Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความย้อนแย้งของชาวพุทธบ้านเราคือ ขณะที่มีประเพณีการทำให้เรื่องเล่า “เวสสันดรชาดก” เป็นอมตวรรณกรรม โดยกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ประกาศให้วัดต่างๆ จัดกิจกรรมเทศน์มหาชาติ จนกลายเป็นประเพณีสืบมา ในท้องถิ่นต่างๆ ยังมีเทศน์มหาชาติเป็นภาษาถิ่นนั้นๆ อีกด้วย แต่เมื่อมีใครตั้งคำถามว่า “การให้ทานลูกเป็นทาสจัดเป็นความดีได้อย่างไร” ชาวพุทธก็จะโต้แย้งทันทีว่า “อย่าเอาหลักสิทธิมนุษยชนในสังคมสมัยใหม่ไปตัดสินการกระทำในบริบทสังคมโบราณ” อ้าว งั้นพระและกูรูพุทธก็ควรเลิกอ้างธรรมะ ธรรมาธิปไตย ทศพิธราชธรรมมาตัดสินประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วยสิ ปราชญ์พุทธบางคนอ้างด้วยซ้ำไปว่า “ถ้าหมู่มนุษย์มีศีล 5 สิทธิมนุษยชนก็ไม่จำเป็น” ตกลงจะเอาไงแน่!

ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า ต่อให้การให้ทานลูกเป็นทาสไม่ผิด “นอร์ม” ของสังคมชายเป็นใหญ่ยุคโบราณ ที่ถือว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามี ลูกเป็นสมบัติของพ่อที่สามีหรือพ่อจะซื้อขายและให้ทานแก่ใครก็ได้ แต่คำถามคือการให้ทานลูกเป็น “ทาส” จัดเป็น “ความดี” ได้อย่างไร ขณะที่ในเวสสันดรชาดกจัดเป็น “ความดีขั้นสูงสุดของการให้ทาน” คือเป็น “ปรมัตถทานบารมี” ซึ่งถือเป็นการบำเพ็ญบารมีชาติสุดท้ายของโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ไปเกิดตรัสรู้เป็นพุทธะ

แปลว่าหลัก “ทาน” ของพุทธศาสนานับรวมเอาการให้ทานลูกเป็นทาสเข้าไว้ได้ ไม่ผิด และยังถือว่าเป็นทานบารมีที่เป็นความดีขั้นสูงสุดอีกด้วย พระสงฆ์และชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าโพธิสัตว์ทุกคนที่จะตรัสรู้เป็นพุทธะจะต้องผ่านขั้นตอนการเสียสละแบบเดียวกันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าธรรมะเป็น “อกาลิโก” การให้ทานเป็น “กุศลธรรม” แบบหนึ่ง และการให้ทานลูกเป็นทาสก็เป็นกุศลธรรมขั้นสูงสุดที่เป็นอกาลิโกด้วย ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ก็ “ย้อนแย้ง” กับที่บอกว่าอย่าเอาความคิดสมัยใหม่เช่นสิทธิมนุษยชนไปตัดสินการให้ทานของเวสสันดรซึ่งอยู่ในบริบทสังคมต่างจากปัจจุบัน

เอาล่ะ ผมจะไม่เถียงเรื่องเป็นอกาลิโกหรือเรื่องเอาความคิดสมัยใหม่ไปตัดสินการกระทำของคนในสังคมยุคก่อน (แม้ว่าเวสสัดรเป็นบุคคลในนิทาน ไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่ตามคัมภีร์ พุทธะคือผู้เล่านิทานเรื่องนี้และเล่าในบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ พร้อมกับ “การันตี” ว่าการให้ทานลูกเป็นทาสเป็นความดี) แต่ผมจะทำความเข้าใจเรื่องเล่านี้จากบริบทสังคมชายเป็นใหญ่แบบโบราณนั่นแหละ และตั้งคำถามว่าการให้ทานลูกเป็นทาสจัดเป็น “ความดีทางศีลธรรม” ได้อย่างไร และความดีเช่นนี้มันฟังก์ชั่นอย่างไรในสังคมชายเป็นใหญ่

