Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นคำถามเชิงการเมืองการปกครองเปรียบเทียบหรือ Comparative Politics ที่น่าสนใจในการหาคำตอบอย่างยิ่งว่ารูปแบบการปกครองมีส่วนมากน้อยอย่างไรต่อการรับมือไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ มีบางคนเห็นว่ารูปแบบการปกครองเผด็จการทำให้รัฐสามารถรับมือกับไวรัสดังกล่าวได้ดีกว่ารัฐประชาธิปไตย ดังเช่นการจัดอันดับของประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงหลายสัปดาห์ก่อน ประเทศที่มีคนติดเชื้อและเสียชีวิตสูงมากล้วนแต่เป็นประเทศตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น เช่นสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ฯลฯ ในขณะประเทศที่เป็นเผด็จการมักจัดการกับเรื่องโรคระบาดได้ดี อย่างเช่น ต้นกำเนิดของการแพร่ไวรัสดังกล่าวคือจีนนั้นค่อยๆ ลดอันดับลงเรื่อยๆ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง หรือแทบไม่มีเลยในหลายอาทิตย์ (ก่อนจะมีโผล่ออกมาระลอก 2 ในตอนนี้) หรือประเทศที่โดดเด่นในเรื่องการจัดการไวรัสจนจำนวนผู้ติดเชื้อมีน้อยมากและไม่มีผู้เสียชีวิตอย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมไปถึงประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จคือเกาหลีเหนือซึ่งบอกว่าประเทศตนไม่มีผู้ติดเชื้อเลย

ความเชื่อดังกล่าวตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าถ้ารัฐเผด็จการมีผู้ปกครองเด็ดขาดและสามารถควบคุมพฤติกรรมของพลเมืองได้อย่างดี ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะประเทศประชาธิปไตยนอกจากจะเลือกได้ผู้นำแย่ๆ อย่างเช่นทรัมป์แล้ว ประชาชนยังขาดวินัย นึกถึงแต่เสรีภาพของตัวเองจนไม่ใส่ต่อส่วนรวม

การทึกทักดังกล่าวมีความเป็นจริงเพียงส่วนเดียวอย่างเช่นในยุโรปและสหรัฐฯ ประชาชนจำนวนมากไม่เชื่อฟังรัฐเรื่องการอยู่แต่ในบ้านหรือการอยู่ห่างกันเพราะมีวัฒนธรรมทางการเมืองว่ารัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซงชีวิตของประชาชน แถมยังมีการเดินขบวนประท้วงวุ่นวายอันยิ่งส่งผลให้จำนวนคนติดไวรัสสูงขึ้นอีก

นอกจากนี้ความเชื่อเรื่องเผด็จการดังข้างบนอาจไม่จริงเลยในหลายประเทศ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ประเทศเผด็จการซึ่งมักเป็นประเทศด้อยพัฒนาจัดการกับโรคระบาดได้อย่างดีหากไม่นับการปิดบังข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว เช่นการที่ประเทศเผด็จการเป็นประเทศเปิดน้อยกว่าประเทศประชาธิปไตยคือมีคนต่างชาติเข้าออกน้อยกว่าประเทศประชาธิปไตยหรือประเทศพัฒนาแล้ว ถึงแม้ประเทศเผด็จการจำนวนมากจะเป็นประเทศที่มีรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวแต่ก็สามารถยุติการเคลื่อนย้ายของประชากรจากต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยเป็นประเทศเปิดที่มีคนเข้าออกเป็นจำนวนมากโดยไม่ใช่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวเช่นการทำธุรกิจ การเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ฯลฯ การปิดหรือการสกัดกั้นค่อนข้างเป็นไปอย่างลำบากและเชื่องช้า และรัฐเหล่านั้นยังต้องติดปัญหาเรื่องกฎหมายหรือระเบียบซ้ำซ้อนในการจัดกับการคนเหล่านั้น หรือในยุโรปที่สหภาพยุโรปมีการลดพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้มีการ กระจายตัวของโควิด-19 เป็นไปได้ไว

นอกจากนี้ ประเทศเผด็จการส่วนใหญ่มีระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่ ประชาชนจำนวนมากต่างอดมื้อกินมื้อ ขาดสารอาหาร หากโรคระบาดเกิดขึ้นก็คงถึงกาลพินาศกันทั้งประเทศ ผู้นำจึงต้องใช้กลยุทธ์ในการสกัดไวรัสอย่างเต็มที่และไร้ขีดจำกัดที่มีในประเทศประชาธิปไตย เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายบางฉบับเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง อย่างเช่นเกาหลีเหนือถึงกลับสั่งประหารชีวิตคนที่ติดเชื้อและหลบหนีจากที่กักกัน หรืออีกประการหนึ่งที่ผมคาดเดาเอาก็คือการเป็นประเทศด้อยพัฒนาและระบบสาธารณสุขแย่ไม่ใช่ว่าระบบราชการของประเทศพวกนั้นจะรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่ได้เลย เป็นไปได้ว่าอาจมีการระดมกำลังพลและทุนครั้งใหญ่มายังกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยราชการอื่นซึ่งทำได้ง่ายเพราะผู้นำเป็นเผด็จการมักกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ กฎหมาย ฯลฯ ไปตามความต้องการของตัวเอง (ไม่เหมือนประชาธิปไตยที่กฎหมายและระเบียบต่างๆ แน่นอนมีความศักดิ์สิทธิ์) ในการรับมือกับโควิด -19 โดยเฉพาะเพื่อความอยู่รอดของรัฐ รวมไปถึงอำนาจและชื่อเสียงของตัวเองในเวทีโลกด้วย

