Skip to main content
sharethis

ไม่ใช่เพียงเศรษฐศาสตร์ แต่การมองความเหลื่อมล้ำผ่านมุมมองประวัติศาสตร์และสันติวิธียังช่วยให้ภาพที่คมชัดมากขึ้น เมื่อความคิดแบบพุทธมีผลต่อการดำรงอยู่ของความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำสูง สันติภาพจึงเกิดยาก และอนาคตของความเหลื่อมล้ำในไทยที่ต้องวางแผนแก้ตั้งแต่ตอนนี้

ที่มาภาพ : EconTU Official 

  • ปรัชญาการเมืองแบบพุทธทัศน์มีอิทธิพลต่อสังคมไทยสูงมาก ส่งผลให้ผู้คนยอมรับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ มองว่าความร่ำรวยเป็นเรื่องของคนมีบุญ และทนกับความไม่เป็นธรรมได้
  • ความเหลื่อมล้ำมีความสัมพันธ์กับสันติภาพ หากความเหลื่อมล้ำสูง การเกิดสันติภาพย่อมมีอุปสรรค
  • แนวทางการพัฒนาประเทศที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่จะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต จึงต้องรีบวางแผนการแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ เพราะหากตามแก้ภายหลัง ต้นทุนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยิ่งสูงมากขึ้น

การสัมมนาวิชาการประจำปีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 42 ‘ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ: เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เวทีสุดท้ายของงานใช้ชื่อหัวข้อเดียวกันกับหัวข้องานสัมมนา

โดยเวทีสุดท้ายนี้เป็นการมองความเหลื่อมล้ำจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ สันติวิธี และเศรษฐศาสตร์ควบคู่กัน ซึ่งทำให้เห็นที่มา ผลกระทบ และความน่าจะเป็นในการออกจากวงจรความเหลื่อมล้ำตลอดชีวิต

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ที่มาภาพ : EconTU Official )

การเมืองแบบพุทธทัศน์ทำให้คนไทยยอมทนต่อความเหลื่อมล้ำ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

การที่มนุษย์ไม่เท่าเทียมกันเป็นความรับรู้ว่าเราไม่เหมือนเขาและเขาก็ไม่เหมือนเรา แต่พอบอกว่าเราต้องอยู่กับความเหลื่อมล้ำตลอดชีวิต ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่และต้องทำความเข้าใจกับมัน

ผมไปพลิกดูหนังสือปรัชญาการเมืองและพบว่า ฌอง ฌาคซ์ รุสโซ เคยเขียนหนังสือเรื่อง discourse on inequality และตั้งโจทย์นี้ไว้ตรงประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร เขียนในปี 1755

ผมคิดว่าถ้าตอบคำถามนี้ได้ รายละเอียดต่างๆ ที่ฟังกันมาตั้งแต่เช้าจนถึงบัดนี้ก็น่าจะเห็นมิติและความเป็นมาของมัน รุสโซเสนอว่าสิ่งที่เรียกว่าความไม่เท่าเทียมเกิดตอนที่คนเข้ามาอยู่ในสังคมที่เป็น civil society ยุโรปในสมัยศตวรรษที่ 18 เริ่มมีชุมชนทางการเมืองที่คู่ขนานและพยายามต่อรองอำนาจกับรัฐบาลซึ่งเป็นกษัตริย์ กลุ่มอำนาจทางการเมืองใหม่นี้จึงเรียกว่า ประชาสังคม ซึ่งในโลกตะวันออกแนวคิดนี้ยังไม่เกิด และเป็นที่มาของความคิดระบอบประชาธิปไตยหรือพลเมืองเป็นใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของผู้ถืออาวุธแล้ว

แต่ก่อนที่จะมี civil society มนุษย์อยู่ในภาวะธรรมชาติซึ่งไม่มีปัญหาความไม่เท่าเทียม คือมันไม่เท่าก็เป็นความไม่เท่าเทียมกันตามธรรมชาติ แต่หลังจากมีสังคมขึ้นมาแล้วจึงเกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ทำไมจึงมีความไม่เท่าเทียมกันเมื่อคนอยู่ในสังคม ทั้งที่การอยู่ในสังคมมิติด้านที่ดีก็มีมากขึ้น ถ้าไม่มีสังคมเราจะไม่มีทางสร้างอะไรขึ้นมาได้เลย แต่ด้านลบของมันที่นักปรัชญายุโรปยุคแรกคิด รุสโซบอกว่าด้านลบของคนที่มาอยู่รวมกันในสังคมคือการมีความเห็นแก่ตัว ขั้นต่อไปก็คือทำให้เกิดความขัดแย้งเพราะว่าคนที่อยากได้ก็ต้องสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเอง

