Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: https://mckellinstitute.org.au

จากรายงาน Blue Harvest Wage theft & other labour infringements in the NSW Mid-North Coast's 2019/20 berry harvest โดยสถาบัน McKell ของออสเตรเลีย ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ได้นำเสนอข้อมูลการสืบสวนเกี่ยวกับงานเก็บบลูเบอร์รีในพื้นที่ 'คอฟส์ ฮาร์เบอร์' (Coffs Harbour) ของออสเตรเลีย ที่ใช้เวลาสืบสวนและเก็บข้อมูลภาคสนามถึง 3 เดือนในช่วงฤดูกาลเก็บบลูเบอร์รีปี 2562/2563

รายงานชิ้นนี้พบว่า อุตสาหกรรมนี้ได้เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์และแรงงานย้ายถิ่น ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอย่างมาก การต้องทำงานหนัก 7 วันต่อสัปดาห์ และการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมอื่น ๆ แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในออสเตรเลียด้วยก็ตาม

รวมทั้งพบว่ามีบริษัทจัดหาแรงงานที่ฉ้อฉลประกาศหาลูกจ้างทางโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, WeChat และ Gumtree มีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงว่างานเก็บผลไม้เป็นงานที่ได้ค่าจ้างสูงและเป็นงานที่สนุกสนาน ให้กับนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์ที่หวังมาหาประสบการณ์การท่องเที่ยวและทำงานในออสเตรเลีย

โดยตัวอย่างข้อค้นพบที่น่าสนใจของรายงานชิ้นนี้มีอาทิ

- มีแรงงานชาวต่างชาติกว่า 2,000 คน ทำงานในแถบคอฟส์ ฮาร์เบอร์ ช่วง COVID-19 ที่ออสเตรเลียขาดแคลนแรงงาน ส่วนใหญ่ใช้วีซ่า WHM
- การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมปลูกบลูเบอร์รี่ในแถบคอฟส์ ฮาร์เบอร์ อย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2557 นำไปสู่การไหลบ่าเข้ามาของแรงงานต่างถิ่น และเอื้อให้เกิดพฤติกรรมละเมิดสิทธิแรงงานของนายจ้าง และการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากนายหน้าจัดหางาน
- โครงสร้างของวีซ่า Working Holiday Makers (WHM) เอื้อให้ผู้ที่ถือวีซ่านี้ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน
- การ 'ขโมยค่าแรง' กลายเป็นเรื่องปกติในการจ้างงานอุตสาหกรรมนี้ โดยลักษณะของการ 'ขโมยค่าแรง' ก็ดังเช่น ค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ การเบี้ยวค่าแรง และการขอให้ทำงานฟรี ๆ
- มีการจ้างงานที่ผิดกฎหมายแรงงานของออสเตรเลีย
- การสร้าง 'วัฒนธรรมปิดปาก' เนื่องจากคนทำงานส่วนใหญ่ถือวีซ่า WHM ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างมากนัก พวกเขาจึงเลือกที่จะเงียบเมื่อเผชิญปัญหา
- แรงงานในท้องถิ่นก็ถูกเอาเปรียบเช่นกัน นอกเหนือจาก 'แรงงานแบ็กแพ็กเกอร์' ที่ถือวีซ่า WHM แล้ว อุตสาหกรรมนี้ก็จ้างแรงงานในท้องถิ่นด้วยมาตรฐานเดียวกัน
- ธุรกิจท้องถิ่นที่ให้เช่าที่พักก็ร่วมขูดรีดแรงงานต่างถิ่น มีการปล่อยเช้าที่พักราคาแพง แต่ผู้เช่าต้องอยู่อย่างแออัด

วิบากกรรม 'แรงงานแบ็กแพ็กเกอร์'


โครงสร้างของวีซ่า Working Holiday Makers (WHM) เอื้อให้ผู้ที่ถือวีซ่านี้ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะ 'แรงงานแบ็กแพ็กเกอร์' | ที่มาภาพประกอบ: Eminetra

รายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าภาคการเกษตรในออสเตรเลียเอาเปรียบแรงงานนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์ที่ถือวีซ่า Working Holiday Makers (WHM) นอกจากค่าแรงที่ต่ำแล้ว พวกเขายังต้องจ่ายเงินถึง 150 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อคน เพื่อจะอาศัยอยู่ในบ้านที่แชร์กัน 9-12 คน ซึ่งทำรายได้ให้เจ้าของบ้านพักเหล่านี้มากกว่าค่าเช่าเฉลี่ยในย่านชานเมืองบางพื้นที่ในคอฟส์ ฮาร์เบอร์ ถึง 3 เท่า

สื่อ Eminetra เปิดเผยประสบการณ์ของ 'แซลลี' นักเดินทางแบ็กแพ็กเกอร์ชาวเยอรมันที่เป็นลูกจ้างในไร่แห่งหนึ่ง เธอระบุว่าได้รับข้อความเกือบ 2,000 ข้อความที่เรียกเธอว่าเป็น "หมู" และเป็น "หมา" หลังจากเธอเรียกร้องขอค่าจ้างที่เหลือจากนายหน้าจัดหาแรงงานของเธอ

