Skip to main content
sharethis

รายงานบทสัมภาษณ์ “เคท ครั้งพิบูลย์” ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ วิเคราะห์วัจนภาษาต่อความสัมพันธ์ จนถึงบทบาทของศาสนา ปิตาธิปไตย และการกดทับซ้ำซ้อนทางเพศ พร้อมเปิดแง่มุมการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การบัญญัติกฎหมาย สร้างความเท่าเทียมทางเพศในระยะยาว

และแล้วก็เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์ จาก ห อ ม สู่ #เฟมินิสต์ปลดแอก พร้อมกับการจากไปของปี 2563 อย่างเป็นทางการในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่การกลับมาระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เป็นผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และยอดผู้ติดเชื้อรอบนี้จะไปหยุดลงที่จำนวนเท่าไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะต้องพบเจอกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องจากการปิดประเทศเพื่อหยุดการระบาดระลอกแรกของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี ยังผลให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตดิ้นรนมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ความล้มเหลวของระบบสวัสดิการรัฐที่ไม่ต่างอะไรกับการแข่งขันลุ้นรับโชคอย่างเช่น เงินชดเชยเพื่อเยียวยาพิษโควิด-19 ความล้มเหลวของระบบการศึกษาผ่านดาวเทียมที่ไม่อัปเดตหลักสูตรและวิธีการสอนให้สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบัน หรือปัญหาสังคมที่นับวันยิ่งจะเผยให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น

การออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนและนิสิตนักศึกษา นำมาสู่การผลักดันหลายประเด็นปัญหาที่ไม่เคยถูกพูด ทั้งหมดจึงเป็นเหมือนการจุดไฟแห่งความหวังว่า สักวันหนึ่งเราจะต้องมีสังคมที่ดีกว่านี้ให้ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกประเด็นจะสามารถขับเคลื่อนไปโดยง่าย บางประเด็นต้องอาศัยการสร้างความรู้ความเข้าใจ บางประเด็นต้องอาศัยการดึงประสบการณ์ร่วมในแง่ต่างๆ ออกมาให้เห็นปัญหา หากแต่สำหรับประเด็นเพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ ก็ยังเป็นประเด็นที่ยากต่อการขับเคลื่อนอย่างมากทั้งแง่การสร้างความเข้าใจเพื่อลดความเกลียดชังในอัตลักษณ์ทางเพศ และแง่การตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาเหล่านี้ควรได้รับเฉกเช่นคนทั่วไป สวนทางกับคำยกยอของชาวต่างชาติที่ว่า “ประเทศไทยเป็น ‘Land of Freedom’ สำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ”

แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่การสร้างความเข้าใจจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่พูดคุยกันถึงวิธีการเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ “เคท ครั้งพิบูลย์” อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เคยถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศก่อนการเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทย ก็อาจนำมาซึ่งความคิดในอีกแง่มุมหนึ่งกับการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การบัญญัติกฎหมายเพื่อการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในระยะยาวได้

เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เคยถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศก่อนการเข้ารับตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทย

เมื่อวัจนภาษามีผลต่อความสัมพันธ์และความรู้สึก

เป็นที่ทราบกันดีกว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ได้จากการรวมกลุ่มและปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เมื่อมีการปฏิสัมพันธ์ก็นำมาซึ่งความรู้สึกที่ต่างกันออกไป เกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหลากหลายรูปแบบ เมื่อจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธ์คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างปฏิสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องของวัจนภาษาหรือภาษาพูด และอวัจนภาษาหรือท่าทางที่จะเป็นตัวกำหนดว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะไปในทิศทางใด

เคท เริ่มต้นอธิบายว่า ทั้งวัจนภาษากับอวัจนภาษาต่างมีความหมายของมัน ซึ่งสองสิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ขณะที่มีปฏิสัมพันธ์นั้น ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อสารหรือสื่ออารมณ์อย่างไรกับเรา ผู้รับสารจะเป็นผู้เดียวที่รับรู้ได้ว่า สารและอารมณ์ที่ส่งมามีลักษณะเช่นไร แน่นอนว่า อวัจนภาษาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของบุคลิกภาพส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน ท่าทางที่แตกต่างกันจึงมีผลต่อการตีความในแง่ความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลหนึ่งมีความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรกับอีกบุคคลหนึ่ง บุคคลนั้นอาจแสดงออกซึ่งท่าทางที่ไม่เป็นมิตร ไม่ว่าจะเผลอกระทำหรือตั้งใจ หากผู้รับสารรู้สึกว่า ท่าทีดังกล่าวมีความหมายแฝงเร้นว่าเป็นการเหยียด ผู้รับสารจะรู้สึกได้และสามารถบอกได้ว่า ท่าทีดังกล่าวส่งผลต่อความรู้สึกของตนอย่างไร

เช่นเดียวกับวัจนภาษา เคท กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่เราใช้ภาษาในการสื่อสาร ไม่ว่าจะในรูปแบบคำหรือประโยค หากเจตนาของผู้ส่งสารต้องการสื่อความหมายในเชิงลบหรือสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้รับสาร หากผู้รับสารรู้สึกไม่สบายใจจากคำพูดดังกล่าว ผู้รับสารจะต้องอธิบายได้ว่าคำพูดนี้ไม่เหมาะสมอย่างไร และถือเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามสิทธิของตนหรือไม่

