Skip to main content
sharethis

รายงานการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วย ‘หนึ่งความฝัน’ ร่วมกันท่ามกลางการเคลื่อนไหวของประชาชนในปัจจุบัน

  • ‘สมชาย’ เปรียบเหมือน ‘เสียงแห่งยุคสมัย’ ที่เกิดจากการล้มเหลวของสถาบันทางเมืองอย่างพร้อมเพรียงกันไม่ได้เป็นผลจากล้างสมองและไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง ชวนคิดต่อยอดข้อเสนอจากการชุมนุม ย้ำข้อเสนอเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จัดเป็นรอยัลลิสต์ และนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ผันเปลี่ยนและถูกแช่แข็งตามโครงสร้างสังคมในแต่ละยุคสมัย
  • ‘ปิยบุตร’ เสนอสถาบันกษัตริย์ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ฉายภาพความล้นเกินและความคลุมเครือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อันยาวนานในรัฐธรรมนูญ ทั้งเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ในสังคมที่ไม่สอดคล้องกับหลักการราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)

วันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.30-15.30 น. ณ ห้องประชุม LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ Common School คณะก้าวหน้า ผู้บรรยายประกอบด้วย สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โดยมีนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายจำนวนมาก

‘เสียงแห่งยุคสมัย’ ที่โยนความกลัวทิ้งไป

สมชาย เริ่มด้วยการกล่าวถึงที่มาของหัวข้อในการบรรยายพิเศษ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ว่ามาจากฉันทามติท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในปัจจุบัน โดยมีสามข้อเรียกร้อง ได้แก่ (1) หยุดคุกคามประชาชน (2) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ (3) ยุบสภา, สองจุดยืน ได้แก่ (1) ไม่เอารัฐประหาร (2) ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และอีกหนึ่งความฝันคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เหล่านี้เปรียบเหมือน ‘เสียงแห่งยุคสมัย’ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้หลายคนแปลกใจ จึงถือเป็นปกติที่ ‘รอยัลลิสต์’ และ ‘นิยมตู่’ ซึ่งตนเองอยากคุยด้วยมากเป็นพิเศษนั้นจะมีความรู้สึกว่าสังคมกำลังจะพังพินาศลงแล้ว โดยก่อนอื่นต้องชวนทำความเข้าใจถึงข้อกล่าวหาหรือวิธีการที่มองว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมานั้นเด็กและเยาวชนถูกล้างสมองและมีผู้อยู่เบื้องหลังว่าหากเป็นแช่นนี้จริง คงไม่มีใครอื่นนอกเสียจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวก เพราะการจะล้างสมองได้สำเร็จนั้นต้องทำโดยผู้มีอำนาจและกำลังควบคุมกลไกรัฐ สื่อ อุดมการณ์ไว้มากที่สุดในขณะนี้

สมชาย กล่าวว่า เสียงแห่งยุคสมัยเกิดจากเยาวชนและนักศึกษาได้เป็นประจักษ์พยานท่ามกลางสถานการณ์สังคมการเมืองไทยอย่างน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 เขาคือคนที่รับรู้ถึงความเหลวแหลกของระบบการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นได้โดยทั่วกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าสถาบันทางการเมืองตกต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หรือองค์กรอิสระ ทั้งหมดล้มเหลวพร้อมกัน กล่าวคือเมื่อเกิดปัญหาหนึ่งขึ้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลและไม่เปิดรับฟังความจริง

“ …สมมติถ้าถามว่าคนอายุรุ่นผม หรือคนที่มีโอกาสเห็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นว่าทำไมถึงไม่มีการเรียกร้องหรือมีการเคลื่อนไหวมากขนาดนี้ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบางทีพอเรามีอายุมากขึ้นแล้วอาจคิดมาก รอบคอบมากเกินไปหรือเปล่า กระทั่งทำให้รู้สึกว่าพอจะขยับโน่นนิดนี่หน่อยก็จะกังวลกันมากมาย แต่พอมาถึงวันนี้นั้นสิ่งที่ผมเคารพต่อการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นคือผมรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวได้โยนความกลัวต่างๆ ทิ้งไป” สมชาย กล่าว

ข้อเสนอจากการชุมนุมมีสิ่งต้องคิดต่อ เสนอ 3 หลักการต้านรัฐประหารกับรัฐที่ผูกขาดความรุนแรง

สมชาย กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง ยกตัวอย่าง จุดยืนที่ว่าไม่เอารัฐประหาร คำถามตามมาคือแล้วถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นนั้นจะรับมืออย่างไร ความล้มเหลวส่วนตัวที่ผ่านการมีรัฐประหารมาหลายครั้งนั้นมีทั้งไม่คาดคิดว่าจะเกิดรัฐประหาร และแม้คิดว่าจะเกิดรัฐประหารแต่ไม่ได้เตรียมการที่จะรับมือไว้ เห็นได้ว่าเราไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าจะเกิดรัฐประหารหรือไม่แต่อย่างน้อยต้องเตรียมการรับมือไว้ โดยถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นนั้นคงไม่เอาหนังสติ๊กไปไล่ยิงรถถังอีกแล้วเพราะอย่างไรก็แพ้ ที่สำคัญคือการต้านรัฐประหารนั้นต้องไม่เดินหน้าไปปะทะกับรถถัง เพราะถ้าใช้ความรุนแรงต้องไม่ลืมว่ารัฐเป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง รัฐมีความเชี่ยวชาญ ทักษะ อาวุธมากกว่า

