Skip to main content
sharethis

สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เล่าถึงความรุนแรงในการใช้อาวุธสงครามในการปราบปรามนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ปัจจุบันขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันที่นำโดยนักเรียน นักศึกษา ใช้ 3 ป. คือ เปิดโปง ประท้วง และ (ไม่)ปะทะ เพื่อไปสู่เป้าหมายของการทำลายระบอบอำนาจนิยม สร้างประชาธิปไตย และทำให้ประชาธิปไตยนั้นแข็งแรง

6 ต.ค. 2563 ที่สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดงานรำลึกครบรอบ 44 ปี สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ และทำพิธีเปิดห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ ภายในงานประกอบด้วยการวางดอกไม้รำลึกโดยตัวแทนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากคณะต่าง ๆ และกลุ่มนักเรียนจากหลากหลายโรงเรียน รวมถึงการแสดงปาฐกถา และการเสวนา

สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาเปิดในฐานะอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดังนี้

คุณเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นายกสโมสรนิสิต และคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ เพื่อนๆ ร่วมการต่อสู้ในปี 2519 นิสิตและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมขอขอบคุณที่ได้ให้เกียรติผมมาเป็นผู้กล่าวเปิดห้องกิจกรรมของนิสิตรัฐศาสตร์ในวันนี้

วันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว เป็นวันที่เป็น “ด้านมืด” ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นวันที่เห็น “อำนาจทมิฬ” ซึ่งเชื่อว่า การปราบปรามด้วยกำลังอาวุธของรัฐ จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายการใช้กำลังจับกุม ปราบปราม และสังหาร มีแต่จะยิ่งเร่งให้ความขัดแย้งในสังคมทวีความรุนแรงขึ้น จนประเทศไทยหลังปี 2519 เกือบจะต้องเดินไปตามเส้นทางของสงครามกลางเมือง เช่นที่เกิดและจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐในอินโดจีนมาแล้ว

ผมมาร่วมงานวันนี้ คงไม่ใช่ในฐานะอาจารย์ของคณะ แต่ขอมาร่วมงานในฐานะนักกิจกรรมรุ่นพี่ ที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่กับตึกนี้ ซึ่งตึกนี้คือ ศูนย์กลางของนักกิจกรรมของคณะรัฐศาสตร์ แม้ว่า ก่อนการเลือกตั้งสโมสรนิสิตนักศึกษาในปี 2519 นั้น ตึกนี้จะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมเชียร์ก็ตาม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจาก “ตึกเชียร์” ไปสู่ “ตึกกิจกรรมเพื่อสังคม” ก็คือภาพสะท้อนของกระแสสูงของกิจกรรมนักศึกษา ที่การเลือกตั้งทั้งในระดับคณะและในระดับมหาวิทยาลัยในเทอมปลายของปีการศึกษา 2518 นั้น พรรคนักศึกษาของฝ่ายก้าวหน้าชนะในแทบทุกคณะ และในแทบทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งในจุฬาฯ

ชัยชนะเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องของการสร้างกิจกรรมทางสังคมของนิสิตนักศึกษาที่ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยกิจกรรมนี้ยืนอยู่บนหลักการที่สำคัญคือ กิจกรรมนิสิตนักศึกษาต้องรับใช้ประชาชน ประชาชนเป็นศูนย์กลางของกิจกรรม ไม่ใช่ความสนุกส่วนตนของนิสิต เช่นในยุคสายลมแสงแดดอีกต่อไป ฉะนั้น ยุคหลัง 14 ตุลาฯคือ การ “ปลดแอก” ชีวิตของนิสิตนักศึกษาออกจากกิจกรรมแบบเก่า ซึ่งครั้งหนึ่งสิ่งเหล่านี้เคยถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่า เป็น “กิจกรรมแห่งความฟุ้งเฟ้อ” ของระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย

การสร้างกิจกรรมทางสังคมเช่นนี้ได้นำพานิสิตนักศึกษาจำนวนมากออกสู่ชนบท เข้าไปในโรงงาน การเรียนรู้นอกห้องเรียนขยายตัวอย่างกว้างขวาง จนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มียุคไหนที่กิจกรรมนักศึกษาจะขึ้นสู่กระแสสูงได้มากเท่ากับในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่สำหรับผู้มีอำนาจแล้ว การขยายตัวอย่างรวดเร็วของขบวนการนิสิตนักศึกษาคือ “ภัยคุกคาม” เพราะไม่เคยมีภาวะที่คนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐได้มากเช่นในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมการประท้วงของพี่น้องคนงาน และของพี่น้องชาวนา รวมทั้งการประท้วงของผู้เสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ

กระแสสูงของกิจกรรมนักศึกษาได้เปลี่ยนนิสิตจุฬาจำนวนมาก ในทุกภาค ทุกคณะ ให้กลายเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม พวกเขาเข้าร่วมแบกรับภารกิจเช่นนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า การกระทำเช่นนี้จะเป็นหนทางของการสร้างสังคมที่ดีกว่าในอนาคต... เปี๊ยก หรือวิชิตชัย อมรกุล และเพื่อนๆ ในรุ่นของเขาก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจเช่นนี้ ว่าที่จริงก็อาจจะไม่ต่างจากนิสิตหลายคนในห้องนี้ที่ตัดสินใจที่จะแบกรับภารกิจเช่นนี้ต่อไป ดังเช่นที่เรากำลังเห็นด้วยความตื่นเต้นถึง การฟื้นตัวของขบวนการนิสิตนักศึกษาไทยอีกครั้ง จนอาจจะต้องถือว่า เรากำลังเห็นการขับเคลื่อนของนิสิตนักศึกษาไทยในโลกศตวรรษที่ 21

กระแสสูงทางการเมืองหลังปี 2516 ยังพาปัญญาชนอีกส่วนเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมือง ศิษย์เก่าจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬา และดอกเตอร์ทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล อย่างอาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน ตัดสินใจเดินออกจากห้องสอน ด้วยความหวังที่จะสร้างพรรคการเมืองที่มาพร้อมกับอุดมการณ์ชุดใหม่ แต่สำหรับยุคสมัยนั้น อุดมการณ์สังคมนิยมคือ “ภัยคุกคาม” และการจัดการกับภัยคุกคามเช่นนี้มักจะจบลงด้วยการลอบสังหาร อาจารย์บุญสนองคือหนึ่งในเหยื่อของการล่าสังหารในยุคหลัง 14 ตุลาฯ ไม่ต่างจากผู้นำชาวนาอีกหลายคนที่เสียชีวิตในชนบท และการเสียชีวิตของอาจารย์บุญสนองคือ สัญญาณเตือนภัยสำหรับผู้เห็นต่าง ในทุกยุคของการต่อสู้ ผู้เห็นต่างคือ เหยื่อของการไล่ล่าจากอำนาจรัฐเสมอ

ในอีกด้าน การทำกิจกรรมในปี 2519 มีนัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่กำลังมีความเข้มข้นอย่างมากในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลจากการขยายตัวของอุดมการณ์สังคมนิยมในประเทศ และการพังทลายของรัฐบาลฝ่ายขวาในอินโดจีน จนทำให้ผู้นำในกลุ่มอนุรักษ์นิยมไทยอยู่ด้วยความกลัว และตัดสินใจกระทำการอย่างที่ไม่เคยเกิดในการเมืองไทย นั่นคือ “การล้อมปราบในเมือง” แม้ว่าการล้อมปราบในหมู่ผู้นำการเมืองด้วยกันเองนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก และเห็นได้จากการใช้กำลังในกรณีกบฏวังหลวง 2492 และกบฏแมนฮัตตัน 2494 ซึ่งเป็นการกระทำต่อคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่มีกำลังในครอบครองระดับหนึ่ง