ประเด็นแรก เมื่อมองจากกรอบคิดหรือนอร์มของสังคมชายเป็นใหญ่ในยุคสมัยของการสร้างและใช้เรื่องเล่าเวสสันดรชาดก การที่ผู้ชายมีสิทธิ์ขาดเหนือชีวิต ร่างกาย และจิตใจของบุตรและภรรยาของตนเองได้ ย่อมทำให้เขาสามารถซื้อขายและให้ทานบุตรและภรรยาได้โดยไม่ผิดศีลธรรม จารีตประเพณี และกฎหมาย 

ประเด็นที่สอง การให้ทานลูกเป็นทาสไม่ได้ขัดกับ “หลักทาน” อันเป็นหลักการทำความดีที่สำคัญหนึ่งของพุทธศาสนา (หลักทาน, ศีล, ภาวนา) นอกจากไม่ขัดหลักทานแล้วยังถือว่าเป็นทานบารมีขั้นสูงสุดที่เรียกว่า “ทานปรมัตถบารมี” อีกด้วย ซึ่งชี้ชัดว่ามาตรฐานศีลธรรมพุทธศาสนาสอดคล้องกับมาตรฐานศีลธรรมของสังคมชายเป็นใหญ่

ประเด็นที่สาม การให้ทานลูกเป็นทาสที่ถือว่าเป็นความดีสูงสุดเหนือทานทั้งปวงนั้นเชื่อมโยงกับ “เป้าหมายสูงสุด” คือการตรัสรู้เป็นพุทธะในอนาคต 

ถึงตรงนี้เราย่อมเห็นอย่างชัดแจ้งว่า ตามความเชื่อของพุทธศาสนานั้นถือว่า เป้าหมายสูงสุดทางศีลธรรมคือการตรัสรู้เป็นพุทธะ และในทางศีลธรรมถือว่าบุคคลสามารถให้ทานลูกเป็นทาสเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้นได้ นอกจากการให้ทานลูกเป็นทาสจะไม่ผิดศีลธรรมใดๆ ยังถือว่าเป็นความดีสูงสุดในส่วนที่เป็นทานบารมีอีกด้วย และการให้ทานลูกเป็นทาสเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาก็มีนัยสำคัญในเชิงสนับสนุนส่งเสริมกันกับนอร์มของสังคมชายเป็นใหญ่อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว

ขอแทรกข้อสังเกตว่า การสละทรัพย์ อวัยวะ อิสรภาพ และชีวิต “ของตนเอง” เพื่อคุณค่าหรืออุดมการณ์บางอย่างอาจอธิบายได้ว่าเป็นความดี แต่คำถามคือ การให้ทานลูกเป็น “ทาส” เป็นความดีทางศีลธรรม และถือเป็นความดีสูงสุดในส่วนของการเสียสละได้อย่างไร โดยความเชื่อเช่นนี้ย่อมเท่ากับพุทธศาสนายืนยันว่า บุคคลสามารถใช้ลูกของตนเองเป็น “เครื่องมือ” ในการทำความดีเพื่อบรรลุความบริสุทธิ์หลุดพ้นตามอุดมคติที่ตนยึดถือได้ 

แต่การใช้ลูกเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนเองต้องการ ย่อมเป็นการไม่เคารพหรือละเมิด “ความเป็นมนุษย์” ของลูกอย่างร้ายแรง ลองนึกถึงฉากที่เวสสันดรตามหาตัวกัณหา, ชาลีเพื่อมอบให้ชูชก จนไปพบทั้งสองซ่อนตัวอยู่ในสระน้ำ แล้วเรียกขึ้นมาพูดจาหว่านล้อมให้ลูกยอมรับและทำตามความประสงค์ของตน เรื่องเล่าตอนนี้อาจมุ่งให้คน “อิน” กับความเสียสละของพ่อที่ยอมเจ็บปวดสละลูกที่ตนรักให้คนอื่น แต่เมื่อคิดอีกแง่หนึ่ง เด็กทั้งสองควรถูกพ่อเกลี้ยกล่อมให้เสียสละอิสรภาพของตนเองเพื่อให้พ่อได้ทำความดีตามปณิธานส่วนตนเช่นนั้นหรือ

เราเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ยากยิ่ง นอกจากจะยอมรับตรงไปตรงมาว่าการกระทำของเวสสันดร คือการยืนยันศีลธรรมแบบชายเป็นใหญ่ (หรือนอร์มของสังคมชายเป็นใหญ่) ที่ถือกันว่าหากพ่อบอกว่าจะทำสิ่งใดเพื่อลูก ทำด้วยความรักลูก พ่อย่อมมีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะทำได้ ลูกที่ดีและกตัญญูต้องเชื่อฟังพ่อ แม้กระทั่งถ้าพ่อเชื่อว่าจะทำเพื่อตัวพ่อเองคือการบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้ใน “ชาติหน้า” ด้วยการให้ทานลูกเป็นทาส ลูกที่ดีและกตัญญูก็ต้องเชื่อฟังและเต็มใจทำตามความประสงค์ของพ่อ ดังนั้น โพธิสัตว์เวสสันดรก็คือ “แบบอย่างที่ดีทางศีลธรรม” ในสังคมชายเป็นใหญ่นั่นเอง 

ทว่าในศตวรรษที่ 21 กูรูพุทธบ้านเรายังคงพยายาม “แก้ต่าง” ให้กับเวสสันดรชาดก นักวิชาการด้านปรัชญาพุทธบางคนเคยเขียนว่า ตามหลัก “เมตตา” ของพุทธศาสนานั้น เราควรเมตตา “ทุกคน” เสมอกัน แต่ถ้าในสถานการณ์ที่ลูกเรากับเพื่อนของลูกป่วยหนัก เรามียาเพื่อรักษาเพียงหนึ่งชีวิตให้รอดเท่านั้น เราก็ควรเลือกใช้ยานั้นรักษาชีวิตลูกตัวเอง เพราะนี่คือการตัดสินใจเลือกที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้ขัดหลักการว่าเราควรเมตตาต่อทุกคนแต่อย่างใด แต่กรณีเวสสันดรให้ทานลูกเป็นทาส เขากลับมีคำอธิบาย (แก้ต่าง) อีกแบบว่า การกระทำของโพธิสัตว์อยู่บนตรรกะและเหตุผลที่ปุถุชนอย่างเราๆ ไม่อาจเข้าใจได้ หลายเรื่องมักขัดกับสามัญสำนึกของปุถุชน นี่ย่อมเป็นวิธีอธิบายหรือการใช้ข้อโตแย้ง (argument) ที่ยึด “คุณวิเศษเฉพาะบุคคล” เป็นเกณฑ์ตัดสิน ซึ่งในที่สุดก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยเหตุผลที่สามารถยึดเป็น “หลักการทั่วไป” ได้ น่าจะเป็นเพียง “ความเชื่อ” ส่วนบุคคลที่พอใจจะเชื่อเช่นนั้นมากกว่า

การยึดคุณวิเศษเฉพาะบุคคลในเวสสันดรชาดกที่เป็นปัญหาอีกกรณีหนึ่งคือ การที่เวสสันดรบริจาค “ช้างมงคล” ประจำเมืองให้กับชาวเมืองอื่นเพื่อบำเพ็ญทานบารมีตามความเชื่อส่วนตัวนั้น ทำให้ชาวเมืองที่เชื่อว่าการสูญเสียช้างมงคลเท่ากับพวกเขาสูญเสีญผลประโยชน์ที่เคยมี (เชื่อกันว่าช้างมงคลทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ จะจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่เป็นความเชื่อที่น่าจะมีความสำคัญมากในสังคมเกษตรกรรมโบราณ) และตกอยู่ในความเสี่ยง จึงออกมาต่อต้านเวสสันดร แต่เรื่องเล่าที่ต้องการเชิดชู “บารมี” ของเวสสันดรก็มี “โทนเสียง” ทำนองว่าชาวเมืองที่ต่อต้านเหล่านั้นไม่มีสติปัญญาพอที่จะเข้าใจการทำความดีหรือความเสียสละเพื่อสร้างทานบารมีของโพธิสัตว์

