั้งมาตรการจำกัดบริเวณการจอดเรือประมงด้วยเหตุผลทางทัศนียภาพ และระบบนิเวศสัตว์น้ำที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการขุดทรายในทะเลมาใช้ในโครงการ

“เวลาดูดทรายขึ้นมาน้ำทะเลก็จะสีขุ่น ขุ่นเป็นสีอะไรก็ขึ้นกับตะกอนเลนหรือหาดทรายในพื้นที่นั้น น้ำทะเลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเต้าหู้ หรือน้ำซาวข้าว อันนั้นแหละน่ากลัว แล้วความขุ่นของตะกอนเลนจะส่งผลต่อความโปร่งแสง แสงจะไม่ลงไปกระทบกับหน้าดิน กระทบกับสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกเหมือนกัน” 

สำหรับชาวประมงท้องถิ่นผู้หากินไม่ไกลฝั่ง ความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลเปรียบได้กับการทุบบ้านเขาทิ้ง เมื่อเรือไม่สามารถนำขึ้นลงฝั่งแบบเดิม วิถีทำกินก็เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้รายได้ลดลง

เขาเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประมงเหมือนกับญี่ปุ่น เช่น ทำลานจอดเรือ หรือบริเวณที่อนุญาตให้ดึงเรือขึ้นลงฝั่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประมงท้องถิ่นยังชีพได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวก็ได้ซื้ออาหารทะเลราคาถูกจากชาวประมงโดยตรง

ด้าน สมาธิ ธรรมศร นักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์และโลกศาสตร์ กล่าวว่าการเติมทรายบนชายหาด เป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ถ้าทำไม่ถูกหลักวิชาการก็อาจเกิดผลกระทบบางประการตามมาภายหลัง

“การเติมทรายบนชายหาดต้องคำนึงถึงทรายที่อาจไหลลงทะเลไปรบกวนสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น สัตว์ทะเล พืชทะเล ปะการัง เพราะทรายที่ฟุ้งกระจายในน้ำอาจบดบังแสงอาทิตย์ ลดทอนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชทะเล และตกทับถมสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นทะเลได้”

สมาธิ ยังกล่าวด้วยว่า 

“การเติมทรายบนชายหาดต้องดำเนินการตามมาตรฐานการคัดเลือกและบีบอัดทราย (selection and compaction) เพราะถ้าทรายที่เลือกมามีขนาดแตกต่างกับทรายเดิมมากเกินไปจะทำให้เกิดการแยกชั้นของทรายใหม่กับทรายเก่า ทรายที่เติมลงไปจึงถูกน้ำกัดเซาะได้ง่ายหรืออาจถูกลมพัดพาไป ต้องคำนึงว่าสีของทรายใหม่เข้ากับทรายเก่าบนชายหาดหรือไม่”

เล็ก – ผู้ประกอบการร่มเตียงริมหาดพัทยา เล่าว่าหลายปีก่อนที่จะมีการเติมทราย คลื่นแรงกัดเซาะขึ้นมาถึงฟุตบาทในบริเวณที่เธอทำมาหากิน แต่ไม่ถึงกับสูญเสียรายได้ เพราะน้ำจะลดลงภายใน 1-2 ชั่วโมง แล้วเธอก็สามารถกางร่มเตียงได้ตามปกติ

ตั้งแต่มีโครงการเติมทราย เธอและคนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากฝุ่นทราย โดยเฉพาะในช่วงที่พายุเข้า วันไหนฝุ่นเยอะก็ทำได้เพียงใส่แมสก์ และไม่แน่ใจว่าในระยะยาวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร 

“ทรายอันนี้จะละเอียดกว่าของเดิม แล้วเวลาลมพัดมามันจะคล้ายเป็นฝุ่น ทรายปนฝุ่น…อย่างป้าเองวันไหนลมแรงฝุ่นเยอะๆ เวลากลับบ้านก็มีเสมหะ ก็จะออกมาเป็นดำๆ เลย”

ขณะที่ รศ. ดร.เพ็ญใจ สมพงษ์ชัยกุล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในขั้นแรกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างฝุ่นในอากาศไปวิเคราะห์ก่อนว่าเป็นฝุ่นจากที่ใด มีความเป็นพิษมากน้อยเพียงใด

ถ้าเป็นฝุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงแรกที่โครงการเพิ่งสร้างเสร็จ ก็อาจคาดเดาได้ว่าเป็นฝุ่นละอองที่เกิดจากทรายที่นำมาเติมบนหาด เนื่องจากเมื่อนำทรายจากใต้ทะเลขึ้นมาอยู่บนหาด สารอินทรีย์ที่อยู่ในทรายอาจผ่านกระบวนการกัดกร่อนจนหลุดจากการยึดเหนี่ยว (binding) กลายเป็นละอองฝุ่นขนาดเล็ก (particle)

แต่ในปัจจุบันยังคงมีฝุ่นแม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว จึงไม่สามารถเดาได้ว่าเป็นฝุ่นจากที่ใด

“เยียวยาอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องมีมาตรการทางสุขภาพด้วย” 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการเยียวยาต่อเรื่องดังกล่าว เช่น มีการแจกแมสก์ให้คนที่อยู่ริมหาดเป็นประจำ หรือ มีการตรวจสุขภาพปอดทุกๆ 6 เดือน

รายงานพิเศษชุดนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Internews’ Earth Journalism Network

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net