Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนังสือ “สะพรึง” (Terror) ของแฟร์ดินันด์ ฟอน ซีรัค แปลโดยศศิภา พฤกษฎาจันทร์ เสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นเหลื่อมซ้อนระหว่างปรัชญาศีลธรรมกับนิติปรัชญา หรือปัญหาความเหลื่อมซ้อนระหว่างศีลธรรมกับกฎหมายไว้อย่างน่าสนใจ 

อย่างที่ทราบกัน งานทางปรัชญาที่ใช้กับประเด็นทางศีลธรรม กฎหมาย หรือความยุติธรรม ในแง่สำคัญหนึ่งคือการจัดการกับปัญหา dilemma หรือปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยากยิ่งในการตัดสินใจเลือกระหว่างสองทางเลือกที่ต่างก็มีเหตุผลหนักแน่นพอๆ กัน

ตัวอย่างสถานการณ์ดังกล่าวในสะพรึงคือ การพิจารณาคดีของลาร์ส ค็อค นายทหารอากาศที่ตัดสินใจยิงเครื่องบินโดยสารที่ถูกผู้ก่อการร้ายจี้ มันคือเครื่องบินที่มีผู้โดยสาร 164 ชีวิตในนั้นที่ถูกบังคับให้พุ่งชนสนามฟุตบอลที่มีผู้ซื้อตั๋วเข้าชม 70,000 คน ค็อคยืนยันว่าการตัดสินใจยิงเครื่องบินให้ระเบิดกลางอากาศในสถานการณ์คับขันเช่นนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะเป็นการแลกชีวิตคน 164 ชีวิต เพื่อรักษาคน 70,000 ชีวิตให้รอด หากไม่ตัดสินใจยิงอย่างไรเสีย 164 ชีวิตก็ต้องตาย แต่ไม่เพียงพวกเขาต้องตาย อีก 70,000 ชีวิตก็ต้องตายด้วย

ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาตราแรกบัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” คำแถลงของอัยการอ้างอิงข้อความนี้ และอธิบายว่า “มนุษย์ไม่อาจตกเป็นเพียงวัตถุแห่งการกระทำของรัฐ” ได้เลย คน 164 ชีวิตคือผู้บริสุทธิ์ รัฐไม่อาจแลกชีวิตผู้บริสุทธิ์อีกคนหรืออีกกลุ่มกับชีวิตผู้บริสุทธิ์อีกคนหรืออีกกลุ่มได้ หลักการนี้ย้อนไปถึงความคิดของอิมมานูเอล คานท์ ที่ยืนยันว่ามนุษย์มีศักดิ์ศรีในตัวเอง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกละเมิดมิได้ 

คำฟ้องของอัยการที่อ้างหลักนิติรัฐ และหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญจึงอิงอยู่กับปรัชญาศีลธรรมแบบคานท์ ขณะที่ข้อแก้ต่างของจำเลยและทนายอิงปรัชญาศีลธรรมแบบประโยชน์นิยม เนื้อหาของสะพรึงคือการจำลองสถานการณ์และการถกเถียงด้วยการนำเสนอข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) ของปรัชญาศีลธรรมแบบคานท์และประโยชน์นิยมอย่างละเอียด

ปรัชญาศีลธรรมแบบคานท์เสนอว่า ผลใดๆ ของการกระทำไม่อาจนำมาตัดสินความถูกต้องหรือความมีศีลธรรมของการกระทำได้ ความถูกต้องหรือความมีศีลธรรมอยู่ที่เจตตำนงและกฎศีลธรรม คือต้องเป็นการกระทำจากเจตจำนงที่มีความหมายเป็น “เจตจำนงทั่วไป” (good will ที่มีลักษณะเป็น general will) ซึ่งเป็นเจตจำนงเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคนเสมอภาคกัน ความเป็นมนุษย์คือความมีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง การกระทำอะไรตามเจตจำนงเช่นนี้ได้ย่อมสัมพันธ์กับการที่ปัจเจกบุคคลใช้เหตุผลสร้าง “กฎศีลธรรม” ขึ้นมาเองได้ แต่ต้องเป็นกฎที่อธิบายได้ว่าเป็นกฎสากลหรือกฎทั่วไปที่สมเหตุสมผล (ไม่ขัดแย้งในตัวเอง) ควรที่ทุกคนจะใช้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้ และต้องเป็นกฎที่เคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคนเสมอกัน ไม่ใช้ความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายใดๆ

