Skip to main content
sharethis

26 เม.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 15 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,922 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตสะสม 51 คน รักษาหาย 47 คน รักษาหายสะสม 2,594 คน มีคนรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยที่สุดเพียง 277 คน แนวโน้มพบผู้ป่วยใน State Quarantie เพิ่มอีก 5 คน ย้ำคนไทยต้องปรับตัวรับโรคระบาดยาวถึงต้นปี 2564 ยังไม่วางใจรอวัคซีน-ยารักษาโรค

26 เม.ย. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า วันนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 15 คน ยอดสะสม 2,922 คน หายกลับบ้านเพิ่มอีก 47 คน รวมมีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยที่สุดเพียง 277 คน 46 คน รวมหายกลับบ้านได้แล้ว 2,594 คน โดยวันนี้ไม่พบมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขเท่าเดิม 51 คน

“สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 15 คน จำนวนนี้ 5 คนมาจากผู้ที่เดินทางกลับจากยูเออี และกักตัวใน State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี และกทม. ส่วนอีก 10 คน พบว่า 4 คนที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย นอกจากนี้อีก 3 คนไปในสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดในเขตกทม. 3 คน อาชีพเสี่ยงพบ 1 คน และผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชนที่ จ.ยะลา 2 คน”

ทั้งนี้ผู้ป่วยใหม่ 15 คน กระจายอยู่ใน กทม. 7 คน ภูเก็ต 4 คน ยะลา 2 คน ชลบุรี 1 คน และนครปฐม 1 คน ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยสะสมมากที่สุดทั้ง 68 จังหวัด ยังคงเป็น กทม. 1,481 คน รองลงมา ภูเก็ต 205 คน นนทบุรี 156 คน สมุทรปราการ 111 คน และยะลา 108 คน 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเข้าสัปดาห์ที่ 18 ของโรคเมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงใหม่ พบว่าการทำหน้าที่ของ State Quarantie ยังทำงานได้ดี สงผลให้พบผู้ป่วยในพื้นที่ที่รัฐจัดให้มากขึ้น โดยสัปดาห์ที่ 15 พบ 56 คน สัปดาห์ทื่ 16 พบ 12 คน สัปดาห์ที่ 17 พบ 9 คน และสัปดาห์ที่ 18 จำนวน 5 คน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ก็เร่งตรวจเชิงรุกในชุมชน ซึ่งพบเมื่อสัปดาห์ก่อน 14 คน และสัปดาห์นี้ 2 คน และจะเร่งตรวจเพิ่มมากขึ้น

ญี่ปุ่นยกเลิกงาน-การท่องเที่ยว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับสการณ์โลก พบผู้ป่วยสะสม 2,920,738 คน อาการหนัก 58,202 คน รักษาหายแล้ว 836,085 คน และเสียชีวิต 203,355 คน ซึ่งตัวเลขที่สูงมาก โดยประเทศสหรัฐอเมริกา ยังพบผู้ป่วยมากที่สุด รวมผู้ติดเชื้อสะสม 960,896 คน เสียชีวิต 54,265 คน

ส่วนแถบเอเชีย ขณะนี้ประเทศซาอุดีอาระเบีย พบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รองลงมาคือญี่ปุ่น พบวนเดียว 519 คน สะสม 13,231 คน และสิงคโปร์ พบวันเดียว 618 คน สะสม 12,693 คน โดยสิงคโปร์มีพื้นที่เล็ก มีสถานที่อยู่เป็นหอพักแออัด ทำให้การกระจายโรครวดเร็วขึ้น โดยพบการติดเชื้อแรงงานต่างด้าวแบบเป็นกลุ่มก้อน ส่วนเกาหลีใต้ พบผู้ป่วยใหม่เพียง 10 คน และ UAE ที่มีคนกลับมาแล้วป่วยในไทย ก็มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วันนี้พบกว่า 500 คน

แนวโน้มของอินเดียก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีขึ้นลง แต่แนวโน้มเส้นกราฟยังพุ่วขึ้น มีผู้ติดเชื้อสะสม 26,283 คน เสียชีวิต 825 คน ส่วนสิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อสะสม 12,693 คน พบรายใหม่วันเดียว 618 และเสียชีวิต 12 คน ส่วนที่ปากีสถาน 12,723 คน เสียชีวิต 269 คน ขณะที่ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อสะสม 13,231 คน เพิ่มขึ้น 519 คน เสียชีวิต 360 คน

“ประเทศญี่ปุ่น โดย จ.ไซตามะ ยกเลิกเทศกาลดอกกุหลาบ แต่ยังให้ประชาชนเข้าสวนดังกล่าวได้ ขณะที่กรุงโตเกียว ขอให้ประชาชนลดความถี่ในการออกไปซื้ออาหาร ขอให้เหลือเพียง 3 วันต่อครั้ง และนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ประชาชนงดเที่ยวช่วงวันหยุดยาวในสัปดาห์ทอง 2-6 พ.ค.นี้”