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่าการรับมือกับการรัฐประหารแบบสันติวิธีนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าการใช้ความรุนแรงหนึ่งเท่าตัว มีการคำนวณว่าถ้าคุณสามารถดึงประชากรเพียงร้อยละ 3.5 ของประชากรทั้งหมดมาร่วมต้านรัฐประหารได้ คุณมีโอกาสชนะ (อ่านเพิ่มเติม: https://prachatai.com/journal/2020/08/89176) ดังนั้นขอเสนอว่าเราต้องหาวิธีรับมือกับการรัฐประหารโดยอยู่บนหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ 1) ไม่ใช้ความรุนแรง 2) ไม่ทำให้ผู้ต้านรัฐประหารหรือผู้คนต้องสุ่มเสี่ยง 3) ทุกคนสามารถใช้วิธีการนี้ได้ เช่น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีคนกลุ่มหนึ่งถอนเงินออกจากธนาคารที่รัฐเป็นเจ้าของ หรือเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร มีการกดดันให้ครู อาจารย์ออกมาแสดงตนว่าจะไม่รับใช้รัฐประหาร เป็นเต้น ซึ่งแน่นอนว่าเยาวชนรุ่นนี้มีความคิดกว้างขวางกว่าที่ผ่านมา  

‘หนึ่งความฝัน’ ที่ผันเปลี่ยนและถูกแช่แข็งในสังคมการเมืองไทยภายใต้การครอบงำของอำนาจนิยม

สมชาย กล่าวต่อว่า แม้การขึ้นปราศรัยของ ทนายอานนท์ นำภา ถึงบทบาทสถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย (อ่านเพิ่มเติม https://prachatai.com/journal/2020/08/88898) และ 10 ข้อเสนอ 10 สิงหาคม บนเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ผ่านมานั้นจะดูราวเป็นข้อเสนอที่แหลมคมและพุ่งออกมา หากอันที่จริงแล้วท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายเสรีประชาธิปไตยต่างแสดงความเห็น มีข้อเสนอและการถกเถียงกันเกี่ยวกับการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่นๆ มาโดยตลอดนับตั้งแต่เป็นมากกว่าทศววรรษที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, บวรศักดิ์ สุวรรณโน, ธงทอง จันทรางศุ, เกษียร เตชะพีระหรือคณะนิติราษฎร์ จึงอยากให้สังคมไทย รวมถึงฝ่ายที่รู้สึกว่ากำลังตระหนกตกใจกับข้อเสนอดังกล่าวว่านี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่ ที่ผ่านมานั้นมีการพูดถึงประเด็นนี้อยู่บ่อยครั้งทว่าเราอยู่ในสังคมการเมืองไทยภายใต้การครอบงำของอำนาจนิยม จึงทำให้ข้อเสนอนี้ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้

“ …ข้อเสนอต่างๆ ที่ว่ามีออกมาแต่ไม่ขยับ เพราะเราอยู่ในสังคมการเมืองที่ผมคิดว่ามีฝ่ายแสวงหาประโยชน์จากสถาบันกษัตริย์ หรือฝ่ายโหนเจ้าพยายามจะทำให้ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่านี่คือความฝันที่ถูกแช่แข็งมาโดยตลอด วันนี้อยากฉายให้เห็นว่าประเด็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาในสังคมไทยซึ่งดูเหมือนว่าการเห็นพ้องกันมีทั้งจังหวะการลงรอยและการแตกแยกออกจากกัน” สมชาย กล่าว

ข้อเสนอเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่สืบเนื่องมานับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475

สมชาย กล่าวย้ำว่า ข้อเสนอจากความเคลื่อนไหวของประชาชนในตอนนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่เป็นประเด็นที่สืบเนื่องมาโดยตลอดในสังคมไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเป็นหลักและยังคงสถาบันกษัตริย์เอาไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อยังคงสถาบันกษัตริย์เอาไว้ คำถามที่เกิดขึ้นคือจะจัดวางลงอย่างไร เรื่องนี้มีการถกเถียงตามมาจำนวนมาก แต่การจัดวางสถาบันกษัตริย์ไว้แบบนี้หรืออย่างที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 ธันวาคม  2475 หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คือการรอมชอมระหว่างคณะราษฎร์และฝ่ายนิยมเจ้าในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

โดยความรอมชอมไม่ได้หมายถึงเฉพาะฝ่ายผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น หากพระยามโนปกรณนิติธาดาซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ปรับเปลี่ยนให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายเรียบร้อยแล้วไปถวายให้รัชกาลที่ 7 นั้น รัชกาลที่ 7 มีความเห็นว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยเห็นพ้องกันทั้งฝ่ายนิยมเจ้าและคณะราษฎร รวมถึงพระมหากษัตริย์เองด้วย ซึ่งต่อไปนี้คือหลักการที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ได้แก่ 1) การที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน โดยเริ่มจากการใช้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรสู่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หมายความว่า ประชาชนเป็นแหล่งของความชอบธรรมของการเมืองการปกครอง 2) กษัตริย์อยู่ในสถานะ “เหนือการเมือง” ซึ่งมีการถกเถียงในช่วงร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำนี้ว่า “เหนือการเมือง” หมายถึง “พ้นไปจาก” หรือ “พ้นแล้วซึ่ง” โดยมาจากภาษาอังกฤษคำว่า “Out Of Politics” และ 3) หลักการ The King Can Do No Wrong มีหมายความว่า การกระทำใดๆ เกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำเองได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นผู้รับผิดทางการเมือง

สมชาย บรรยายต่อว่า สิ่งเหล่านี้คือหลักการที่ถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างน้อยในช่วง 15 ปีแรกของคณะราษฎร แต่หลังปี 2492 สืบมาได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นั่นคืออาการแยกแย้งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกิดเส้นทางที่แยกหรือที่แย้งกันเองเมื่อทหารกลับมามีบทบาททางการเมืองพร้อมกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่กลับมาผลักดันอุดมการณ์กษัตริย์นิยมพร้อมกันไปด้วย หลายคนมักเปรียบเทียบว่ายุคสมัยนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คล้ายกับยุคสมัยช่วง 2490 ที่มีความพลิกผันทางการเมืองและการฟื้นฟูแนวคิดกษัตริย์นิยมในสังคมการเมืองไทย การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์จึงมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญและเปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น จนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดข้อถกเถียงใหญ่เกิดขึ้น 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่

