Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมสนใจนิยาม “โจราธิปไตย” ของราชบัณฑิตยสภา ข้างล่างนี้

ที่มา: https://web.facebook.com/RatchabanditThai/photos/a.3084026694988738/3084028718321869/?type=3&theater&_rdc=1&_rdr&hc_location=ufi

นิยาม “โจราธิปไตย” ดังกล่าวมีสาระสำคัญสอดคล้องกับนิยามระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม ในหนังสือ “ประชาธิปไตยหลากความหมาย หลายรูปแบบ” ของประจักษ์ ก้องกีรติ (หน้า 25-27) ว่า “การเมืองแบบอำนาจนิยมโดยผู้นำเข้มแข็งที่ปกครองประเทศของตนราวกับผู้ปกครองแบบโบราณที่ไม่แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม ทรัพย์สินและทรัพยากรสาธารณะถูกถือเอาเป็นทรัพย์สินและทรัพยากรส่วนตัวของผู้นำ กลไกรัฐถูกดัดแปลงให้กลายเป็นข้ารับใช้ส่วนตัวของผู้นำและครอบครัว การเมืองรูปแบบนี้ถูกให้นิยามว่าเป็นการเมืองการปกครองแบบสุลต่านแบบใหม่ (neo-Sultanism) ซึ่งพบในประเทศตูนีเซีย อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย เยเมน เป็นต้น”

ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม ไม่ว่าในชื่อ “โจราธิปไตย” หรือ “สุลต่านแบบใหม่” หรือชื่ออื่นๆ เช่น เผด็จการฟาสซิสต์, เผด็จการแบบไทย, ประชาธิปไตยแบบไทย ฯลฯ มีแก่นแกนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ผู้ปกครองไม่แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม ทรัพย์สินและทรัพยากรสาธารณะถูกถือเอาเป็นทรัพย์สินและทรัพยากรส่วนตัวของผู้นำ กลไกรัฐถูกดัดแปลงให้กลายเป็นข้ารับใช้ส่วนตัวของผู้นำ ครอบครัว เครือญาติ บริวารและเครือข่าย

ชัดเจนว่า แก่นแกนของระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมตรงกันข้ามหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ที่แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมชัดเจน เช่น เจ้าชายเฮนรี่ลดระดับสถานะสมาชิกชั้นสูงในราชวงศ์อังกฤษเพื่อไปทำธุรกิจเอกชน ประชาชนชาวอังกฤษเข้าชื่อกันกว่าหมื่นคนเรียกร้องให้เฮนรี่จ้าง รปภ.ด้วยเงินส่วนตัวของเขาเอง ห้ามใช้ภาษีประชาชน ในอีกด้านสมาชิกราชวงศ์ที่ยังใช้ภาษีประชาชนก็ต้องทำงานให้กับสังคม ซึ่งประชาชนตรวจสอบความโปร่งใสได้

อีกทั้งชาวอังกฤษยังมีเสรีภาพรณรงค์เรียกร้องให้ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งแทนการสืบทอดทางสายตระกูล ขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้ยกเลิกตำแหน่งประมุขศาสนจักรนิกายอังกฤษ (Church of England) ของกษัตริย์หรือพระราชินี และให้แยกศาสนจักรจากรัฐ เพื่อให้อังกฤษเป็นรัฐโลกวิสัย และเป็นประชาธิปไตยแบบโลกวิสัย (secular democracy) อย่างแท้จริง

เป็นความจริงว่าอำนาจแบบโบราณในการปกครองแบบสุลต่านใหม่ ย่อมสถาปนาขึ้นบนความเชื่อทางศาสนา เช่นเดียวกับอำนาจแบบโบราณในระบบการปกครองไทยที่อ้างอิง “การปกครองโดยธรรม” ก็สถาปนาขึ้นโดยหลักความเชื่อพุทธผสมพราหมณ์

น่าสังเกตว่ากูรูพุทธบ้านเรา ไม่ว่าพระหรือฆราวาสไม่เคยตั้งคำถามหรือวิพากษ์ว่า ทำไมพุทธธรรมหรือพุทธศาสนาจึงเข้ากันได้กับอำนาจแบบโบราณที่ไม่แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม นอกจากไม่ตั้งคำถามและวิพากษ์ยังให้เหตุผลสนับสนุนต่างๆ นานาๆ ว่า อำนาจแบบโบราณของกษัตริย์และพุทธศาสนาคือรากฐานของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติไทยและความเป็นไทย

