Skip to main content
sharethis

ผาสุก นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่กำลังแย่ลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนจะยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น พร้อมกับเสนอแนวทางเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์จากคณะเศรษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่มาภาพ EconTU Official)

  • ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
  • ปัญหาโลกร้อนคือตัวแปรใหม่ที่จะยิ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำให้หนักขึ้น
  • ประเทศไทยกำลังเผชิญกับจุดอับทางเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนจากต่างประเทศลดลง การเมืองที่รวมศูนย์อำนาจมากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อสมรรถนะทางเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นต้น
  • ปัญหาโลกร้อนเป็นโอกาสให้รัฐบาลไทยคิดเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่วางอยู่บนเศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่และหมักหมมสำหรับสังคมไทยมาเนิ่นนาน ยิ่งพัฒนาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยอีกห่างกว้างขึ้นราวมหาสมุทร มันเป็นสิ่งที่ทั้งน่าแปลกใจและน่าตั้งคำถาม หัวข้องานสัมมนาทางวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2563 ครั้งที่ 42 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงถือว่าน่าสนใจ

‘ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต’ เป็นความพยายามศึกษาความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ และหนทางที่จะหลุดจากกับดักนี้

งานครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการปาฐกถาของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจกแจงสภาพปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ เชื่อมโยงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพยายามเสาะหาโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้น

ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่มาภาพ EconTU Official)

สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติ

ปาฐกถาในวันนี้ขอเน้นไปที่บางประเด็นด้านมหภาค โดยจะนำเสนอตัวแปรใหม่ที่มีผลพวงต่อเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะที่เป็นโอกาสให้เปลี่ยนสู่เกมเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย ให้เศรษฐกิจไทยออกจากจุดบอดปัจจุบันสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน รัฐไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นและยั่งยืน ขนานไปกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจของโลกจะต้องก้าวเดินต่อไป และเพื่อหยุดแนวโน้มสู่ความเหลื่อมล้ำตลอดชีวิตในมิติใหม่ๆ พร้อมๆ กับสร้างสังคมน่าอยู่ไปด้วย แต่ก่อนอื่นจะขอสรุปสถานการณ์มหภาคบางประการของความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง

ด้านวัฒนธรรมแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก วัฒนธรรมกับความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เป็นความเหลื่อมล้ำที่แอบแฝง เรามักจะมองไม่เห็น แต่ในสังคมบ้านเรา เรายังมีวิธีคิดแบบนี้ ผู้ชายใหญ่กว่าผู้หญิง เมืองใหญ่กว่าชนบท เป็นคนไทยกว่าและดีกว่าไม่ใช่คนไทย ใกล้ศูนย์กลางดีกว่าห่างออกไป ตัวอย่างก็คือเป็นผู้ชายเชื้อชาติไทยอยู่กรุงเทพฯ ดีกว่าสาวอีก้ออยู่บนดอยภาคเหนือ

ในด้านรายได้ของครัวเรือนดีขึ้น แต่กำลังแย่ลงอีก แผนภาพนี้แสดงค่าจีนีด้านรายได้ของไทยและด้านรายจ่าย ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้พุ่งขึ้นมากจากช่วงปี 1970 ถึง 1992 และหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 1997 แนวโน้มความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครัวเรือนลดน้อยลง หลังรัฐประหาร 2557 ได้ผงกหัวเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเห็นได้จากค่าจีนีด้านรายจ่ายในปี 2015 และเข้าใจว่าค่าจีนีหลังจากนั้นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับด้านทรัพย์สิน ข้อมูลล่าสุดจากเครดิตสวิสชี้ว่าไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศแรกๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องของทรัพย์สิน