1) ที่มาของอำนาจอธิปไตย“เป็นของ”หรือ“มาจาก”ปวงชนชาวไทย นี่เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันทุกครั้งหลังร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 เป็นต้นมา คือถ้ายืนยันว่าอำนาจอธิปไตย“เป็นของ”ปวงชนชาวไทยนั้นหมายความว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้โดยตนเอง แต่ถ้า“มาจาก”หมายความว่าอำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชนแต่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้ผ่านรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อถกเถียงใหญ่หนึ่งนี้ดูเหมือนจะเบาบางลงในรัฐธรรมนูญ ปี 2560

2) สถานะ“เหนือการเมือง”นั้นมีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยหรือไม่ กิจการใดบ้างที่ถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ เรื่องไหนเป็นเรื่องของราชการแผ่นดิน

3) ขอบเขตของคำว่า“อันล่วงละเมิดมิได้” หมายถึงเฉพาะการกระทำทางการเมือง หรือรวมถึงเรื่องส่วนพระองค์ด้วย ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการมีบทบาทของมาตรา 112 มากขึ้นในเวลาต่อมาทำให้เรื่องนี้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก

4) ประเด็นอื่นๆ ที่สะท้อนการขยายอำนาจ ได้แก่ การกำหนดผู้สืบราชสมบัติ การวีโต้กฎหมาย หรือฐานะองคมนตรี ข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้ในรัฐธรรมนูญมีความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การกำหนดการสืบราชสมบัติหรือหมายถึงผู้ที่จะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปนั้น ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญ ปี 2534 ภายหลังที่เป็นไปตามกฎมณเทียรบาลแล้วจะต้องส่งพระนามให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่หลังรัฐธรรมนูญ ปี 2534 หรือการเปลี่ยนแปลงแบบยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมีหัวหน้าคือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พ่อของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เปลี่ยนไปจากเดิมโดยเปลี่ยนเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบแทน

โดย 4 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นว่า ‘หนึ่งความฝัน’ ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่เรากำลังพูดถึงกันในทุกวันนี้มันไม่ได้หยุดนิ่งแต่มีความเปลี่ยนแปลงมานับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 สรุปให้กระชับคือเราเห็นความเปลี่ยนแปลงในระนาบที่ยาวจะเป็นภาพการเปลี่ยนแปลงจาก “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” สู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ได้อย่างชัดเจน  

การเคลื่อนไหวทั้งหมดยังจัดเป็น ‘รอยัลลิสต์’

สมชาย กล่าวต่อด้วยว่า ถึงเวลานี้แล้วท่ามกลางความเคลื่อนไหวของประชาชนที่เห็นอยู่ทำให้มีความกังวลพอสมควรที่มีคนพยายามจะพูดถึงการชุมนุมว่าเป็นความพยายามจะล้มเจ้า เพราะเท่าที่ทราบและฟังการเคลื่อนไหวของ ทนายอานนท์ นำพา และเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน นั้นข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้จัดเป็น ‘รอยัลลิสต์’ เพราะทั้งหมดยืนยันถึงความต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ตายอย่างไรก็ตามยังไม่เคยได้ยินคำว่าสาธารณรัฐเลย

“ …คือถ้าถามผม ทั้งหมดที่เคลื่อนไหวกันนั้นอยู่ภายใต้กรอบของเป็นรอยัลลิสต์ เพียงเป็นรอยัลลิสต์แบบเสรีประชาธิปไตย คือหมายความว่าเป็นรอยัลลิสต์ที่ต้องการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายในกรอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย มีการตรวจสอบ การควบคุม กำกับ อย่างที่นานาอารยประเทศซึ่งยึดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นกัน” สมชาย กล่าว

หลักการที่ต้องยอมรับร่วมและทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สมชาย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทั้งหมดฉายภาพคนที่ยืนยันในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งต่อไปนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้รับฟังการอภิปราย และหลักการที่ต้องทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ 1) หลักการ The King Can Do No Wrong 2) เมื่อพูดถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดขึ้นพยายามจะพิจารณาประเด็นนี้ในเชิงสถาบันไม่ใช่ตัวบุคคล หมายถึงการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างที่เป็นทางการ แม้สถาบันกับตัวบุคคลจะมีความเชื่อมโยงกันอยู่บ้างแต่ข้อเสนอส่วนใหญ่มุ่งไปในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ที่เป็นสถาบัน 3) คนที่พยายามเคลื่อนไหวและผลักดันประเด็นเหล่านี้พวกเขาเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวตามระบบที่มีอยู่ การเปลี่ยนแปลงตามระบบที่มีอยู่แม้รู้ทั้งรู้ว่ามันยากมาก รู้ทั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความยากเป็นพิเศษ แต่คนที่พยายามผลักดันสิ่งเหล่านี้ก็ยังยืนยันที่จะผลักดันตามระบบที่พวกเขารู้ว่ามันยุ่งยากแค่ไหนก็ตาม จึงไม่มีทางที่จะกลายเป็นการกระด้างกระเดื่อง หรือกลายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ตามที่ตำรวจมาแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 กัน

“ …ผมไม่เข้าใจว่าเป็นการยุยงปลุกปั่นได้อย่างไร พวกเขาชุมนุมกันเสร็จก็กลับบ้านไปทำงานกันตามปกติ ก่อนกลับยังเก็บขยะอีกด้วย อย่างน้อยผมคิดว่าที่นี่คือจุดยืนอย่างกว้างขวางที่สุดไม่ใช่เพียงเฉพาะผมและกลุ่มที่เคลื่อนไหว ยังรวมถึงกลุ่มที่เป็นฝ่ายรอยัลลิสต์ด้วย เหล่านี้ไม่อาจปฏิเสธได้และอยากยืนยันว่าสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวที่มีใครอยู่เบื้องหลัง ผมคิดว่านี่คือเสียงรียกร้องของยุคสมัยของกลุ่มคนที่เป็นเยาวชน นักศึกษา หรือกระทั่งกลุ่มคนอื่นๆ ด้วยก็ตามที่ได้อยู่ร่วมกันเป็นประจักษ์พยานถึงปัญหาต่างๆ ที่มันทับถมในสังคมนี้มาอย่างยาวนาน สิ่งที่ถูกเสนอขึ้นมา สิ่งที่ผลักดัน รวมถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้น ผมคิดว่านี่คือข้อเรียกร้องของคนในยุคสมัยนี้และหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้” สมชาย กล่าว

