Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม องค์กรภาคีรวม 61 องค์กร ประชาชนผู้ร่วมกันลงชื่อสนับสนุน รวม 21,463 ชื่อ ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้พิจารณาเรื่องการยกเลิกมาตรา 301 ที่กำหนดให้การทำแท้งเป็นความผิด และให้ชี้แจงกรณีระบบรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายของเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขัดข้อง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2563 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม องค์กรภาคีรวม 61 องค์กร ประชาชนผู้ร่วมกันลงชื่อสนับสนุน รวม 21,463 ชื่อ ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้พิจารณาเรื่องการยกเลิกมาตรา 301 ที่กำหนดให้การทำแท้งเป็นความผิด และให้ชี้แจงกรณีระบบรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายของเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขัดข้อง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ 

โดยตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กลุ่มทำทาง คณะผู้หญิงปลดแอก สายด่วน 1663 และองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมลงนามได้เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ.สามเสน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่าที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้เข้าร่วมให้ความคิดเห็นในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้งสามครั้ง และได้ยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 301 และแก้ไขมาตรา 305 ให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้จนถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย โดยที่ทั้งผู้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์และแพทย์ที่ทำการยุติการตั้งครรภ์ไม่มีความผิด 

อย่างไรก็ตาม หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่าหลังจากคณะกรรมการได้จัดทำร่างกฎหมายแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากลับไม่ได้แจ้งให้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เคยไปร่วมให้ความคิดเห็นรับทราบว่ามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ โดยตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมได้รับทราบจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมว่ามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะหว่างวันที่ 13 – 28 สิงหาคม และได้ปิดการรับฟังความคิดเห็นไปโดยมีผู้มาแสดงความคิดเห็นเพียง 6 ราย 

ต่อมา เมื่อมีการเรียกร้องให้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอีกครั้ง ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่งในช่วงวันที่ 3 – 15 กันยายน โดยยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์เป็นวงกว้าง นอกจากนี้ระบบรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ 

ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงได้มีการเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 301 ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org ซึ่ง ณ เวลา 16.25 วันที่ 10 กันยายน มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วทั้งหมด 21,463 รายชื่อ

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก จึงควรมีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างที่สุดเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากที่สุด การที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอ้างว่าได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้แล้วโดยที่ประชาชนไม่ได้รับทราบ และมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงแค่ 6 ราย จึงไม่ถือว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้วอย่างแท้จริง 

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมยังพบว่าคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประมวลกฏหมายอาญามาตรา 301 – 305 ไม่ได้นำข้อเสนอหรือความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงผู้หญิงวัยเจริญพันธ์และครอบครัวที่เสียสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิและได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายอาญามาตรา 301 และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษาและให้บริการยุติการตั้งครรภ์เข้ามาประกอบการพิจารณายกร่างแก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด 

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและองค์กรภาคประชาสังคมทั้งไทยและต่างประเทศอีก 61 องค์กร จึงเข้ายื่นข้อเรียกร้องถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ขอให้การพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้น้ำหนักและความสำคัญต่อข้อเสนอของภาคประชาสังคมเรื่องการยกเลิกมาตรา 301 อย่างจริงจัง ที่ปัจจุบันมีเสียงสนับสนุนแล้ว 21,014 คน (ตัวเลขเมื่อวันที่ 7 กันยายน) และมีองค์กรภาคประชาสังคมที่ลงนามสนับสนุนแล้วจำนวน 62 องค์กร

2) ขอให้มีคำชี้แจงกรณีปัญหาของระบบรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จนทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ และขยายเวลาในการรับฟังความเห็นออกไปจนกว่าระบบจะใช้งานได้จริง

3) ขอให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 คือ ผู้หญิงท้องไม่พร้อมหรือผู้มีประสบการณ์ทำงานกับผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์ (ผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์อาจไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนเพราะเกรงความผิดทางอาญา) เพื่อให้สอดคล้องกับคู่มือการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบกับการจัดทำร่างกฎหมาย

4) ขอให้กระบวนการพิจารณากฎหมายใช้วิชาการและองค์ความรู้เชิงประจักษ์เป็นข้อมูลนำเข้าในการปรับการพัฒนาปรับแก้กฎหมาย หลีกเลี่ยงการใช้ทัศนคติส่วนตัวและการนึกคิดคาดเดาส่วนบุคคล โดยให้น้ำหนักกับการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องและเทคโนโลยีการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยของประเทศไทยที่ได้รับการพัฒนาไปมากแล้ว 