แต่ปรัชญาศีลธรรมแบบประโยชน์นิยมเสนอว่า ผลของการกระทำคือสิ่งตัดสินความถูกต้องของการกระทำ และการกระทำที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุดคือการกระทำที่ดีหรือถูกต้อง โดยหลักการนี้ หากมีทางเลือกสองทางที่จำเป็นต้องเลือกระหว่างทางเลือกที่เกิดผลเสียน้อยกว่ากับทางเลือกที่เกิดผลเสียมากกว่า เราก็ควรเลือกทางแรก การที่จำเลยค๊อคตัดสินใจยิงเครื่องบินที่มีคน 164 ชีวิต เพื่อรักษาคน 70,000 ชีวิตในสนามฟุตบอลก็คือการตัดสินใจเลือกที่สอดคล้องกับหลักการนี้ เขายิงเครื่องบินไม่ใช่เพราะต้องการฆ่า 164 ชีวิต แต่เพราะต้องการช่วยให้ 70,000 ชีวิตรอด ในคำแก้ต่างของทนายได้อ้างหลักการ “เลือกความชั่วร้ายที่น้อยกว่า” ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการประโยชน์นิยมดังกล่าว

แต่คำถามของอัยการคือ ถ้ามีภรรยาและลูกของจำเลยอยู่บนเครื่องบิน จำเลยจะตัดสินใจยิงเครื่องบินหรือไม่ ซึ่งจำเลยตอบไม่ได้ ถามอีกว่าจำเลยรู้ได้อย่างไรว่าผู้โดยสารบนเครื่องบินไม่ได้พยายามต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายเพื่อเปลี่ยนทิศทางของเครื่องบินไม่ให้พุ่งชนสนามฟุตบอล จำเลยก็ไม่รู้ เพราะไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ภายในเครื่องบินได้ ดังนั้น จึงเท่ากับว่าจำเลยได้ “เลือกตัดสินใจจบชีวิตผู้บริสุทธิ์เหล่านั้นด้วยอัตวิสัยของตนเอง” อีกอย่าง อัยการถามว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความพยายามย้ายผู้คนออกจากสนามฟุตบอลอย่างสุดความสามารถแล้วหรือไม่ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างคำถามเพื่อวินิจฉัยว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ฉุกเฉิน” ถึงที่สุดจนจนทำให้จำเลยไม่มีเวลาใคร่ครวญถึงคุณค่าชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้บริสุทธิ์บนเครื่องบินหรือไม่ หรือมันฉุกเฉินจนถึงขั้นบีบให้จำเลยไม่มีทางเลือกอื่นจริงหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม อัยการได้อ้าง “หลักนิติรัฐ” (rule of law) หรือหลักกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง และบัญญัติขึ้นผ่านกระบวนการประชาธิปไตยว่า (สะพรึง หน้า 198-199)

“ รัฐธรรมนูญของเราคือแหล่งรวมของหลักการที่ต้องอยู่เหนือศีลธรรม, มโนสำนึก และคุณค่าอื่นใด และหลักการสูงสุดของรัฐธรรมนูญนี้ก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ”

จะเห็นว่าไม่เพียงหลักการ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” เท่านั้นที่สะท้อนความคิดแบบคานท์ “การแยกศีลธรรมออกจากกฎหมาย” ก็เป็นความคิดคานท์เช่นกัน กล่าวคือ คานท์แยกศีลธรรมออกจากศาสนา และแยกศีลธรรมออกจากกฎหมาย ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นรากฐานของการแยกศาสนาจากรัฐด้วย 

ประเด็นคือ ข้ออ้างดังกล่าวสะท้อน “ความเหลื่อมซ้อน” ระหว่างศีลธรรมกับกฎหมาย เพราะคานท์ถือว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือรากฐานของศีลธรรมและกฎหมาย เรามีศีลธรรมและกฎหมายเพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง แต่ศีลธรรมกับกฎหมายมีบทบาทและขอบเขตต่างกัน การกระทำในบางกรณีผิดศีลธรรมแต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย เช่น ศีลธรรมบอกว่า “ต้องไม่พูดโกหก” ตามทัศนะของคานท์การพูดโกหกผิดศีลธรรมในทุกสถานการณ์ แต่ในทางกฎหมายเอาผิดได้เฉพาะการโกหกที่ละเมิดสิทธิคนอื่นเท่านั้น (เช่นทำให้คนเสียทรัพย์เป็นต้น) 