รุสโซเป็นคนแรกใช้คำว่า Bourgeois หรือกระฎุมพี และใช้ในแง่วิพากษ์ด้วยโดยบอกว่าพวกกระฎุมพีเป็นพวกที่ประหลาด คือเป็นอะไรบางอย่าง แต่ทำให้เห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง และชอบอวดตัว  รุสโซบอกว่าเนื้อแท้ของกระฎุมพีคือพวกที่คิดถึงแต่ตัวเองเมื่อต้องอยู่กับคนอื่น ทำไมเรามีน้อยกว่าเขา ทำไมเราไม่สวยเท่าเขา และคิดถึงคนอื่นเมื่ออยู่กับตัวเอง เราดีกว่าเขา ทำไมเขาไม่เห็น คนกลุ่มนี้เป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก แต่ ณ เวลานั้นความเหลื่อมล้ำยังไม่เป็นปัญหาขนาดใหญ่ในสังคม

แต่ตอนนี้เริ่มเป็นปัญหาที่ไปตามโลกาภิวัตน์และพัฒนาการของความเจริญก้าวหน้า พอกลับมามองปัญหาของสังคมไทย สิ่งที่รุสโซเสนอเข้ามาในสังคมไทยหรือไม่ เราคิดถึงความเหลื่อมล้ำอย่างไร ผมพบว่าไม่มี ผมยกตัวอย่างคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงที่ถือเป็นวาทกรรมทางการเมืองแรกๆ ของสังคมโบราณ ซึ่งไม่มีความไม่เสมอภาค มีแต่ความแตกต่าง ความแตกต่างเริ่มแรกเลยคือการเลือกคนมาเป็นหัวหน้าชุมชนหรือสมมติราช ซึ่งต่อมาก็คือกษัตริย์ที่จะมาปกครองอาณาจักรที่เป็นไทยพุทธทั้งหลาย

การสร้างความคิดทางการเมืองของรัฐไทยที่รับมาจากปรัชญาพุทธต่างๆ และผ่านการปกครองด้วยกษัตริย์ตั้งแต่ยุคก่อนมาจนถึงรัตนโกสินทร์และปัจจุบัน ซึ่งมีการสืบทอดความคิดอย่างต่อเนื่องมากกว่าหลายรัฐในโลกนี้ มีความเป็นเอกภาพสูงติดระดับเบอร์ 1 ของโลกเลย สรุปคือความสำคัญของสังคมไทยอยู่ที่การมีหัวหน้า ต้องมีหัวหน้า และหัวหน้าคือคนที่สร้างดุลยภาพให้กับการพัฒนาดำเนินไปของสังคมทั้งหมด ทั้งในโลกนี้และในระบบจักรวาลที่ควบคุมความเชื่อของคนไทยทั้งหมดไปในทิศทางที่อุดหนุน พึ่งพา และเกื้อกูลกัน จนนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทุกข์สุขในทางธรรม

รัฐไทยตั้งแต่สุโขทัยมาจนถึงปัจจุบันนี้ เรายังมุ่งแต่จุดหมายทางธรรม จุดหมายทางโลกเป็นนโยบายของรัฐบาลต่างๆ แต่อุดมการณ์ที่อยู่ในจิตสำนึกของผู้นำและผู้ตามและคนที่จะเข้าไปรับใช้ในระบบต้องเชื่อ ต้องเอาจุดหมายทางธรรมเป็นจุดหมายสูงสุด ไม่ใช่สังคมทางโลกนี้ ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงยอมรับความเหลื่อมล้ำได้

ผมคิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันโดยตัวมันเองไม่ได้เป็นปัญหามากเท่าไหร่ แต่มันอยู่ที่ว่าคนยอมรับมันหรือไม่ ยอมรับอย่างไร ผมคิดว่าในหลายร้อยปีของเรา เรารับมันโดยดุษณี คือรับโดยไม่มีปฏิกิริยา ยอมรับอย่างค่อนข้างจะมีความสุขนิดๆ และเอาอย่างอื่นมาชดเชย เพื่อให้เห็นว่าถึงเราไม่มีสิ่งนี้เราก็มีสิ่งอื่น ชาตินี้ไม่ดีก็รอชาติหน้า ทำบุญกันไป เราจึงไม่ได้อยู่อย่างลำบากกับความเหลื่อมล้ำ แต่เราอยู่อย่างไม่ค่อยมีปัญหากับมัน

รัฐก็พยายามสอนเราตลอดเวลาว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหา ถ้าเราไปอ่านพงศาวดาร นิทานคำกลอน ภาษิตต่างๆ ที่เป็นไทยๆ ทั้งหลายจะพบว่าเนื้อหาทั้งหมดมุ่งทำให้เราอย่าไปมองปัญหาความแตกต่าง ให้มองเอกภาพ มองความสมานฉันท์ มองความสามัคคีภายใต้แกนใหญ่คือสถาบันที่มีอำนาจสูงสุด