แม้จะอธิบายว่าเวสสัดรใจกว้างที่ห่วงใยความทุกข์ของเพื่อนบ้าน แต่ชาวเมืองที่คัดค้านก็ย่อมมีความชอบธรรมจะปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ทว่าสุดท้าย “ความถูกต้อง” ทางศีลธรรมของเรื่องเล่านี้ก็อิงอยู่กับการยึด “คุณวิเศษเฉพาะบุคคล” ของเวสสันดร ไม่ว่าในกรณีที่เวสสันดรมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจนำช้างประจำเมืองมอบให้ชาวเมืองอื่น กระทั่งอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจให้ทานลูกเป็นทาส ซึ่งล้วนแต่ถือเป็นเรื่องของการ “บำเพ็ญทานบารมี” เพื่อบรรลุเป้าหมายคือการตรัสรู้เป็นพุทธะในชาติหน้า อันเป็นความเชื่อส่วนตัวของโพธิสัตว์เวสสันดรเอง 

อำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจทางศีลธรรมของโพธิสัตว์เวสสันดรดำเนินไปภายใต้ระบบกษัตริย์ในสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งการจบเรื่องเล่าแบบ “แฮ๊ปปี้เอ็นดิ่ง” ก็คือการยืนยันความถูกต้องชอบธรรมของการตัดสินใจทางศีลธรรมของโพธิสัตว์เวสสันดร อันเป็นการตัดสินใจทางศีลธรรมที่สอดคล้องกับนอร์มของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ และมีนัยเชิงชี้นำว่าเป็นการยกมาตรฐานสังคมชายเป็นใหญ่ให้สูงขึ้น โดยเพศชายมีความชอบธรรมใช้ลูกเป็น “เครื่องมือ” ในการทำความดีเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดทางจิตวิญญาณของตนเองได้ และในฐานะชายเป็นใหญ่ผู้ซึ่งเป็นวรรณะกษัตริย์ก็ย่อมมีความชอบธรรมในการปฏิบัติต่อชาวเมืองเสมือนเป็น “เครื่องมือ” เพื่อตอบสนองต่อการบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุเป้าหมายทางจิตวิญญาณของกษัตริย์ได้

พูดอีกอย่างคือ แม้ชาวเมืองจะคิดว่าพวกเขามีส่วนเป็นเจ้าของช้างมงคลนั้นด้วย หรือถือว่าช้างมงคลเป็น “ของส่วนร่วม” แต่ด้วยอำนาจวรรณะกษัตริย์ที่อิงความชอบธรรมจากการอ้างคุณวิเศษเฉพาะบุคคลในฐานะโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญทานบารมีเพื่อตรัสรู้ ก็ย่อมมีสิทธิ์ขาดใช้ “ของส่วนรวม” เพื่อบำเพ็ญทานบารมีตามความประสงค์ของตนได้โดยชอบธรรม การต่อต้านของชาวเมืองย่อมเกิดจากความเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

แต่อย่างไรเสีย ดินแดนภายใต้อำนาจแห่งกษัตริย์ผู้ทรงธรรมย่อมเป็น “ดินแดนแห่งการประนีประนอม” แต่ต้องเป็นการประนีประนอมในแบบที่ “ราษฎร” แห่งเมืองสีพีเกิดปัญญาเข้าใจและยอมรับ “การเสียสละสูงสุด” ของกษัตริย์โพธิสัตว์ที่ใช้ “ของส่วนรวม” ในการบำเพ็ญบารมีของตนเอง

เรื่องเล่าเวสสันดรชาดกที่ส่งเสริมให้เผยแพร่อย่างกว้างขวางมาหลายศตวรรษนี่เอง น่าจะมีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่า การใช้ “ภาษีประชาชน” ทำโครงการตามพระราชกรณียกิจต่างๆ ของกษัตริย์สยามไทยถือเป็น “ความเสียสละ” ในการบำเพ็ญบารมีแบบโพธิสัตว์ที่ปวงราษฎรควรน้อมรับและสรรเสริญสดุดีเพียงด้านเดียว มากกว่าที่จะตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบ

อีกทั้งยังเป็นเรื่องเล่าที่สนับสนุนวัฒนธรรมสังคมชายเป็นใหญ่ที่สามีจะทำกับภรรยาตนเอง พ่อทำกับลูกตนเอง โดยอ้างความรัก ความหวังดี และเพื่อความดีงามใดๆ ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเคารพอิสรภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง และศักดิ์ศรีความเป็นคนของลูก ขณะเดียวกันผู้ปกครองที่ทรงธรรมแบบโพธิสัตว์ก็สมควรมีสถานะและอำนาจเหนือเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนได้โดยชอบธรรมเช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net