Skip to main content
sharethis

8 ผู้ต้องหาชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีรับทราบข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ก่อนได้รับการปล่อยตัว แกนนำยันปฏิเสธทุกข้อหา จัดกิจกรรมวันนั้นเพื่อหาความกระจ่างในข้อครหาที่สังคมกำลังสงสัยเท่านั้น ย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง และจะชุมนุมต่อไปจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง

8 ธ.ค.2563 นักกิจกรรม 9 จาก 13 คน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ จากกรณีที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่ม จากการชุมนุมเรียกร้องให้ทางการเยอรมันตรวจสอบกรณีที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ได้ใช้พระราชอำนาจบนแผ่นดินเยอรมันหรือไม่ ในช่วงที่พำนักอยู่ในเยอรมัน

ในวันนี้มีผู้ที่เข้ารายงานตัวตามหมายทั้งหมด 9 คน ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, กรกช แสงเย็นพันธ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, เบนจา อะปัญ, วัชรากร ไชยแก้ว, อัครพล ตีบไธสง และโจเซฟ (สงวนชื่อนามสกุล) ส่วน ณวรรษ เลี้ยงวัฒนาเข้ารายงานตัวในตอนบ่าย

ส่วนอีก 4 คน ที่จะเข้ารายงานตัวในวันพรุ่งนี้คือ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่, รวิศรา เอกสกุล, สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ และ ณัชชิมา อารยะตระกูลลิขิต

นักกิจกรรมทั้งหมดถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นประมาทกษัตริย์

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.ก้าวไกล มาให้กำลังใจผู้ที่ถูกเรียกรับทราบข้อหาครั้งนี้

แกนนำคณะราษฎร ให้สัมภาษณ์หน้า สน.ทุ่งมหาเมฆ หลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า ตำรวจแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่ม หลังก่อนหน้านี้เคยแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แล้ว

ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยนัดส่งตัวให้อัยการวันที่ 7 ม.ค. 2564

ภัสราวลี กล่าวว่า ถึงเวลาที่เราควรมาคุยกันว่ามาตรา 112 มีผลดีหรือผลเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะในระดับสากลมีการยกเลิกหรือไม่ได้บังคับใช้ในลักษณะนี้ ปัจจุบันรัฐบาลใช้มาตรา 112 กำราบประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ อยากให้พิจารณาว่าการนำมาตรา 112 มาใช้ของรัฐบาลบริสุทธิ์ใจหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แกนนำคณะราษฎรกล่าวว่า การถูกดำเนินคดีข้อหานี้ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมกังวล เพราะทราบดีว่ารัฐบาลจะใช้ข้อหานี้มาเล่นงานประชาชนอยู่แล้ว การชุมนุมไม่แผ่วแน่นอน 3 ข้อยังเหมือนเดิม ทั้งการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และข้อสุดท้าย ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีข้อครหาที่ทำให้ให้เกิดความขัดแย้ง จึงอยากให้จับตาการใช้กฎหมายมาตรานี้ของรัฐบาลให้ดี

ภัสราวลีกล่าวต่อว่า การใช้อำนาจรัฐหรือกฎหมายควบคุมประชาชนเป็นเรื่องไม่เหมาะสม จุดประสงค์ชัดเจนว่าต้องการควบคุมประชาชน ต้องตั้งคำถามว่าขัดประชาธิปไตยหรือไม่ อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการพูดความจริง สื่อสารปัญหาสังคมออกไปเป็นสิ่งที่ประชาชนควรทำ รัฐบาลไม่ควรปิดกั้น

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

แกนนำคณะราษฎรยังระบุว่า ที่ผ่านมาแทบไม่มีการตอบรับเชิงบวกจากรัฐบาล มีแต่เชิงลบ เช่น การคุกคามประชาชน ใช้กฎหมายดำเนินคดี สลายการชุมนุม ตนเห็นว่าการแสดงออกเป็นเสรีภาพของประชาชนที่สามารถทำได้ ไม่ควรถูกปิดกั้น ประชาชนไม่ได้กลัวและเข้าใจแล้วว่ารัฐบาลใช้วิธีเหล่านี้เพื่อปิดปาก และทำให้ประชาชนเข้าใจสิทธิของตนและจะปกป้องสิทธิของตนมากขึ้น

