Skip to main content
sharethis

'สุทิน' ส.ส.เพื่อไทย เสนอ ปชช. ยื่นร่างแก้ไข รธน. 'ก้าวไกล' จ่อเสนอร่างแก้ไข รธน. 5 มาตรา ปิดสวิตช์ ส.ว.-ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-เปิดทาง สสร.จากการเลือกตั้ง ด้าน ส.ว.บางส่วนเห็นด้วยให้แก้ รธน. ยอมไม่โหวตนายกฯ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ให้ยกเลิก ส.ว.ชุดนี้เลยคงไม่ได้

'สุทิน' เสนอ ปชช. ยื่นร่างแก้ไข รธน. 'เพื่อไทย' พร้อมสนับสนุน

29 ก.ค. 2563 วันนี้ ที่รัฐสภา สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในฐานะที่ตนเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยได้มีการพูดคุยเบื้องต้นกับกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยว่า ในการประชุม กมธ. ในวันที่ 31 ก.ค. 63 จะหยิบยกเรื่องการกระชับเวลาในการศึกษามาหารือ เพราะเห็นว่าสามารถทำได้อยู่แล้ว เพื่อที่จะไม่ต้องทอดเวลาออกไป ส่วนเรื่องเนื้อหาจะต้องให้ที่ประชุม กมธ. สรุปในเบื้องต้นว่า ที่ศึกษากันมานั้นเห็นควรจะต้องแก้อย่างไร ประเด็นไหน เพื่อให้สังคมได้เห็นชัดเจนขึ้น เพราะที่ผ่านมา เพียงแค่ศึกษา แต่ยังไม่ได้สรุป ดังนั้น ที่ประชุม กมธ. ในวันที่ 31 ก.ค. 63 จะต้องรีบสรุป เพราะตั้งใจกันว่าอยากให้กระบวนการทุกอย่างจบ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องเสนอเข้าสภาฯ ภายในเดือน ส.ค.นี้ ดังนั้น ขั้นตอนการศึกษาควรจะเสร็จอย่างช้าวันที่ 10 ส.ค. 63 จากนั้นก็นำเรื่องเข้าสู่สภาฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอได้ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ 

“นี่คือความตั้งใจของพรรคเพื่อไทย และจะมีการประชุมร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เช้าวันศุกร์ (31 ก.ค.63) ก่อนจะมีการประชุม กมธ. อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีความตั้งใจอย่างนี้ แต่เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญชัดเจน และทันต่อความประสงค์ของสังคม ผมขอแนะนำว่า อยากให้ภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นนิสิต นักศึกษา ประชาชน หรือองค์กรต่างๆ ให้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องรอ กมธ. ก็ได้ เนื่องจาก กมธ.เป็นการศึกษาของสภาฯ ส่วนหนึ่ง ซึ่งประชาชนสามารถยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เหมือนกัน และผมทราบว่ามีประชาชนร่างไว้นานแล้ว ฉะนั้นสามารถยื่นก่อนที่ กมธ. จะสรุปได้เลย เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้กรรมาธิการ และรัฐบาล เร่งทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาประกบ เพื่อจะได้เร็วขึ้น และพรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุนร่างของประชาชน เมื่อเข้าสู่สภาฯ เราจะได้มีร่างที่หลากหลายว่าจะแก้กันอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าจะเป็นแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุด” สุทิน กล่าว

เมื่อถามว่า มีสัญญาณจากวุฒิสภา (ส.ว.) ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร สุทิน กล่าวว่า ตอนแรกเรามีความหวังกับ ส.ว. น้อย หรือแทบจะไม่มีความหวังเลย หากจะแก้ได้ในส่วนของ ส.ว. ก็แก้ได้บางประเด็น แต่ในระยะหลังเห็นว่า สถานการณ์เริ่มเป็นบวกขึ้น หลังจากที่มีเสียงของประชาชน และนิสิต นักศึกษา เรียกร้อง เราจึงมีความหวังกับ ส.ว. เหมือนกัน 