ล่าสุด ระบบรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสามารถเข้าถึงได้แล้ว และได้มีการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวไปถึงวันที่ 18 กันยายน โดยประชาชนสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ได้

กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม

รศ.​ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ระบุว่าเครือข่ายภาคประชาสังคมมีความรู้สึกว่าประธานคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฏหมายอาญามาตรา 301 – 305 อาจจะยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างถ้วนทั่ว เนื่องจากว่าไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของเจ้าของปัญหา และนอกจากนี้ยังมีความเข้าใจว่าภาคประชาสังคมกำลังเสนอให้มีการเปิดเสรีการทำแท้ง ซึ่งกฤตยากล่าวว่าข้อเสนอของภาคประชาสังคมไม่ใช่การทำแท้งเสรี เพราะไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่เปิดให้มีการทำแท้งเสรี ซึ่งหมายถึงว่าจะทำแท้งเมื่อใดหรือกับใครก็ได้โดยไม่มีเงื่อนไข และทุกประเทศที่อนุญาตให้ทำการยุติการตั้งครรภ์ได้มีเงื่อนไขในการเข้ารับบริการทั้งหมด นอกจากนี้กฤตยายังกล่าวว่าการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปล่อยให้ปัญหาระบบรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ขัดข้องเรื้อรังเป็นเวลานานแสดงให้เห็นว่าสำนักงานฯไม่ได้สนใจรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบและขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไป

นอกจากนี้กฤตยายังกล่าวอีกว่าการที่กฎหมายเอาผิดกับผู้หญิงที่ยุติการตั้งครรภ์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์เป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับทั้งฝ่ายผู้หญิงและบุคลากร ทุกฝ่ายควรมองว่าการทำแท้งเป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงที่จะดูแลเนื้อตัวร่างกายของตนเอง 

“องค์การอนามัยโลกแนะนำประเทศต่าง ๆ มานานแล้วว่าการทำแท้งนั้นต้องมองว่าคือบริการสุขภาพ แล้วเป็นสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงที่จะดูแลเนื้อตัวร่างกายของเขา ดิฉันอยากจะเรียนว่ามีการศึกษาวิจัยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเราก็มีการศึกษาวิจัยเหล่านี้เช่นกันที่ยืนยันว่าเรื่องการทำแท้งเป็นเรื่องปกติในเครื่องหมายคำพูด ปกติมากในสังคมมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อมีการท้องก็ต้องมีการแท้ง ในอดีต ทุกสังคมในโลกนี้ไม่เคยเอาผิดกับผู้หญิง สังคมมนุษย์ใช้มาตรการทางศาสนา มาตรการทางจริยธรรมมาจับ เอามาตรการทางความเชื่อเหล่านั้นมาจับแล้วลงโทษผู้หญิง ซึ่งดิฉันคิดว่านี้เป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และละเมิดกฎเกณฑ์กติกาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เราเอง ประเทศไทยเองก็ลงสัตยาบันให้กับสหประชาชาติไว้ เพราะฉะนั้นมาตรา 301 ต้องยกเลิก” กฤตยากล่าว 

กรกนก คำตา คณะผู้หญิงปลดแอก

นอกจากนี้ กรกนก คำตา ตัวแทนคณะผู้หญิงปลดแอกกล่าวถึงปัญหาระบบรับฟังความคิดเห็นขัดข้องว่าการทำประชาพิจารณ์โดยที่ระบบเข้าถึงไม่ได้หมายความว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้ตั้งใจจะทำประชาพิจารณ์และจะออกกฎหมายโดยไม่รับฟังเสียงของผู้เกี่ยวข้อง เช่นผู้หญิงที่เคยทำแท้งหรืออาจจะต้องทำแท้งในอนาคต นอกจากนี้กรกนกยังเสนอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นนอกระบบออนไลน์ เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หรือใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว และกล่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาควรจะทำให้ช่องทางรับฟังความคิดเห็นเข้าถึงได้จริง ไม่อย่างนั้นจะเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนและอาจถูกฟ้องร้องได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งระบุว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“จะทำให้เราทำยังไงในการที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็น เราต้องไปล่ารายชื่อใน Change.org เองสองหมื่นชื่อถึงจะมาแปะบอกท่านได้ ต่อไปถ้าระบบทางนี้ยังทำไม่ได้อีก เราจะไปล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อของประชาชนเพื่อแก้ไขกฏหมายอาญามาตรา 301 เองเพราะว่าระบบของกฤษฏีกาตอนนี้มีคนเข้าไปลงความเห็นได้หกคน ทั้งที่เรามีสองหมื่นชื่อแต่เราลอคอินเข้าระบบได้หก ไม่ใช่พวกเราด้วยเพราะเราเข้าไม่ได้ ดังนั้นเราจะไประดมคนมาลงความเห็นจนเว็บล่มแน่นอน แต่ต้องเปิดให้เราเข้าได้ก่อน”