แต่เมื่อเผชิญหน้ากับเสรีประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, แนวคิดโลกวิสัย (secularism) กูรูพุทธก็พยายามตีความพุทธธรรมในทางสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการตีความบนจุดยืนว่าพุทธธรรมหรือพุทธศาสนาอยู่สูงกว่า ยอมรับว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่ดีพอ เพราะประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปยังมีปัญหาทางจิตใจและศีลธรรมเสื่อมโทรมมาก ดังนั้น ถ้าจะนำประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนมาใช้กับสังคมไทยก็ต้องมีศีลธรรมหรือธรรมาธิปไตยกำกับ ขณะเดียวกันก็ยังยืนยันอำนาจแบบโบราณที่เป็นหนึ่งเดียวกับพุทธศาสนา และยืนยัน “การไม่แยกศาสนาจากรัฐ” ซึ่งเท่ากับยืนยันการไม่แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม

จึงกลายเป็นว่ากูรูพุทธยืนยันแก่นแกนของอำนาจแบบโบราณที่ไม่แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมที่ตรงกันข้ามกับแก่นแกนของเสรีประชาธิปไตยและสังคมโลกวิสัยที่แยกชัดเจนระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม และถือว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว จะมาเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองในแบบใดๆ ไม่ได้ รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคระหว่างการนับถือและการไม่นับถือศาสนาเท่านั้น

สุดท้ายการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของบรรดากูรูพุทธ ก็คือการยืนกรานให้ปรับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่รับมาจากตะวันตกให้เข้ากับ “บริบท” ความเป็นไทย นั่นก็คือต้องโยนทิ้งแก่นแกนของเสรีประชาธิปไตย ความเป็นโลกวิสัยที่ยืนยันการแยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมอย่างชัดเจนในเรื่องสถานะอำนาจของผู้ปกครอง และแยกศาสนากับการเมืองให้ชัดเจนว่าการเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งนี้เพื่อคงไว้ซึ่งระบบอำนาจแบบโบราณที่ไม่แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม และคงไว้ซึ่งศาสนาของชาติที่ให้ความชอบธรรมและสนับสนุนอำนาจแบบโบราณและการคงไว้ซึ่งสถานะเดิมของสถาบันศาสนาให้คงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนตราบชั่วฟ้าดินสลาย

พระนักปราชญ์พุทธยืนยันหนักแน่นว่า ธงไตรรงค์ที่หมายถึงชาติ ศาสนา กษัตริย์นั้น “ศาสนาหมายถึงศาสนาพุทธ” แต่เวลาเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนกลางเมืองหลวงในนามการปกป้องอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พระนักปราชญ์ไม่เคยยืนยันหรือปฏิเสธว่าเกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือไม่ แต่ไม่รีรอที่จะปฏิเสธการแยกศาสนาจากรัฐ

ผมพูดมาตลอดว่า ปัญหาของพุทธศาสนาบ้านเราไม่ใช่อยู่ที่พระรูปนั้นรูปนี้ สำนักนั้นสำนักนี้สอนหรือปฏิบัติผิดหรือถูกหลักพุทธธรรม ไม่ใช่อยู่ที่ชาวบ้านห่างวัด ไม่รู้พุทธศาสนา งมงาย แต่แกนกลางของปัญหาอยู่ที่บรรดากรูพุทธทั้งพระและฆราวาสที่ตีความพุทธศาสนาในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อแก่นแกนของเสรีประชาธิปไตยและสังคมโลกวิสัย ทำให้สำนึกทางศีลธรรมแบบพุทธไม่สามารถไปด้วยกันอย่างสอดคล้องกลมกลืนกับคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ หรือเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล

จึงไม่แปลกที่ทำไมกูรูพุทธจึงเข้าไปร่วมงานกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอย่างปราศจากหิริโอตตัปปะโดยสิ้นเชิง โดยไม่ตั้งคำถามเลยว่า รัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนขัดต่อหลักศีลธรรมพุทธเช่น มรรคแปดหรือไตรสิกขาอย่างไร

ไม่ใช่คนระดับชาวบ้านที่ไม่รู้พุทธศาสนาดอกที่ปฏิบัติผิดหลักศีลธรรมพุทธในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญๆ ของวิถีชีวิตทางสังคมและการเมือง บรรดากูรูพุทธที่อ้างสัมมาปฏิบัติ, ทางสายกลาง, กาลามสูตร, ธรรมคืออำนาจ และอื่นๆ ทั้งนั้นที่เข้าไปมีตำแหน่งต่างๆ และให้ความร่วมมือ สนับสนุนระบบอำนาจนิยมหรือโจราธิปไตยทั้งโดยตรงและโดยปริยายมายาวนาน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net