สุทิน กล่าวต่อว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้สรุปว่าจะแก้ทั้งฉบับ หรือบางมาตรา เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น แต่ตนเห็นว่า แก้อย่างไรก็ตาม ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่เมื่อประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว พรรคเพื่อไทยก็มีประเด็นที่จะเสนอผ่านประชาชน ซึ่งในความตั้งใจของเรา คิดว่ามีการแก้จำนวนมาก แต่ต้องฟังเสียงประชาชน และโอกาสที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ หากแก้ใหญ่ หรือแก้ทั้งฉบับ จะต้องใช้เวลามาก เราจึงคิดว่า เราอยากได้เนื้อหารัฐธรรมนูญที่ดี และเวลาที่เหมาะ คิดว่า การตั้ง สสร. เป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่อาจจะช้า ใช้เวลามาก ดังนั้น ทาง กมธ. กำลังคิดกันว่า ถ้าไม่ใช่ สสร. จะเป็นอะไรได้บ้าง บางคนบอกว่าแก้มาตรา 256 ก็พอ บางส่วนคิดว่าควรจะแก้สาระเลย ซึ่งจะทำให้เร็วขึ้น 

 

'ก้าวไกล' จ่อเสนอร่างแก้ไข รธน. 5 มาตรา ปิดสวิตช์ ส.ว.-ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-เปิดทาง สสร.จากการเลือกตั้ง 

วันเดียวกัน ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า 09.00 น. ที่ห้องประชุมพรรคก้าวไกล รัฐสภา (เกียกกาย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ร่วมประชุมก่อนมีมติ เสนอทางออกให้แก่สังคมเพื่อฝ่าวิกฤตการณ์ของประเทศ โดยเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ

1.เปิดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนโดยไม่กำหนดวุฒิการศึกษาและมีอายุ18 ปีขึ้นไป

2.ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 - 278 ซึ่งเป็นเรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล 5 ปีและ

3.ยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เรื่องการรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

เวลา 11.00 น. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต 1 พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อม ส.ส.ของพรรค ร่วมแถลงข่าว ถึงข้อเสนอดังกล่าว

พิธา กล่าวว่า ลำดับแรกตนอยากขอย้ำสิ่งที่เคยอภิปรายไว้ 5 ข้อในสภาผู้แทนราษฎร คือ 1. ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2. ทบทวนคดีความทางการเมืองที่ผ่านมา 3. เลิกคุกคามนักศึกษาและผู้ชุมนุม 4.นายกรัฐมนตรีต้องลาออก และ 5. แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่กำหนดคุณสมบัติการศึกษา กำหนดเพียงให้อายุ 18 ปีขึ้นไป

พิธากล่าวต่อว่า นอกจาก 5 ข้อแรกที่จะเป็นบันไดในการแก้ไขวิกฤติการเมืองนี้แล้ว พรรคก้าวไกลอยากจะเสนอเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นใบอนุญาตต่ออายุให้ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเสนอให้ยกเลิก 5 มาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือปิดสวิตช์ ส.ว. โดยยกเลิกมาตรา 269 ถึง 272 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นหลักเกณฑ์วิธีสรรหา ส.ว. ชุดแรกจาก คสช. ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการให้ ส.ว. เข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี อีกเรื่องที่ต้องยกเลิกคือมาตรา 279 ซึ่งรับรองประกาศและคำสั่งของ คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรานี้จะเป็นการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร

ชัยธวัช กล่าวว่า ลำดับถัดไปจะจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านและ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลที่เห็นด้วย ทั้งนี้ถ้า ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว. มีความจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เชื่อว่าจะสามารถยื่นเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาในสมัยประชุมนี้ โดย ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลไม่ใช่เพื่อต่ออายุและยืดอายุให้รัฐบาล ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภาเราก็จะสามารถเลือกตั้งใหม่ได้ภายหลังจากที่มีการปิดสวิสต์ ส.ว.อย่างเป็นทางการแล้ว โดยหากสามารถยกเลิก 5 มาตรานี้ได้ จะสามารถนำไปสู่การได้รัฐบาลที่มาจากเจตจำนงของประชาชนที่แท้จริง โดย ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.จะไม่สามารถเข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

ด้าน ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ถ้าจะหาฉันทามติท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้ จะไม่มีทางทำได้ถ้าเราไม่คุยกันเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมาจากประชาชน โดยจำเป็นที่ต้องมี สสร. ที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รวบรวมทุกฝ่าย ทุกความใฝ่ฝัน ทุกปัญหา ทุกความขัดแย้ง แล้วมาคุยกันเพื่อสร้างฉันทามติของประชาชน ในนามของรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน โดยทาง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะเริ่มต้น ศึกษา และข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆมีพร้อมแล้ว โดยจะมีการสรุปข้อคิดเห็นของทุกฝ่ายและเสนอต่อสภาในเร็วๆนี้ รวมทั้งเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ จำเป็นต้องจัดทำประชามติ แต่การจัดทำประชามติในปี 2559 มีปัญหามาก มีการดำเนินการกับผู้ที่เห็นต่าง โดยมีการตีความที่ได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดเจน ดังนั้น จำเป็นต้องมีแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การรณรงค์ และบรรยากาศเป็นไปด้วยความปลอดภัยและมีเสรีภาพในการแสดงออก และเป็นความเห็นของประชาชนทุกฝ่ายจริงๆ

