Skip to main content
sharethis

'Ask Dr. Ruth' สารคดีเล่าชีวิตกูรูเซ็กส์ชื่อดังของอเมริกาที่จุดประกายให้มีการพูดคุยถกเถียงเรื่องเพศในสังคมอย่างกว้างขวาง ในทศวรรษ 80 ที่การพูดเรื่องนี้ยังต้องห้ามและน่าอาย ย้อนมองสังคมไทยกฎหมายมีส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเพศในหลายมิติ แต่ครูยังสอนไม่ถึง และทัศนคติของสังคมยังไม่เปิดกว้าง

ในทศวรรษ 1980 สมัยที่คนอเมริกันหลายคนยังคิดว่าเซ็กส์เป็นเรื่องต้องห้ามและน่าอาย ดร.รูธ เวสต์ไฮเมอร์ คือหญิงชาวยิวผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นนักจิตบำบัดทางเพศที่กลายมาเป็นผู้บุกเบิกรายการทางตอบเรื่องเพศให้กับสื่อวิทยุก่อนจะโด่งดังเป็นพลุแตกจนมีรายการโทรทัศน์ของตัวเองที่ชื่อ ‘Ask Dr. Ruth (ถามดร.รูธ)’ 

คำถามอย่าง “ขนาดของผมใหญ่มากจนผู้หญิงหลายคนกลัว” “ฉันอยากช่วยตัวเองควรเริ่มยังไง” ไปจนถึงความกังวลเรื่องความผิดปกติทางเพศในแบบต่างๆ ถูกออกอากาศในรายการเธอมาแล้วแทบทั้งนั้น “จู๋” “จิ๋ม” “คลิตอริส” “การแข็งตัว” คือศัพท์ธรรมดาที่พูดในรายการ

“ฉันไม่ชอบใช้คำว่า ‘ปกติ’ อะไรคือความปกติ มันไม่มีมาตรฐานไหนมาวัด สิ่งที่สำคัญคือการเคารพกัน ทั้งบนเตียงและทุกที่” เธอว่าแบบนั้น

ด้วยความสำเร็จของรูธในการเป็นกูรูเซ็กส์ และชีวิตที่เข้มข้นเปี่ยมพลังเต็มไปด้วยน้ำตาและเสียงหัวเราะของเธอตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งเป็นคุณยายวัย 90 ปีในปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่คนทำหนังสารคดีอย่าง ไรอัน ไวท์ จะสนใจและถ่ายทอดเรื่องราวของเธอออกมาเป็นหนังสารคดีในชื่อ ‘Ask Dr. Ruth’ หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘อายครูไม่รู้วิชา อายกามา...ปรึกษารูธ!’ และโชคดีที่ในไทยบ้านเราก็ได้  Documentary Club นำเข้ามาฉาย 

 

กูรูเซ็กส์ที่รณรงค์ทำแท้งถูกกฎหมาย-เข้าใจโรคเอดส์

ย้อนไปในช่วงที่รูธอายุ 10 ขวบ เธออาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เมืองแฟรงค์เฟิร์ต ในเยอรมัน เมื่อมีกวาดต้อนคนยิวเข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน แม่และย่าของเธอจึงส่งเธอขึ้นรถไฟไปสวิตเซอร์แลนด์ และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่รูธได้อยู่กับครอบครัว ที่สวิตเซอร์แลนด์เธออยู่ในบ้านเด็กกำพร้าที่ซึ่งมีเด็กแบบเดียวกับเธออีกหลายคนอาศัย อาจด้วยความเปลี่ยวเหงาตั้งแต่วัยเยาว์ รูธจึงมีคนรักมากหน้าหลายตาตั้งแต่วัยรุ่น และแต่งงานทั้งหมดสามครั้ง