ทางด้านการเมืองแนวโน้มไม่ดี เลวลง ขอแสดงผลการวัดดัชนี rule of law หรือดัชนีนิติรัฐโดย World Justice Report ปี 2011 2014 และ 2016 จะพบว่าดัชนีต่างๆ มีแนวโน้มแย่ลง โดยเฉพาะการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ระเบียบและความสงบ และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในบ้านเรายอมรับกันมากขึ้นว่าความเหลื่อมล้ำไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งและทำให้การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ เรามีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพ สาเหตุ และความเหลื่อมล้ำในมิติด้านเศรษฐกิจต่างๆ และข้อเสนอทางออกมากกว่าเดิม เพราะมีผลงานวิจัยและงานเขียนมากขึ้นและในภาวะการเมืองที่เปิด ภาคประชาชนก็ได้ผลักดันให้พรรคการเมืองใส่ใจคิดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติ มีทั้งลดการผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่งเสริมระบบสวัสดิการสังคมต่างๆ แบบถ้วนหน้าตามแนวสังคมสมัยใหม่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหาร 2557 ยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่นักวิเคราะห์ เช่น ดร.ธร ดร.วีรวัฒน์ ดร.สมชัย ยังกังขาเกี่ยวกับสมรรถนะของนโยบายหลายอย่าง เช่น พบว่านโยบายหลายอย่างยังมีลักษณะประชานิยม มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนที่มีฐานะยากจน หวังผลทางการเมือง มีต้นทุนสูง ไม่มีความยั่งยืน และนโยบายหรือโครงการอาจจะไม่แก้อะไรโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สมชัย จิตสุชน ที่ทีดีอาร์ไอได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดและได้กล่าวว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะความยากจนสุดขั้วอีกครั้งหนึ่งด้วย สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการวิจัยในรายละเอียดระดับจุลภาคเพื่อการปรับปรุงนโยบายและมาตรการด้านสวัสดิการโดยเฉพาะ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเป้าหมายของ symposium นี้

เรื่องสวัสดิการสังคม เราเห็นด้วยกันมากขึ้นว่าการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมขั้นรากฐานแบบถ้วนหน้าเป็นเรื่องจำเป็นและควรปรับเป็นขั้นๆ ตามความสามารถของเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการปรับระบบภาษี เช่น คณะวิจัยที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ และกระทรวงการคลังเสนอปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแบบบูรณาการเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาลและเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ พระราชบัญญัติภาษีมรดกและพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นักวิชาการและเทคโนแครตกระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายปีก็ได้ผ่านสภาไปแล้ว ถึงแม้ว่ายังจะต้องปรับปรุงต่อไป

สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านสังคม วัฒนธรรม ความยุติธรรมก็ได้มีการอภิปรายกันมากขึ้นและทางศูนย์ความเหลื่อมล้ำของธรรมศาสตร์ก็เป็นสถาบันหนึ่งที่สร้างความสนใจในเรื่องเหล่านี้ ในด้านทรัพย์สินและรายได้ครัวเรือนมีความเสี่ยงสูงที่จะเหลื่อมล้ำมากขึ้นแทนที่จะลดลง และทางด้านการเมืองเราพบว่ายังเลวลง

ที่มาภาพ EconTU Official

ตัวแปรใหม่ต่อความเหลื่อมล้ำ

สำหรับประเด็นของปาฐกถาในวันนี้จะเป็นผลกระทบของตัวแปรใหม่ต่อความเหลื่อมล้ำ ตามด้วยการวิเคราะห์จากจุดอับของเศรษฐกิจไทยสู่เกมเศรษฐกิจใหม่ และแนวทางสู่สังคมเสมอหน้าด้วยการคิดไกล คิด Green