ภัสราวลีย้ำว่า ตราบใดที่ข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบสนอง หรือยังคงมีการคุกคามประชาชน การชุมนุมก็คงจะไม่มีวันหยุด

ส่วนของคดี แกนนำคณะราษฎรกล่าวว่า ทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อหา ยืนยันว่ากิจกรรมวันที่ 26 ต.ค.2563 เป็นข้อสงสัย ประชาชนเพียงต้องการความกระจ่างเท่านั้นว่าความจริงเป็นอย่างไร

รายละเอียดการแจ้งข้อหา ภัสราวลีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ถอดเทปที่ทุกคนพูดและแจ้งข้อหา แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าข้อความไหนเป็นพิเศษที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยังไม่ทราบว่ามีหลักฐานอื่นอีกหรือไม่

ด้านเบนจา อะปัน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า นอกจากคดีที่นี่ ก็อยากให้จับตาคดีที่ สภ.เมืองนนทบุรี และ สน.ชนะสงคราม ส่วนวันที่ 10 ธ.ค. 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะร่วมกับม็อบเฟส จัดกิจกรรมและจะพูดเรื่องการใช้มาตรา 112 ด้วย

ก่อนหน้าตำรวจจะออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เพิ่มครั้งนี้ นักกิจกรรมจำนวน 8 คน เข้ารับทราบข้อหายุยงปลุกปั่นไปก่อนแล้ว ได้แก่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, กรกช แสงเย็นพันธ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, เบนจา อะปัญ, วัชรากร ไชยแก้ว, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ และอัครพล ตีบไธสง

ผบช.น.แถลงข่าวเชื่อมีหลักฐานพอ แจ้งแล้วไม่คุมตัวต่อ

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. แถลงข่าวที่หน้า สน.ทุ่งมหาเมฆ ว่า คดีนี้มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 112 จากการชุมนุมนี้ ทางตำรวจจึงตั้งคณะพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า ผู้ถูกเรียกกระทำผิดตามข้อหาดังกล่าว

ผบช.น. กล่าวต่อว่า วันนี้มีผู้ถูกเรียกมาพบพนักงานสอบสวน 9 คน จึงดำเนินการแจ้งข้อหา และไม่ได้ควบคุมตัวไว้ ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบปากคำ โดยออกหมายเรียกมาทั้งหมด 13 คน พรุ่งนี้ผู้ถูกเรียกมีนัดหมายพบพนักงานสอบสวนอีก 4 คน เป็นข้อหาตามมาตรา 112 ทั้งหมด ส่วนจะแจ้งข้อหาอื่นเพิ่มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ส่วนคดีโตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ พบว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินราชการที่เก็บรักษาไว้ ตำรวจพบการกระทำผิดซึ่งหน้าทั้งหมด 19 คน จึงแจ้งข้อหาต่อสู้ขัดขวาง และชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เมื่อสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้วไม่เลิก เจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาความผิดอื่นๆ ปัจจุบันยังไม่ได้แจ้งข้อหาลักทรัพย์ เมื่อรวบรวมหลักฐานถ้าพบการกระทำผิดจะแจ้งข้อหาเพิ่มภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ผบช.น. เห็นว่า เหตุการณ์เกิดเวลากลางคืน เจ้าหน้าที่พบกลุ่มบุคคลแต่งกายในเครื่องป้องกันจึงจำต้องดำเนินการ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีประชาชนบริเวณนั้นได้รับความเดือดร้อนเพราะลวดหนามกีดขวางการสัญจร พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวต้องช่วยดูว่ากีดขวางจริงไหม เพราะเป็นที่เก็บทรัพย์สินของราชการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net