Skip to main content
sharethis

ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 230 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 11,680 คน รักษาหายเพิ่ม 618 คน รวมรักษาหายสะสม 8,906 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 70 คน สธ.เคาะแผนฉีดวัคซีน COVID-19 แบ่ง 3 ระยะ ระยะที่ 1 ระหว่าง ก.พ.-เม.ย. 2564 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ค.-ธ.ค. 2564 ครอบคลุมทั้งประเทศ ระยะที่ 3 ตั้งแต่ ม.ค. 2565 เน้นสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

16 ม.ค. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ว่าพบผู้ป่วยรายใหม่ 230 คน จำนวนนี้เป็นการติดเชื้อในประเทศ 209 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 21 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน โดยตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2563 - 16 ม.ค.2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 7,443 คน หายป่วยแล้ว 4,966 คน และเสียชีวิตสะสม 10 คน

สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นชายไทยอายุ 67 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ จากไทม์ไลน์พบว่าวันที่ 21 ธ.ค.มีประวัติไปสถานบันเทิงและไปซ้ำอีกครั้งในวันที่ 23 ธ.ค. และตั้งแต่วันที่ 24-27 ธ.ค.เริ่มมีอาการไข้ ไอ เสมหะ น้ำมูก

จากนั้นวันที่ 29 ธ.ค.รับทราบว่ามีพนักงานสถาบันเทิงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ติด COVID-19 จึงเดินทางไปตรวจ ผลตรวจพบว่าติดเชื้อและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กระทั่งวันที่ 14 ม.ค.มีอาการแย่ลง ปอดอักเสบรุนแรง เหนื่อยมากขึ้น มีโรคแทรกซ้อนคือไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตในวันเดียวกัน

ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงใน 1 สัปดาห์

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค.2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 1,627 คน ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่มีจำนวนสูงสุด 2,674 คน จึงอยากขอบคุณประชาชนที่ช่วยกันกดกราฟลงไปได้ใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ตัวเลขสะสะยังอยู่ที่ 11,680 คน

ส่วนการค้นหาเชิงรุกในชุมนุมยังคงทำอย่างต่อเนื่อง วันนี้พบ 126 คน ตัวเลขสูงสุดยังอยู่ใน จ.สมุทรสาคร 110 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ, ชลบุรี 5 คน, ระยอง 4 คน, สมุทรปราการ 2 คน, ฉะเชิงเทรา 1 คน, จันทบุรี 1 คน และปทุมธานี 3 คน

สำหรับภาพรวมผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ กระจายไป 60 จังหวัด โดย 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ จ.สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ จันทบุรี นนทบุรี อ่างทอง นครปฐม และปทุมธานี ตามลำดับ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (16 ม.ค.) ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้พูดคุยหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลังพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ โดยพบว่าคลัสเตอร์จากบ่อนการพนันในภาคตะวันออก กระจายไปหลายจังหวัด ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 702 คนและเสียชีวิต 2 คนจากคลัสเตอร์นี้ ส่วนคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ทำให้มีผู้ป่วยกระจายไปหลายจังหวัดเช่นกัน รวมแล้ว 197 คนและมีผู้เสียชีวิต 1 คน

นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์สนามชนไก่ จ.อ่างทอง ซึ่งพบผู้ป่วยกระจายไปในจังหวัดภาคกลาง และ จ.ขอนแก่น รวมผู้ป่วยทั้งหมด 129 คน ไม่พบผู้เสียชีวิต และคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร มีผู้ป่วยกระจายไป 43 จังหวัดรวม 564 คน ขณะที่การระบาดระลอกใหม่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 คน โดยพบว่าคนอายุน้อยและมีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

สธ.เคาะแผนฉีดวัคซีน 3 ระยะ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยผลการประชุมของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ อาทิ การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน รวมทั้งด้านวิชาการ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้ 1.ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือน ก.พ. - เม.ย.2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน, ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค COVID-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ

ส่วนระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น ในเดือน พ.ค.- ธ.ค.2564 กลุ่มเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ และระยะ 3 ที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน

ขณะที่ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค อธิบายว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง นอกจากนั้นยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และงบประมาณที่ต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วยอาการหนักกว่า 1 ล้านบาทต่อคน

จากการตรวจสอบผลกระทบของการฉีดวัคซีนในต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เพราะหลายกรณีเป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรืออาการป่วยอื่นๆ แต่ก็มีบางกรณีที่เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์หลังการฉีด

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนระยะแรกในต่างประเทศจะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด อาทิ วัคซีนโมเดอร์นาฉีดแล้วมีอาการปากเบี้ยว, วัคซีนแอสตราเซนเนกามีอาการไขสันหลังอักเสบ แต่เมื่อสืบสวนพบว่าในประเทศอังกฤษ มีอุบัติการณ์ของไขสันหลังอักเสบในคนทั่วไป รวมถึงคนที่ได้วัคซีนหลอกก็มีอาการนี้ด้วย ดังนั้นต้องติดตามไปอย่างน้อย 1-2 ปี


ที่มาเรียบเรียงจาก ThaiPBS [1] [2]
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net