 

ส.ว.บางส่วนเห็นด้วยให้แก้ รธน. ยอมไม่โหวตนายกฯ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ให้ยกเลิก ส.ว.ชุดนี้เลยคงไม่ได้

28 ก.ค.) กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงกรณีเริ่มมี ส.ว.บางส่วนเห็นด้วยให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมีการนำมาพูดกันในการประชุม กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภา บ่อยครั้ง ยืนยัน ส.ว.ไม่ขัดข้องให้แก้รัฐธรรมนูญ เรามีความจริงใจให้แก้ แต่ต้องแก้เฉพาะประเด็นการเมืองที่จำเป็น ไม่ใช่แก้กันทุกมาตราจนเลยเถิด ขณะนี้รัฐธรรมนูญเพิ่งใช้มา 2-3 ปี ยังไม่ถือว่าผิดพลาดอะไรมากมาย อย่างที่มีปัญหาเรื่องระบบการเลือกตั้งต่างๆ นั้น เรายอมรับเสียงวิจารณ์ ยินดีให้แก้ ขณะที่มาตราเรื่อง ส.ว. ถ้าจะให้แก้ถึงขั้นยกเลิก ส.ว.ชุดนี้ไปเลย คงไม่ได้ ส.ว.เพิ่งทำงานมาปีกว่าๆ เหลืออีก 3 ปีกว่าก็ไปแล้ว ส.ว.มาตามรัฐธรรมนูญ มีเสียงประชามติ 13 ล้านเสียงรับรองมา ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขถึงขั้นให้ยกเลิก ส.ว.เลย คงไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญที่ให้มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ไม่ใช่การหวงอำนาจ แต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ให้ช่วยตั้งสติกันหน่อย อย่าจงเกลียดจงชัง ส.ว.

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะมีการแก้อำนาจ ส.ว. ไม่ให้โหวตเลือกนายกฯยอมรับได้หรือไม่ กิตติศักดิ์ ตอบว่า ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเราก็ยอมรับ ไม่มีปัญหา จะแก้ประเด็นใดให้มาคุยกัน แต่ต้องเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่แก้กันทุกมาตรา การแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ว.ยึดหลักทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ได้สนกระแสกดดันจากผู้ชุมนุม

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวยืนยันว่า ข้อเสนอ ส.ว.ที่พร้อมแก้รัฐธรรมนูญมาจากความจริงใจ ไม่ใช่ทำเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง แต่การแก้รัฐธรรมนูญทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน มาคุยกันด้วยเหตุผล ที่สำคัญ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ถ้าผู้ชุมนุมยังตั้งแง่กล่าวหา ส.ว.ในทางไม่ดี จะทำให้ขาดความร่วมมือ ขอให้มาคุยกันด้วยเหตุผล การบีบให้ ส.ว. ต้องลาออก จะไปได้ความร่วมมือได้อย่างไร ยิ่งไล่ก็ยิ่งไม่ออก ไม่มีใครยอมรับการกล่าวหา ส.ว.ไม่ห่วงเรื่องการขับไล่ ไม่ต้องเรียกร้องให้ ส.ว.ลาออก เพราะ ส.ว.มีเสถียรภาพรับรองในรัฐธรรมนูญให้อยู่ตามกฎหมาย

ขณะที่วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่มี ส.ว.บางคน แสดงความเห็นว่าแล้วถึงเวลาที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าไม่ทราบหากมาถามตนก็ตอบไม่ถูก 

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขและธรรมนูญในครั้งนี้ วิษณุกล่าวว่า รับทราบเมื่อถามย้ำว่าในฐานะรองนายกฯด้านกฎหมาย ถึงเวลาที่เหมาะสมในการที่จะแก้ไขและธรรมนูญแล้วหรือยัง วิษณุกล่าวว่า รับทราบ เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลจะตอบในนามส่วนตัวไม่ได้

 

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ, ไทยโพสต์, ผู้จัดการออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net