ความไม่สอดคล้องกับยุคสมัยของสถาบันพระมหากษัตริย์

ปิยบุตร เริ่มต้นบรรยายว่าเมื่อพูดถึง ‘หนึ่งความฝัน’ ที่ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องพูดถึงระบบที่ชื่อ Constitutional Monarchy โดยตามธรรมชาติของ Monarchy คือ คนหนึ่งคนถืออำนาจสูงสุดไว้ทั้งหมด ดังนั้นหากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้วลักษณะของ Monarchy ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยและล้าสมัยไปแล้วในศตวรรษนี้ แต่ยังมีหลายประเทศที่ยังรักษา Monarchy หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของความล้าสมัยและความไม่สอดคล้องกับยุคสมัยของ Monarchy นั้น มีดังนี้ 1) อำนาจสูงสุดรวมไว้ที่คนเพียงหนึ่งคน 2) คนคนนั้นสืบทอดอำนาจของตนเองด้วยสายเลือด คือถ้าเป็นเรื่องเอกชน/ส่วนตัวนั้นคุณจะทำมาหาได้เป็นหมื่นแสนล้านแล้วทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมดให้ลูกของตนเองก็ไม่มีใครว่าเพราะนั่นคือน้ำพักน้ำแรงของคุณ แต่เมื่อเป็นเรื่องส่วนรวมแล้วการเอาอำนาจ เอาทรัพยากรทั้งหลายส่งต่อให้ลูกของคุณผ่านสายโลหิตมันไม่มีทางสอดคล้องกับยุคสมัยได้เลย 3) ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างเรื่องสาธารณะ/ส่วนรวมกับเอกชน/ส่วนตัวออกจากกันอย่างชัดเจน จึงมีความคลุมเครือและอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน โดย 3 ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้ Monarchy ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันขณะเดียวกันกลับตรงกันข้ามกับ Democracy ที่มีรากศัพท์จาก “Demos” กับ “Kratos” คือ อำนาจเป็นของทุกๆ คน ดังนั้นหลักการพื้นฐานแล้วคนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจร่วมกันในชื่อของประชาชนและมีการเลือกรัฐบาลหรือเลือกผู้แทนของตนเองที่ไม่ได้มาจาการสืบทอดทางสายโลหิตแต่มาจากการเลือกของประชาชนโดยประชาชนเป็นคนเลือกว่าใครจะเป็นผู้ปกครองของพวกเขา สุดท้ายมีการแบ่งแยกพรมแดนอย่างชัดเจนระหว่างแดนในสาธารณะ/ส่วนร่วมกับแดนของเอกชน/ส่วนตัว ทำให้ Democracy สอดคล้องกับยุคสมัยขณะที่ Monarchy ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย

สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

ปิยบุตร กล่าวว่า ถ้ายังต้องการรักษา Monarchy ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยให้อยู่กับยุคสมัยในปัจจุบันไว้นั้นเหลือเพียงหนทางเดียวคือ Monarchy จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับ Democracy คือสถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย จึงเป็นที่มาของการกำเนิดขึ้นของ Constitutional Monarchy ที่ทั่วโลกใช้กันรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยกว่าจะเดินทางมาจนได้องค์ประกอบของ Constitutional Monarchy นั้นผ่านการต่อสู้มามากมาย เป็นการต่อสู้ระหว่างหน่วยอำนาจเดิมคือพระมหากษัตริย์กับหน่วยอำนาจใหม่คือประชาชนซึ่งแสดงออกผ่านทางรัฐสภา

“ …ดังนั้นถ้าดูประวัติศาสตร์การกำเนิดของ Constitutional Monarchy ทั่วโลกคือการต่อสู้กันของสภากับสถาบันกษัตริย์ แรกเริ่มเดิมทีคือการดึงอำนาจการตรากฎหมาย การเก็บภาษี การอนุมัติรายจ่ายแผ่นดินมาไว้ที่สภาได้ ส่วนพระมหากษัตริย์ยังคุมฝ่ายบริหารอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพระมหากษัตริย์กลายเป็นเพียง ‘Head of State’ อำนาจฝ่ายบริหารจะมาจากการเห็นชอบของสภาแทน ดังนั้นเมื่อพูดถึง Constitutional Monarchy สิ่งที่ต้องพูดถึงควบคู่ด้วยคือการเกิดขึ้นของรัฐสภา” ปิยบุตร ขยายความ

ปิยบุตร อธิบายว่า บางช่วงสถาบันกษัตริย์ขึ้นมามีอำนาจมาก บางช่วงสภาขึ้นมามีอำนาจมาก ทั้งหมดใช้เวลาการต่อสู้กันอยู่หลายปี ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ กรณีของอังกฤษนั้นเห็นได้ชัดว่ามีช่วงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่แต่ปัจจุบันเป็นที่ยุติเรียบร้อยแล้วว่า Constitutional Monarchy ต้องมีลักษณะแบบไหน ส่วนหลายประเทศที่กลายเป็นสาธารณรัฐได้นั้นเกิดจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์คือการสู้กันระหว่างหน่วยอำนาจเก่าคือสถาบันกษัตริย์กับหน่วยอำนาจใหม่คือผู้แทนราษฎรและประชาชน หากสู้ไปแล้วพระมหากษัตริย์ปรับตัวจะกลายเป็น Constitutional Monarchy แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ปรับตัวและหน่วยอำนาจใหม่คือพลังประชาชนกับรัฐสภาในฝ่ายประชาธิปไตยชนะแต่พระมหากษัตริย์ไม่ยอมก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ เหล่านี้คือเหตุทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ฉะนั้นถ้าไปดู Constitutional Monarchy ทั่วโลกมีเหลืออยู่ประมาณ 20 กว่าประเทศนั้นจะพบว่าสถาบันกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจของตนเองลงให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการยอมลดทอนอำนาจตนเองลงเพื่อให้ตนเองสอดคล้องกับประชาธิปไตย ทั้งหมดก็เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้