โดยรวมๆ ความคิดที่ให้ความชอบธรรมกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีค่อนข้างสูงและมีอย่างเป็นระบบ ซึมลึก เรารับเพราะมีปัจจัยแวดล้อมสำคัญคือปัจจัยทางการเมืองทำให้คนไทยทั้งหมดเกรงกลัวต่ออำนาจของผู้ปกครอง การยอมรับอำนาจบังคับบัญชาของกษัตริย์หรือรัฐเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับคนไทยอำนาจของผู้ปกครองคืออำนาจเด็ดขาดและปฏิเสธไม่ได้ ประชาธิปไตยเกือบไม่มีความหมายเพราะเจอความคิดที่ว่าอำนาจของผู้ปกครองมาจากบุญญาธิการและบารมี ไม่ใช่อำนาจที่มาจากรัฐธรรมนูญ ผมท้าได้ว่ารัฐธรรมนูญไม่มีทางให้อำนาจอธิปไตยกับการเมืองไทยได้

ที่มาความคิดทางสังคมหรือความเหลื่อมล้ำของไทยมีอิทธิพลที่เรารับมาจากปรัชญาการเมืองแบบพุทธทัศน์มาก แต่หลังจากยุครัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปสังคมไทย ความคิดแบบเดิมถูกบั่นทอนและบางอย่างก็หายไป และเราก็รับความคิดตะวันตกเข้ามา ปัญหาคือจากร้อยกว่าปีที่ผ่านมาความคิดโลกทัศน์แบบใหม่ของเรา มันใหม่จริงหรือไม่ เพราะเราก็รับมิติทางการเมืองแบบใหม่เข้ามาด้วย แล้วความคิดของเราเองไปจับปัญหาเหล่านั้น มันไปด้วยกันหรือไม่ คำตอบของผมก็คือไม่ค่อยไปด้วยกันเท่าไหร่

พูดง่ายๆ ว่าเราไม่ได้สละพื้นฐานแนวคิดออกไปจนหมดสิ้น ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำยากในทุกสังคม เพราะต่างก็มีรากฐานวัฒนธรรมความเชื่อมานานมากและเป็นรากฐานจริงๆ ของตัวตนของสังคมนั้น ในกรณีของไทยความคิดมีความต่อเนื่องกันมาเพราะว่าระบบการปกครองของเราเป็นระบบกษัตริย์ยาวนานมาก แม้กระทั่งช่วงที่อาณานิคมเข้ามาหลายประเทศระบบกษัตริย์ถูกบั่นทอนและล้มลงไป แต่สยามระบบกษัตริย์กลับเข้มแข็งขึ้นกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยิ่งกว่าสมัยอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ แม้จะถูกปฏิวัติในปี 2475 แต่ฐานความคิดนี้ก็ยังอยู่ ตรงนี้คือปัญหาที่ผมพยายามนำเสนอว่าด้านหนึ่งเราก็รับตะวันตก อีกด้านหนึ่งเรายังใช้วิธีแก้ปัญหาแบบไทย คือยังเอาความเชื่อทางศาสนา เรื่องบุญกรรมเข้ามาประกบ

นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่พยายามขายของ แต่จริงๆ แล้วคุณภาพของนักคิด นักวิทยาศาสตร์พวกนี้ต้องสร้างมาจากความเป็นอิสระของระบบการเรียนการสอนและของปัจเจกชน ทุกคนต้องมีความเชื่อในความเป็นอิสระของตัวเอง ผมไม่คิดว่าคนอย่างบิล เกตส์ ซัคเคอร์เบิร์ก คิดสิ่งเหล่านี้ได้ถ้าไม่มีความเป็นอิสระของตัวเอง แต่คนเหล่านี้อยู่ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิดค้นและมีทุนเข้ามาช่วย แล้วก็มีตลาด แต่เราทำไม่ได้เพราะว่าชนชั้นนำของไทยไม่มีปัญหากับการพัฒนาแบบหัวมังกุท้ายมังกร การพัฒนาของเราไม่สุดสักอย่างเลย การศึกษาของเราก็ไม่ แต่ลูกหลานของชนชั้นนำเรียนดีตั้งแต่อดีตจนถึงบัดนี้

รุสโซบอกว่าเพื่อที่จะไม่ให้ความเห็นแก่ตัวทำลายทั้งสังคม ซึ่งการที่ civil society เกิดการบิดเบี้ยวก็เพราะการเกิดขึ้นของกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์และเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำ แต่รุสโซก็บอกไม่ได้ว่าจะแก้อย่างไรเพราะถ้าไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเราก็อยู่ไม่ได้

อย่างภาษีที่ดินที่คนอย่างบิล เกตต์ ซัคเคอร์เบิร์ก ไม่มีที่ดิน เพราะภาษีที่ดินในอเมริกาสูงมาก แต่ในเมืองไทยกฎหมายภาษีที่ดินที่ออกมาก็แป้ก ก็ไม่มีใครเดือดร้อนหรือประท้วง นี่คือจิตใต้สำนึกของความเป็นไทยที่อยู่กับความคิดว่าที่ดินเป็นของคนมีเงิน มีบุญ

ชลัท ประเทืองรัตนา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า (ที่มาภาพ : EconTU Official )