“เรารับไม่ได้ในร่างที่กฤษฏีกาออกมา และถ้าในท้ายที่สุดระบบนี้ยังไม่ฟังเสียงของผู้หญิงอีก เราจะไปล่ารายชื่อของประชาชน ไปตั้งโต๊ะรับบัตรประชาชนและลงร่างของเราเอง ถ้าเกิดกฤษฏีกายังไม่ออกมาในรูปแบบที่เราพึงพอใจหรือว่าฟังเสียงของประชาชนและคนที่ทำงานด้านนี้ และ 157 มาแน่ถ้าระบบยังเข้าไม่ได้” กรกนกระบุ

ในระหว่างกิจกรรมการยื่นจดหมาย ยังมีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับปัญหาท้องไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์อีกด้วย 

โดย นุชนารถ แท่งทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่าในชุมชนมักจะพบปัญหาเด็กที่อยู่กับปู่ย่าตายาย เด็กที่พ่อแม่ติดคุกหรือเสียชีวิต และมีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมาก ซึ่งคนเหล่านี้ควรจะมีสิทธิที่จะเลือกเอาลูกไว้หรือไม่ก็ได้ เพราะจะไปทำแท้งก็กลัวมีความผิด แต่พอเด็กเกิดมาครอบครัวก็ต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้สังคมยังมักผลักภาระให้ผู้หญิงและมักประณามแต่ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ไม่เคยประณามผู้ชายว่าทำให้ผู้หญิงท้องแล้วไม่ช่วยดูแล ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการทำแท้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรจะเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรเอาเรื่องความเชื่อมาจับ ถ้าเราได้ป้องกันแล้วแต่เกิดพลาด หรือโดนข่มขืนหรือล่อลวง ก็ควรมีสิทธิพิจารณาว่าจะเลี้ยงหรือไม่เลี้ยง เพราะการเลี้ยงดูจะเป็นปัญหาต่อไปอีกนาน นอกจากนี้สังคมยังควรตระหนักว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกที่จะทำอะไรกับร่างกายของตนเอง

“นักสังคมต่าง ๆ บอกว่ามันผิด แต่เวลาเขาคลอดมาแล้ว พ่อเลี้ยงตีลูกจนตาย เด็กมีปัญหา คนเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน สังคมก็ประณามแต่แม่ แต่ครอบครัว แต่ไม่เคยประณามสังคมที่บอกว่าต้องเอาไว้แต่ไม่มีใครช่วยดู” นุชนารถกล่าว “มาตรา 301 ควรจะเอาออกไปเลยด้วยซ้ำ ไม่ควรมาใช้กับคนในสังคมในยุคนี้ ซึ่งเราพูดได้ เราบอกได้ว่าเราสงสารคนนั้นสงสารคนนี้ แต่ชีวิตจริง ความสงสารมันช่วยชีวิตเด็ก ช่วยชีวิตผู้หญิงเหล่านั้นไม่ได้เลย”

นิศารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนกลุ่มทำทาง ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้หญิงที่มีประสบการณ์เคยทำแท้งและมารวมตัวกันเพื่อทำงานรณรงค์กล่าวว่าในฐานะผู้หญิงที่เคยทำแท้งและทำงานเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้ง ยืนยันว่าต้องการมีส่วนร่วมกับร่างกฎหมายที่มีผลกระทบกับชีวิตของเธอ และจะนำเสนอเรื่องนี้ให้ถึงคนจำนวนมากเท่าที่ทำได้เพื่อให้เกิดร่างกฎหมายที่มาจากประชาชนจริง ๆ 