แต่การล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการกระทำต่อกลุ่มนักศึกษา ที่ไม่ใช่ “กองกำลังติดอาวุธ” และแน่นอนว่า การกระทำเช่นนั้น ย่อมจะก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ไม่ต่างกับการปราบปรามในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 วันที่ 6 ตุลาฯ เราสูญเสียเพื่อนหลายคนที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง สำหรับพวกเราที่เป็นนิสิตนักศึกษา วันนั้นเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นอานุภาพของอาวุธร้ายแรง เช่น ปืนไร้แรงสะท้อน อาวุธยิงเอ็ม 79 ซึ่งปกติแล้ว อาวุธสงครามชนิดนี้ใช้ในการต่อสู้รถถังข้าศึก แต่นักศึกษาไม่ใช่ข้าศึก และไม่มีรถถังในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นครั้งแรกที่เราเห็นการใช้ปืนเอ็ม 16 อย่างเต็มที่ และได้ยินเสียงกระสุนเอ็ม 16 ปะทะเข้ากับผนังตึกของมหาวิทยาลัยดังตลอดต่อเนื่อง นี่ไม่ใช่การถ่ายทำภาพยนตร์สงคราม แต่เป็นการยิงที่มีชีวิตนักศึกษาเป็นเป้าหมาย หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 สะท้อนชัดว่า นิสิตนักศึกษาคือ “ข้าศึกทางการเมือง” ที่จะต้องถูกตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธสงคราม การปิดล้อมด้วยการยิงจากภายนอกตอนดึก และตามมาด้วยกระสุนระเบิดของเอ็ม 79 ที่ตกลงกลางสนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนรุ่งสางของวันที่ 6 เป็นดังสัญญาณการโจมตีที่ชัดเจน

การล้อมปราบครั้งนั้น ยังเป็นผลจากการใส่ร้ายปลุกระดมด้วยการสร้าง “วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง” ผู้คนในสังคมถูกสร้างให้เกลียดชังนักศึกษา การเสพวาทกรรมเช่นนี้ ทำให้พวกเขาพร้อมจะแปลงตัวเองให้เป็น “นักล่า” ที่มีชีวิตของนักศึกษาเป็นเหยื่อ และเปี๊ยกเป็นหนึ่งในผู้ถูกล่า... เปี๊ยกจบชีวิตลงที่ต้นมะขามสนามหลวง พร้อมกับเหยื่อของการล่าอีกส่วนหนึ่ง เปี๊ยกจากไปท่ามกลางการต่อสู้ และเป็นการต่อสู้ที่กำลังเปลี่ยนชีวิตของสังคมการเมืองไทย เพราะหากรัฐไทยยังดำเนินนโยบาย “การทหารนำการเมือง” แล้ว ชีวิตของรัฐไทยเก่าในยุคนั้น น่าจะจบลงด้วยผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากอินโดจีนในปี 2518

ผลจากการล้อมปราบในวันที่ 6 ทำให้นิสิตนักศึกษาหลายคนในยุคนั้นตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตด้วยการเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ และเปลี่ยนสถานภาพจาก “นักศึกษา” เป็น “นักรบ” แม้พวกเขาเหล่านี้จะไม่เคยมีโอกาสได้รับการฝึกทางทหาร แต่พวกเขาได้ตัดสินใจที่เดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิสงครามปฏิวัติไทย ด้วยความฝันของการเป็น “นักปฏิวัติ” และการสร้างสังคมใหม่ ลูกหลานชนชั้นกลางในเมืองหลายครอบครัวยอมละทิ้งความสุข ความสะดวกสบายของชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะชีวิตในฐานที่มั่นไม่ใช่การไปทัศนศึกษาชมป่า เที่ยวเขาเหมือนตอนเป็นนิสิต และการไปครั้งนี้ไม่มีใครรู้ว่า จะได้กลับมาเมื่อใด

การตัดสินใจเช่นนี้ พานิสิตจุฬา และเพื่อนนักศึกษาอีกหลายมหาวิทยาลัยเข้าสู่สนามรบในชนบท แน่นอนว่าชีวิตในสงครามมีความสูญเสีย นิสิตจุฬาจากคณะต่างๆ อีกส่วนหนึ่งได้กลายเป็น “วีรชนนิรนาม” ที่ฝังร่างอยู่กลางป่าเขาของชนบทไทย เท่าที่พอจะรวบรวมได้ในวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาฯ มีจำนวนทั้งหมด 9 ชีวิต จาก 5 คณะ