ตัวแปรใหม่ หลายคนคิดว่าปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องไกลตัว ที่ออสเตรเลียมีคนหนึ่งบอกว่ามันเป็นอะไรที่ไกลตัวมากเหลือเกิน มันอาจจะเกิดชาติหน้าหรืออีก 100 ปีข้างหน้า เราก็คิดแบบนี้จนมันสายไป เมื่อปัญหาโลกร้อนจ่อถึงตัวเราแล้ว เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผลกระทบของโลกร้อนกำลังเข้ามาใกล้ตัวเรา เช่น ไต้ฝุ่นที่แคริเบียน ชั้นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วกว่าที่คิดทำให้ยุโรปน้ำท่วมและเกิดคลื่นความร้อน ไฟป่ายืดเยื้อที่ออสเตรเลียในบริเวณกว้างเท่ากับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย ล่าสุด ฝนที่กระหน่ำอย่างหนักท่วมเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ถนนถูกตัดขาด ต้องส่งเฮลิคอปเตอร์ไปช่วยนักท่องเที่ยว

climate change หรือภูมิอากาศแปรปรวนได้มาเยือนอุษาคเนย์ของเราแล้ว ผลการวิจัยช่วงแรกๆ คาดว่าผลกระทบของโลกร้อนจะร้ายแรงในบริเวณประเทศหนาวใกล้ๆ ขั้วโลก แต่รายงานของ IPCC ปี 2014 โดย UN บอกเลยว่าผลกระทบจะร้ายแรงแถบบริเวณใกล้เส้นอีควอเตอร์และใน 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นข้อพิสูจน์ และรายงานของ IPCC ปี 2019 ยืนยันว่าเขตร้อนคือแถบเราจะโดนผลกระทบแย่ที่สุด แล้วเราก็ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลายอย่าง

จำนวนไซโคลนที่พัดฟาดชายฝั่งเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในปี 2017-2018 จาการ์ตาเจอน้ำท่วมร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ในเมืองไทยภาวะอากาศร้อนผิดปกติ น้ำท่วม และภาวะแล้งจัดก็เพิ่มขึ้น องค์การเอ็นจีโอ Germanwatch คำนวณ Global climate risk Index คือความเสียหายทางกายภาพ คนตาย และความสูญเสียคิดเป็นเงินจากภาวะอากาศแปรปรวนสูงตั้งแต่ปี 1998 พบว่าแถบแคริบเบียนเท่านั้นแย่กว่าอุษาคเนย์ แต่ย่านเรานี้เผชิญภัยธรรมชาติที่มากับลมไต้ฝุ่น ลมมรสุม เป็นประจำ คนส่วนมากแถบเราจึงไม่ได้คิดว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแต่อย่างใด พื้นดินร้อนขึ้น มหาสมุทรร้อนขึ้น กระแสลมและกระแสน้ำที่ก่อให้เกิดลมมรสุม พายุไต้ฝุ่น และผลกระทบเอลนีโญ ลานีญา กำลังเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ผลที่ตามมามีความซับซ้อนยากจะเข้าใจ แต่สรุปได้ง่ายๆ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างปีฝนชุกกับปีแล้งเอาแน่ไม่ได้ขึ้นทุกที แล้งเกิดบ่อยขึ้น ฝนที่เคยตกบ่อยทิ้งช่วงนานขึ้น แต่เมื่อฝนมาจริงๆ ก็แรงมากเกินจนน้ำท่วมฉับพลัน

โลกร้อนกระทบต่อสังคมและการเมือง

นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้จากการที่ภูมิอากาศแปรปรวนมากขึ้นๆ อย่างไม่คาดฝัน นักวิทยาศาสตร์จะพูดถึงผลกระทบทางด้านกายภาพของโลกร้อน แต่เรื่องสำคัญกว่าสำหรับเราคือผลกระทบด้านสังคมและปฏิสัมพันธ์กับการเมือง ตรงนี้มีประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเราจะมองไม่เห็น แม้ว่ามันจะสำคัญมาก

