Skip to main content
sharethis

ศาลยกฟ้องคดี  9 แกนนำ MBK39 ทุกข้อหาคำปราศรัยเพียงเรียกร้องเลือกตั้งไม่ใช่การยุยงปลุกปั่น และจำเลยไม่ได้มีเจตนาชุมนุมในรัศมี 150 เมตรของเขตพระราชฐาน

ภาพการชุมนุม 'รวมพลคนอยากเลือกตั้ง' ที่สกายวอล์กปทุมวัน กรุงเทพเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2561

25 ธ.ค. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหาในคดี 9 แกนนำ MBK39 หรือคดีชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน หน้า MBK Center ในชื่องาน “หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ” เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561

คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักกิจกรรมที่เข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวรวม 9 คน ได้แก่ วีระ สมความคิด, รังสิมันต์ โรม, “นิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, อานนท์ นำภา, เอกชัย หงส์กังวาน, สุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ รวม 3 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ฯ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

9.45 น. ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 9 คน ทุกข้อหาโดยระบุว่าข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ศาลจำหน่ายข้อหานี้ออกเนื่องจากคำสั่งฉบับนี้ถูกยกเลิกไปแล้วตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561

ทั้งนี้อีก 2 ข้อหาคือ จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 ม.จากเขตพระราชฐาน ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ข้อหานี้ศาลเห็นว่าตามคำเบิกความของจำเลยที่ระบุว่าที่ผ่านมาบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ใกล้วังสระปทุมมากกว่ามีจัดกิจกรรมที่ใช้เสียงดังหลายครั้งและบนสกายวอล์คสนามกีฬาแห่งชาติก็ไม่มีการติดตั้งป้ายแจ้งเอาไว้ อีกทั้งจุดที่จำเลยอยู่ก็อยู่ในระยะ 148.5 ม. จำเลยจึงไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในรัศมี 150 ม. ตามกฎหมาย ศาลจึงเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดกฎหมาย

ศาลเห็นว่าในส่วนข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เมื่อพิจารณาถ้อยคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมดแล้วไม่ปรากฎว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่ของจำเลยแต่ละคนเกี่ยวกับความต้องการให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่รับว่ารัฐบาลมีการเลื่อนเลือกตั้งจริง การปราศรัยของผู้ชุมนุมสื่อความหมายว่าไม่ต้องการให้มีการเลื่อนเลือกตั้งอีก และแม้ข้อความปราศรัยบางส่วน จะพูดเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกพาดพิง แต่บุคคลดังกล่าวก็สามารถดำเนินคดีได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่เพียงพอที่จะเอาผิดในข้อหานี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net