ดังนั้นถึงแม้จะรอดจากวิกฤตโควิด-19 แต่ประชาชนก็ยังได้รับการบริการทางสาธารณสุขที่ขาดประสิทธิภาพและทั่วถึงเหมือนเดิม ส่วนชนชั้นนำกลับตรงกันข้ามได้เข้าโรงพยาบาลเอกชนหรูๆ หรือไม่ก็เดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศรวยกว่า นอกจากนี้กลยุทธ์ดังกล่าวมักสำเร็จเพราะรัฐเผด็จการมักเป็นรัฐเดี่ยวและรวมศูนย์อำนาจ จึงสั่งการราชการที่คุ้นเคยกับการควบคุมพฤติกรรมของประชาชนอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว

ยังมีอีกหลายประเทศในแอฟริกาและเอเชียที่เป็นเผด็จการเป็นจำนวนมากซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย อันปัจจัยก็อาจเกิดจากข้างบนหรือ อาจเพราะไม่มีทุนในการตรวจหรือไม่มีการนำเสนอข่าวสารที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับโรคเลย นั่นคือรัฐประสบความสำเร็จในการปิดข่าว ซึ่งต้องติดตามข่าวกันต่อไปเพราะโรคกำลังระบาดไปเรื่อยๆ และกำลังศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคหรือ epicenter ใหม่ๆ อาจเกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้นก็ได้ อันน่าจะได้ถูกกล่าวในโอกาสข้างหน้า

อย่างไรก็ตามคนที่สนับสนุนเผด็จการมักมองข้ามประเทศอิหร่านซึ่งมีการปกครองแบบลูกผสมคือประชาธิปไตยกึ่งเทวนิยมซึ่งถูกจัดเป็นเผด็จการแต่กลับเป็นประเทศที่ย่ำแย่จากการระบาดของไวรัสมากที่สุดในแถบตะวันออกกลาง อันสะท้อนว่ามีปัจจัยอื่นเช่นคุณภาพของการบริหารงานภาครัฐและการจัดการด้านสาธารณสุขเข้ามาเกี่ยวด้วย และในหลายอาทิตย์ต่อมา การจัดอันดับของประเทศที่มีคนติดเชื้อโควิด -19 มีการเปลี่ยนแปลงนั่นคือประเทศที่ถูกจัดว่าเป็นเผด็จการได้เลื่อนอันดับขึ้นแซงประเทศประชาธิปไตยขึ้นมานั่นคือบราซิลและรัสเซียซึ่งมีจำนวนคนติดเชื้อเป็นอันดับ 2 และ3

ประเทศบราซิลจริงๆ แล้วเป็นประชาธิปไตยแบบมีตำหนิหรือ flawed democracy การเมืองแม้จะมีการเลือกตั้งที่ไม่ค่อยมีปัญหา ประชาชนและภาคประชาสังคมมีเสรีภาพ แต่กลับได้ประธานาธิบดีหัวเอียงขวา ที่นิยมทหารอย่างเช่น ฌาอีร์ โบลโซนารู ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาโรคระบาดในบราซิลแย่ลง แม้ผู้ว่าการรัฐต่างๆ ของบราซิลจะมีอำนาจในการจัดการมากมายในรูปแบบสหพันธรัฐ นั่นคือประธานาธิบดีไม่สามารถประสานให้รัฐต่างๆ ทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นลักษณะเดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหากับผู้ว่าการรัฐต่างๆ ที่อยู่ในพรรคเดโมแครต

สำหรับรัสเซียซึ่งเป็นสหพันธรัฐเหมือนกัน แต่เป็นแบบรวมศูนย์ตามแบบเผด็จการ เพราะประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินครองอำนาจมายาวนานกว่า 20 ปีสามารถควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นได้หมด แม้ปูตินจะแก้ปัญหาไวรัสอย่างรวดเร็วเช่นปิดพรมแดน และให้ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นมีอิสระในการจัดการ แต่ก็ไม่อาจสกัดการเคลื่อนไหวของประชากรรัสเซียเพราะเป็นเผด็จการที่ไม่สามารถควบคุมประชาชนได้ดีเท่าจีน รวมไปถึงประสิทธิภาพของระบบราชการรัสเซียซึ่งมีชื่อไม่ดีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสหภาพโซเวียต ส่วนประเทศที่น่ากล่าวถึงอีกประเทศซึ่งอยู่ในอันดับ 28 ของจำนวนผู้ติดเชื้อคือเบลารุสซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตโดยมีประธานาธิบดีอาเล็กซานเดอร์ ลูกาเช็งโกที่เป็นเผด็จการที่มีความเชื่อเกี่ยวกับไวรัสและการระบาดแบบผิดๆ ทำให้รัฐบาลปราศจากการเตรียมพร้อมและส่งเสริมให้ประชากรรับมือกับไวรัสได้เพียงพอ