ผลกระทบจากโลกร้อนต่อสังคมไม่ใช่ลักษณะใหม่แปลกพิเศษ แต่โลกร้อนทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วยิ่งแรงขึ้นเพราะฉะนั้นจึงยากที่จะแยกผลกระทบของโลกร้อนและสาเหตุอื่นๆ ในเรื่องนี้มีตัวอย่างจากประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้ที่เกิดก่อนเราและรุนแรงมากๆ ซูดานทศวรรษ 1990 ฝนแล้งเกิดจาก climate change เป็นเหตุให้ชุมชนเกษตรขัดแย้งเรื่องที่ดินกับชุมชนเลี้ยงสัตว์ขยายเป็นความขัดแย้งด้านชนชาติปะทุเป็นสงครามกลางเมือง การอพยพลี้ภัยสงครามซีเรียปี 2011 และ 2012 ฝนแล้งติดต่อกันทำให้คนชนบทอพยพเข้าเมืองเล็กจุดประกายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในที่สุด กระตุ้นให้ชาวซีเรียอพยพเข้ายุโรปเป็นวิกฤตการณ์อพยพเข้ายุโรป เร็วๆ นี้ที่กัวเตมาลา ภัยแล้งทำให้ชาวบ้านตั้งกองคาราวานมุ่งหน้าสู่เม็กซิโกเพื่อเข้าอเมริกา สร้างความวุ่นวายที่ชายแดนใต้ของสหรัฐ ทรัมป์ต้องการจะสร้างกำแพงไม่ให้คนเหล่านี้เข้า

ตัวอย่างเหล่านี้มีองค์ประกอบที่เหมือนกันคือสภาวะแวดล้อมภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้การทำมาหากินของคนจำนวนมากไม่ได้ผล ความขัดแย้งด้านสังคมและการเมืองจึงปะทุขึ้น นำไปสู่การอพยพโยกย้ายของผู้คนไปตายเอาดาบหน้า เราอาจคาดการณ์แบบเดียวกันในขอบเขตที่เล็กและเข้มข้นน้อยกว่าในบ้านเรา เมื่อฝนแล้งซ้ำปีแล้วปีเล่าหรือเพียงภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงครั้งเดียว เกษตรกรรายเล็กรายย่อยที่ขาดทุนจนล้มละลายจะถอดใจและอพยพไปที่อื่น

แนวโน้มการอพยพของชาวบ้านจากชนบทสู่เมืองใหญ่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเมืองให้โอกาสหารายได้และความก้าวหน้าด้านการศึกษา การสาธารณสุข และในสมัย คสช. ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจชนบทเผชิญภาวะซบเซามาก นอกจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐลดการอุดหนุนราคาพืชผล ยิ่งผนวกกับผลพวงของ climate change ทำให้เกษตรกรรายเล็กหลายรายล้มละลาย แนวโน้มการอพยพสู่เมืองใหญ่จะยิ่งเพิ่มขึ้น ความไม่เพียงพอด้านสาธารณูปโภคและสภาวะมลพิษเมืองที่แย่อยู่แล้วจะยิ่งเข้าสู่ภาวะวิกฤต

IPCC 6 โดย UN บอกว่าทั้งโลกร้อนและความเป็นเมืองที่ขยายตัวเร็วเพิ่มระดับความร้อนในเมืองและบริเวณโดยรอบที่เรียกว่า heat island effect การเพิ่มขึ้นนี้อาจจะทำให้สภาวะภูมิอากาศโดยรวมผันแปรมากขึ้นและสร้างมลภาวะให้แก่บริเวณใกล้เคียงที่อยู่ใต้ลมด้วย สิ่งที่ IPCC 6 ชี้ให้เห็นคือที่กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ กำลังเผชิญอยู่ทั้งสิ้น มลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายหลายอย่างและปัญหาสุขภาพที่จะตามมา ความชะงักงันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเข้มข้นขึ้นไม่ใช่ลดลง

เมืองมีอาคารสูงสมัยใหม่มากมายในประเทศร้อนแถบเรา อาคารสูงเหล่านี้เป็น urban heat island ที่เพิ่มความร้อนได้ถึง 10 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า เมื่อมีการใช้งานเต็มที่ในเวลากลางวันเพราะทุกแห่งใช้เครื่องปรับอากาศที่ปั๊มแอร์เสียและความร้อนออกมา รถติดเป็นแถวยาวก็ส่งความร้อนออกมา ถนนยางมะตอย ถนนและตึกคอนกรีตทั่วไปก็ดูดซับความร้อนและสะท้อนออกมา ภูเขาและหุบเขาคอนโดฯ สองข้างปิดกั้นเก็บเอาความร้อนไว้ที่ระดับถนน และคอนโดฯ ส่วนมากไม่ได้สร้างแบบอาคารเขียวเพื่อลดความร้อน หรือเพื่อช่วยประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทน

เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพ เมื่อคนเมืองรู้สึกร้อนก็จะเปิดแอร์มากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยิ่งเพิ่มความร้อนภายนอกอาคาร ทำให้เมืองร้อนขึ้นๆ คนที่ไม่มีรถติดแอร์ ไม่มีห้องแอร์ ไม่มีเงินจ่ายค่าแอร์ คนทำงานรายได้น้อยและผู้สูงอายุสุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิด stroke เพราะความร้อนเป็นปัญหาสุขภาพอีกอย่างหนึ่ง

สรุปก็คือเราต้องคิดตอนนี้ว่าจะทำให้เมืองของเราน่าอยู่ได้อย่างไรสำหรับทุกคน มีเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกเป็นตัวอย่างมากมาย โดยเฉพาะที่ยุโรปแข่งขันกันเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนในระดับที่ดีมาก หลายๆ เรื่องง่ายเหมือนปลูกต้นไม้นั่นแหละ และต้องคิดด้วยว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปอย่างไรอย่างยั่งยืนจึงนำมาสู่หัวข้อที่ 2 จากจุดอับเศรษฐกิจไทยสู่เกมเศรษฐกิจใหม่

ที่มาภาพ EconTU Official

จุดอับเศรษฐกิจไทย

ในบริบทของตัวแปรใหม่ของปัญหาโลกร้อนและผลกระทบที่จะตามมา เรากำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่จุดอับอย่างหนักโดยเฉพาะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอาจตั้งใจดี แต่เดินเกมเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไม่ไปไหนดังที่กล่าวข้างต้น ไม่สามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงในด้านใดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ดูเหมือนว่าจำนวนคนยากไร้และความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจึงต้องพูดถึงว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องคิดหนักในแง่ของการเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วเลวลงไปอีก

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญเห็นได้ในประเด็นปัญหาใหญ่ 5 เรื่องเป็นอย่างน้อยเรื่องที่ 1 นับจากวิกฤตต้มยํากุ้ง 1997 การลงทุนรวมของภาคเอกชนในประเทศไทยไม่ได้กระเตื้องขึ้นสู้ระดับก่อนวิกฤต แม้ว่าจะมีเงินทุนมากมายกองอยู่ในธนาคารและกระเป๋ามหาเศรษฐี และเราก็มี surplus ใน current account อยู่ถึง 6-7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในขณะที่หนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในระดับต่ำ 41 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งสามารถจะเพิ่มได้อีกถึงร้อยละ 60

การลงทุนภาครัฐชะงักมาหลายปีไม่สามารถดึงดูด FDI ได้เพราะเพื่อนบ้านน่าสนใจกว่า กล้าทำสิ่งใหม่ๆ มากกว่า การเมืองเสถียรมากกว่า เศรษฐกิจไทยจึงโตในอัตราต่ำกว่าเพื่อนบ้านส่วนมากมาโดยตลอด นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกซบเซาบวกกับสงครามการค้า จริงๆ แล้วเราต้องหันมาดูเนื้อในของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญกว่ามากเพราะเป็นเรื่องที่เราจะเข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้