เมื่อคำพูดมีผลต่อความสัมพันธ์และความรู้สึก ภาษาพูดทั่วโลกรวมทั้งภาษาไทยจึงมีรูปแบบการใช้คำ 2 แบบ คือ การใช้คำในความหมายทางตรง และการใช้คำในความหมายโดยนัย เนื่องจากคำบางคำอาจเป็นคำหยาบคายหรือมีความหมายเชิงลบ การบัญญัติความหมายโดยนัยลงบนคำที่มีอยู่เดิมเพื่อใช้สื่อสารทางอ้อมถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดทอนความรุนแรงหรือความหยาบคายของประเด็นนั้นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องพูดเรื่องของอวัยวะเพศชาย เราจะไม่ใช้คำที่มีความหมายว่า อวัยวะเพศชายโดยตรง แต่เราจะเลี่ยงไปใช้คำอื่น เช่น ช้างน้อย น้องชาย ลึงค์ หรืออื่นๆ หรือเมื่อพูดถึงเรื่องของอวัยวะเพศหญิง เราอาจจะใช้คำว่า น้องสาว หรืออื่นๆ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการใช้คำมีผลต่อความสัมพันธ์อย่างมากในปัจจุบัน การตระหนักรู้เรื่องมิติความละเอียดอ่อนของคำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก กล่าวคือ มิติความละเอียดอ่อนของคำเป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนว่า เราตระหนักรู้ถึงความเหมาะสมได้มากน้อยเพียงใดในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อจะเลือกใช้คำหรือประโยคต่างๆ โดยที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ปัจจัยนี้จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างบนความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เพราะหากไม่มีการเคารพกันแล้ว สังคมก็จะพบกับความขัดแย้งที่ไม่สามารถหาจุดจบได้ ดังเช่น กรณีการใช้คำว่า ห อ ม ที่เป็นประเด็นถกเถียงถึงเรื่องบริบทของคำดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ก่อนหน้านี้ แม้ปัจจุบันคำดังกล่าวจะไม่ถูกพูดถึงแล้ว แต่ในแง่ความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายที่ถกเถียงกันนั้นยังคงเป็นสิ่งที่คลุมเครือ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว การถกเถียงดังกล่าวเกิดจากการถามถึงความเหมาะควรของการใช้คำที่มีความหมายโดยนัยในลักษณะคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) เมื่อผู้รับสารรู้สึกว่าการใช้คำว่า ห อ ม ในลักษณะดังกล่าวนำมาซึ่งความไม่สบายใจ และความรู้สึกต่อต้านกับการใช้คำดังกล่าว ผู้ส่งสารก็จำเป็นจะต้องเคารพความรู้สึกและความต้องการของผู้รับสารด้วยเช่นกัน

แต่กระนั้นก็มีกลุ่มคนบางส่วนถามถึงการกระทำในลักษณะเดียวกันของ “กลุ่มจ๊อกจ๊อกผู้ชาย” อันเป็นกลุ่มสังคม LGBTIQ+ ที่ถูกสร้างขึ้นบน Facebook เพื่อส่งต่อรูปภาพผู้ชาย และแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะคุกคามทางเพศ อาทิ น้ำเดิน เดินไม่ไหว ปล่อยท้อง เป็นต้น จนเกิดเป็นการตั้งคำถามว่า ถือเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่?

เคท ตอบคำถามนี้ว่า การกระทำดังกล่าวถือการคุกคามทางเพศเช่นเดียวกับการพิมพ์คำว่า ห อ ม ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นเพศใด หรือมีเจตนาในการใช้คำหรือประโยคแบบใดก็ตาม หากคำหรือประโยคเหล่านั้นได้รับการตีความแล้วว่า เป็นหนึ่งในรูปแบบของการละเมิดความเป็นมนุษย์อันประกอบด้วย สีผิว หน้าตา รูปร่าง วัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ ศาสนา และเพศสภาพ ส่งผลให้ผู้รับสารเกิดความรู้สึกไม่ดี ผู้ส่งสารก็จำเป็นจะต้องทบทวนเพื่อเลี่ยงการใช้คำหรือประโยคที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางจิตใจกับผู้รับสารที่อาจต้องเผชิญกับความรู้สึกเมื่อได้รับคำเหล่านั้น

ภาพจากกิจกรรม#ไพร่พาเพรด เดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย ความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมในทุกมิติ จัดโดย  กลุ่มเสรีเทยพลัส และผู้หญิงปลดแอก เมื่อวันที่ 7 พ.ย.63

ศาสนา ปิตาธิปไตย และการกดทับซ้ำซ้อนทางเพศ

“ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่า สังคมมันมีการมองเห็นอยู่แล้วว่า คนที่เป็นเพศสภาพอื่นนอกจากชายหญิงในสังคมวัฒนธรรมเดียวกัน มันมีอยู่จริง”

