Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีที่ 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง 'สมัคร ดอนนาปี' อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ 'วุฒิ บุญเลิศ' นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ชี้เป็นการแสดงความรู้สึกของคนทั่วไปโดยสุจริต

 12 มิ.ย.2561 ที่มา เพจ Banrasdr
ภาพชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน

คดีนี้สืบเนื่องจากกรณีที่ชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง สมัคร ดอนนาปี อดีต ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ เเละวุฒิ บุญเลิศ หรืออาจารย์วุฒิ นักวิชาการอิสระที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทน จากเหตุที่นายวุฒิฯ ได้แชร์ข้อความทางเฟซบุ๊กชื่อ 'wut boonlert' ซึ่งนำข้อความมาจากเฟซบุ๊กชื่อ 'นายสมัคร ดอนนาปี' เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 โดยมีใจความว่า 

“ไร่ชัยราชพฤกษ์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติพื้นที่สำรวจถือครองตามมติครม.30 มิ.ย.41 รวม 100 ไร่ การตรวจสอบและร้องเรียนโดยกรมป่าไม้ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 อธิบดีกรมป่าไม้ (ชลิศ สุรัสวดี) ได้มีหนังสือรายงานไร่ชัยราชพฤษ์ระบุชัดว่าไร่ชัยราชพฤกษ์มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ตำบลสองพี่น้องอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในพื้นที่การสำรวจถือครองตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 มีนายไพโรจน์ ลิ้มลิขิตอักษรเป็นผู้ถือครองเนื้อที่ประมาณ 73 ไร่(พิกัด47P057298E1418060N(DATUMWGS84) ซึ่งกรมป่าไม้ต้องทวงคืนพื้นที่แต่อธิบดีกรมป่าไม้กลับเพิกเฉยไม่สั่งการใดๆให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายรวมทั้งยังขัดคำสั่ง คสช.64/2557 ข้อ3.ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบติดตามผลคดีป่าไม้และดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย ให้คืนสภาพป่าไม้ให้สมบูรณ์ดังเดิม โดยประสานงานกับหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคประชาชนและองค์กรชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างจริงจัง” ซึ่งจะต้องถูกลงโทษตามข้อ4 “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปล่อยปละละเลยหรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการกระทำความผิดตามกรณีดังกล่าวข้างต้นจะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาอย่างเด็ดขาดโดยทันที” ผมจึงเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ต่ออธิบดีกรมป่าไม้กับพวกฯโดยด่วนที่สุดต่อไป” นั้นเป็นการกระทำโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ในฐานะประชาชนที่ต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายหากพบว่าการครอบครองไร่ชัยราชพฤกษ์ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ศาลอาญามีนบุรี(ศาลชั้นต้น) อ่านคำพิพากษา เห็นว่า การโพสต์ข้อความของจำเลยที่ 1 และการแชร์ข้อความของจำเลยที่ 2 เป็นการโพสต์เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ทั้งข้อความดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้โจทก์ร่วมเสียหายได้ พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมตามฟ้อง และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์ร่วมฟ้องมาด้วย ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ในวันนี้ ศาลอาญามีนบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ข้อความที่โพสต์ของจำเลยที่ 1 เป็นทำนองขอให้ผู้บังคับบัญชากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสอดส่องตรวจตราและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศจึงเป็นการติชมเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนเยี่ยงจำเลยที่ 1 เหตุการณ์เช่นนี้พึงกระทำได้อันเป็นการติชมและเป็นการแสดงความรู้สึกของคนทั่วไปโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 329 (3) พยานหลักฐานของโจทก์ร่วมจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทโจทก์ร่วม และการที่จำเลยที่ 2 โพสต์หรือแชร์ข้อความส่งต่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเฟสบุ๊กของจำเลยที่ 1 ไปดังกล่าว ย่อมไม่เป็นความผิดด้วย จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมด้วยเช่นกัน

เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมตามฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตามคำฟ้องของโจทก์ร่วม ที่ศาลชั้นต้นพิจารณามาแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น

วุฒิ บุญเลิศ ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือคดีแก่นายวุฒิ ในการแต่งตั้งทนายความเพื่อต่อสู้คดี เนื่องจากนายวุฒิฯเป็นนักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชนที่มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น กรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี  ภายหลังจากถูกนายชัยวัฒน์ฯ กับพวก ควบคุมตัว จนนำมาสู่การดำเนินคดีอาญาโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  และกรณีคดีปู่คออี้หรือนายโคอิ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง กับชาวบ้านหลายครอบครัว ถูกนายชัยวัฒน์ฯ ขณะเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา รื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและที่ทำกิน จนกระทั่งเป็นคดีขึ้นสู่ศาลปกครองและคดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่านายชัยวัฒน์กับพวกกระทำความผิด จนกรมอุทยานแห่งชาติต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้าน

หลังจากศาลอาญามีนบุรีตัดสินยกฟ้องในคดีนี้ มูลนิธิฯได้มีหนังสือเรียกร้องต่อฝ่ายอัยการว่าไม่ควรอุทธรณ์คดีนี้ต่อไป เนื่องจากมีลักษณะที่ผู้แจ้งความร้องทุกข์อาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีเพื่อปิดปากบุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

อ่านรายงานการสังเกตการณ์คดีได้ที่

ภาษาอังกฤษhttps://crcfthailand.org/2020/09/02/urging-the-provincial-attorney-of-kanchanaburi-to-not-file-a-prosecution-towards-mr-wuth-boonlert-and-releasing-a-trialwatch-report-for-the-case-where-he-was-falsely-accused-due-to-political-motiv/

ภาษาไทยhttps://voicefromthais.files.wordpress.com/2020/08/wb-sd-fairness-report-june2020-thai_revised-final2.pdf

ภาษาอังกฤษ https://voicefromthais.files.wordpress.com/2020/08/fa

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net