สู้ถึงต้นปี 2564 ไทยใช้ชีวิตใหม่ภายใต้โรคระบาด

ส่วนกรณีคำถาม การใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเรื่องการทำมาหากินที่ยากขึ้น หากดีขึ้นมีโอกาสจะกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิมได้หรือไม่

นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า เข้าใจว่าทุกคนอยากกลับไปใช้วิถีชีวิตปกติ แต่ที่เรายังกลับไปปกติไม่ได้ อยากให้เข้าใจว่า โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ช่วง 3-4 เดือนที่ COVID-19 ระบาด ต้องเรียนรู้ว่า เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ น้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง และคนที่ติดเชื้ออยู่ในวัยทำงาน เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเดินในสังคมตรงไหน จึงมีโอกาสติดและแพร่เชื้อไปแม้จะเจอแค่หลักหน่วย หรือเพียงหลักสิบ หากจะคุมได้จนเป็นศูนย์ ก็ต้องควบคุมต่อ เพราะไม่ใช่แค่ปัจจัยในไทย ต้องดูในระดับต่างประเทศด้วย

“เวลาที่จะกลับไปปกติอีกยาว เงื่อนปัจจัยคือ ต้องมียารักษาโรคนี้ให้หาย ไม่ใช่แค่การยับยั้งหรือยาต้านไวรัส รวมทั้งการมีวัคซีนที่จะตอบว่า การแพ่ระบาดของโลกจะจบลงได้ แต่ความหวังนี้อยู่ในช่วงต้นปี 2564”

ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลือ คือคุมตรงนี้ให้ได้ก่อน ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ติดเชื้อสายพันธ์ใหม่ และหลายประเทศก็ไม่ยินยอมในช่วงนี้ เพราะตัวเลขที่เพิ่มขึ้นหลักพัน หลักหมื่นยังคงเกิดขึ้น

“ไทยมีการออกมาตรการป้องกันมาก่อน ตัวเลขคนป่วยจึงไม่สูงและถ้ายกเลิกเร็ว ก็อาจจะกลับไปเป็นตัวเลขสูงขึ้นได้อีก สิ่งที่ลงทุนไปจะสูญเปล่า”

โฆษก ศบค.ย้ำว่า ดังนั้น เราจึงต้องปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อรอวัคซีน จึงต้องย้ำว่า หากการ์ดตกเมื่อไหร่ สิ่งที่ทำมาก็อาจจะกลายเป็นศูนย์ทันที โดยวันนี้เป็นเวลาครบ 1 เดือน ที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

กรมวิทย์ฯ เปิดผลศึกษาพบ COVID-19 ระบาดทั่วโลก 3 สายพันธุ์

ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ หัวหน้าฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ศึกษาและถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วย COVID-19 จากผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 61 ปี และผู้ป่วยหญิงอายุ 74 ปี

เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมออกมาแล้วจะพบว่า COVID-19 (SAR-CoV-2) มีความใกล้เคียงกับไวรัสโคโรนาที่มาจากค้างคาว (SARS-like bat CoV) ถึง 88% และใกล้เคียงกับโรคซาร์ส (SAR-CoV) เพียง 80% และมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่ไปจับกับมนุษย์

เมื่อศึกษาถอดรหัสทางพันธุกรรมของผู้ป่วยที่มีผลตรวจเชื้อเป็นบวก สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

- กลุ่มสายพันธุ์ A ที่มาจากค้างคาว
- กลุ่มสายพันธุ์ B ที่กลายพันธุ์จากกลุ่ม A บางส่วน มาจากอู่ฮั่น เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย
- กลุ่มสายพันธุ์ C เป็นกลุ่มที่กลายพันธุ์มาจากกลุ่ม B เล็กน้อย ระบาดในแถบยุโรปและสิงคโปร์

เมื่อมีการวิเคราะห์ความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ และเพื่อให้ทั่วโลกเข้าใจตรงกันจึงมีการแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ S G และ V โดยพบว่า ไทยมีสายพันธุ์หลัก คือ S type ทั้งนี้ ความแตกต่างกันของทั้ง 3 สายพันธุ์ มีจีโนมทั้งเส้นแตกต่างกันเพียงแค่ 1 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งยังไม่แสดงผลว่ามีการก่อโรคที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ การศึกษาต่อไปจะมีการถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มเติมจากผู้ป่วยอีก 100 คน โดยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และสภากาชาดไทย เพื่อดูรายละเอียดของโรคเพิ่มเติม

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำว่า ไทยยังศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 อยู่ตลอดเวลา และพบว่าเชื้อไวรัส COVID-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา แต่กลายพันธุ์ช้ากว่าเมื่อเทียบกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีนัยยะสำคัญว่าการกลายพันธุ์ว่า สามารถทำให้เชื้อรุนแรงมากขึ้นหรือติดง่ายขึ้นหรือไม่ แต่ทุกหน่วยงานจะเร่งถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการทำวัคซีน และเป็นฐานข้อมูลในการวิจัยต่อไปในอนาคต

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net