ข้างบนสะท้อนให้เห็นว่าการปกครองแบบเผด็จการล้วนแต่มีความแตกต่างกันออกไปซึ่งประเทศที่กล่าวมานี้มีผู้นำเป็นชายสูงวัยที่โลกทัศน์มักถูกแช่แข็งในช่วงสงครามเย็น และเปลี่ยนแปลงได้ยาก จนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเรื่องฉุกเฉินเช่นอิหร่าน บราซิล รัสเซียและเบราลุส (กลับกันในระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งและหลายประเทศได้ผู้นำเป็นผู้หญิงที่มีความคิดสร้างสรรค์และคิดคำนึงถึงประชาชนมากกว่าอำนาจตัวเองอย่างเช่นไต้หวันและนิวซีแลนด์) ส่วนจีนและเวียดนามมีการปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวซึ่งมีการระดมความคิดของคนเป็นกลุ่มไม่ได้รวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่คนๆ เดียว จึงทำให้เกิดความคิดหลากหลายกว่า

สำหรับเกาหลีเหนือนั้นอยู่แม้เน้นศูนย์กลางอำนาจที่คนๆ เดียวคือคิม จองอุนแต่เกาหลีเหนือ ลาวและเวียดนามมีปัจจัยร่วมกัน นั้นคือมีพรมแดนกับจีนที่น่าทำให้เกิดการระแวดระวังโรคติดต่อจากจีนมาอย่างยาวนาน อันทำให้ประเทศดังกล่าวได้เปรียบกว่าบราซิลและเบราลุสซึ่งไม่เคยพบกับโรคระบาด สำหรับรัสเซียมีพรมแดนติดกับจีนกว่า 4 พันไมล์สามารถปิดการเดินทางเข้าออกของตนและจีนได้ มีการผลักดันคนจีนจำนวนมากออกนอกประเทศ แต่คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ในรัสเซียกลับมาจากยุโรป

สุดท้ายปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือวัฒนธรรมการเชื่อฟังรัฐนั่นคือประชาชนยอมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก ซึ่งมีอยู่มากในประเทศเอเชีย ทำให้การติดเชื้อไวรัสในเอเชียไม่สูงเท่ากับทวีปอเมริกาและยุโรป กระนั้นปัจจัยนี้ไม่ได้อยู่แค่ประเทศเผด็จการอย่างจีนและเวียดนาม ดังเราจะเห็นว่ามีประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จเช่น ไต้หวัน หรือเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (ซึ่งก็รู้ถึงพิษสงของโรคซาร์จากแผ่นดินใหญ่มาอย่างดี) รวมไปถึงประเทศที่ควบคุมโรคได้แม้จะต้องดิ้นรนมากหน่อยแต่คนเสียชีวิตมีจำนวนน้อยอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งปัจจัยอื่นเช่นมีทุนทรัพย์มากและมีระบบสาธารณสุขและการจัดการเรื่องภัยพิบัติอย่างดี

สำหรับไทย ดังที่เห็นว่าก่อนหน้านี้ระบบสาธารณสุขมีปัญหามายาวนานโดยเฉพาะตอนรับมือกับโควิด-19 ช่วงแรกๆ ความสามารถของพลเอกประยุทธ์ จันโอชาอย่างหนึ่งคือการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการรวบอำนาจเข้าสู่ตัวเองโดยการลดบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นสหายร่วมค้ำจุนเก้าอี้นายกฯ ของตัวเอง และหันไปหาพวกผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขทั้งหลายมาช่วยจนสำเร็จ กระนั้นลองมาคิดว่า ถ้าหากไทยได้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ (คือรัฐธรรมนูญไม่ได้หมกเม็ดและมีการเลือกตั้งใสสะอาด) ก็อาจจะจัดการกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าประยุทธ์ก็ได้ โดยแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เก่งกว่าอนุทิน มีการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขและมีการวางแผนที่ฉลาดกว่านี้ ทำให้มีจำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยกว่าและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบดีกว่านี้ โดยไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือการใช้เคอร์ฟิวที่ดูไร้สาระเลย เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อก็ให้อำนาจแก่รัฐอยู่แล้ว ดังนั้นแนวคิดที่ว่ามีเผด็จการเท่านั้นที่ผู้นำจะจัดการกับภาวะฉุกเฉินอย่างโควิด-19 ได้ไม่ใช่ถูกต้องเสมอไป หากยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นดังที่กล่าวมาข้างบน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net