เนื้อในที่เราไม่ได้พัฒนาภาคเกษตรให้ยั่งยืน ผนวกกับการบูมของสินค้าไฮเทคหรือเทคโนโลยีง่ายๆ ของเราถึงจุดจบ เผชิญคอขวดด้านเทคโนโลยีและขาดคนงานทักษะสูง นโยบายส่งเสริม SME ไม่ถูกจุด นโยบายหลายอย่างส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่แบบผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด เราให้ความสำคัญน้อยกับการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว ไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะใช้เงินลงทุนมากที่สุดในงบประมาณ การบริโภคซบเซามาก เคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะครัวเรือนระดับล่างร้อยละ 50 ขึ้นไปพบปัญหารายได้เพิ่มในอัตราลดลงและหลายคนรายได้จริงลดลง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ธนาคารโลกได้แสดงข้อมูลการสำรวจหลายประเทศพบว่าคนไทยเพียงร้อยละ 30 กว่าๆ คิดว่าการครองชีพดีขึ้นในปี 2018 เป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งประเทศจีน

เรื่องที่ 2 กูรูเศรษฐกิจอาจจะตั้งใจดี แต่ยังใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ คิดแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่นที่แถบปราจีนบุรีใช้ทุนต่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจในประเทศที่ต่ำ บางอุตสาหกรรมอาจไม่มีเลย นำเข้าทั้งสิ้น รวมทั้งอาจจะต้องนำเข้าแรงงานทักษะสูง และโครงการเหล่านี้อาจจะมีผลทำลายแหล่งอาชีพและการจ้างงานในพื้นที่เกษตรและการประมงสมบูรณ์เดิม เพื่อเอาพื้นที่ไปสร้างโรงงานไฮเทค โครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รัฐกำลังสนับสนุนเหล่านี้ บางโครงการอาจจะใช้ได้ แต่จำนวนมากมีปัญหา ถ้าทำได้ ส่วนที่ทำได้ก็จะเพิ่มจีดีพี แต่จะเป็นการเพิ่มจีดีพีในกระเป๋าของเศรษฐีไทยและเทศจำนวนหยิบมือหนึ่ง แต่เพิ่มความเหลื่อมล้ำในส่วนอื่นๆ ได้ชะงัดแน่นอน และในที่สุดอาจจะผลักเกษตรกรผู้เช่าที่ดินและชาวประมงที่เคยมีฐานะดีพอควรให้ไร้แหล่งทำมาหากินกลายเป็นคนจนติดหนี้ติดสินเป็นจำนวนมาก

ข้อที่ 3 ระดับความยากจนที่เคยดีขึ้นกำลังจะเลวลงอีก การเสื่อมสลายของภาคเกษตรในช่วง 6 ปีทำให้คาดการณ์ได้ว่าเมืองจะแออัดมากขึ้น รายงาน Thailand Economic Editor 2019 ของธนาคารโลกบอกว่าหลังปี 2015 สัดส่วนคนจนวัดจากความจนของทางการไทยหรือวัดจากผู้มีรายได้ต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์ต่อวันตามเกณฑ์นานาชาติของ upper middle Income class เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2015 และปี 2017 เมื่อดูรายภาค สัดส่วนคนจนเพิ่มในทุกภาคยกเว้นกรุงเทพฯ เมื่อลงไปดูจำนวนคนจนรายตำบล 5,324 แห่งใช้ข้อมูลความยากจนของทางการไทยปี 2015 พบข้อมูลน่าสนใจคือตำบลที่มีสัดส่วนคนจนสูงอยู่ในภาคอีสาน ภาคกลางที่ติดกับชายแดนพม่า ภาคเหนือที่ติดกับชายแดนลาว และที่ปัตตานี ธนาคารโลกอธิบายว่าภาคเหนือและอีสานเกิดปัญหาเพราะมีปัญหาฝนแล้งและที่อีสานคนจำนวนมากที่ทำการเกษตรต้องพึ่งเงินจากลูกหรือพี่น้องที่ส่งมาให้จากการไปทำงานที่อื่นเพราะในพื้นที่ไม่มีแหล่งทำมาหากินที่พอเพียง