เมื่อพิจารณาในประเทศไทยแล้วพบว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวครั้งแรกคืออภิวัฒน์สยาม 2475 ซึ่งเป็นความตั้งใจของคณะราษฎรที่ต้องการเปลี่ยนการปกครองจาก Absolute Monarchy (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) ให้เป็น Constitutional Monarchy (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ปัญหาที่ตามมาก็คือ Constitutional Monarchy ที่ถูกพัฒนามาจากโลกตะวันตกเมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยย่อมมีการเลื่อนไหลเป็นปกติ และเมื่อเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ นั้นหน่วยอำนาจเดิมกับหน่วยอำนาจใหม่ขัดแย้งกันกลับมองเห็นระบอบของตนเองไม่ตรงกัน จากที่ รศ.สมชาย ได้พูดไปแล้วว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 คือการรอมชอมกันระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งการประนีประนอมในที่นี้คือการเขียนรัฐธรรมนูญแล้วนำไปให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ดูแล้วทรงเป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงมีการประกาศใช้ในที่สุด ดังนั้นจึงผ่านการตกลงร่วมกันมาแล้วแต่แม้ตกลงร่วมกันมาระดับหนึ่งหากเมื่อนำรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ไปใช้จริง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือตัวบทเดียวกันแต่จินตนาการของหน่วยอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ตรงกัน กล่าวคือในหลวงรัชกาลที่ 7 กับฝ่ายคณะราษฎรและรัฐสภามองคนละแบบ โดยเฉพาะอำนาจในการแต่งตั้งที่ต้องมีปรมาภิไธยนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 มองว่าเมื่อเป็นลายเซ็นของพระองค์เองตนเองต้องมีสิทธิ์เลือกด้วย ขณะเดียวกันรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมองว่าไม่ได้ เพราะขัดกับหลักการ The King Can Do No Wrong จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในปี 2477 หลังจากนั้นหน่วยอำนาจทั้งสองฝ่ายก็ยักย้ายและถ่ายเทมาตลอด บางช่วงสภากลับมามีอำนาจมากกว่าสถาบันกษัตริย์แต่บางสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีอำนาจมากกว่าและมากขึ้นจนในปี 2492  เกิดศัพท์ที่ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

“อันมี…” ปรากฏการณ์ล้นเกินหลังรัฐประหาร ปี 2492 และการผลิตซ้ำถ้อยคำหลังรัฐประหาร ปี 2549

จากเดิมประเทศไทยไม่เคยประกาศว่ามีระบอบการปกครองแบบใด กระทั่งเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2492 นั้นมีการประกาศว่าประเทศไทยจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงมีคนตั้งคำถามว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมีพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งมีฝ่ายที่บอกว่าจำเป็นต้องระบุลงไปให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ คือเขียนคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ต่อท้ายระบอบประชาธิปไตยลงไปในรัฐธรรมนูญ โดยนักร่างรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นบางท่าน เช่น อาจารย์หยุด แสงอุทัย ยืนยันเลยว่าการเขียนรัฐธรรมนูญในประเทศไทยกี่ครั้งย่อมต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ท่านใช้คำต้องมีพระมหากษัตริย์ชั่วกัลปาวสาน กล่าวคือคุณร่างรัฐธรรมนูญไปเถอะอย่างไรก็ตามยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นจึงมีคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มาต่อท้ายคำว่าระบอบประชาธิปไตยในปี 2492 แต่คำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นี้กลายมามีนัยสำคัญมากขึ้นและกลายเป็นคำเดียวกันในปี 2534 กล่าวคือมีคำว่า “อันมี” เข้ามากลายเป็นคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และหลังจากนั้นเป็นต้นมาโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร ปี 2549 ใจความนี้ถูกผลิตซ้ำมากขึ้นทุกวันจนกลายเป็นว่าคุณพูดคำว่าระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ อาจจะไม่เพียงพอแล้ว คุณต้องพูดว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่อย่างนั้นกลายเป็นคุณกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ

“ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือตอนทำข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่นั้นผมไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งเลย ผมคิดเพียงรัฐธรรมนูญของประเทศไทยบอกอยู่แล้วว่าเราเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประเทศไทยยืนยันชัดเจนแล้วว่าเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ อย่างไรก็ตามต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแน่ๆ จึงเขียนข้อบังคับพรรคอนาคตใหม่ไปว่ายึดระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ แต่ทุกท่านทราบไหมครับว่าเป็นปัญหาใหญ่มากจนมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญนะครับ บอกว่านี่คือการล้มล้างการปกครอง แม้ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ได้ล้มล้างแต่ให้ข้อสังเกตว่าให้กกต. ไปบอกพรรคอนาคตใหม่ว่าให้แก้ไขข้อบังคับพรรคเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่นี้ก็จะแก้ตามเขาสั่งนี่ล่ะครับ แต่ไม่ได้แก้เพราะพรรคถูกยุบก่อน” ปิยบุตร กล่าว