สันติภาพกับความเหลื่อมล้ำ

ชลัท ประเทืองรัตนา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า

สำหรับผมมองว่าความเหลื่อมล้ำจะนำมาซึ่งปัญหาด้านความสันติสุขอย่างรุนแรง ถ้ามีความเหลื่อมล้ำมากๆสันติสุขไม่เกิด อาจจะมีการใช้ความรุนแรงด้วย ดังที่ Chuck Collins กล่าวไว้ว่าหากความมั่งคั่งกระจุกตัวมากๆ จะนำไปสู่การลุกฮือ ความเหลื่อมล้ำกับสันติสุขมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันซึ่งหากมีความสันติสุขในระดับที่ดีความเหลื่อมล้ำจะลดลงตามรายงานของ Institute for Economics and Peace หรือ IEP ที่พยายามวัดสันติสุขของโลก

ในการวัดระดับสันติสุขจะมอง 2 ตัวคือสันติภาพเชิงลบกับสันติภาพเชิงบวก สันติภาพเชิงลบก็คือไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ แต่มันไม่เพียงพอในการอธิบาย เรื่องความเหลื่อมล้ำจะมาตรงนี้ในสันติภาพเชิงบวกคือทัศนคติ สถาบัน โครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้เกิดสังคมที่สันติ ถ้าเราดูรายงานที่เขาทำอย่างสม่ำเสมอของ Global Peace Index ในรายงานสันติภาพเชิงลบกับสันติภาพเชิงบวกปี 2019 เรื่องของความเหลื่อมล้ำมันอยู่ข้างใต้ภูเขาน้ำแข็ง

ตัวที่เขาอธิบายเรื่องความเหลื่อมล้ำมี 8 องค์ประกอบที่เขาใช้อธิบายสันติภาพเชิงบวกแบบเร็วๆ  เช่น การคอรัปชัน การทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ดี การลงทุนทางธุรกิจ การกระจายข้อมูลข่าวสาร ใน 8 องค์ประกอบนี้ตัวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องความเหลื่อมล้ำก็คือเรื่องการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมและการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งในแต่ละตัวจะมีคำอธิบายตัวชี้วัด เช่น อายุขัย การเลื่อนชั้นทางสังคม ช่องว่างของความยากจน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางสังคมที่ใช้ในระดับโลกและเปรียบเทียบประเทศต่อประเทศ เวลาวัดสันติสุขออกมาจะเป็นสเกลของประเทศต่อประเทศ ส่วนในเรื่องทุนมนุษย์ ตัวชี้วัด เช่น การเรียนต่อของคนในสังคม ดัชนีนวัตกรรม และการพัฒนาเยาวชน

ในทางสากลเวลามองสันติภาพเชิงบวกกับความเหลื่อมล้ำของไทยไม่ได้เป็นปัญหามากนักเมื่อเทียบกับ 8 องค์ประกอบ แต่การกระจายตัวของทรัพยากรที่เป็นธรรมกลับขึ้นเป็นอันดับ 1 ในเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ก็ขึ้นอันดับ 2 ซึ่ง 2 ใน 8 ตัวนี้กลับกลายเป็นเรื่องที่ดีเวลาเรามองสันติภาพเชิงบวก ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่าแปลกใจ ซึ่งมันอยู่ที่ว่าใช้ตัวชี้วัดอะไรในการอธิบาย

ในส่วนของ Thai Peace Index ที่สถาบันพระปกเกล้าพัฒนาร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งออกมาเป็นเวอร์ชั่นแรกและจะเก็บเวอร์ชั่น 2 ต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การทำดัชนีชี้วัดตัวนี้เพื่อเป็นการเตือนสังคมไทยว่าจะมีสันติสุข จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ ตัวชี้วัดที่ใช้ในการอธิบายสันติสุขก็จะมี 4 ตัวคือไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ มีความเหลื่อมล้ำน้อย การยอมรับความหลากหลาย และความมั่นคงปลอดภัยในสังคม

ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำจะมีอยู่ 8 ตัวซึ่งมีทั้งที่เป็นข้อมูลเชิงทัศนคติและข้อเท็จจริงเชิงทุติยภูมิที่เป็นข้อมูลของหน่วยงานผสมกับข้อมูลจากการสำรวจมุมมองของคนว่ามองอย่างไรต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ผลการประเมินในระดับภาพรวมของประเทศ สีแดงเข้มคือน่าเป็นห่วง ส่วนสีเขียวเข้มแปลว่าดี ซึ่งพบว่าองค์ประกอบสันติภาพของไทยอยู่ในระดับกลางๆ คือได้ 3.23 เป็นสีเหลือง ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ 2.75 เป็นคะแนนที่น้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ 4 ตัวชี้วัดหลัก แต่ไม่ถึงขั้นเลวร้ายในระดับสีแดงเข้ม ส่วนที่ดีที่สุดคือไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ

เมื่อถามถึงมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำที่คนคิดว่าเยอะมากคือด้านรายได้ ทรัพย์สิน การศึกษา กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ผมขอนำเสนอการแก้ปัญหาความขัดแย้งใน 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1 เรื่องการศึกษาเพื่อสันติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำก็คือมองคนให้เป็นคนจะทำอย่างไร มติคณะรัฐมนตรีพฤศจิกายน 2548 ผลักดันให้มีการเรียนการสอนเรื่องสันติวิธีในหลักสูตรที่มีความพร้อมเพื่อให้เห็นว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน

ประเด็นที่ 2 คือการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการไกล่เกลี่ยให้เต็มแผ่นดิน ทุกพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน มันจะลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องไม่ต้องไปกระจุกตัวอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันนี้มี พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ย 2562 ถ้ามีการสร้างมาตรฐานในการใช้คนกลาง เวลามีความขัดแย้งก็ไปจบที่หมู่บ้านของเรา ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเข้ามาที่ส่วนกลาง ให้เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ สำคัญๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมดีกว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ คดีแพ่ง คดีอาญาที่ยอมความได้ก็จบลงที่กระบวนการในหมู่บ้าน ปัญหาเกิดตรงไหนก็แก้ตรงนั้น และการที่มีกฎหมายมารับรองด้วยก็เป็นโอกาสอันดีที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีทั้งการไกล่เกลี่ยในภาครัฐ ภาคประชาชน และในโรงพัก ทุกหมู่บ้านจะมีโอกาสสร้างผู้ไกล่เกลี่ยที่มีความเป็นมืออาชีพ

อารยะ ปรีชาเมตตา ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (ที่มาภาพ : EconTU Official ​​​​​​​)

อนาคตของความเหลื่อมล้ำในไทย

อารยะ ปรีชาเมตตา ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

ผมอยากจะชวนมองไปข้างหน้าโดยมีอยู่ 3 ประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่าเราจะสามารถแก้ความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนได้หรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยที่เราต้องดู

ตัวที่ 1 คือตัวชี้วัดของเราที่มีปัญหาอยู่นี้มีปัญหาอะไรบ้างและเราจะแก้อย่างไร ตัวที่ 2 คือนโยบายที่เราเคยคิดว่าจะใช้ได้ผลซึ่งเคยใช้ได้ผลในต่างประเทศแต่มันเริ่มจะใช้ไม่ได้ผล ตัวที่ 3 คือนโยบายที่เราใช้แล้วใช้ผิดและทำอย่างไรเราจะมีนโยบายที่ผิดพลาดเหล่านี้น้อยลง

ประเด็นแรก ค่าจีนีก็มีปัญหาในตัวของมันเอง ถ้าเราดูตัวเลขจากสภาพัฒน์ซึ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางรายได้และรายจ่ายในเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ปัญหาของค่าจีนีก็คือมันเป็นการวัดความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างสถิต ไม่มีความสามารถในการวัดความเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำในเชิงพลวัตหรือเชิงโครงสร้าง ปัญหาหลักคือรายได้ที่เราวัดนี้ไม่ได้ครอบคลุมรายได้ของคนที่มีรายได้สูงเพราะหาตัวเลขไม่ได้ มันก็มีความพยายามที่จะหาข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลทางด้านภาษี เพราะฉะนั้นในความเป็นจริง มันมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าที่เราเห็นและปัญหาที่เราไม่ได้วัดตัวนี้ก็เพราะว่าในช่วง 2550 และ 2551 เรามีวิกฤตการณ์ทางการเงิน แล้วเราไม่ได้วัดรายได้ของคนที่มีรายได้สูง ซึ่งในช่วงนั้นมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของโลกที่ทำให้ดอกเบี้ยต่ำมากทั่วโลก ปริมาณเงินก็เพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นในช่วงนั้นขยับตัวสูงขึ้นเยอะ คนที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือคนที่มีรายได้สูง ดังนั้น ความแตกต่างในช่วงนี้มันไม่ได้สะท้อนในค่าจีนี มันจึงไม่สามารถสะท้อนปัญหาในเชิงพลวัตได้

ถ้าเราจะใช้มัน เราต้องพยายามบวกมุมมองข้อมูลอื่นๆ เข้าไป แม้บางคนจะพยายามบอกให้ดูความเหลื่อมล้ำในเรื่องของสินทรัพย์ ซึ่งจะเหลื่อมล้ำมากกว่านี้ แต่ก็ยังมีปัญหาว่าสินทรัพย์ที่เราวัดได้มีจำนวนไม่ครบ มันก็จะชี้นำไปสู่นโยบายตามมา อันนี้คือจุดอ่อนข้อที่ 1 แต่ต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม มันสะท้อนให้เห็นง่ายๆ ว่าคนที่มีรายได้ต่ำสุดจะมีหนี้สินต่อรายได้สูงมากกว่าช่วงรายได้อื่นๆ พอไม่สามารถชำระคืนได้ภายในกรอบของรายได้ที่มีอยู่ปัญหาสังคมต่างๆ ก็จะตามมา