“ทุกครั้งที่เราพูดถึงประสบการณ์ของตัวเองในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในเฟสบุ๊ค หรือในสื่อว่าเราเคยทำแท้งและมันเป็นแบบนี้ เหตุผลของเราคืออย่างนี้ สิ่งที่เราได้รับกลับมาก็คือ เธอไม่รู้จักถุงยางเหรอ เธอไม่รู้จักการคุมกำเนิดเหรอ เธอไม่รู้จักอะไรพวกนี้เลยเหรอ ดิฉันจะถามกลับไปว่าการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือถุงยางอนามัยใช่ไหมคะ ใครรู้จักถุงยางอนามัยคะ ใครรู้จักดีที่สุดว่าตัวเองใส่ไซส์อะไร ไม่ใช่ผู้หญิงใช่ไหม แล้วในความสัมพันธ์ เราจะเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า ผู้หญิงพูดว่าผู้ชายบอกว่าถ้าเธอไม่ให้มีอะไรโดยไม่มีถุงยางจะเลิก ใครคะที่เป็นคนเอาเรื่องนี้มาเป็นน้ำหนักในความสัมพันธ์ ไม่ใช่ผู้หญิงใช่ไหมคะ แล้วมาบอกว่าเหตุการณ์ที่นำไปสู่การท้องไม่พร้อมเหล่านี้ หนึ่งในปัจจัยมันไม่ใช่ผู้หญิง แต่ทำไม่ภาระถึงมาอยู่ที่ผู้หญิงคะถ้าเกิดการท้องไม่พร้อม” นิศารัตน์เล่า 

“เท่านั้นไม่พอ เมื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม เหมือนตัวดิฉันเอง พอท้องไม่พร้อมแล้วปรึกษาใครไม่ได้ ดิฉันก็กล้าคุยกับครูไหม ดิฉันกล้าคุยกับเพื่อนไหม ดิฉันกล้าไปถามพระไหม  กล้าถามหมอไหม ไม่กล้าเลย เพราะว่าทั้งชีวิตถูกบอกว่าถ้าเธอจะทำแท้ง เธอบาป เธอเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือใด ๆ ก็ตามที่ถูกว่ามา แล้วผู้หญิงคนหนึ่งต้องฝ่าทุก ๆ คำพูดเหล่านี้เพื่อไปทำแท้ง คุณคิดว่ามันจำเป็นกับชีวิตเขาแค่ไหน สถานการณ์ของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ผู้หญิงแต่ละคนที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เขามีปัจจัยประมาณล้านแปดที่จะทำให้เขาตัดสินใจแบบนี้ แล้วคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเขาจะเข้าใจชีวิตเขาได้ยังไง แล้วถือดีอะไรไปตัดสินให้ชีวิตเขาต้องเป็นหรือไม่เป็นอะไร ถือสิทธิอะไรไปตัดสินชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่คุณไม่รู้จัก”

เอมอร คงศรี ตัวแทนสายด่วน 1663 ซึ่งเป็นสายด่วนปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อม ระบุว่าสายด่วน 1663 มีผู้โทรมาปรึกษาราวปีละสามหมื่นราย ซึ่งกว่า 90% ของจำนวนนี้ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ โดยเอมอรกล่าวว่าผู้หญิงที่เผชิญปัญหาท้องไม่พร้อมมักจะมีทางเลือกอยู่แล้วก่อนที่จะโทรมาปรึกษาสายด่วน 1663 ซึ่งเมื่อรับฟังปัญหาแล้วก็ต้องสนับสนุนให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แต่เมื่อทั้งฝ่ายผู้หญิงและผู้ให้บริการทางการแพทย์มีความกังวลว่าจะทำผิดกฎหมาย ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจึงมักหันไปหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเมื่อเกิดอันตรายจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ผู้หญิงเหล่านี้ก็จะติดต่อมาที่สายด่วน 1663 กลุ่มทำทาง องค์กร Women Help Women หรือองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาท้องไม่พร้อม ซึ่งบางครั้งไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ดังนั้นการยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้งจึงมีความสำคัญ

“ถามว่าถ้าเรายังเอาผิดกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แบบนี้ บอกได้เลยว่าการที่เราจะให้เขาเลือกไปท้องต่อ มันจะท้องต่อได้ยังไงในเมื่อตัวเขาเองไม่ได้อยากมีลูกคนนี้ เขาตัดสินใจแน่นอนแล้ว อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัว คิดว่าการที่เรายกเลิกมาตรา 301 ไม่ต้องเอาผิดกับผู้หญิงที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้เขาไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง” เอมอรกล่าว

ส่วนมัทนา เชทมี จากองค์กร Women Help Women กล่าวว่าหวังว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะขานรับคำตัดสินที่ว่ามาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กฏหมายไทยเป็นกฎหมายที่อยู่ในกรอบของสิทธิมนุษยชนที่สากลโลกรับรอง 

“คิดว่าเสียงของเราในวันนี้จะส่งไปถึงคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อที่จะพิจารณาว่าให้ใจกว้าง ให้ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของร่างกายเขาได้เข้าถึงข้อมูลที่ปลอดภัย ให้คนที่มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเขาได้กำหนดชีวิตของเขา ให้เขาได้กำหนดอนาคตของเขาในเรื่องที่เขาควรจะมีสิทธิด้วยตัวของเขาเอง” มัทนากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net