ในทางกฎหมาย hate speech ที่ไม่ก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่น คานท์ถือว่าไม่ผิด เพราะคำพูดแบบใดๆ โดยตัวมันเองไม่สามารถทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้ การจำกัดเสรีภาพไม่ให้พูดต่างหากที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การที่คนจะพูดต่อกันอย่างไร เช่น จะพูดสุภาพ หรือหยาบคาย แสดงความรักหรือเกลียดชัง ย่อมเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมของแต่ละคนเอง ไม่ใช่เรื่องที่รัฐ คนอื่น หรือสังคมจะใช้อำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจใดๆ ไปจำกัดเสรีภาพได้  

อย่างไรก็ตาม การถือว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำคัญสูงสุดทั้งในทางศีลธรรมและกฎหมาย ย่อมทำให้สำนึกทางศีลธรรมและสำนึกเคารพกฎหมายเป็นไปในทิศทางหนุนเสริมกัน เช่น ในสังคมที่พลเมืองมีสำนึกทางศีลธรรมเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง เมื่อเกิดกรณีที่อำนาจรัฐหรืออำนาจเผด็จการในรูปแบบอื่นใดละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล หรือของพลเมือง การร่วมกันลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเช่นนั้นย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติ (ขณะที่ในสังคมที่มีสำนึกทางศีลธรรมแบบศาสนา อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองมากเท่ากับการได้คนดีมีคุณธรรมมาเป็นผู้ปกครอง)

ตามคำแถลงของอัยการที่ยืนยันหลักนิติรัฐถือว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่เหนือศีลธรรม” (แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักการสำคัญสูงสุด) ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่อาจอ้างศีลธรรมหรือมโนสำนึกใดๆ เหนือบทบัญญัติของกฎหมายได้ เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” จำเลยที่ยิงเครื่องบินทำให้ผู้บริสุทธิ์ 164 คนเสียชีวิตจึงต้องรับผิดตามกฎหมาย เขาจะอ้างมโนสำนึกหรือเหตุผลทางศีลธรรมใดๆ (เช่นว่าทำไปเพื่อช่วยให้คนจำนวนมากกว่ารอดชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ควรทำ หรือจำเป็นต้องทำ) เพื่อให้ตนเองไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายไม่ได้ 

ปัญหาคือ หลักการ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” แบบคานท์ไม่ได้ให้ทางเลือกในสถานการณ์ฉุกเฉินแก่รัฐเลย (ดังกรณีตัวอย่างคดีของค็อค) และการที่รัฐบัญญัติกฎหมายไว้เช่นนี้เท่ากับประกาศให้ผู้ก่อการร้ายทราบว่า หากจะสร้างสถานการณ์ฉุกเฉินจี้เครื่องบินมีผู้โดยสารเป็นร้อยคนเป็นตัวประกันเพื่อแลกกับชีวิตคนเป็นหมื่นคน (เป็นต้น) ก็ย่อมกระทำได้สำเร็จ โดยไม่ถูกขัดขวางจากรัฐ (อย่างที่ค็อคขัดขวาง) 

ขณะที่หลักคิดแบบประโยชน์นิยมให้ทางเลือกแก่รัฐว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสามารถเลือกหนทางปฏิบัติที่สูญเสียน้อยกว่า แต่ปัญหาคือรัฐจะวางหลักกฎหมายยืนยัน “การแลกชีวิตผู้บริสุทธิ์กับชีวิตผู้บริสุทธิ์” ไว้อย่างไร ไม่ว่าจะแลกชีวิตผู้บริสุทธิ์ 1 คน กับ 100 คน, 1,000 คน หรือมากเท่าไรก็ตาม เพราะการรับรองความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายให้ทำเช่นนั้นได้ ย่อมขัดกับคุณค่าที่เราควรยึดถือปกป้อง และร่วมกันพยายามสร้างให้มันเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ 