วันนี้ ผมอยากจะขออนุญาตรบกวนเวลาเอ่ยชื่อบรรดา “วีรชนจุฬา” ที่ไม่เคยปรากฏชื่อในบันทึกการต่อสู้มาก่อน (แต่จะขอไม่กล่าวนามสกุล) เพื่อเป็นการรำลึกถึงพวกเขาเหล่านั้น ได้แก่ นายเทอดศักดิ์...นายสมนึก... นายสุรเชษฐ์... จากคณะรัฐศาสตร์ น.ส. วิมลศรี... น.ส. ศิริพร... จากคณะนิเทศศาสตร์   น.ส. ถวิล... นายปรีชา... จากคณะนิติศาสตร์   นายฤทธิชัย... จากคณะวิศวกรรมศาสตร์  และ น.ส. บุญอิง... จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี

วิ หรือ วิมลศรี เป็นชีวิตแรกของนิสิตจุฬา เธอเข้าร่วมเป็นนักกิจกรรมที่ขยันขันแข็งของตึกจักรพงษ์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เธอเข้าสู่ฐานที่มั่นไม่นานนัก และเสียชีวิตด้วย “กับระเบิด” ในภาคใต้ ผมนึกไม่ออกเลยว่า น้องนิสิตหญิงคนหนึ่งที่เคยช่วยงานนั้น จะเสียชีวิตด้วยกับระเบิดสงคราม เพื่อนที่มาเยี่ยมผมที่เรือนจำกลางบางขวางมาบอกข่าวการเสียชีวิตของเธอและเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่อยู่ในป่า เธอพูดถึงงานเคลื่อนไหวในเมืองของเพื่อนชาวจุฬาด้วยความภาคภูมิใจ วันนี้ถ้าเธอไม่เสียชีวิต เธออาจจะเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสท่านหนึ่งของวงการสื่อสารมวลชนไทย เช่นเดียวกับเปี๊ยก หนึ่งชีวิตของนิสิตจุฬาที่ต้นมะขามสนามหลวง เขาเป็นนิสิตที่มีผลการเรียนดีในทุกวิชา และยังเป็นนักฟุตบอลในทีมของคณะรัฐศาสตร์ วันที่คุณพ่อกับเพื่อนสนิทยืนยันร่างของเปี๊ยกได้ ก็เพราะเปี๊ยกสวมรองเท้ากีฬาคู่โปรดที่เพื่อนจำได้แม่น ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าเปี๊ยกยังอยู่ เขาจะเลือกชีวิตเป็นปลัดอำเภอตามอุดมคติของชาวรัฐศาสตร์หรือไม่ เช่นเดียวกับอีก 8 ชีวิตที่ไม่มีโอกาสเลือกอนาคตข้างหน้า แต่พวกเขาเลือกที่จะต่อสู้ตามความฝันท่ามกลางความยากลำบากและความตายในสนามรบ วันนี้พวกเขาทั้งหมดคือคำยืนยันของการเสียสละของนิสิตนักศึกษาในสงครามปฏิวัติที่มีเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เป็นจุดเริ่มต้น

การต่อสู้สำหรับคนที่ถูกเรียกว่า “คนเดือนตุลาฯ” นั้น ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเป็น “คนสามตุลาฯ” คือ เริ่มต้นที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่มาพร้อมกับชัยชนะของนิสิตนักศึกษาและประชาชน จบชีวิตในเมืองที่ 6 ตุลาคม 2519 และเดินเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่ป่าเขา และการต่อสู้ครั้งนี้จบลงในเดือนตุลาคม 2526 ด้วยคำประกาศของรัฐบาลถึงการสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติไทย เป็น “สามตุลาฯ” ที่กำหนดความเปลี่ยนแปลงของไทยอย่างมีนัยสำคัญ และหลังจากตุลาคม 2526 แล้ว ไม่มีคนเดือนตุลาฯ มีแต่ชีวิตหลังสงครามปฏิวัติที่พ่ายแพ้ ทุกคนอยู่บนเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของแต่ละคน ไม่มีสงครามปฏิวัติ ไม่มีฐานที่มั่น ไม่มีพรรค ไม่มีจัดตั้ง มีแต่ “สงครามชีวิต” ที่แต่ละคนต้องเดินไปข้างหน้าโดยมีความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทยเป็นภาวะแวดล้อมใหม่