จากประโยคเมื่อครู่ เคทอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาถึงการนำเสนอความเป็นเพศในสังคมเอเชียอาคเนย์ หรือแม้แต่สังคมไทยจะมีคำศัพท์ที่แสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศ อาทิ คำว่า “กะเทย” ในภาษาไทยที่ถูกนำมาใช้แทนความหมายกับคนที่ไม่ได้เป็นเพศหญิงหรือชาย หรือแม้แต่คำว่า “Pondan” ในภาษามลายู หรือ คำว่า “Waria” ในภาษาอินโดนีเซีย ทั้งหมดนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าความหลากหลายทางเพศในบริบทของสังคมเอเชียอาคเนย์เป็นสิ่งที่ถูกมองเห็นและบันทึกไว้อยู่ก่อนแล้ว

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอันก่อให้เกิดการกดทับทางเพศในบริบทภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่สังคมในภูมิภาคนี้สมาทานแนวคิดชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) เป็นผลให้เพศชายเป็นเพศที่เข้าถึงทรัพยากรและผลประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ถูกเชื่อว่า จะเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพมากกว่ากลุ่มคนเพศสภาพอื่น พวกเขาจึงกลายเป็นกลุ่มคนที่กุมอำนาจ รวมทั้งออกแบบวิธีการเข้าถึงอำนาจและสร้างระบอบคิดเรื่องคุณค่าความเป็นชายว่า เป็นคุณค่ามาตรฐานที่สังคมต้องยึดถือ อีกทั้งวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ทำให้เห็นว่า ความเป็นเพศสภาพถูกสร้างขึ้นมาแบบกล่องสองเพศ คือ ความเป็นเพศหญิงกับความเป็นเพศชาย และถูกทำให้เชื่อว่า เพศทั้งสองคือเพศกระแสหลัก และใครก็ตามที่ออกจากความเป็นเพศกระแสหลักนี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

แน่นอนว่า จารีต วัฒนธรรม และศาสนาก็มีส่วนทำให้แนวคิดชายเป็นใหญ่นั้นแข็งแรงและคงอยู่ร่วมกับสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธศาสนา (อาจหมายรวมถึงศาสนาอื่นที่มีผลต่อบริบทในสังคม) ที่เข้ามาบทบาทในแง่ของการกำหนดวิถีชีวิต และบทบาทหน้าที่ของคนในระดับต่างๆ ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงระดับสังคม สามสิ่งนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้แนวคิดชายเป็นใหญ่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น ผ่านการกำหนดบทบาททางเพศสภาพว่า เพศสภาพแบบไหนมีบทบาทอย่างไรในสังคม เพื่อคงอยู่และสืบทอดต่อไปในแง่ของความเชื่อและอุดมการณ์ที่คนในสังคมเชื่อร่วมกันว่า เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การธำรงรักษา ดังจะเห็นจากคนที่เป็นเพศสภาพอื่นที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศใช้ระบอบปิตาธิปไตยในการส่งทอดความคิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นมาแบบไหนก็ควรจะต้องดำรงต่อไปเช่นนั้น

ดังนั้นแล้ว การพูดถึงปัญหาหลักของระบอบปิตาธิปไตยในมุมมองของ เคท คือ เราจะต้องทำให้ผู้คนในสังคมเห็นภาพร่วมกันว่า มันมีการผลิตซ้ำแนวคิดนี้อยู่ในทุกที่ เพื่อคงภาพจำไว้ว่าเพศสภาพอื่นนั้นอ่อนแอและมีข้อด้อยทั้งหมด ขณะที่เพศสภาพชายคือสิ่งที่ดีเลิศและเป็นมาตรฐานของสังคม

ทั้งหมดนี้จึงนำมาซึ่งการต่อสู้ทางความคิดระหว่างผู้สมาทานปิตาธิปไตยกับกลุ่มคนที่ต้องการความเท่าเทียมทางเพศ ดังเช่นประวัติศาสตร์ชนชั้นนำที่ออกมาพูดถึงบทบาทของผู้หญิงอย่าง กรณีอำแดงเหมือน หญิงชาวบางม่วง นนทบุรี ผู้ที่ถือเป็นผู้ขับเคลื่อนสิทธิสตรีคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากบันทึกคดีความระหว่างอำแดงเหมือนและนายริด ผู้เป็นสามี กับ นายภู ผู้ซึ่งบิดาและมารดาของอำแดงเหมือนทำหนังสือขายอำแดงเหมือนให้เป็นภรรยา นำมาสู่การยื่นหนังสือฎีกาต่อในหลวง รัชกาลที่ 4 และได้รับพระบรมราชวินิจฉัยว่า “หญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเสศแล้ว ควรจะเลือกหาผัว ตามใจชอบของตนเองได้” และ “บิดามารดา ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า ที่ตนจะตั้งราคาขายโดยชอบได้  เมื่อบิดามารดายากจนจะขายบุตรได้ก็ต่อเมื่อบุตรยอมให้ขาย ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไร ผิดไปจากนี้อย่าเอา” กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นพัฒนาการแรกในด้านสิทธิสตรีว่า ผู้หญิงมีสิทธิเลือกคู่ครองได้ตามตนเองต้องการได้

