Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดยเหตุที่นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) แถลงความตอนหนึ่งว่าไม่ดำเนินการตรวจสอบการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์โดยอ้างว่า “กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของคนไทยในต่างประเทศ แต่เหตุการณ์ตามข้อกล่าวอ้างเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบได้.....”

ข้ออ้างเช่นนี้ไม่สามารถรับฟังได้เมื่อพิจารณาจากกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกสม.ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณธกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย

1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2. สิทธิมนุษยชนที่ต้องตรวจสอบคือสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ รัฐธรรมนูญ ๖๐ ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตไว้ตามมาตรา ๒๘ ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย”  เมื่อสิทธิเสรีภาพถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐไทยจึงไม่เพียงแต่มีอำนาจหน้าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น หากยังมีอำนาจหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย

3. เมื่อคณะกรรมการกสม.เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้คณะกรรมการกสม.ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้า และต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นหรือลักษณะเดียวกันนั้นขึ้นอีก

4. ในการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเสรีภาพ คณะกรรมการกสม.มีอำนาจขอให้หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานดังกล่าว หรือ บุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาภายในระยะเวลา ที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลใดไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการร้องขอ คณะกรรมการจะออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นดำเนินการดังกล่าวก็ได้

5. การอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์แม้จะเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งรัฐกัมพูชาต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักดินแดนอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันรัฐไทยมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักสัญชาติในฐานะพลเมืองไทย

ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการกสม.จึงมีอำนาจหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตรวจสอบการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยการขอให้รัฐมนตรีหรือข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นมาให้ข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในกรณีดังกล่าว อีกทั้งสามารถเชิญญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์มาให้ข้อท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกสม.ในการทำข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

“การอุ้มหายบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุแรงจูงใจทางการเมืองหรือแรงจูงใจส่วนตัวก็ตาม ล้วนเป็นอาชญากรรมร้ายแรงนอกกฎหมายที่รัฐทุกรัฐต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ถูกอุ้มหายทุกคน”
  

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net