ชีวิตของเธอโลดโผนในยุคที่สภาพบ้านเมืองเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของสงคราม แต่วิธีมองโลกของเธอนั้นเปี่ยมอารมณ์ขันและพลังด้านบวก เธอเคยไปอยู่อิสราเอล เคยเป็นทหารสไนเปอร์ เคยโดนระเบิดขาจนเกือบเดินไม่ได้ แต่เธอก็เล่าว่าได้เจอกับหมอหล่อ ที่เธอแสร้งว่ากินข้าวเองไม่ได้และให้เขาป้อนตลอดสามมื้อที่อยู่โรงพยาบาล

รูธแต่งงานครั้งแรกกับเพื่อนทหาร ตกลงไปเรียนต่อด้วยกันที่ปารีส เขาเรียนหมอ ส่วนเธอเรียนจิตวิทยา แต่เขาเรียนไม่รอดและอยากกลับอิสราเอล ส่วนเธอให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างที่สุด ทั้งคู่จึงแยกทาง ต่อมารูธเจอสามีคนที่สอง มีลูกด้วยกันและย้ายไปอยู่อเมริกา เธอให้เหตุผลของการแยกกันครั้งนี้ว่า “เพราะฉันรู้ว่าเราเข้ากันไม่ได้ เขาไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ ฉันยกรถให้เขา ส่วนลูกอยู่กับฉัน” เธอกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวยุคแรกๆในตอนนั้น ก่อนท้ายสุดเธอจะได้เจอสามีคนสุดท้ายที่เธอให้คำจำกัดความว่า “นี่คือการใช้ชีวิตคู่ที่แท้จริง”

รูธทุ่มเทให้กับการทำงานและการเรียนต่อ เธอเคยเข้าไปทำงานด้านการวางแผนครอบครัว และเคยเป็นผู้ช่วยนักจิตบำบัดชื่อดังอยู่ 7 ปี ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การจัดรายการวิทยุที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล จากรายการวิทยุทางช่องเล็กๆ กินเวลา 15 นาทีก็กลายเป็นรายการโทรทัศน์ยาว 2 ชั่วโมง รายการของเธอเหมือนเป็นการปล่อยก๊อกเปิดเขื่อนให้ผู้คนทั่วสารทิศในอเมริกาที่สงสัย อัดอั้นเรื่องวิถีทางเพศ รสนิยมทางเพศ การจัดการความสัมพันธ์ การมีเซ็กส์ สุขอนามัยทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ที่ไม่อาจเอ่ยปากกับใครได้หลั่งไหลเข้ามาปรึกษากับเธอ

"ฉันมาจากครอบครัวชาวยิวออร์ธอด็อกซ์ และเซ็กส์สำหรับคนยิวไม่ใช่เรื่องผิดบาป" รูธเล่าแบบนั้น

แม้รูธจะบอกว่าไม่ขอพูดถึงทัศนคติทางการเมือง เพราะอาจทำให้ขาดความไว้ใจกับผู้ที่มาปรึกษากับเธอ แต่เธอประกาศตัวชัดเจนว่าสนับสนุนเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมาย สนับสนุนสิทธิคนรักเพศเดียวกัน และเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์และการรักษา ในขณะที่สังคมอเมริกันตอนนั้นทั้งรัฐบาลและผู้นำศาสนาโทษกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะคนแพร่เชื้อ เธอช่วยให้คนที่รู้สึกไม่ปกติและรังเกียจในเพศวิถีของตัวเองได้ยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น 

 

ย้อนดูไทย สังคมยังไม่เข้าใจเรื่องเชื้อเอชไอวี

เมื่อย้อนมองดูในบ้านเรา แน่นอนว่าเรื่องเพศและเซ็กส์แม้จะเริ่มพูดคุยกันได้อย่างไม่กระดากปากนัก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมได้อย่างเต็มที่ และจากข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เรารู้ว่าความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับสุขอนามัยทางเพศยังมีปัญหา เราได้เห็นดราม่าอย่าง ‘พีทคนเลือดบวก’ เปิดคอร์สสอนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเห็นข่าวนักศึกษาที่เชียงใหม่กินยาทำแท้งตกเลือดจนเสียชีวิตคาห้องพัก