ปัญหาก็คือว่าแล้วในอนาคตปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเหมือนกับปัจจุบันหรือไม่ อันนี้เป็นจุดที่สำคัญมากเพราะว่าจากเครื่องมือที่เรามีอยู่ซึ่งมีลักษณะสถิต เราไม่สามารถคาดคะเนไปถึงปัญหาในอนาคตได้ เราก็จะติดยึดกับการออกนโยบายที่ตามแก้ปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่สามารถแก้ได้อย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ การแก้ปัญหาแบบนี้คุณก็จะตามแก้ไปเรื่อยๆ มันอาจต้องหันมามองว่าความเหลื่อมล้ำในอนาคตจะเป็นอย่างไร เกิดจากโครงสร้างอะไร และเราแก้ปัญหาล่วงหน้าคือพยายามสกัดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ในอนาคตความเหลื่อมล้ำจะเกิดจากอะไร ที่เราพูดกันบ่อยๆ ก็จะมีเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องปัจจัยภายนอก เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งจะสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง อีกปัญหาหนึ่งก็คือนโยบายของรัฐบาลเอง ก็คือนโยบาย 4.0 ซึ่งจะมีผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น และถ้าเราไม่วางแผนไว้ล่วงหน้าไปตามแก้ทีหลัง มันจะลำบากมาก ต้นทุนในการแก้จะสูงมาก เหมือนกับการพัฒนาแผน 1 ที่ผ่านมาไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรและมาตามแก้ทีหลัง

เทคโนโลยีมีทั้งบวกและลบ มันทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ถ้ามันถูกผูกขาดด้วยคนกลุ่มหนึ่งหรือคนที่มีความสามารถในการผลิตเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำก็จะเกิดมากขึ้นและมันก็จะลามให้แก้ยากขึ้น เพราะถ้าการศึกษาของเด็กที่ด้อยโอกาสไม่สามารถได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสที่เขาจะเข้าสู่เซ็คเตอร์พวกนี้ก็จะลำบากมากขึ้น และเทคโนโลยียังสะท้อนว่ามันเปลี่ยนปัญหาโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ ในอดีตความเหลื่อมล้ำเกิดจากการถือครองที่ดิน ก่อนหน้านั้นก็เป็นเรื่องของแรงงาน ในอนาคตจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและการสะสมความมั่งคั่งอาจจะไม่ใช่การสะสมที่ดินแล้ว แต่นโยบายของเราก็ยังมัวแต่กระจุกตัวอยู่กับเรื่องพวกนี้ก็จะตามปัญหาไม่ทัน

ผลจากนโยบาย 4.0 ผมคาดเดาฉากทัศน์ในอนาคตซึ่งรัฐบาลพยายามใช้นโยบายนี้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับรายได้ของประเทศให้ข้ามกับดักรายได้ประเทศปานกลางก็คือพยายามลงทุนด้านเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันถ้าไม่มีแผนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมาเพราะว่าเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ไม่ได้สร้างแต่ความเจริญอย่างเดียว มันสร้างความเหลื่อมล้ำด้วย

ถ้าดูจากนโยบายตอนนี้โอกาสที่เป็นไปได้ก็คือฉากทัศน์ที่ไทยอาจก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ แต่คงไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ถ้าเราไม่มีแผนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติกล่าวคือมันต้องมีแผนระยะยาว

ประเด็นที่ 3 ก็คือนโยบายที่เคยใช้ได้ผลต่อไปยังจะใช้ได้ผลหรือเปล่า แล้วทำไมมันถึงจะใช้ไม่ได้ผลต่อไปก็คือเรื่องของระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งนักวิชาการเราตั้งความหวังกับเครื่องมืออันนี้มาก คำถามคือว่าต่อไปมันจะใช้ได้หรือไม่หรือมันจะใช้ได้ดีเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

เราลองมาดูประเทศเดนมาร์กถ้าเราดูในปี 1910 ถึงประมาณปี 1980 จีดีพีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในช่วงเดียวกันความเหลื่อมล้ำก็ลดลงในช่วง 1920 ถึง 1970 แปลว่าระบบสวัสดิการสังคมได้ผลประโยชน์ 2 อย่างคือทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำก็น้อยลง โดยเขาเน้นเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพและมีการออกระเบียบต่างๆ เพื่อให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงได้อย่างเสรี แต่มันมีจุดตัดที่ปี 1980 หลังจากนี้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ มันสะท้อนว่าระบบที่เคยใช้ได้ดีมันมีปัญหาแล้ว คำถามก็คือปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

