Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อผิดพลาดสำคัญในวงการศึกษาพุทธศาสนา-พุทธปรัชญาในบ้านเรา (โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยสงฆ์) คือการแบ่งแยกแบบลวกๆ ว่า พุทธศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ เช่น ศึกษาคำสอนแล้วนำมาปฏิบัติเพื่อการมีชีวิตที่ดี หรือเพื่อความพ้นทุกข์ ส่วนพุทธปรัชญาเป็นเรื่องของการคิดหาความสมเหตุสมผล (justification) ในระบบคำสอนของพุทธศาสนา หรือการวิเคราะห์ ตีความคำสอนพุทธศาสนาแยกแยะให้เห็นส่วนที่เป็นอภิปรัชญา, ญาณวิทยา, จริยศาสตร์ และอื่นๆ 

ที่ว่าแบ่งแยกแบบลวกๆ ก็เพราะ (1) พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของการนำคำสอนมาปฏิบัติเพื่อการมีชีวิตที่ดีหรือพ้นทุกข์เท่านั้น หากแต่มีด้านตรงข้ามกับการปฏิบัติดังกล่าวอีกมากที่ก่อปัญหาต่อชีวิตและสังคม และพุทธปรัชญาก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการคิดหาความสมเหตุสมผลของคำสอนสำคัญๆ ทำนองเป็นเรื่องของการคิด, เกมความคิด หรือหาความรู้เพื่อความรู้ โดยไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเลย หากแต่เป็นเรื่องของการแสวงหาความเชื่อมโยงที่สมเหตุสมผลระหว่างสารัตถะของพุทธรรมกับการปฏิบัติเพื่อการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีด้วย และ (2) เมื่อแยกลวกๆ เช่นนั้น จึงสรุปผิดๆ ว่าทั้งสองอย่างไม่เชื่อมโยงกัน และพุทธศาสนาสำคัญกว่าพุทธปรัชญา เพราะพุทธปรัชญาไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติ พุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ

การแบ่งแยกว่า “พุทธศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ พุทธปรัชญาไม่เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ” เห็นได้ในงานของปราชญ์พุทธบ้านเราและที่พูดตามๆ กันมายาวนาน และในที่สุดการแบ่งแยกลวกๆ เช่นนั้นก็ทำให้พุทธศาสนาเป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธปรัชญา!

ที่ผมพูดเช่นนี้ ก็เพราะว่าเมื่อเราพิจารณาสาระสำคัญของคำสอนของศาสดาต่างๆ จะเห็นว่าเนื้อหาคำสอนนั้นๆ เป็น “ปรัชญาชีวิต” แบบหนึ่งๆ ไม่ต่างอะไรกับความคิดของนักปรัชญาต่างๆ แต่คำสอนนั้นๆ ถูกทำให้มี “ความเป็นศาสนา” โดยอ้างว่าเป็นพระบัญญัติของ God บ้าง เป็นคำสอนของศาสดาที่ทรงคุณวิเศษเหนือสามัญมนุษย์บ้าง คำสอนที่เป็นเพียงปรัชญาชีวิตธรรมดาๆ จึงกลายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” หรือเป็น “ศาสนา” ขึ้นมา 

ต่อมาคำสอนศักดิ์สิทธิ์ก็ถูกใช้สถาปนาบุคคลศักดิ์สิทธิ์คือนักบวช, สถาปนาองค์กรศักดิ์สิทธิ์คือศาสนจักร และระบบการปกครองศักดิ์สิทธิ์คือกษัตริย์ที่ใช้อำนาจในนามพระเจ้า สุดท้ายผู้มีอำนาจในศาสนจักรและระบบกษัตริย์ก็กลายเป็นเสมือนพระเจ้าบนโลกนี้ ดังที่เห็นทั่วไปในยุคกลางหรือยุคสังคมจารีต ในที่สุดความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลทางศาสนา, ศาสนจักร และอำนาจปกครองในนามศาสนาก็กลายเป็นปฏิปฏิปักษ์ต่อคำสอนพระศาสดาส่วนที่เป็นปรัชญาชีวิตเสียเอง ดังอำนาจของนักบวช, ศาสนจักร และระบบกษัตริย์ยุคกลางเป็นปฏิปักษ์ต่อคำสอนเรื่องความรักและการให้อภัยของเยซู เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาก็มีมิติของการกดขี่ครอบงำ ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ อิสลาม และอื่นๆ เลย ไม่มีศาสนาใดๆ เป็น “ศาสนาแห่งสันติภาพ” ดังที่โฆษณาชวนเชื่อกัน เพราะทุกศาสนาล้วนมีประวัติศาสตร์การสถาปนาสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของนักบวช, ผู้นำศาสนา, องค์กรศาสนาหรือศาสนจักร, ระบบชนชั้นทางสังคม และสถานะอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่แตะไม่ได้ของชนชั้นปกครองที่สืบทอดอำนาจโดยชาติกำเนิด ซึ่งใช้อำนาจในนามของพระเจ้า ธรรมะหรือบุญญาธิการเหนือมนุษย์ธรรมดาทั้งนั้น 