ทางที่ควรจะเป็น จึงหนีไม่พ้นที่ต้องบัญญัติกฎหมายคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้เป็นหลักการสูงสุด แล้ววางมาตรการที่รัดกุมมากที่สุดเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาหากเกิดการละเมิดหลักการสูงสุดนั้น เช่น หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นตามตัวอย่างคดีของค๊อค ก็จำเป็นต้องให้จำเลยรับผิดทางกฎหมาย แต่ต้องมีกฎหมายบรรเทาการลงโทษให้เบาลง นี่คือการยึดถือกฎหมายเหนือศีลธรรมแบบใดๆ เพราะถ้ายึดศีลธรรมแบบคานท์เหนือกว่ากฎหมาย การฆ่าคน 164 ชีวิต ก็ต้องชดเชยด้วยการรับโทษที่หนักมาก หรือถ้ายึดศีลธรรมแบบประโยชน์นิยม การฆ่าคน 164 ชีวิตในสถานการณ์จำเป็นต้องปกป้องคน 70,000 ชีวิต ย่อมเป็นความถูกต้อง ไม่สมควรรับโทษใดๆ     

อย่างไรก็ตาม การแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมและถือว่า “กฎหมายเหนือกว่าศีลธรรม” แต่กฎหมายต้องมีหน้าที่ปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์จึงจะชอบด้วยหลักนิติรัฐ ก็เท่ากับกฎหมายทำหน้าที่รักษาคุณค่าสูงสุดบางอย่างเช่นเดียวกับศีลธรรม ซึ่งแสดงว่ากฎหมายกับศีลธรรมก็คาบเกี่ยวหรือเหลื่อมซ้อนกันอยู่ แต่เพราะกฎหมายมีสถานะเป็น “สัญญาประชาคม” มันจึงยืดหยุ่นได้มากกว่ากฎศีลธรรม จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และสมเหตุสมผลมากกว่าที่สมาชิกของสังคมจะหาข้อตกลงร่วมกันผ่านกระบวนการบัญญัติกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยได้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญสถาปนาหลักการสูงสุดว่า “ศักดิ์ศรีของมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” ไว้แล้ว เราจะบัญญัติกฎหมายอื่นๆ ที่สอดคล้องกันและที่เป็น “ข้อยกเว้น” ในกรณีจำเป็นไว้แค่ไหนอย่างไรได้บ้างที่จะไม่เป็นการทำลายหลักการสูงสุดนั้น

จากประเด็นถกเถียงใน “สะพรึง” เมื่อหันมาดูการมีและการใช้มาตรา 112 ในบ้านเรา มองจากความคิดแบบคานท์ย่อมขัดกับหลักการ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะถูกล่วงละเมิดมิได้” เพราะ 112 ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นบนหลักการ “คนเท่ากัน” ที่ถือว่าพลเมืองทุกคนต่างมีความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน แต่บัญญัติขึ้นบนหลักการ “คนไม่เท่ากัน” เพราะเป็นกฎหมายที่มุ่งปกป้องสถานะสูงส่งศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบไม่ได้ของกษัตริย์ จึงเป็นกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะขัดหลักนิติรัฐที่ถือว่ากฎหมายต้องปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

ยิ่งกว่านั้น 112 ยังขัดหลัก “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้ปิดปากคนเห็นต่างทางการเมือง และเลือกเจาะจงใช้กับบางบุคคลเพื่อ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ตามหลักคิดแบบคานท์ ย่อมเป็นการละเมิดศัดิ์ศรีของมนุษย์อย่างรุนแรง เพราะเป็นการใช้ความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องมือสร้างความกลัวในสังคม หรือเป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะมีเสรีภาพในการพูด เสรีภาพทางการเมืองได้จริง อันเป็นการปฏิบัติต่อประชาชนในฐานะเป็น “วัตถุ” (object) ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือค้ำยันสถานะและอำนาจของกลุ่มชนชั้นปกครองเป็นด้านหลัก 

มองในแง่ประโยชน์นิยม การมีและการบังคับใช้ 112 ไม่ได้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ หากแต่เพื่อปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย เพราะนิยามของ “ประโยชน์ส่วนร่วม” ตามกรอบคิดประโยชน์นิยม (แบบ John Stuart Mill) นับรวม “เสรีภาพ” ของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองด้วย เราไม่อาจพูดถึงประโยชน์ส่วนรวมได้อย่าง make sense ถ้าไม่มีเสรีภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ส่วนรวม 