มีอยู่ 2 เรื่องเท่าที่ผมรวบรวมมา เรื่องที่ 1 ก็คือ เราจะเห็นว่าแชร์จีดีพีของประเทศที่พัฒนาแล้วน้อยลงเรื่อยๆ เพราะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะจีนกับประเทศในเอเชียแย่งส่วนแบ่งไป อันนี้ก็อธิบายว่าทำไมระบบสวัสดิการของประเทศที่เจริญแล้วถึงได้มีปัญหา ก็เพราะว่าความสามารถในการแข่งขันไม่ได้ดีเท่าเมื่อก่อน แล้วความสามารถในการให้บริการระบบสวัสดิการก็จะด้อยลง

ปัญหาที่ 2 คือพอมีระบบสวัสดิการดีๆ ก็จะมีแรงงานต่างชาติย้ายเข้ามา ตัวอย่างที่เราเห็นชัดๆ คือการที่อังกฤษต้องออกจากอียูหรือการที่อเมริกาสร้างกำแพงกั้นระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐ อันนี้คือปัญหาแรงงานอพยพซึ่งทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วระบบสวัสดิการสังคมก็มีปัญหาตามมา

ทีนี้เรามาดูระบบสวัสดิการสังคมในประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ว่ามีปัญหาหรือไม่ ตัวอย่างที่เราเห็นชัดก็คือประเทศเวเนซูเอลา ไม่เกิน 10 ปีที่แล้วยังมีนักวิชาการบางคนบอกให้ไปศึกษาระบบสวัสดิการของประเทศนี้และจะนำมาใช้กับประเทศไทยได้อย่างไร แล้วดูสภาพปัจจุบันของเวเนซุเอลา ปัญหาก็คือว่าเขามีระบบสวัสดิการได้เพราะเขามีน้ำมัน แต่ถ้าบริหารเศรษฐกิจไม่ดีทั้งประเทศก็จะเจอปัญหาอย่างที่เราเห็น นโยบายประชานิยมสุดโต่ง มีการอุ้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมากเกินไปโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา และไปอิงกับรายได้ของน้ำมันอย่างเดียว พอราคาน้ำมันในตลาดโลกตก ทุกอย่างก็เลยพัง อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่าระบบสวัสดิการสังคมที่เราเคยคิดว่าจะแก้ปัญหาได้เริ่มมีปัญหาแล้วในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีค่อนข้างสูง

กุญแจของเรื่องนี้ก็คือเราต้องดูเรื่องความสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำใหม่ และจากการวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้มันก็จะนำไปสู่ทางออก คือถ้าเราวิเคราะห์ปัญหาถูก เราก็จะเจอทางออก

ประเด็นคือจะหาจุดสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับความเหลื่อมล้ำอย่างไร ผมมีอยู่ 3 ประเด็น ผมเข้าใจว่าอนาคตความเหลื่อมล้ำของประเทศจะขึ้นอยู่กับ 3 เรื่องหลักๆ คือการขยายตัวของเมืองมากขึ้น ปัญหาเรื่องระบบสุขภาพ แลเรื่องการศึกษา

นโยบาย 4.0 ของภาครัฐจะขยายพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่อย่าง eec ออกตัวก่อนว่าภาษีที่ดินมีความสำคัญในการกระจายรายได้ แต่การใช้ภาษีที่ดินเราต้องมองปัญหาในเชิงพลวัต ประเด็นคือการกระจุกตัวของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ลามจากกรุงเทพฯ ไปทางตะวันออก ประเด็นภาษีที่ดินรกร้างที่มีความพยายามจะใช้ ปัญหาอยู่ที่เรามองมันในเชิงสถิติ หยุดนิ่งกับที่ และมองว่ามีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เราจึงเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อให้ใช้ประโยชน์

เราไปเชื่อว่าการเก็บที่ดินว่างเปล่าไว้ก็เพื่อเก็งกำไร จริงๆ แล้วในทางเศรษฐศาสตร์ ทางเศรษฐกิจ การเก็บที่ดินไว้มีเหตุผลทางเศรษฐกิจอยู่ว่าต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินสูงมาก เพราะฉะนั้นคุณจะต้องมีโจทย์อยู่ 2 โจทย์ที่จะต้องตัดสินใจ คือภายใต้อนาคตที่ไม่แน่นอนคุณต้องตัดสินใจว่า ณ จุดเวลาไหนที่เหมาะสมและคุณจะพัฒนาเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอะไร เพราะถ้าคุณทำผิดโอกาสที่จะย้อนกลับไปใช้ประโยชน์แบบเดิมจะยากมาก การเก็บที่ดินไว้ในเชิงเศรษฐกิจจึงมีเหตุผลอยู่ด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ที่ดินนั้น

ถ้าเราไม่เข้าใจประเด็นนี้ เมื่อกฎหมายออกมา คนที่จะได้รับผลกระทบก็คือคนที่ถือครองที่ดินที่เป็นรายเล็กรายน้อยที่ไม่สามารถทนกับภาษีที่ถูกเก็บได้หรือไม่สามารถหารูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมได้ ถ้าเขารีบเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ถึงที่สุดการทำอย่างนั้นจะไม่สามารถต้านทานแรงของตลาดได้ เขาก็จะต้องเสียที่ดินนั้นไปและคนที่ได้ที่ดินก็จะเป็นคนที่มีสายป่านยาวกว่าหรือมีความร่ำรวยมากกว่า ในแง่นี้แทนที่จะลดความเหลื่อมล้ำกลับยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ประเด็นก็คือภาษีที่ดินมีประโยชน์ แต่เราต้องมองภาษีที่ดินบางประเภทในเชิงพลวัต

