Skip to main content
sharethis

กมธ.ที่ดินและสิ่งแวดล้อมสภา สางปัญหาการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยที่ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ระบุจังหวัดตั้งคณะทำงานแล้วแต่ไม่เคยเรียกชาวบ้านเข้าร่วมประชุมด้วยเลย และกรอบการทำงานฟื้นฟูของจังหวัดก็ไม่ชัด ขอ กมธ.จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำแผนฟื้นฟูของภาคประชาชนไปปฏิบัติทันที

10 พ.ย.2563 ที่ศาลากลางจังหวัดเลยวันนี้คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานกรรมาธิการ สมชาย ฝั่งชลจิตร และสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง รองประธานกรรมาธิการ รวมถึงนักวิชาการที่ปรึกษากรรมาธิการอาทิ รองศาสตราจารย์เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกรณีการทำเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยที่อาจส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งชุมชนโดยรอบเหมือง

ในการหารือระหว่างตัวแทนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลยกับ กมธ. ชาวบ้านแสดงความเป็นกังวลในเรื่องการต่ออายุสัมปทานเหมืองที่ถึงแม้บริษัทเดิมจะไม่สามารถเข้ามาดำเนินกิจการต่อได้แต่กลับทำให้บริษัทเดิมสามารถนำใบสัมปทานไปให้บริษัทอื่นดำเนินการต่อได้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของแผนการฟื้นฟูที่ชาวบ้านได้นำเสนอซึ่งเป็นแผนการฟื้นฟูฉบับภาคประชาชนไปแล้วแต่ยังไม้ได้การตอบรับหรือความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน กล่าวว่า ทั้ง 6 หมู่บ้านได้จัดทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน (ฉบับปรับปรุง) ปี 2562 แผนดังกล่าวมีกระบวนความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อที่จะช่วยจัดการให้ธรรมชาติที่ถูกทำลายฟื้นฟูกลับมา ประชาชนสามารถพึ่งพิงใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกล่วงละเมิดในระหว่างการดำเนินการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมา

วิรอน กล่าวถึงเป้าหมายแผนการฟื้นฟูของภาคประชาชนเพิ่มเติมว่า ตามแผนมีทั้งหมด 25 ปี โดยมีจุดฟื้นฟูที่สำคัญหลากหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบาย ที่ต้องหยุดการทำเหมือง หรือการขยายเปิดพื้นที่เหมืองแห่งใหม่เพื่อไม่เข้าไปรบกวนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเด็ดขาด โดยต้องเร่งทำทันที การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพอย่างเร่งด่วน โดยติดตามเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ป่วยมีโลหะหนักต่อเนื่องโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล จนกว่าจะไม่พบผู้ที่มีโลหะหนักปนเปื้อน นอกจากนี้แล้วจะต้องมีการฟื้นฟูภายในเขตประทานบัตร กำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษซึ่งเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพ

“จังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมภายในและบริเวณโดยรอบเหมือแร่ทองคำ บริษัททุ่งคำจำกัด และถึงแม้จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยประชุมหรือหยิบยกเรื่องแผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน ที่เสนอโดยภาคประชาชน เข้าไปหารือเลยสักครั้ง และกรอบการทำงานของคณะกรรมการก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินเมื่อไหร่และจะดำเนินการในรูปแบบไหน วันนี้จึงอยากให้คณะกรรมาธิการฯผลักดันให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน" บำเพ็ญ ไชยรักษ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ระบุถึงปัญหาในขณะนี้ของหน่วยงานรัฐในจังหวัด

บำเพ็ญ เล่าถึงแผนของประชาชนว่า แผนการฟื้นฟูของภาคประชาชนนั้นเราได้เขียนแผนการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และชดเชยการกระทำละเมิดต่าง ๆ จากการทำเหมืองที่ผ่านมาด้วย และในส่วนการฟื้นฟูสิทธิชุมชนและกระบวนการเรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเราจะปรับภูมิทัศน์เป็นแหล่งเรียนรู้ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ เช่น ทำเป็นอุทยาน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญไม่ใช่ว่า ทางกพร. ได้เอาแผนฟื้นฟูของประชาชนเข้าไปยัดใส่แล้วหรือไม่ แต่คือภาคประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ต้องตอบให้ได้ว่า ประชาชนอยู่ตรงไหนในการฟื้นฟู ไม่ใช่ฝั่งรัฐเป็นผู้ฟื้นฟูเพียงฝ่ายเดียว ไม่อย่างนั้นการฟื้นฟูจะล้มเหลวแบบกรณีของลำห้วยคลิตี้ ที่ทางหน่วยงานรัฐได้งบประมาณหกร้อยล้าน แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เป็นเพียงแค่การยกงบประมาณไปให้บริษัทเอกชนไปจัดการ เป็นแค่การตักสารพิษออกไปทิ้งที่อื่นเท่านั้นแต่ไม่สามารถฟื้นฟูแก้ไขปัญหาผลกระทบได้อย่างแท้จริง