นับแต่นั้นมาพัฒนาการเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศก็มีมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ แต่ที่เห็นชัดมากที่สุดคือ กระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในประเทศไทย มีส่วนเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่ทำให้เกิดการพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะ 20 ปีที่ผ่านมาของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศได้ดำเนินการต่อสู้กับภาครัฐในหลากหลายประเด็น จนกระทั่งผู้หญิงได้รับสิทธิที่ทัดเทียมกับผู้ชายมากขึ้นเช่น สิทธิแรงงาน สิทธิในการลาคลอด สิทธิในการเข้าถึงอาชีพที่หลากหลายเท่าเทียมกับผู้ชาย เป็นต้น

การต่อสู้ทางด้านสิทธิของผู้หญิง และ LGBTIQ+ จึงมีพัฒนาการในแบบกลุ่มของตน มีการต่อสู้กับวัฒนธรรมที่ตีกรอบบทบาทของความเป็นเพศ ทั้งวัฒนธรรมเดิมที่อ้างอิงกับระบอบปิตาธิปไตย การกำหนดบทบาทผู้คนของศาสนา รวมทั้งอิทธิพลที่รับมาจากวัฒนธรรมตะวันตกช่วงยุควิคตอเรีย ซึ่งมีผลอย่างมากกับการแสดงออกเรื่องความเป็นเพศ สิ่งเหล่านี้ทำให้กรอบความคิดเรื่องเพศกลับไปสู่จุดที่ยึดถือความเป็นเพศแบบสองเพศเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสิ่งเหล่านี้ดำเนินการเช่นดังกล่าวไปเรื่อยๆ ทางประวัติศาสตร์สังคม จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความไม่เสมอภาคทางเพศที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะระบอบการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา หรือแม้แต่ในสถานศึกษา เมื่อความเป็นเพศถูกนำมาเป็นเครื่องมือชี้วัดความเท่าเทียม เราจะเห็นได้ในทันทีว่า ความไม่เสมอภาคมีอยู่ทุกที่ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศโดยมีผู้หญิงและ LGBTIQ+ เป็นผู้ขับเคลื่อน

สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นคือ ความเป็นกลุ่มก้อนของผู้คน กอปรกับอัตลักษณ์ตัวตนที่ชัดเจนมากว่า พวกเขาไม่ใช่เพศตามกรอบเพศชายและหญิง จริงอยู่ว่า เมืองไทยเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถแสดงออกทางอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างเสรี แต่ใช่ว่าสังคมไทยจะไม่มีเรื่องความเกลียดชังต่อคนกลุ่มนี้ เนื่องจากสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าสังคมคือ สังคมไทยไม่มีความเกลียดชังแบบซึ่งหน้า (Hate Crime) ต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ผู้คนภายนอกจึงมองว่า ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ ผู้คนสามารถเป็นเกย์ กะเทย หรือเลสเบี้ยนได้ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อคนกลุ่มนี้มีปัญหากับสังคม สังคมก็จะทำการเปิดเผยเพื่อตีตราและประณาม ดังเช่นการเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้จากการเลือกนำเสนอข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันที่ เช่น “หนุ่มตุ้งติ้งถูกฆ่า” “ทอมหึงโหด” และ “กะเทยลักทรัพย์” หรือแม้แต่ละครหลังข่าวที่แสดงออกถึงบทบาทของพวกเขาว่า เป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรง เป็นตัวตลก และเป็นคนไม่สมหวังในความรัก ทั้งหมดนี้เป็นสร้างภาพจำ และขับเคลื่อนสังคมให้มีมุมมองด้านลบต่อ LGBTIQ+ ในระดับเข้มข้นมาก

Land of Freedom ที่กฎหมายไม่รับรอง

“ภาพมันฉายให้เห็นชัดว่า สังคมไทยไม่ยอมเข้าใจความเป็นเพศวิถี ไม่ยอมเข้าใจความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ และเชื่ออย่างเดียวว่า เพศกำเนิดเป็นสิ่งที่ติดตัวไปตลอด”

อย่างที่เราได้พูดคุยกันไปหลากช่วงหลายตอนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ ความเข้าใจเรื่องเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ รวมไปถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ควรผูกติดกับศักยภาพที่มีมากกว่าความเป็นเพศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยเลือกเชื่ออย่างฝังหัวเกี่ยวกับแนวคิดแบบกล่องสองเพศ แม้บางคนจะไม่ได้สมาทานคุณค่าความเป็นชายตามแบบระบอบปิตาธิปไตย แต่แนวคิดแบบกล่องสองเพศยังคงฝังรากลึกอยูในชุดความคิดของผู้คน แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากกรอบความคิดเรื่องบทบาททางเพศ อันสืบเนื่องมาจากจารีต ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด แต่ส่วนที่เป็นปัญหาหลักน่าจะมาจากนโยบายของภาครัฐที่กำหนดความเป็นเพศภายหลังคนๆ หนึ่งถือกำเนิดขึ้นมา ผ่านคำนำหน้าว่า “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง”