ในกรณีของพีทคนเลือกบวกนั้น นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวไว้ในรายการต่างคนต่างคิดทางช่องอมรินทร์ทีวีว่า  การที่คนมีเชื้อกินยาต้านไวรัสจนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้อแล้วแม้เชื้อยังมีอยู่ หรือที่เรียกกันว่าทฤษฎี U=U (ยูเท่ากับยู) การมีเซ็กส์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย เชื้อที่มีจะไม่แพร่สู่คู่นอนโดดเด็ดขาด นั่นเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว จากการติดตามคู่รัก 2,000 กว่าคู่ที่ในระยะเวลา 2-3 ปี แต่นั่นหมายความว่าผู้ติดเชื้อต้องกินยาตลอด 

“U=U มีประโยชน์ไม่เฉพาะคนที่ติดเชื้อ แต่รวมถึงคู่ของเขา และสังคมในภาพรวม ถ้าติดเชื้อแล้วยากิน ก็สามารถแต่งงานได้ มีลูกได้ และทำให้เขากล้าไปตรวจเลือด ไม่ต้องเป็นห่วง กังวล โทษตัวเอง และจะไม่มีเรื่องการไล่คนออกจากงานเพราะติดเชื้อ หรือไม่ให้บวชเพราะติดเชื้อ” นพ.ประพันธ์ระบุ

นอกจากนี้ นพ.ประพันธ์ยังระบุว่า การที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางกับคนที่ติดเชื้อแล้วกินยาอย่างดีจนตรวจไม่พบเชื้อนั้นปลอดภัยมากกว่าการไปมีเพศสัมพันธ์แบบเดียวกันกับใครก็ไม่รู้ที่ไม่เคยตรวจเลือดเลย แต่ทั้งนี้แน่นอนว่าผลข้างเคียงของการไม่ใส่ถุงยางยังมีอยู่ คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม

ขณะเดียวกันจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระ ระบุว่า สิ่งที่พีทพูดนั้นถูก แต่สิ่งที่ผิดคือพีทเล่นใหญ่เกินไป ใช้คำหวือหวาเกินไป และพูดไม่หมด พอกระแสจุดติดก็มีวิธีการจัดการกับกระแสที่ไม่ถูก มีคนออกมาด่าก็ไปด่าเขากลับโดยไม่อธิบายให้ข้อมูล ทำให้องค์กรต่างๆ ที่กำลังรณรงค์เรื่องเชื้อเอชไอวีทำงานกันลำบาก และคนในสังคมสับสน 

“สังคมตอนนี้ยังไม่เข้าใจและไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องเอชไอวีอย่างอัพเดต  วิสัยทัศน์ของสังคมต้องเปลี่ยนจากการแบ่งว่านี่คือเลือดบวก เลือดลบ เป็นการแบ่งว่าแพร่เชื้อ หรือไม่แพร่เชื้อ” จตุรงค์กล่าว 

 

กฎหมายพอมีแต่ทัศนคติของสังคมยังเปลี่ยนไม่ได้

แสงจันทร์ เมธาตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic-learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต มูลนิธิ Path2Health ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมเพศวิถีศึกษา และหนึ่งในคณะทำเนื้อหาหนังสือวิชาสุขศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และเป็นคณะกรรมการปรับเนื้อหาวิชาสุขศึกษากับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ปรากฎการณ์ในสังคมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าใจมิติเรื่องเพศวิถีและสัมพันธภาพหรือความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะไม่มีการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีอย่างเป็นระบบ เพราะสังคมบอกว่าไม่ควรพูดคุยกันถึงเรื่องพวกนี้

แม้ขณะนี้ในไทยมีกฎหมายที่ก้าวหน้าในระดับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น พ.ศ.2559 นำมาซึ่งสถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้ให้ครบทุกมิติในแง่มุมเกี่ยวกับเพศ ต้องส่งเสริมให้ครูสามารถสอนเรื่องพวกนี้ได้ หรือเด็กท้องก็มีสิทธิได้เรียนต่อ