พระมหากษัตริย์แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า การไม่พูดถึงประเด็นข้างต้นแสดงว่าคิดแล้วว่าไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ เพราะอย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายโลหิต มันจึงชัดเจนอยู่ในตัวของมันเองมาตั้งนานแล้วโดยไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำ ตรงกันข้ามกับคนที่เน้นย้ำทุกวัน นั่นแสดงว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ในใจหรือเปล่า คือคุณกังวลอะไรบางอย่างขึ้นสมองใช่ไหมถึงได้พูดทุกวัน ย้ำทุกวัน มันสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญในตอนนี้ด้วย กรณีเรื่องหมวด 1, หมวด 2 อันที่จริงได้มีการแก้ไขกันมาตลอด รอบสุดท้ายที่แก้ไขคือในรัฐธรรมนูญปี 2560 และต่อให้แก้ไขอย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถเปลี่ยนระบอบการปกครองได้ ประเทศไทยยังต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มันถูกล็อคเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพอไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้ คนที่คิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเลยกลับกลายเป็นคนมีปัญหา ผมถึงถามว่าใครกันแน่ที่ล้นเกิน กลายเป็นเรื่องตลกที่มองว่าใครไม่ล็อคว่าห้ามแก้หมวด 1, หมวด 2 แสดงว่าคนนั้นจะแก้ แล้วถ้าวันหนึ่งมีความจำเป็นต้องแก้ไขขึ้นมาจริงๆ เราจะทำอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมานี้มีพระราชกระแสรับสั่งจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 (อ่านเพิ่มเติม: https://prachatai.com/journal/2017/01/69572) ถามว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกแล้วคุณล็อคไว้ว่าห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1, หมวด 2 นั้นจะต้องทำอย่างไร

กลายเป็นว่าอันตรายที่สุดคือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติโดยฝีมือของมีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุไว้ว่าหมวด 1, หมวด 2 จะแก้ไขได้นั้นต้องทำประชามิติ ซึ่งที่ผ่านมานั้นเมื่อมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศไทยจะมีการเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์เพื่อถามความคิดเห็น รับคำวินิจฉัย พระราชกระแสต่างๆ โดยเห็นชัดว่ารัฐธรรมนูญปี 2517 นั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบหนึ่งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เห็นด้วยเรื่องผู้รับสนองราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าทำเช่นนี้จะเป็นการเอาพระมหากษัตริย์ไปข้องเกี่ยวกับทางการเมือง ซึ่งมันถูกประกาศใช้ไปเรียบร้อยแล้วแก้ไขไม่ได้ หากหลังจากนั้นประมาณ 3 วันเท่านั้นสภาเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

แต่ต่อมาในปี 2560 นั้นพิศดารพันลึกกว่าเดิมเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านประชามติไปแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ ตามตัวบทของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2557 บอกไว้กระบวนการทำรัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้นพระมหากษัตริย์มีอำนาจคือลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ ซึ่งเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไขบางหมวดในรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร ครั้นจะทำเหมือนพระราชบิดาคือลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้และถึงเวลาก็กลับมาแก้ใหม่ก็น่าจะทำได้ แต่ปัญหาคือรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้ว่าหมวด 2 ที่จะแก้ไขนั้นต้องทำประชามติและเป็นสภาพการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งถ้ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 จนต้องไประชามิติแล้วผลของประชามิติออกมานั้นปรากฎว่าประชาชนเห็นตรงกันข้ามกับพระราชกระแสรับสั่งอะไรจะเกิดขึ้น

“ …บางทีผมก็อึดอัดคาใจว่าคนที่ด่าผมว่าไม่จงรักภักดีนั้นเพราะอะไร ทั้งที่ผมพยายามหาวิธีการที่ไม่เกิดการปะทะขัดแย้งกันมาโดยตลอด การเขียนรัฐธรรมนูญที่ล็อคเอาไว้ว่าหมวด 1, หมวด 2  แก้ไขไม่ได้ต่างหากที่จะนำไปสู่ทางตัน เพราะถ้าเกิดมีความจำเป็นต้องแก้ไขขึ้นมาจริงๆ คุณจะทำอย่างไร กลายเป็นว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญมีวิธีคิดแบบล้นเกิน คุณล้นเกินตั้งแต่คำว่า “อันมีฯ” ใครไม่พูด “อันมีฯ” แสดงว่าคิดอะไรอยู่ ใครไม่พูดคำว่า “อันมีฯ” เป็นเรื่อง ใครไม่พูด “อันมีฯ” เท่ากับล้มล้าง คุณเขียนว่าไม่แก้ไขหมวด 1, หมวด 2 กลับเท่ากับว่าคุณจะแก้มันเอง ล้นเกินคือคุณคิดจะป้องกันตัวเองจนกลัวไปหมด ทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง” ปิยบุตร กล่าว

สถาบันทางการเมืองพูดถึงพระมหากษัตริย์ได้ยากทั้งที่เคยถือเป็นปกติและทั้งนี้มีความจำเป็นต้องพูดอย่างมาก

ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า เมื่อคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขถูกผลิตซ้ำมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นคำที่ต้องใช้ตลอดเวลาแล้วปัญหาคือคำๆ นี้หมายความว่าอะไร เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์พบว่ารัฐธรรมนูญไทยมีการถกเถียงเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดและถือเป็นปกติ เพิ่ง 20 ปีหลังที่ไม่สามารถพูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้เลยในสถาบันทางการเมือง ทั้งที่เมื่อก่อนมีการพูดถึงเป็นประจำและคนที่พูดถึงถือเป็นรอยัลลิสต์อีกด้วยทั้งเจ้าพระยา ขุนนางระดับสูงร่วมอภิปรายกัน เนื่องจากเป็นประเด็นที่ต้องพูด รวมถึงต้องถกเถียงกันเสียด้วยซ้ำเมื่อต้องจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ในรัฐธรรมนูญแล้วนั้นวิธีดูว่ารัฐเป็นรัฐแบบไหนคือส่วนรูปแบบของรัฐและรูปแบบของการปกครอง โดยประเทศไทยมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสืบทอดทางสายโลหิตไม่ใช่สาธารณรัฐที่มีสามัญชนเป็นประมุขของรัฐผ่านการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันมีรูปแบบการปกครองเป็นระบอบไม่ใช่ระบอบเผด็จการซึ่งในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ไม่รู้ ดังนั้นพอมีรูปแบบของรัฐและรูปแบบการปกครองเป็นเช่นนี้และระบุลงไปในรัฐธรรมนูญนั้นต้องพิจารณาให้ชัดว่ามาตรา 1 ยืนยันไปแล้วว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร ต่อให้เปิดพจนานุกรมเป็นร้อยพันเล่ม คำว่าราชอาณาจักรก็ไม่มีทางมีประธานาธิบดีได้ คำว่าราชอาณาจักรมันล็อคในตัวมันเองแล้วว่าต้องมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบทอดทางสายโลหิต พอมาตรา 2 พูดถึงระบอบการปกครองแล้วมีคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เข้าไป ถ้อยคำคือคำที่เป็นคำนามและเป็นคำหลักคือประชาธิปไตย ส่วนคำขยายคือ “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็คือประเทศไทยปกครองแบบประชาธิปไตยและพระมหากษัตริย์เป็นประมุขรัฐแค่นั้นก็จบแล้ว ทว่าทุกวันนี้พูดกันราวกับว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่ Constitutional Monarchy ทั่วโลกเป็นกันแต่จะเป็นแบบไหนนั้นไม่รู้

“…ถ้าถามผม ผมก็จะอธิบายให้สอดคล้องกับ Constitutional Monarchy ทั่วโลก ตรงไหนไม่สอดคล้องก็ต้องปรับแต่ถ้าไปถามปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้นกลับไม่เคยนิยามให้เห็นเลยว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคืออะไร ซึ่งเราจะได้ทราบบ้างว่าในจินตนาการของคุณเป็นแบบนี้ จินตนาการของฝ่ายเราเป็นแบบนี้ แล้วตรงไหนจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่ควร ปัญหาอยู่ที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลีกเลี่ยงไม่พูดเลยแล้วใช้เทคนิคทำให้มันคลุมเครือ และถือว่าเข้าใจตรงกัน จนกลายเป็นว่าใครพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไม่ได้เท่ากับล้มล้างทันที” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร บรรยายต่อว่า จากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายว่าพบปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งแต่ก่อน 2475 จนถึงปัจจุบันชอบใช้วิธีคลุมเครือ เพราะถ้ายืนยันว่าตรงไหนที่เป็นพระราชอำนาจผ่านลายลักษณ์อักษรแล้วนั้นจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ตลอดเวลาเพียงชั่วข้ามคืน แต่ถ้าคลุมเครือผ่านประเพณี ความคิด ความเชื่อ การจะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขนั้นต้องใช้เวลา ดังนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงชอบจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแต่ไม่ชอบลายลักษณ์อักษร

การจะธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ต้องสร้าง Constitutional Monarchy และ Parliamentary Monarchy ให้ได้

ปิยบุตร อธิบายว่า ถ้าการจะธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ต่อไปในโลกสมัยใหม่ต้องสร้าง Constitutional Monarchy และ Parliamentary Monarchy ซึ่งในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปี 2563 มีการเปลี่ยนแปลงตัวบทและกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญอยู่ 4 ครั้ง ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารถึง 3 ครั้ง

1) จากรัฐธรรมนูญ 24 มิถุนายน 2475 ไปสู่รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ได้เปลี่ยนอย่างชัดเจนโดยเอาถ้อยคำที่บอกว่า “องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เขียนเข้ามาจากที่ก่อนหน้านั้นไม่มี มีการเปลี่ยนเรื่องการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จากระบุว่าต้องให้มีรัฐมนตรี “ลงนามกำกับ” ถ้าไม่มีเป็นโมฆะ มาเป็นจะต้องมีรัฐมนตรี “รับสนอง” แต่ไม่ได้กำหนดผลในกรณีไม่มีการรับสนอง

2) จากรัฐธรรมนูญปี 2489 มาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2490-2492 เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่รื้อฟื้นพระราชอำนาจกลับมาหลังจากฝ่ายกองทัพและฝ่ายกษัตริย์นิยมกลับมามีอำนาจ ปิดฉากคณะราษฎร เปลี่ยนเอาสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่สมัยสมสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาใหม่ เช่น อภิรัฐมนตรีที่ต่อมากลายเป็นองคมนตรีมาไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และการห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้

3) การเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ 2534 เปลี่ยนเรื่องของการขึ้นครองราชย์ จากเดิมเสนอชื่อตามกฎมณเฑียรบาลให้สภาเห็นชอบมาเป็นการรับทราบเท่านั้น เช่นตอนรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์มีการอภิปรายในสภาและมีการลงมติ แต่สมัยรัชกาลที่ 10 ไม่มีการอภิปรายกันในสภา มีเพียงการเอาชื่อมาบอกแล้วรับทราบเท่านั้น และการแก้ไขกฎมณเทียรบาลจากเดิมต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเหลือเพียงให้รัฐสภารับทราบ

4) การเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญปี 2560 จากเดิมเรายึดหลักการว่าถ้ากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ตั้งก็ให้ประธานองคมนตรีมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2560 เกิดขึ้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา ให้มีการแก้ไขว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ในมาตรา 16

6 ปมปัญหายังไม่สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy

ปิยบุตร บรรยายด้วยว่าเมื่อพิจารณากฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเรื่องใดบ้างที่อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy รวบรวมมาเห็นว่ามี 6 ประการด้วยกัน ดังนี้

1) อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ก็คืออำนาจในการเขียนและกำหนดรัฐธรรมนูญ อำนาจก่อตั้งระบอบการปกครอง ในยุคประชาธิปไตยเรายืนยันว่าอำนาจต้องเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับนี้ เรื่องนี้เป็นปัญหาคลุมเครือมาโดยตลอด ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมาก็เคยวินิจฉัยลงไปอย่างชัดเจนว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ ประกอบกับพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ร่างรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผ่านประชามติมาแล้ว ทั้งหมดนี้เสมือนยืนยันไปแล้วว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทยเป็นของพระมหากษัตริย์

2) ความคลุมเครือในการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (The Crown) กับส่วนพระองค์ (The Person) โดยเฉพาะเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปี 2560-2561 ต่อเนื่องกัน ทำให้การแบ่งทรัพย์สินระหว่างส่วนพระมหากษัตริย์กับส่วนพระองค์คลุมเครือปนกัน ที่ผ่านมามีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกัน แต่กฎหมายใหม่ปี 2561 รวมเอาทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เอามาไว้ด้วยกัน ในชื่อของ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” โดยปกติแล้ว รัฐสมัยใหม่ต้องยึดหลักการในการแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน และยังมีการแก้ไขส่วนสำคัญอีก คือในมาตรา 5 การหมดสถานะความเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ต้องได้รับพระบรมราชานุญาติจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น และยังมีการเปลี่ยนในมาตรา 7 ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์

3) เรื่องของผู้สำเร็จราชการในพระองค์ สุภาษิตกฎหมายมีการกล่าวว่าราชบัลลังก์ไม่ใช่เก้าอี้ที่ว่างเปล่าได้ นั่นหมายความว่าตำแหน่งประมุขของรัฐเป็นหมุดที่ประกันความต่อเนื่องของรัฐ ตำแหน่งประมุขของรัฐคือภาพแทนของรัฐหนึ่งๆ มีความสำคัญในทางสัญลักษณ์เช่นนี้ รัฐจะขาดประมุขของรัฐไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเขียนบทบัญญัติว่าในกฎหมายไว้ว่าถ้าประมุขของรัฐถ้าไม่ประทับอยู่ในประเทศต้องมีคนมารักษาการแทนซึ่งประเทศไทยก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก้กฎเกณฑ์เรื่องนี้ไปเสีย ในมาตรา 16 ในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้

4) มีความคลุมเครือในเรื่องสถานะของหน่วยงาน ตามปกติแล้วองค์กรของรัฐองค์กรใดก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการใช้งบประมาณแผ่นดิน เราจะเรียกกันรวมๆว่าหน่วยงานของรัฐ แต่ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ปี 2560 ที่มีการแก้ไข ได้กำหนดไว้ว่าส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่เอกชนด้วย เพราะคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้ จึงกลายเป็นองค์กรที่ยังจัดประเภทสถานะให้ไม่ได้

5) หลักการ The King Can Do No Wrong ที่ต้องให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการรับผิดชอบในทางการเมือง พระมหากษัตริย์ต้องไม่ทรงกระทำอะไรด้วยพระองค์เอง เป็นอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น เพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดทางการเมือง แต่กฎหมายหลายฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจโดยแท้ในเรื่องสาธารณะหลายประการ แต่ทว่าความคุ้มกันนี้ก็ยังคงอยู่

6) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หลายๆ ประเทศมีอยู่แต่ไม่ใช้ บางประเทศอัตราโทษต่ำมาก บางประเทศก็ไม่มีแล้ว ส่วนประเทศไทยที่มีการเพิ่มโทษในปี 2519 ให้โทษสูงขึ้นเป็น 3-15 ปี และกำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้เป็นการจำคุก 3 ปี ซึ่งเป็นโทษที่สูงยิ่งกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก ที่สำคัญคือการเอามาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ และให้บุคคลใดร้องทุกข์กล่าวโทษได้ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาการตีความของศาลได้เกินตัวบทกฎหมายไปมากแล้วด้วย เช่น ครอบคลุมไปถึงพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ หรืออย่างคดีล่าสุดขยายความรัชทายาทให้รวมถึงสมเด็จพระเทพฯ ด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตรได้สรุปถึงประเด็นข้อเสนอที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยระบุว่า 1) การอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติ และเมื่อต้องพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ระบอบการปกครอง เป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องพูดถึงเรื่องของสถาบันกษัตริย์ด้วย ก็เพื่อจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เป็นวิธีการเดียวที่หลงเหลืออยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้ได้ 2) คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 2475 เคลื่อนไหวไปตามบริบท 3) พระราชอำนาจคือสิ่งที่เพิ่มขึ้นได้ลดลงได้ตามแต่ยุคสมัย ตามตัวบทในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และปัจจัยบังคับที่ไม่ใช่กฎหมาย สภาพการณ์ในความเป็นจริงของยุคสมัย เช่น รัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ที่มีถ้อยคำเหมือนมาตรา 6 ว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่ไม่มีเหตุปัจจัยอื่นมาบังคับ ให้คนนอร์เวย์ห้ามวิจารณ์กษัตริย์ ในขณะที่ประเทศไทยมีมาตรา 112 และก็อธิบายว่านี่คือบทขยายความให้การเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้เกิดขึ้นได้จริง หรือมีตัวบทยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 พระมหากษัตริย์ทำได้ แต่ก็มีเหตุปัจจัยบังคับกดดันให้ ส.ส. จำนวนมากไม่คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 ทั้งที่แก้ได้ การเพิ่มขึ้นของพระราชอำนาจจึงเกิดขึ้นจากสองปัจจัยพร้อมกัน ทั้งปัจจัยในตัวบทกฎหมาย และปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย และ 4) นี่คือช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ช่วงชิงกันในทุกมิติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย มันมีทั้งการต่อสู้ในเรื่องความคิดอุดมการณ์ และการต่อสู้กันในเรื่องของอำนาจรัฐด้วย มันเป็นช่วงยามที่กำลังจะขยับกันว่าตัวบทจะอยู่ตรงไหน เหตุปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทจะอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะออกแบบให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสอดคล้องกับประชาธิปไตย ธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net