เคท ให้ข้อสังเกตว่า ประเทศไทยให้สิทธิการกำหนดเพศของทารกผ่านการแจ้งเกิดในสูติบัตร ซึ่งสูตินรีแพทย์ผู้ทำคลอดจะเป็นผู้มีสิทธิกำหนดเพศของทารกผ่านการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยความเป็นเพศผ่านเครื่องเพศกำเนิดของทารก แต่ปัญหาที่ปรากฏก็คือว่า การวินิจฉัยเพศของสูตินรีแพทย์นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นเพศของเด็กที่โตมา เนื่องจากเครื่องเพศเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนความเป็นเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลได้ ดังนั้นบางประเทศที่มีพัฒนาการความคิดเรื่องความเป็นเพศไปไกลระดับนึงแล้ว เขาจะมองเห็นความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการนิยามความเป็นเพศของบุคคล นโยบายของประเทศเหล่านี้จึงกำหนดว่า ต้องรอให้เด็กโตขึ้นมาในระดับหนึ่งก่อน เพื่อให้เด็กสามารถตัดสินใจเลือกเพศของตัวเองได้ สิ่งนี้จึงเป็นข้อยืนยันมากที่สุดว่า ท้ายที่สุดแล้วแนวคิดเรื่องความเป็นเพศสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมว่า วัฒนธรรมนั้นให้สิทธิบุคคลในการตัดสินใจและสร้างนิยามความเป็นเพศของตัวเองอย่างไร

แต่ถึงอย่างนั้น คำถามถัดมาคือ แล้วประเทศไทยจะสามารถให้สิทธิการกำหนดเพศแก่เจ้าของร่างกายนั้นหรือไม่? คำตอบของ เคท สำหรับเรื่องนี้คือ

“ยากค่ะ เพราะว่าการเลือกเพศ เป็นเรื่องของการรักษาอำนาจของผู้ปกครอง”

เนื่องจากจารีต ศาสนา และวัฒนธรรมของสังคมไทยได้เข้าไปควบคุมความเป็นเพศ และบทบาททางเพศของคนในสังคมระดับที่แข็งตัวมาก โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงที่ฉายภาพอย่างชัดเจนว่า เพศสภาพชายเป็นผู้นำ และเพศสภาพหญิงเป็นผู้ตาม อีกทั้งความเป็นเพศถือเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจของผู้ชาย อิทธิพลของจารีต ศาสนา และวัฒนธรรมเหล่านี้จึงก่อเกิดความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ว่า ถ้าผู้หญิงจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจของผู้ชายนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้

ทำไมเขาถึงเชื่อเช่นนั้น? เคท ให้เหตุผลว่า วัฒนธรรมของชนชั้นสูงนั้นถือเป็นต้นแบบของคนชนชั้นอื่นในสังคม เมื่อชนชั้นที่ทำการปกครองประเทศมีวัฒนธรรมเช่นไร กลุ่มคนต่างๆ ที่อยู่ใต้อำนาจก็จะรับเอาวัฒนธรรมเหล่านั้นจากศูนย์กลางออกมาปฏิบัติสืบทอดต่อไป การรักษาอำนาจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากมันคือการเข้าไปควบคุมความคิดของคนในสังคม ฉะนั้นการควบคุมความคิดเรื่องความเป็นเพศจึงเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจต้องเข้าไปจัดการ ส่งผลให้ระดับนโยบายหรือกฎหมายของรัฐไทยในประเด็นเรื่องความเป็นเพศมีลักษณะเป็นการตีกรอบให้ลงกล่องว่า “คุณเป็นเพศอะไร?” เมื่อบุคคลต้องการข้ามเพศไปเป็นอีกเพศหนึ่งก็จะถูกตั้งคำถามว่า “ถ้าข้ามเพศไปแล้วสังคมจะยอมรับได้ไหม?” หรือ “ถ้าผู้ชายไม่รู้ว่าคุณข้ามเพศแล้วมารักพอชอบกันถึงขั้นแต่งงานจะทำอย่างไร?” ทั้งหมดจึงออกมาในลักษณะที่สังคมเป็นผู้คิดแทนบุคคล

ดังนั้นเมื่อพูดถึงการเปิดรับความหลากหลายทางเพศของสังคมไทย ข้อด้อยที่สุดก็คือ เราไม่มีกฎหมายที่สามารถนำมาใช้คุ้มครองสิทธิคนที่เป็น LGBTIQ+ ได้เลย เมื่อการคุ้มครองในทางกฎหมายไม่มีแล้ว การจะพูดว่า สังคมไทยมีการยอมรับคนกลุ่มนี้ แต่การยอมรับในทางกฎหมายกลับยังไม่มี มันจึงเป็นข้อบ่งชี้ว่า รัฐไทยไม่ได้สนับสนุนคนที่เป็น LGBTIQ+ อย่างแท้จริง คนกลุ่มนี้จึงไม่สามารถพูดได้ว่า ความรู้สึกของการถูกคุ้มครองสิทธิโดยรัฐในฐานะประชาชนทั่วไปคืออะไร เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานที่อยู่ในกฎหมายนั้นไม่ได้ถูกให้การรับรองบุคคลทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน

ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรค 1 ระบุว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” ขณะที่วรรคสอง มาตราเดียวกันระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ทั้งสองวรรคของมาตรานี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า สถานะของบุคคลในรัฐไทยมีเพียงแค่ชายหญิงเท่านั้น

ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นความหลากหลายทางเพศได้พยายามเรียกร้องไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคืบหน้าไปได้น้อยมาก เนื่องมาจากสาเหตุแรกคือ กลุ่มผู้มีอำนาจได้ทำการปฏิเสธ และพยายามแสดงให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเหตุไม่มีอยู่จริง สังคมไทยเปิดกว้างให้กับบุคคลทุกคน รัฐไทยดูแลทุกคนเท่าเทียม สาเหตุที่สองคือ เรื่องของความเพิกเฉย สิ่งที่กลุ่มคนทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศค้นพบคือ มันมีความเพิกเฉยที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้มีอำนาจ และส่วนนี้มีผลอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศเพื่อให้แก้ได้อย่างตรงจุด

ดังนั้นเมื่อพูดถึง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ และกฎหมายอื่นๆ ที่ถูกเสนอเข้าสู่สภาเพื่อให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีสิทธิที่ทัดเทียมกับเพศอื่น เหตุผลที่กฎหมายเหล่านี้ยังไม่ถูกรับรอง เนื่องจากกลุ่มผู้บริหารประเทศยังมีชุดความคิดว่า เมื่อพูดถึงเรื่องของการสมรส ภาพจำของคนกลุ่มนี้ยังคงเป็นภาพของผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้นที่จะสามารถสมรสเพื่อดำรงพงศ์พันธุ์ของตนให้อยู่บนโลกใบนี้ได้ ขณะที่เมื่อพูดถึงเพศสภาพ อุปสรรคที่พบเจอส่วนใหญ่คือ สังคมไม่ได้พูดถึงเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ แต่สังคมเชื่อและยึดมั่นถือมั่นในเรื่อง เพศกำเนิด ฉะนั้นปัญหาตรงนี้จะยังแก้ไขไม่ได้ ตราบใดสังคมยังยึดถือในเรื่องเพศกำเนิดและไม่เปิดรับความเป็นอัตลักษณ์ทางเพศอื่น

ภาพจากกิจกรรม#ไพร่พาเหรด เดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย ความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมในทุกมิติ จัดโดย  กลุ่มเสรีเทยพลัส และผู้หญิงปลดแอก เมื่อวันที่ 7 พ.ย.63

เสียงของปัญหาที่ส่งไปไม่ถึงสภา

บทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับเคท ดำเนินมาถึงจุดหนึ่งที่ชวนให้ผู้เขียนฉุกคิดถึง งานเสวนา “ความรุนแรงทางเพศ – จากโลกออฟไลน์ถึงออนไลน์” ที่จัดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และมี “กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล และส.ส.คนแรกที่เป็นสตรีข้ามเพศ เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมวงเสวนา โดย กอล์ฟ ได้กล่าวถึงความเป็นสังคมไทยว่า “สังคมไทยให้ความสำคัญกับอวัยวะเพศมากกว่าความเป็นมนุษย์” ประโยคดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามในวงสนทนาระหว่างผู้เขียนกับเคทว่า “ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นสะท้อนมุมมองของรัฐและสังคมต่อ LGBTIQ+ อย่างไรบ้าง?”

“สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยเป็นเรื่องการสร้างข้อจำกัด เขาไม่ได้ยอมรับตัวตนของคนที่เป็นเพศสภาพอื่นให้เข้าไปมีสถานะทางสังคมนะคะ”

เคท กล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า อาชีพ สถานะ และตำแหน่งบางอย่างคู่ควรเฉพาะกับคนที่เป็นเพศกระแสหลักเท่านั้น อาทิ อาชีพครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจ หรือแม้กระทั่ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นต้น มุมมองของสังคมที่มีต่อ LGBTIQ+ จึงถูกสะท้อนออกมาเมื่อ กอล์ฟ ผู้เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศที่ได้รับเลือกเข้าไปในสภา และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า “จะใส่ชุดข้าราชการผู้หญิงได้อย่างไร” เห็นได้ชัดว่า กรอบความคิดเรื่องเพศและบทบาททางเพศมันเข้าไปจับแทนที่หลักการความเท่าเทียมของมนุษย์ไปเสียหมด ทั้งที่จริงแล้ว สังคมไม่จำเป็นต้องคิดแทนเลยด้วยซ้ำว่า กอล์ฟจะแต่งกายอย่างเพศสภาพหญิงเข้าสภาได้หรือไม่? เพราะกอล์ฟสามารถแต่งกายอย่างไรเข้าสภาก็ได้ ตราบใดที่ยังอยู่ในกฎระเบียบของสภา

ยิ่งไปกว่านั้น มุมมองทั้งหมดนี้มีผลต่อความแสดงคิดเห็นของ กอล์ฟ ทั้งในฐานะผู้เสนอประเด็นและผู้ซักถาม เพราะไม่ว่าจะขับเคลื่อนประเด็นใด หรือเสนอข้อคิดเห็นอย่างไรก็ตาม เสียงของกอล์ฟก็จะถูกด้อยค่าลงไป เพราะความเป็นคนหลากหลายทางเพศทำให้ถูกตีตราและปัดเป็นเสียงของคนชายขอบ

“เสียงของคนที่เป็นชายขอบเนี่ยมันถูกมองให้เป็นอื่นเสมอ”        