แต่แสงจันทร์เห็นว่า ทั้งหมดนี้ยังไปไม่ถึงด้วยทัศนคติของคนรุ่นก่อนที่ฝังแน่นอยู่ การเปลี่ยนคนในยุคหนึ่งที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมอีกแบบหนึ่งเพื่อให้เข้าใจวิถีคนรุ่นใหม่นั้นใช้เวลาพอสมควร การสื่อสารและช่วยเด็กได้จริงๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพ ครูที่สอนเรื่องเพศศึกษาก็ยังเข้าไม่ถึงเชิงมิติสังคมวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อเรื่องเพศ ขาดผู้ใหญ่ที่ลุ่มลึกต่อการมองมิติเรื่องเพศในแง่มุมต่างๆ วัยรุ่นจึงขาดที่ปรึกษา ขาดคนที่จะชวนคิดชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องสัมพันธภาพของคน เช่น การยินยอมพร้อมใจในการมีเพศสัมพันธ์ หรือหากตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เด็กผู้หญิงต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว เด็กผู้ชายเองก็ต้องถูกปลูกฝังเรื่องการรับผิดชอบ ไม่ว่าเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย หรือการไม่ล่วงละเมิด

แสงจันทร์ชี้ว่า บางทีผู้ใหญ่ก็รู้สึกว่าถ้าพูดละเอียดเกินไปจะทำให้คนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น เช่นเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย หรือการอยู่ในสถานการณ์ขอมีเพศสัมพันธ์จะมีวิธีหลีกเลี่ยงถ้าไม่พร้อมหรือตกลงอย่างไร 

“ทั้งที่มันเป็นความปลอดภัยของเด็ก เป็นทางเลือกของเขา เป็นการจัดการความสัมพันธ์ ดังนั้นเด็กต้องเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้จึงทำให้เด็กยังถูกบีบให้ออกจากโรงเรียนเมื่อตั้งครรภ์ เป็นภาระของครอบครัวต่อ หรือถ้าเด็กอยากยุติการตั้งครรภ์ผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าอย่า แล้วเข้ามาช่วยดูแล หรือพูดทำนองว่า หมูหมากาไก่ยังเลี้ยงลูกได้เลย ซึ่งเป็นการพูดแบบตัดสินเด็ก เป็นปัญหาที่วนอยู่แบบนี้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนาน” แสงจันทร์ระบุ

“ในสังคมก็พอมีพื้นที่พูดคุยเรื่องพวกนี้กับคนสนิท แต่ประเด็นคือการพูดคุยนั้นอยู่บนข้อเท็จจริง อยู่บนฐานขององค์ความรู้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่มันก็จะยิ่งส่งผลกระทบ เช่น กรณีน้องที่เชียงใหม่ อาจได้ข้อมูลว่าซื้อยาทำแท้งมาจากอินเตอร์เน็ต แต่ไม่ได้ประเมินอายุครรภ์ของตัวเอง ทำให้เขาต้องเสียชีวิต ซึ่งมันน่าเศร้า สังคมเราก้าวหน้ามาขนาดนี้ไม่ควรมีคนต้องเสียชีวิตเพราะเรื่องนี้ เทคโนโลยียุติการตั้งครรภ์นั้นก้าวหน้ามาก แค่ใช้ยาสอด แทบจะไม่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยซ้ำ ไม่ต้องใช้หลอดดูด ขูดมดลูก อะไรที่มันน่ากลัวเหมือน 20-30 ปีที่แล้ว แพทย์สั่งจ่ายยาปกติเพียงแต่ต้องรู้แม่นยำว่าท้องกี่เดือน และกฎหมายรองรับเรื่องยุติการตั้งครรภ์ก็มีแล้ว” แสงจันทร์กล่าว 