ดังนั้น ที่อ้างว่า “ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ” นั้น มักไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาส่วนที่เป็นปรัชญาชีวิต หากจะมีการปฏิบัติตามหลักปรัชญาชีวิตที่ศาสดาสอนอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องระดับบุคคลเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติทางศาสนาในระบบดับสังคมล้วนเป็นเรื่องของการสถาปนาบุคคลศักดิ์สิทธิ์ องค์กรศาสนาหรือศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ ระบบชนชั้นศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครองเพื่อครอบงำกดขี่ประชาชนทั่วไป เป็นเช่นนี้มายาวนานหลายพันปี สังคมที่หลุดพ้นจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในนามศาสนาได้คือสังคมที่ใช้หลักการโลกวิสัยเป็นหลักการปกครองแทนที่หลักศาสนาได้อย่างแท้จริงเท่านั้น

เฉพาะคำสอนสำคัญของพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ มีความหมายเป็นเพียงปรัชญาชีวิตแบบหนึ่ง ไม่ได้มีความหมายเชิงศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาเลย อันที่จริงแล้ว “ความจริง” ตามความหมายของอริยสัจที่ไม่มีความเป็นศาสนาเลยก็ยิ่งนำมาปฏิบัติได้ดีกว่า เช่น เมื่อสิทธารถะ (ในนิยายของเฮอร์มานน์ เฮสเส) เข้าใจแจ่มแจ้งว่าพุทธะสอนอะไร เขาหันหลังให้ศาสนาเลย และเขาก็ค้นพบความจริงตามคำสอนนั้น ด้วยการใช้ชีวิตในแบบของตนเอง 

พุทธปรัชญาเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่มุ่งวิเคราะห์ ตีความ หาความสมเหตุสมผลของพุทธธรรม และการปรับใช้พุทธธรรมตอบปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น ชีวิตที่ดีคืออะไร สังคมที่เป็นธรรมและน่าอยู่ควรเป็นเช่นไร เป็นต้น จึงพูดลวกๆ ไม่ได้ว่าพุทธปรัชญาไม่เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติ แท้จริงแล้วพุทธปรัชญาเป็นปฏิบัติการหรือเป็นกิจกรรมทางปัญญาในตัวของมันเอง และเป็นความพยายามเสนอแนวทางปฏิบัติในระดับสังคมเพื่อปรับปรุงชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นด้วยความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ไม่ใช่ด้วยความเป็นศาสนา (religiosity) พุทธปรัชญาจึงเป็นไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธศาสนา 

เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจกรรมหรือปฏิบัติการทางพุทธปรัชญาจึงเป็นปฏิบัติการของการตั้งคำถามและวิพากษ์ความศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธศาสนาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ตั้งคำถามต่อสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของนักบวช, สถาบันสงฆ์, สถานะทางชนชั้นและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่แตะไม่ได้ของชนชั้นปกครองที่เป็นธรรมราชา, สมมติเทพ, พระโพธิสัตว์, พระพุทธเจ้าอยู่หัว ว่าสถานะและอำนาจเหล่านี้เป็นปฏิปฏิปักษ์ หรือ “สวนทาง” กับพุทธปรัชญาหรือเนื้อหาสาระในคำสอนของพุทธะหรือไม่เป็นต้น

แต่น่าเสียดายที่การทำพุทธปรัชญาหรือกิจกรรมทางพุทธปรัชญาในบ้านเราเท่าที่ผ่านมา นอกจากไม่ได้ตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธศาสนาดังกล่าวเป็นต้นแล้ว ยังไปเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาตามที่เชื่อกันว่า “พุทธพ่อทุกสิ่ง” หรือพุทธศาสนาสูงส่งจริงแท้กว่าศาสนาใดๆ ด้วยการทำ “พุทธปรัชญาพ่อทุกสิ่ง” หรืออ้างว่าพุทธปรัชญาเสนอความจริงแท้ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง ให้คำตอบทุกปัญญาได้ดีกว่าปรัชญาใดๆ ในโลกนี้

จะว่าไปก็คงเป็นไปได้ยากที่จะได้เห็นกิจกรรมทางพุทธปรัชญาในบ้านเราตั้งคำถาม วิพากษ์ หรือ “กะเทาะเปลือก” ความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาในมิติต่างๆ โดยเฉพาะมิติสนับสนุนสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง แต่เป็นไปได้ง่ายที่จะได้เห็น การอ้างความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ และเห็นงานทางพุทธปรัชญาให้เหตุผลสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวทั้งโดยตรงและโดยปริยาย

ขณะที่โลกทางปัญญาในสังคมตะวันตกเขาดีเบตกันเรื่อง “พุทธแบบฆราวาส” หรือ “พุทธแบบโลกวิสัย” (secular Buddhism) กันมานานแล้ว คือพูดถึงความหมายของพุทธธรรมในแง่มุมที่ช่วยให้ชีวิตและโลกดีขึ้น อย่างสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนส่งเสริมกับคุณค่าสมัยใหม่ โดยไม่เน้นความสำคัญของความเป็นพุทธศาสนา หรือความเป็นชาวพุทธเลยด้วยซ้ำ 

พุทธศาสนาแบบฆราวาสหรือแบบโลกวิสัย จึงอิงอยู่กับพุทธปรัชญาที่ไม่มีความเป็นศาสนา ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ของคำสอน ไม่สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของนักบวช, สถาบันศาสนา, ชนชั้นปกครองเพื่อขี่หัวประชาชน แต่นำเสนอมุมมอง เหตุผลสนับสนุนคุณค่าความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความอยุติธรรม การกดขี่ และอื่นๆ ในทางสังคม อย่างที่สามัญชนผู้มีสามัญสำนึกพึงกระทำร่วมกัน  

 

 

ที่มาภาพ: https://cdn.pixabay.com/photo/2018/11/20/05/29/faith-3826587_1280.png

  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net