นักเดินทางแบ็กแพ็กเกอร์ชาวเยอรมันผู้นี้ ได้รับค่าจ้างเพียง 3 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมงสำหรับการทำงานกะหนึ่ง และได้ค่าจ้างเฉลี่ย 6.21 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อชั่วโมงสำหรับการทำงาน 17 วันกับนายหน้าจัดหาแรงงานผู้หนึ่งในท้องถิ่น

ด้าน นาตาลี ทริกเวลล์ วัย 46 ปี สูญเสียบ้านของเธอไปจากไฟป่าในเมืองนิมบิน (Nimbin) ของนิวเซาท์เวลส์ และขณะนั้นอาศัยอยู่ในรถคาราวาน เมื่อเธอไปทำงานเก็บผลเบอร์รี เนื่องจากความอับจนสิ้นหนทาง

"ฉันไปที่นั่นและพบว่าฉันมีรายได้ 15-20 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อวัน" เธอกล่าวในรายงานของสถาบัน McKell และยังระบุอีกว่าไฟป่าไหม้ลามเข้ามาใกล้สวนผลไม้อย่างมาก จนเธอไม่สามารถมองเห็นผลเบอร์รีได้

เธอยังกล่าวว่าผู้รับเหมาสัญญาจ้างไม่ยอมให้เธอออกจากที่นั่น "แต่ฉันเดินก็ออกมา ฉันไม่ได้ค่าจ้างเลยสำหรับงาน 3 สัปดาห์ที่ทำไป เพราะวันนั้นวันเดียว"

ในรายงานสืบสวนยังระบุว่าตู้คอนเทนเนอร์หลายตู้ถูกนำมาทำเป็นห้องพักตู้ละ 4 เตียงให้แก่ลูกจ้างจากหมู่เกาะแปซิฟิกได้เช่าเพื่ออาศัยอยู่ ในราคาค่าเช่าเหมือนกับบ้านพักตามชานเมือง

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์ ต้องจ่ายเงินถึง 150 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อคน เพื่อจะอาศัยอยู่ในบ้านที่แชร์กัน 9-12 คน ซึ่งทำรายได้ให้เจ้าของบ้านพักเหล่านี้มากกว่าค่าเช่ามัธยฐานในย่านชานเมืองบางพื้นที่ในคอฟส์ ฮาร์เบอร์ ถึง 3 เท่า

เรียกร้องให้มีการไต่สวนสาธารณะเพื่อหาความจริง


ฟาร์มในออสเตรเลียกำลังถูกตั้งคำถามว่าได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการขโมยค่าแรง การเอารัดเอาเปรียบ และการปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เหมาะสมไปแล้วหรือ | ที่มาภาพประกอบ: Hulton Archive (อ้างใน SBS)

แดเนียล วอลตัน เลขาธิการสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Workers' Union หรือ AWU) ระบุกับสื่อ SBS ว่าความคิดที่ว่าการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างในฟาร์มนั้นอยู่แค่ในฟาร์มไม่กี่แห่งนั้น ควรเลิกนำเหตุผลนี้มาโต้แย้งเสียที

"รายงานข่าวที่น่าตกใจนี้เป็นหนึ่งในการศึกษาวิจัยมากมายกองเป็นภูเขา ชี้ว่าฟาร์มในออสเตรเลียกำลังกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการขโมยค่าแรง การเอารัดเอาเปรียบ และการปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่เหมาะสม" วอลตัน กล่าว "มันไม่ใช่แค่คอฟส์ ฮาร์เบอร์เท่านั้น ลองเลือกจุดใดก็ได้ในแผนที่แล้วคุณจะพบการเอารัดเอาเปรียบ"

วอลตัน เรียกร้องให้นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ สนับสนุนการไต่สวนหาความจริงสาธารณะ

ส่วนพราวด์ กลับระบุว่าไม่ใช่ว่าเขาจะไม่สนับสนุนการไต่สวนหาความจริงสาธารณะ แต่อยากให้มีการแก้ปัญหาผ่านการปรับปรุงกฎหมายของรัฐต่าง ๆ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและสอดคล้องกันยิ่งขึ้นมากกว่า

"มันน่าอัปยศอดสู ไม่มีทางอื่นใดที่จะเสแสร้งให้ฟังดูรื่นหูเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้" พราวด์ ระบุกับสื่อ เขายังกล่าวว่าปัญหานี้นั้นจำกัดอยู่แค่ฟาร์มส่วนน้อย แต่อาจทำลายเชื่อเสียงของงานเกษตรกรรม


ที่มาเรียบเรียงจาก
Blue Harvest Wage theft & other labour infringements in the NSW Mid-North Coast's 2019/20 berry harvest (Edward Cavanough & Connor Wherrett, McKell Institute, December 2020)
Australian Workers' Union secretary Daniel Walton says "outrageous exploitation" is occurring on farms all over Australia (CAROLINE RICHES, SBS, 4 December 2020)
Calls for a royal commission after report reveals backpackers paid $3 an hour on NSW blueberry farms (Eminetra.com.au, 3 December 2020)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net