ที่มาภาพ https://prachatai.com/journal/2015/10/62060

อย่างไรก็ตาม จุดร่วมของความคิดแบบคานท์และมิลล์ คือการยืนยันการมีเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองอย่างสูงสุดเช่นกัน ต่างแต่เสรีภาพแบบคานท์ยึดโยงอยู่กับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่เสรีภาพแบบมิลล์ยึดโยงอยู่กับประโยชน์ส่วนรวม และความก้าวหน้าของมนุษยชาติ 

เมื่อมองจากกรอบคิดแบบคานท์และประโยชน์นิยมแบบมิลล์ การมีและการใช้ 112 ตามเป็นจริง จึงเท่ากับเป็นการลบทิ้งหรือกดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน และขัดขวางโอกาสในการสร้างประโยชน์ส่วนรวมและความก้าวหน้าของสังคม 

แต่ทำไม 112 จึงยังคงอยู่และถูกใช้แบบเหวี่ยงแหในศตวรรษที่ 21 ผมนึกถึง “เวสสันดรชาดก” เรื่องเล่าที่กษัตริย์ไทยสนับสนุนและแพร่หลายจนเป็นที่คุ้นเคยในบ้านเรามาหลายศตวรรษ สาระสำคัญคือการให้ทานลูกเป็น “ทาส” นอกจากจะไม่ผิดศีลธรรมแล้วยังจัดเป็น “ความดีทางศีลธรรม” แบบหนึ่งที่เรียกว่า “ทานอุปบารมี” อีกด้วย

แต่เมื่อคิดแบบคานท์ การให้ทานลูกเป็นทาสย่อมเป็นความชั่วอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการใช้ความเป็นมนุษย์ของลูกเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนเอง ในแง่ประโยชน์นิยมหากยึดหลักการของสังคมชายเป็นใหญ่ว่าพ่อให้ทานลูกเป็นทาสเพื่อเป้าหมายทางจิตวิญญาณได้ ก็ย่อมชัดเจนว่าหลักการเช่นนี้ไม่อาจก่อประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่ได้เลย เพราะประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่นับรวมเสรีภาพในฐานะเป็นคุณค่าที่ขาดไม่ได้

หากความเข้มแข็งของประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐมีความสัมพันธ์เชิงสนับสนุนกันกับศีลธรรมโลกวิสัยที่ยึดคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์สำคัญสูงสุด ความอ่อนแอหรือความไม่สามารถจะมีประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง ก็ย่อมมีความสัมพันธ์เชิงสนับสนุนกันกับระบบอำนาจที่แตะไม่ได้ของกษัตริย์กับศีลธรรมแบบศาสนาที่ใช้ความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายทางจิตวิญญาณและเพื่อความมั่นคงแห่งสถานะพิเศษของกษัตริย์ผู้ทรงธรรม

พูดอีกนัยหนึ่งว่า กฎหมายไทยกับศีลธรรมแบบไทยก็คาบเกี่ยวกัน ในด้านหนึ่งเรามีรัฐธรรมนูญที่สถาปนาสิทธิเสรีภาพของพลเมือง แต่ก็มีกฎหมายอื่นๆ ที่ลดทอนและขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่รัฐธรรมนูญรับรอง เช่น 112 (เป็นต้น) ซึ่งสะท้อนว่าเราไม่ได้ยึดหลักนิติรัฐหรือหลักกฎหมายเป็นใหญ่ที่ถือว่ากฎหมายอยู่เหนือศีลธรรมในฐานะเป็นสัญญาประชาคมที่สถาปนาหลักการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหลักการสูงสุดที่หลักศีลธรรมและอำนาจตามอำเภอใจอื่นใดจะละเมิดหลักการสูงสุดนั้นไม่ได้ แต่เรากลับยกสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่อิงกรอบคิดทางศีลธรรมแบบพุทธให้อยู่เหนือหลักการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ยังต้องมีและบังคับใช้มาตรา 112 อันเป็นการใช้ความเป็นมนุษย์ของประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งอำนาจและผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net