การถูกลดทอนพลังเสียงในการสื่อสารด้วยเหตุแห่งเพศสภาพยังเป็นสิ่งที่พบได้ในสังคม ทั้งจากกรณีของ อดีต ส.ส.กอล์ฟ และ เคท ในฐานะอาจารย์นั้น คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยไม่เปิดรับและไม่เลือกเชื่อในเรื่องของเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ และความเท่าเทียมของมนุษย์ โดยการไม่เปิดรับเหล่านี้เป็นผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในลักษณะที่เป็นความเกลียดกลัว เช่น “ตอนแรกมองอาจารย์เคทไม่ออกค่ะ นึกว่าเป็นผู้หญิงจริงๆ” หรือแม้แต่คำถามว่า “ทำไมถึงมาเป็นแบบนี้ได้” “ที่บ้าน คนรอบตัวยอมรับบ้างไหม?” ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพให้เห็นว่า สังคมไทยให้คุณค่ากับอวัยวะเพศมากกว่าศักยภาพของบุคคลนั้นๆ

อีกทั้งการถูกกดทับด้วยความเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ เป็นเหตุให้คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญความรู้สึกแบบเดียวกันคือ การต้องถีบตัวเองขึ้นมา อันเป็นผลมาจากวาทกรรมที่ว่า “คนที่เป็น LGBTIQ+ จะต้องเก่งรอบด้าน” และทำให้คนเหล่านี้จำเป็นจะต้องถีบตัวเองขึ้นมา เพื่อแสวงหาความมั่นคง ความเชิดหน้าชูตาให้ครอบครัว ราวกับเป็นการทดแทนคุณค่าทางสังคมบางอย่างที่หายไป ทั้งที่จริงแล้วคุณค่าของพวกเขาอยู่ที่ศักยภาพที่พวกเขามี หาใช่ความเป็นเพศกระแสหลักหรือกระแสรองใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งหมดนำมาสู่การตั้งคำถาม และค้นพบว่า ทุกคนมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในแบบของตน และไม่จำเป็นจะต้องไปเสาะแสวงหาศักยภาพอื่นมาเพื่อต้องการได้รับการยอมรับ ดังนั้นกลุ่มผู้หญิงและ LGBTIQ+ จึงออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการที่จะมีตัวตนในแบบของตนเอง ทั้งในแง่กฎหมายที่สร้างความเท่าเทียม และการสร้างทัศนคติการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคมให้ได้

แต่ปัญหาก็ติดอยู่ที่ว่า…

พหุวัฒนธรรมที่ไม่เข้าใจในความต่าง

“แม้สังคมไทยจะมีความหลากหลายของผู้คนมาก แต่เรื่องความเข้าใจและการปฏิบัติต่อกันบนความเคารพความแตกต่างของเรามีน้อยมาก”      

เมื่อเราพูดถึงเรื่องความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ผู้คนส่วนใหญ่มักมีภาพจำของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนไทยพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู ซิกข์และอื่นๆ แต่ เคท ให้มุมมองที่แตกต่างออกไปว่า ความหลากหลายในสังคมมันมีมิติมากกว่านั้น นอกเหนือจากความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ความหลากหลายเพศและความหลากหลายทางกายภาพก็นับเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพหุวัฒนธรรมเช่นกัน เมื่อสังคมไทยมีความเป็นพหุวัฒธรรม สิ่งที่ผู้คนในสังคมจะต้องเรียนรู้และส่งต่อความคิด ทัศนคติมุมมอง เพื่อจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ คือ การเคารพซึ่งกันและกัน การปฏิบัติที่ดีต่อกันในฐานะปัจเจกบุคคล

ขณะที่เมื่อย้อนกลับดูยังสังคมไทย สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เราพูดถึงเรื่องการเคารพซึ่งความแตกต่างของกันและกันน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมไทยมีลักษณะวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ (Collectivism) ที่ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม และมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานและหน้าที่ของตนเองตามที่สังคมกำหนดไว้ เมื่อมีการรวมกลุ่มทางสังคมจะส่งผลทำให้ผู้คนคิดและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนในกลุ่มทำสิ่งใดได้ บุคคลอื่นในกลุ่มจะมีความเชื่อในทันทีว่า “เมื่อคนในกลุ่มทำได้ ฉันก็ต้องสามารถทำได้”

แล้ววัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่นี้ก่อให้เกิดปัญหาอย่างไรกับสังคมแบบพหุวัฒนธรรม?

คำตอบที่สามารถสรุปได้คือ วัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่มีผลต่อการสร้างคนให้มีลักษณะคล้ายกันทั้งในแง่ของความคิด และการปฏิบัติ เมื่อสังคมเรามีความเป็นพหุวัฒนธรรม เท่ากับผู้คนในสังคมมีสิทธิที่จะสมาทานความคิดความเชื่อบนพื้นฐานที่แตกต่างกัน เมื่อมีการรวมกลุ่มทางสังคมจึงก่อให้เกิดปัญหาว่า การสมาทานความคิดความเชื่อที่ต่างกันนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติที่ต่างกัน ทำให้ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันว่า “เมื่อคุณมารวมกลุ่มกับพวกเราเหตุใดคุณถึงปฏิบัติต่างกันกับพวกเรา” เมื่อมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ก็ยังผลให้เกิดเป็นการมองบุคคลที่คิดและทำต่างกันให้กลายเป็นอื่น และเป็นผลให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติไปในที่สุด

