Skip to main content
sharethis

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมยันพร้อมให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณี สปสช. ยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่น รับบริการได้ตามปกติ ไม่มีค่าใช้จ่าย

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญากับหน่วยบริการเอกชนในเขตพื้นที่ กทม. มีประชาชนที่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกและมีสถานะกลายเป็นสิทธิว่างจำนวนมาก ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในฐานะเป็นโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาเฉพาะด้าน ยินดีให้บริการให้แก่ประชาชนอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกสิทธิ ซึ่งปัจจุบันนี้ทางสถาบันฯมีเตียงผู้ป่วยใน 465 เตียง มีคลินิกผู้ป่วยนอกแยกเฉพาะทางด้านต่างๆ อีก 37 คลินิก เพราะฉะนั้นจึงมีความพร้อมที่จะรับผู้ป่วยเด็กที่เจ็บป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

นพ.อดิศัย กล่าวว่า จริงๆ แล้ว สปสช. ยังมีเครือข่ายอื่น เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ที่มีศักยภาพและยินดีให้บริการผู้ป่วยอยู่แล้ว ในส่วนของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเองก็ยินช่วยเติมเต็มเพื่อให้คนไข้มีทางเลือกมากขึ้น คนไข้ที่อยู่ละแวกใกล้เคียงหรือที่สามารถเดินทางมารับบริการก็จะได้รับการอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น  

"เราสามารถรับผู้ป่วยได้ตามสถานการณ์ ตามจำนวนผู้ป่วยที่มาในช่วงนั้นๆ ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยใน ปกติมีอัตราการใช้เตียงอยู่ที่ 60% ดังนั้น จึงมีศักยภาพที่จะรองรับอยู่แล้ว รวมทั้งจำนวนคลินิกผู้ป่วยนอกที่มีมากเพียงพอ" นพ.อดิศัย กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยที่มาใช้สิทธิว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ สปสช. สนับสนุนนั้นครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานเกือบหมดอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหากับผู้ป่วยว่าจะต้องเสียเงินเมื่อมารับบริการ ยกเว้นบางรายการ เช่น ห้องพิเศษ ซึ่งก่อนที่จะเกิดปัญหาการยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีก็ให้บริการผู้ป่วยเด็กที่เป็นสิทธิว่างอยู่พอสมควร มีระบบต่างๆ รองรับอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

"เราก็อยากให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้ง 3 ฝ่าย คือ ประชาชนได้รับบริการ ไม่ต้องกังวลใจว่าตัวเองมีปัญหาสุขภาพแล้วจะไม่มีที่รองรับ สปสช. ก็มีที่เลือกให้ประชาชนที่เป็นสิทธิว่างได้มีที่รักษา ส่วนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีก็ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์" นพ.อดิศัย กล่าว

พล.ต.นพ.พจน์ เอมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหมในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วยในส่วนของกองทัพบก คือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กองทัพเรือ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กองทัพอากาศ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) ตลอดจนโรงพยาบาลทหารผ่านศึกขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก มีความยินดีให้บริการเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนที่อยู่ละแวกใกล้เคียง

พล.ต.นพ.พจน์ เอมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

พล.ต.นพ.พจน์ กล่าวว่า จากการประสานกับ สปสช. เบื้องต้น ทำให้ทราบอยู่แล้วว่าจะมีผู้มารับบริการเพิ่มขึ้น จากการประสานงานกับ 5 โรงพยาบาลข้างต้นได้รับทราบและเตรียมบุคลากรให้พร้อมให้ความช่วยเหลือ สปสช.ในการให้บริการประชาชน โดยผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นสิทธิว่างสามารถมารับบริการได้ตามปกติ

"ยืนยันว่ามารับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแน่นอนตามที่ สปสช.ชี้แจง" พล.ต.นพ.พจน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลทหาร ภารกิจเบื้องต้นคือการให้บริการกำลังพลและครอบครัวและยังต้องทำหน้าที่ดูแล state quarantine ด้วย ดังนั้น ประชาชนที่มารับบริการหากได้รับความไม่สะดวกสักเล็กน้อยก็ขอประทานอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net