ประเด็นต่อมาก็คือว่าเมื่อรัฐบาลลงลงทุนใน eec โดยการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แล้วเราจะเอาภาษีที่ไหนมาชดเชย มันก็ต้องมีแผนระยะยาวตั้งแต่ต้นว่าพื้นที่เหล่านี้เมื่อพัฒนาแล้วจะต้องถูกเก็บภาษีแพงขึ้นในอนาคตเมื่อเขาสามารถจ่ายภาษีได้ อาจมีคนเถียงว่าถ้าทำอย่างนั้นบริษัทเหล่านี้ก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งคำตอบนี้ ผิด เพราะว่าที่ดินเหล่านี้อยู่ในจุดกลางเมืองที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจะมีการประหยัดจากขนาด เพราะฉะนั้นมันจะมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่เกินอยู่แล้ว พวกนี้จะมีกำไรเกินปกติอยู่แล้ว ถึงแม้จะเก็บภาษีสูงขึ้นในทางเศรษฐกิจก็ไม่ทำให้เขาแข่งขันได้น้อยลง การเก็บภาษีในที่ดินเหล่านี้ควรเป็นแผนระยะยาวที่ต้องทำเดี๋ยวนี้แล้ว

ประเด็นที่ 2 ระบบสาธารณสุข สิ่งที่ผมอยากจะเสริมก็คือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันเหมือนจะฟรี แต่สำหรับคนยากคนจนไม่ได้ฟรี เพราะเขาต้องเสียเวลาในการทำมาหากินไปต่อคิวที่ยาว มันจึงเกิดกรณีที่ว่ามีสิทธิ์แต่ไม่ไปใช้สิทธิ์เพราะเขาต้องเสียต้นทุนในการไปใช้สิทธิ์ แล้วระบบนี้ก็จะมีปัญหาถ้าเราเข้าสู่สังคมสูงอายุ ที่ระบบนี้ใช้ได้เพราะเป็นระบบกระจายความเสี่ยง เราไม่ได้เจ็บป่วยพร้อมกันทุกคน แต่เมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ active aging ก็ตาม ธรรมชาติก็จะบังคับให้คนป่วยพร้อมกัน ระบบก็จะมีความเสี่ยง หมอรุ่นใหม่ๆ ทำงานหนักมาก หลายคนก็เริ่มมีปัญหาแล้วว่าระบบแบบนี้เขาอยู่ไม่ได้

อีกประการหนึ่งก็คือคนจน เมื่อมีคนไปใช้สิทธิ์เยอะมาก เวลาที่ต้องรอก็จะนานขึ้นและด้วยเหตุผลในเชิงงบประมาณว่าคุณให้ต่อหัวเท่านี้ เวลาไปหาหมอคนจนจะถูกทำให้ไปหาหมอถี่กว่าความจำเป็นเพราะว่าต้องกระจายค่าใช้จ่ายต่อครั้งมากขึ้น นี่จึงเป็นต้นทุนแฝงอยู่ที่คนจนเลี่ยงไม่ได้ เป็นความเหลื่อมล้ำในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นระบบการจ่ายเสริมก็เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งมีอยู่ 2 แบบคือจ่ายเสริมโดยสมัครใจกับจ่ายเสริมโดยภาคเอกชนมาร่วม ซึ่งผมคิดว่าทั้งสองแบบนี้น่าจะต้องมีการทำวิจัยเพิ่มขึ้นเพื่อหาคำตอบออกมา

ประการสุดท้ายคือเรื่องของการศึกษาที่มีคุณภาพ ผมคิดว่าทุกคนทราบว่าการศึกษาปฐมวัยมีความสำคัญ ดูได้จากคนที่มีฐานะดีก็จะส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ ปัญหามันอยู่ที่ว่าคุณภาพการศึกษาที่ดีของปฐมวัย มันกระจายไม่ทั่วถึง เราเคยมีการปฏิรูปการศึกษาเมื่อหลายสิบปีที่แล้วโดยใช้แนวคิด Child Center แต่เราไม่ได้พูดถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาสว่าจะเข้าไปใช้บริการเหล่านี้ที่มีคุณภาพได้อย่างไร และที่ผมเรียนแล้วว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญ การศึกษาที่จะทำให้เด็กรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีความสำคัญมาก เพราะว่าหลังจากช่วงนี้ไปแล้วโอกาสที่เขาจะไล่ทันเด็กอื่นก็จะลำบากมากขึ้น 3 เรื่องหลักๆ นี้จะเป็นทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net