เมื่อปัญหาของเรื่องดังกล่าวเกิดจากความไม่เข้าใจและการไม่เคารพกันซึ่งความแตกต่างของบุคคล อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ การสร้างความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันบนพื้นฐานความแตกต่างจึงเป็นสิ่งสำคัญสำคัญอย่างมากในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ รวมถึงการสร้างความเข้าใจเรื่องการตกลงยินยอม เพื่อกำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ให้กระทบกับความคิด ความเชื่อของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกัน

แน่นอนว่า ครอบครัวคือสถาบันพื้นฐานที่สุดในการปลูกฝังบุคคลให้มีความคิด ความเชื่อและการปฏิบัติต่อสังคมอย่างไร ดังนั้นการปลูกฝังทัศนคติการใช้ชีวิตรวมกลุ่มในสังคมอย่างไม่ก้าวก่ายกันจึงควรเริ่มต้นมาจากสถาบันครอบครัว จนมาสู่สถาบันที่สองอย่างโรงเรียน และสถาบันที่สามอย่างที่ทำงาน เพราะฉะนั้นทั้งสามโลกนี้จึงควรพูดถึงเรื่องนี้อย่างสืบเนื่องกัน เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีคนหลากหลายเราควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้นได้ เราจะสร้างความตระหนักรู้ต่อผู้คนในสังคมในเรื่องการเคารพในความแตกต่างได้อย่างไร?

ภาพกลุ่มความหลากหลายทางเพศเดินทางไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เสนอตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการแก้ไข ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 62 

การขับเคลื่อนเข้าสู่สภา และการมองคุณค่ากันที่ศักยภาพ

“สังคมตอนนี้เรามาไกลมากแล้ว มันผ่านจุดที่เรานำเสนอประเด็นปัญหาแล้ว เราพูดกันมาจนถึงจุดซ้ำแล้ว สถานะตอนนี้จึงรอแก้ไขในทางกฎหมายและนโยบายเท่านั้น แต่เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง?”

เมื่อพูดถึงขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในปี 2564 นี้ เคท ให้ข้อเสนอว่า เราควรจะหาวิธีการว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อผู้คนได้มีพื้นที่ในการพูดถึงปัญหาที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ หรือได้รับพื้นที่ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาได้ แน่นอนว่า เรามี ส.ส. หญิงและ LGBTIQ+ เข้าไปทำงานในสภาขณะที่ภาคประชาสังคมต้องทำงานร่วมกับสังคมให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เกิดการยอมรับ และทำให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการขับเคลื่อนของเราต่อไป

วิธีการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากเพื่อจะขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สภา และขับเคลื่อนออกมาในระดับกฎหมายและนโยบายต่อไป ทั้งนี้องค์กรภาคประชาสังคมที่เคยเป็นผู้นำเสนอปัญหาต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นผู้ติดตามงานระดับนโยบายว่า จะต้องเข้าไปพูดคุยกับใครบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ กระทรวงต่างๆ รวมถึงภาคกฎหมายอย่างรัฐสภา และต้องใช้วิธีการแบบใดเพื่อทำให้นโยบายมันเกิดขึ้นได้

แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเราพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ เราพูดถึงการเข้ามีส่วนร่วมในสภาและองค์กรภาครัฐในระดับต่างๆ ของผู้หญิงและ LGBTIQ+ หากแต่การกำหนด Gender Quota ในรัฐสภา เพื่อผู้หญิงเข้าไปมีสัดส่วนเก้าอี้ทางการเมืองในระดับครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ถือเป็นการสร้างความเสมอภาคหรือไม่?

เคท กล่าวตอบว่า ในแง่นึงว่า การกำหนด Gender Quota ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและ LGBTIQ+ เข้าไปมีส่วนร่วมในสภามากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกังขาว่า การกำหนด Gender Quota จะนำพาสังคมไปสู่วังวนการเลือกปฏิบัติที่มีความซับซ้อนมากขึ้นหรือไม่? เพราะถ้าเราเชื่อในแนวคิดมนุษยนิยม เราเชื่อในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เราต้องเชื่อในเรื่องความสามารถและศักยภาพของบุคคลมากกว่าความเป็นเพศ แม้ว่าเราต้องสร้างพื้นที่และโอกาส แต่วิธีที่จะนำมาสู่การสร้างโอกาสมีอะไรบ้าง?

คำถามที่อาจเป็นเรื่องยากในการคำตอบ เนื่องจากทุกวิธีการนำมาซึ่งการที่เราต้องฝ่าอุปสรรคกับดักประตูที่ปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะประตูบานใหญ่ที่ชื่อว่า ระบอบปิตาธิปไตยที่ยังคอยปิดกั้นโอกาสในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ

กระนั้นก็ตามการสร้างความเข้าใจผ่านการสื่อสารสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้เกิดสังคมที่พร้อมเข้าใจและสนับสนุนคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง หากเรามีการสื่อสารที่มีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนมุมมองสังคมให้เป็นสังคมที่เคารพกันซึ่งความหลากหลายของผู้คน เมื่อนั้นเราอาจไม่จำเป็นต้องมี Gender Quota เพราะไม่ว่าใครก็สามารถลงเลือกตั้งเข้าสู่สภาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้

ขอให้การขับเคลื่อนประชาธิปไตยนำพามาซึ่งความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

ขอให้ประชาธิปไตยไม่ผลักใครให้เป็นอื่นอีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net