การฟื้นฟูของเหมืองทอง ที่จังหวัดเลย ต้องเป็นไปเพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ชุมชนกลับมาปรองดองสงบสุขเหมืองเดิม และจำเป็นต้องมีแผนทางสังคมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่แค่ตักสารพิษตะกอนดินออกไปทิ้งที่อื่น และในส่วนของกรรมการการฟื้นฟู ไม่ใช่ให้มีชาวบ้านแค่คนสองคนอยู่ในนั้น ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ในการกำหนดแผนฟื้นฟูทุกขั้นตอนโดยเฉพาะในทางสังคมด้วย

ชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าวภายหลังการประชุมว่า ทิศทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้จะเป็นไปในเชิงบวกในเรื่องของสภาพปัญหาก็ต้องประเมินไปตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะมี 2 มิติ มิติที่ 1 คือมิติของการฟื้นฟู และอีกส่วนหนึ่งคือส่วนของพื้นที่ก็จะเป็นเรื่องราวของจังหวัด ที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการ ในเรื่องของการสร้างให้คนมีความมั่นคง ในเรื่องของรายได้และอาชีพ ในชุมชนแต่ไม่ใช้ในพื้นที่ตรงนั้น

ชัยธวัชระบุว่า ได้ทำหนังสือเรียนไปยังกพร.แล้วว่า ในการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูจะต้องมีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งนั้นคือนโยบายของส่วนกลาง ซึ่งต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนเรื่องกรอบเวลาเป็นหน้าที่ของกพร.ที่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว และหากภาคประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมมันก็จำเป็นต้องเริ่มจากตรงนี้ก่อน ต้องไปปรับแก้คำสั่งให้มันเกิดการมีส่วนร่วมก่อน แล้วถึงจะมาคุยกัน

อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร กล่าวภายหลังการประชุมวันนี้ว่า จากการหารือวันนี้ได้ข้อสรุป 2 ประการ คือ เรื่องสิทธิในสัมปทานบัตร ซึ่งทางฝ่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าตัวแทนของ กพร. อุตสาหกรรมจังหวัด ยืนยันว่า สัมปทานได้สิ้นสุดลงตามเงื่อนไขการล้มละลายของบริษัทเจ้าของสัมปทาน ซึ่งเราจะทำหนังสือไปถึง กพร.ส่วนกลาง ให้มาชี้แจงให้ชัดเจนว่าข้อกฎหมายที่ได้ระบุ หนังสืออย่างเป็นทางการนั้น สัมปทานได้หมดลงแล้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการจะเป็นเจ้าภาพ โดยจะให้อุตสาหกรรมจังหวัดหารือกับ กพร.ส่วนกลางว่าข้อกฎหมายที่หมดสิทธิในการได้รับสัมปทานโดยเงื่อนไขการล้มละลาย ทางกพร.ก็จะทำหนังสือยืนยันเพื่อเกิดความชัดเจนว่าเป็นไปตามข้อตกลงตามที่ชาวบ้านยืนยันหรือไม่

อภิชาติ กล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องของการฟื้นฟู ตอนนี้คำสั่งการแต่งตั้งคณะทำงาน ทั้งหมดนี้กลไกยังเป็นของราชการ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้หารือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าภาคประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเราได้ข้อสรุปว่า จะให้กพร.ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนฟื้นฟู เพื่อเสนอคณะกรรมาธิการส่วนกลาง เพื่อเกิดความเป็นกลางมากที่สุด หลังกลับไปแล้วทางคณะกรรมาธิการ จะเร่งส่งหนังสือไปยังเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินการทันที ทั้งนี้ตนเชื่อว่า การเริ่มแผนฟื้นฟูคือก้าวแรกที่ต้องมีความร่วมมือ จากภาคประชาชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคณะกรรมาธิการฯ ได้ร่วมพูดคุยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จากนั้นในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่เหมืองทองคำ ตามจุดต่างๆ อาทิ โรงเหมืองทอง หลุดขุดเหมืองที่ลึกกว่า 180 เมตร รวมทั้งเนินเขาปลอม ซึ่งเป็นดินที่เหมืองขุดจากหลุมมาถมที่ไว้ มีความสูงกว่า 50 เมตร รวมทั้งโรงเก็บสารไซยาไนด์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net