Skip to main content
sharethis

นักวิชาการระบุผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทยไม่มากนักจากการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทย 231 รายการ เตือนรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินจากผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ และวิกฤตการเมืองในประเทศมีมากกว่า

1 พ.ย. 2563 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทย เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนักจากการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทย 231 รายการและไม่มีความจำเป็นในการทำตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการในเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย และ ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์น่าจะตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อรักษาฐานคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรสหรัฐฯ สินค้าไทย 231 รายการที่ถูกตัดสิทธิล่าสุดและมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม มีเพียง 147 รายการเท่านั้นที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ สินค้ากลุ่มนี้ (147 รายการ) มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์ต่อปี เมื่อเสียภาษีเพิ่ม 4-5% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 20-30 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 640-960 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อบริษัทส่งออกขนาดกลางขนาดเล็กที่อาศัยตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นหลักจะกระทบมากพอสมควร ฉะนั้นต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนหากแข่งขันไม่ได้ในด้านราคาในตลาดสหรัฐฯอันเป็นผลที่ไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีแล้ว สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ กระปุกเกียร์ ผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายประเภท กรอบแว่นตา เคมีภัณฑ์ อลูมิเนียมแผ่นบาง เป็นต้น ผลที่มีต่อตลาดการเงินในประเทศมีจำกัดแต่บริษัทที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์อาจได้รับผลกระทบบ้าง โดยราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางที่ราคาปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้อาจปรับฐานลดลงได้จากข่าวการตัดจีเอสพีดังกล่าว ส่วนความเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ขณะที่ไทยยังคงใช้สิทธิและยังไม่ถูกตัดสิทธิจีเอสพีในสินค้าอีก 638 รายการ โดยตนมองว่า ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมหาตลาดใหม่ๆไว้ทดแทนบ้างเนื่องจาก ไทยอาจถูกติดสิทธิจีเอสพีจากการอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในระยะต่อไปและหาก “โจ ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งมีแนวโน้มสูงที่จะนำเอาประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและประชาธิปไตยมาเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น
 
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่าผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 พ.ย. ที่จะถึง ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดการเงินโลก เศรษฐกิจไทยมากกว่า ประเด็นการตัดจีเอสพีมากกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยในส่วนที่เชื่อมโยงกันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯมากเป็นพิเศษ หากผลการเลือกตั้งออกมาโดย “โจ ไบเดน” มีชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกมากที่สุด แม้นว่า “โจ ไบเดน” จะมีนโยบายเก็บภาษีเพิ่มทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% เก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มจาก 37% เป็น 39% และวางแผนจะเก็บภาษีเงินกำไรจากเงินลงทุน (Capital gain tax) โดยเก็บจากคนที่รายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป นโยบายการเก็บภาษีเหล่านี้เพื่อไม่ต้องตัดลดสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยคงจะมีผลต่อธุรกิจใหญ่ๆและนักลงทุนในตลาดหุ้นอยู่บ้าง แต่การยกเลิกนโยบายกีดกันทางการค้าและชาตินิยมทางเศรษฐกิจรวมทั้งการก่อสงครามทางการค้าลดลงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในภาพรวม ตลาดหุ้นส่งผลบวกต่อเอเชียและเศรษฐกิจไทยดีขึ้น พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น แรงงานจะได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมนุษย์เข้มข้นจะย้ายฐานมาทางเอเชียมากขึ้น ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาในยุค “โจ ไบเดน” น่าจะมีการเข้าร่วมเจรจา CPTPP และ TPP ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค นโยบาย Buy American ของ “โจ ไบเดน” คงไม่ส่งผลต่อการซื้อสินค้าต่างชาติและภาคส่งออกเท่านโยบาย America First หรือ Make American Great Again ของ “โดนัล ทรัมป์” อย่างแน่นอน

หาก “โดนัล ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งอาจเป็นผลดีต่อธุรกิจขนาดใหญ่และตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะสั้น เพราะจะมีการยืดมาตรการ Tax cuts and Jobs Act ต่อไปอีก กลุ่มธุรกิจพลังงานแบบเดิมน่าจะได้ประโยชน์ ขณะนี้สงครามทางการค้าและลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจจะเข้มข้นมากขึ้นไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกโดยรวม หากผลการเลือกตั้งออกมาไม่ชัดเจน มีการชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้งหรือมีการสั่งให้นับคะแนนใหม่โดยศาล กรณีนี้จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกผันผวนในช่วงปลายปีและต้นปีหน้ามากที่สุด

นายอนุสรณ์ วิเคราะห์อีกว่าหากโจ ไบเดน ชนะเลือกตั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจปรับฐาน เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลง เงินทุนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อาจเคลื่อนย้ายมายังตลาดเอเชียและตลาดดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ (Emerging Markets) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุน นักธุรกิจที่อาจจะกังวลกับนโยบายภาษีของพรรคแดโมแครตและ ความเสี่ยงการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯและกำไรที่ลดลงจากการคาดการณ์เสียภาษีเพิ่มขึ้นจะถูกชดเชยโดยการเปิดเสรีการค้าเพิ่มขึ้น กำลังซื้อภายในเพิ่มขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น การเพิ่มสวัสดิการและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความสัมพันธ์กับยุโรปน่าจะดีขึ้นกว่าสมัยทรัมป์ เพราะ “โจ ไบเดน” ไม่ได้มีท่าทีแข็งกร้าวต่อกรณีข้อพิพาทเรื่องการจัดเก็บภาษีดิจิทัลของรัฐบาลในยุโรป

ทั้งนี้การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนพร้อมกับมีมาตรการทางการเงินที่เป็น Unconventional เพื่อช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจไทยและรับมือความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ยิ่งขึ้น หากผลการเลือกตั้งสหรัฐฯออกมาไม่ชัดเจนและนับมาสู่ความวุ่นวายทางการเมืองแล้วส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกถดถอยมากกว่าเดิมอีก หรือการเมืองภายในประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ได้ตามวิถีของรัฐสภาและวิถีทางแห่งกฎหมายได้ การพิจารณานำนโยบายการเงินที่เป็น Unconventional มีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศประสบปัญหาฐานะทางการคลังมากขึ้นตามลำดับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net