ในทางการเมือง หลัง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เรายังคงเห็นการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม 2535 การลุกขึ้นสู้ของพี่น้องเสื้อแดงในปี 2553 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังคงรัฐประหารอย่างต่อเนื่องไม่ว่า จะเป็นในปี 2519, 2534, 2549 และที่สำคัญ 2557 แต่ทั้งหมดนี้ยังคงยืนยันว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องหาสังคมที่ดีกว่าไม่เคยหยุดนิ่ง การเรียกร้องยังคงดำเนินต่อไป และขอให้ภูมิใจว่า พวกทั้งหมดจะเป็น “พยานทางประวัติศาสตร์” ของการต่อสู้เรียกร้องในครั้งนี้

บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ในปี 2519 ก็คือ การใช้การเข่นฆ่าและการจับกุม ไม่เพียงแต่จะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หากแต่ยังเป็นเครื่องกระตุ้นความรุนแรงในตัวเอง ครั้งนั้นถ้ารัฐยังหลงละเมออยู่กับชุดความเก่าของ “การทหารนำการเมือง” และผสมเข้ากับ “กฎหมายนำการเมือง” ที่ใช้การกวาดล้างจับกุมเป็นมาตรการหลักแล้ว รัฐไทยคงพ่ายแพ้สงครามอย่างแน่นอน การปรับด้วยการเอาการเมืองนำ เพราะการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ จึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐสามารถสร้างกระแสตีกลับได้... บทเรียนนี้ยังคงเป็นข้อเตือนใจที่ดี เพราะไม่ว่าในยุคนั้นหรือยุคนี้ การเมืองยังคงเป็นปัจจัยหลักแห่งชัยชนะเสมอ มิใช่กับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น หากฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลก็ต้องยึดกุมหลักการเช่นนี้ให้ได้เช่นกัน ใครพ่ายแพ้ทางการเมือง คนนั้นย่อมพ่ายแพ้ในสนามการต่อสู้

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่าในช่วงปี 2516-19 อย่างเห็นได้ชัด ระบอบเผด็จการวันนี้ไม่ได้ใส่เครื่องแบบเต็มรูป เช่นในยุคสามทรราชย์ แต่เป็นเผด็จการที่ใช้สนามเลือกตั้งเป็นหนทางเข้าสู่อำนาจ ระบอบปัจจุบันจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่กลับมีลักษณะเป็นเผด็จการครึ่งใบ และการต่อสู้กับระบอบเช่นนี้ มีแต่ต้องอาศัยพลังนิสิตนักศึกษาประชาชนดำเนินการด้วยมาตรการ “3 ป” คือ “เปิดโปง-ประท้วง-ไม่ปะทะ” และด้วยวิธีการเช่นนี้ จะทำให้ระบอบพันทางทหารที่ใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตย ไร้ความชอบธรรม และที่สำคัญจะชนะได้ต้องสร้างแนวร่วมให้กว้างขวาง ต้องนำเสนอประเด็นการต่อสู้เพื่อสร้างแนวร่วม ไม่ใช่ทำลายแนวร่วม การต่อสู้ที่ปราศจากแนวร่วมมีแต่จะพ่ายแพ้

ผลจากเงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยมีความซับซ้อนที่การเปลี่ยนผ่านอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนจังหวะเดียว อาจจะต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านแบบ “ไตรภาค” คือ ในรอบแรกจะต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อสลายความเข้มข้นของระบอบอำนาจนิยม การเปลี่ยนผ่านในรอบที่สองต้องมุ่งสู่การสร้างประชาธิปไตย และการเปลี่ยนผ่านในรอบที่สามจึงจะสามารถสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย และการเปลี่ยนผ่านของไทยอาจจะต้องเดินบนเส้นทางเช่นนี้ อย่าคาดหวังที่จะต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมด้วยชัยชนะเพียงครั้งเดียว สงครามการเมืองไม่เคยจบในครั้งเดียวหรือสนามรบเดียว

ความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านจะเป็นหนทางสำคัญของการปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ ก็ปฏิรูปไม่สำเร็จ การสร้างการเมืองใหม่ที่ปราศจากการปฏิรูปกองทัพเป็นเพียงความเปราะบางที่รอเวลาของการรัฐประหารในอนาคต และอาจจะต้องคิดถึงการปฏิรูปภาคความมั่นคงของประเทศทั้งหมด

ในอีกด้าน การขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ ที่อาศัยเครื่องมือการต่อสู้สมัยใหม่ และได้เห็นถึงชัยชนะมาแล้วไม่ว่าจะเป็นในคลื่นอาหรับสปริงลูกแรก และตามมาด้วยคลื่นอาหรับสปริงลูกที่สอง หรือในฮ่องกง สิ่งที่ได้เห็นไม่ว่าจะเป็น Facebook Revolution หรือ Twitter Revolution ก็กำลังเกิดในไทยไม่ต่างกัน และในไทยอาจจะรวมทั้ง Line Revolution ที่จะใช้ในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม และการต่อสู้เช่นนี้กำลังพิสูจน์ถึงพลังของคนรุ่นใหม่ เช่นที่เห็นมาแล้วกับการต่อสู้ในหลายประเทศ

สุดท้ายนี้ นอกจากขอเชิญชวนพวกเราร่วมรำลึกถึงวิชิตชัยและอาจารย์บุญสนองแล้ว ผมยังขอชวนพวกเราร่วมรำลึกถึงวีรชนนิรนามจากจุฬาและจากทุกมหาวิทยาลัย ไม่ว่าพวกเขาจะถูกสังหารที่กรุงเทพฯ หรือเสียชีวิตกลางป่าในสงคราม แม้ระยะเวลาจะผ่านเลยไปมากกว่า 4 ทศวรรษแล้ว แต่ชีวิตของพวกเขาเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการต่อสู้ของขบวนการนิสิตนักศึกษาไทยในยุคหนึ่ง

ผมขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอขอบคุณสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ที่จัดงานเพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์ทั้งสอง ซึ่งเป็นผลิตผลโดยตรงของคณะ

ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า หากทั้งสองท่านและบรรดาเพื่อนๆ ของเราที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในปี 2519 จะมีโอกาสรับรู้ด้วยญาณใด ก็คงไม่เพียงจะอวยชัยให้แก่การต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันประสบชัยชนะเท่านั้น หากพวกเขาคงจะมองด้วยความภาคภูมิใจที่เห็นถึงการขับเคลื่อนไปสู่ความฝันของคนรุ่นใหม่ เหมือนกับเช่นที่ครั้งหนึ่งคนในรุ่นนี้ได้เคยฝันถึงสังคมที่ดีกว่ามาแล้ว

วันนี้การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยหวนกลับมาอีกครั้งในปัจจุบัน ผมขอให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประสบชัยชนะโดยเร็ววัน และขอให้ชัยชนะครั้งใหม่นี้ยั่งยืนสถาพร และยังประโยชน์แก่คนทุกชั้นชนในสังคมไทย อีกทั้งเพื่อให้การรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดผลแก่อนาคต จึงขอเชิญชวนพวกเราจงร่วมกันสนับสนุนการต่อสู้เพื่อผลักดันสังคมไทยให้เคลื่อนไปข้างหน้า ที่เกิดจากแรงประสานของพี่น้องนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทุกหมู่เหล่า แล้วเราจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ร่วมกัน

            ขอขอบคุณทุกท่านครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net