ทั้งหมดนี้แสงจันทร์มองว่า จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องรสนิยมทางเพศอีกมากที่ยังไม่ถูกพูดคุยในสังคม เช่น การสวิงกิ้ง การมีอะไรกับสัตว์ หรือการชอบใช้ความรุนแรงระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ทุกอย่างยังถูกมองว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ ขณะที่ในยุโรปหรืออเมริกาซึ่งเป็นสังคมก้าวหน้า เรื่องเหล่านี้ถูกพูดคุยกัน เพราะมันเป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนที่ไม่ได้ถูกจำกัดว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ หรือน่ารังเกียจ เพราะนี่คือความหลากหลายในรสนิยมของมนุษย์ ขณะที่บ้านเรายังติดอยู่กับแค่เรื่อง LGBT หรือการช่วยตัวเองก็ยังไม่ได้ถูกพูดถึง แต่เลี่ยงไปบอกให้เล่นกีฬา ทั้งที่การช่วยตัวเองนั้นเราทำได้เองและเป็นเรื่องที่ปลอดภัย 

 

รายงานผลการวิจัยเพื่อทบทวนการสอนเพศวิถีในสถานศึกษาไทย สำรวจข้อมูลนักเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 8,837 คน และครู 692 คนในโรงเรียนมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 398 แห่ง ช่วงเดือน ก.ย. 2558 ถึงเดือน มี.ค.2559 ชี้ว่า การสอนเพศศึกษาไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเคารพสิทธิของผู้อื่น ส่งผลนักเรียนจำนวนมากมีทัศนคติเชิงลบ ไม่เห็นด้วยกับความเท่าเทียมกันทางเพศและสิทธิทางเพศ และยอมรับความรุนแรงในครอบครัวในบางกรณี

สะท้อนจากผลวิจัย ร้อยละ 41 ของนักเรียนชายอาชีวะที่สำรวจ มีทัศนคติที่เป็นปัญหาเรื่องเพศภาวะ เพศวิถี โดยเชื่อว่าสามีมีสิทธิ์ทุบตีภรรยาได้หากพบว่าภรรยาไม่ซื่อสัตย์ ขณะที่ นักเรียนชายชั้น ม.1-3 ประมาณครึ่งหนึ่ง เชื่อว่าการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด นอกจากนี้ 70% ของผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รายใหม่อยู่ในเยาวชน 15-24 ปี และเยาวชน 15-19 ปี ให้กำเนิดบุตร 51 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน (2559) สูงลำดับต้นๆของอาเซียน

รายงานยังเปิดเผยผลวิจัยที่น่าสนใจอีกว่า สถานศึกษาไทยแทบทุกแห่งสอนเพศวิถีศึกษาไม่รอบด้าน เน้นสอนสรีระ พัฒนาการทางเพศ การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ครูเกินครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการอบรมการสอนเพศวิถีศึกษา ทำให้มักใช้วิธีสอนแบบบรรยาย แทนการจัดกิจกรรมให้เด็กคิด วิเคราะห์และตั้งคำถามเชิงลึก

นักเรียนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ตอบคำถามเกี่ยวกับการมีประจำเดือนและรอบเดือนได้อย่างถูกต้อง, นักเรียนหญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วหลายคนบอกว่ายาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีหลักในการคุมกำเนิด, นักเรียนชายจำนวนมากไม่ต้องการใช้ถุงยางอนามัย, นักเรียนมัธยมศึกษาหญิงเพียงร้อยละ 54 เท่านั้น ที่บอกว่ามั่นใจว่าจะสามารถต่อรองที่จะใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

"Ask Dr. Ruth"

อายครูไม่รู้วิชา อายกามา...ปรึกษารูธ!



ตัวอย่าง Trailer: https://www.youtube.com/watch?v=KJA-8X-Rczk

ฉายแล้ววันนี้ที่ House Samyan !
จองบัตรได้แล้วที่ app: House Cinema หรือที่ https://www.housesamyan.com/site/Movie/detail/411

รอบฉาย Showtime
Sun 16 - 12.50 / 16.00 / 19.50
Mon 17 - 12.05 / 16.00 / 19.30
Tue 18 - 12.05 / 16.00 / 19.00
Wed 19 - 12.05 / 16.00 / 19.00

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net