สำหรับกรุงเทพฯ สัดส่วนของคนจนไม่สูงเทียบกับจังหวัดอื่น แต่ในแง่ของจำนวนความหนาแน่นมีมากกว่าที่อื่นๆ ภูเก็ตก็เช่นเดียวกัน การกระจุกตัวของคนในย่านเมืองที่ถือว่ารวยเช่นกรุงเทพฯ และภูเก็ตบ่งบอกว่าสองเมืองนี้ดึงดูดคนจนที่มีปัญหาการทำมาหากินให้เข้ามาหางานทำสูงกว่าที่อื่นๆ นั่นเอง ข้อมูลเหล่านี้บอกว่าความยากจนในภาคเกษตรที่อยู่ห่างไกลยังเป็นปัญหาของไทยและเมืองรวยๆ เช่น ภูเก็ตและกรุงเทพฯ ดึงดูดพวกเขาให้เข้ามาทำงาน และเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนจนเมือง ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับผลรายงานการอพยพของสำนักงานสถิติแห่งชาตในปี 2018 ที่บอกว่าเหนือและอีสานยังเป็นแหล่งของผู้อพยพเข้าเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก

ข้อที่ 4 ขณะนี้การเมืองไทยอยู่ในภาวะรวมศูนย์อำนาจสูงมาก มีผลทั้งบวกและลบ แง่บวกในระยะสั้นและปานกลางอาจจะมองว่าทำให้เกิดความสงบ ม็อบบนถนนยุติลง แต่หากเรามองลงไปเนื้อในของเศรษฐกิจการเมืองไทยจากภายนอกและวิเคราะห์ถึงผลพวงของพัฒนาการในช่วง 14 ปี ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และโดยเฉพาะในช่วง 6 ปี ได้เกิดหลายสิ่งหลายอย่างที่ลดทอนสมรรถนะและศักยภาพของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยผลพวงด้านลบเหล่านี้ในท้ายที่สุดอาจจะมากกว่าผลได้

ที่สำคัญที่จะขอพูดในวันนี้มี 2 เรื่อง การชะงักงันของระบบรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งส่งผลลดทอนศักยภาพการริเริ่มของคนและสถาบันท้องถิ่น ทั้งในด้านการลงทุนสาธารณูปโภค ด้านธุรกิจ การจัดการสวัสดิการสังคมในพื้นที่ และความริเริ่มอื่นๆ  และยังเป็นเหตุให้ประชาชนคับข้องใจที่เสียโอกาสได้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ปัญหาประการที่ 2 สร้างความกระจุกตัวของความมั่งคั่งในบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนหยิบมือหนึ่ง ตามมาด้วยการดำเนินนโยบายที่เกื้อหนุนนักธุรกิจใหญ่ไม่กี่รายเหล่านี้ที่สะสมความมั่งคั่งมหาศาล จากตัวเลขของนิตยสารฟอร์บส์ระหว่างปี 2549 ถึง 2561 พบว่า มูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐี 40 รายของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าภายในเวลา 12 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และในปีสุดท้ายที่มีตัวเลขคือปี 2561 มูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐี 40 รายคิดเป็น 1 ใน 3 ของจีดีพีของประเทศไทยกระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล พลังงานฟอสซิล รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ซึ่งมีอำนาจทั้งในประเทศและระดับท้องถิ่น เป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ การผูกขาดที่สูงขึ้นส่งผลปิดกั้นการเติบโตของ SME การผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดในอุตสาหกรรมพลังงานและไฟฟ้า ยานยนต์และขนส่งแบบเดิมๆเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจสู่พลังงานสะอาด

สู่เกมเศรษฐกิจใหม่ คิดไกล คิด Green

เรื่องสุดท้าย สู่สังคมเสมอหน้าคิดไกล คิด Green ความตื่นตัวเรื่องปัญหาโลกร้อนและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันได้ส่งผลเปลี่ยนการตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกันของสังคมต่างๆ ในโลกอย่างรวดเร็ว แผนการลงทุนและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น อันนี้เป็นแนวโน้ม เศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เกมเศรษฐกิจเดิมๆ หลายอย่างจะล้าสมัยและเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ จะมีโอกาสขึ้นขอให้ดู 2 ตัวอย่าง

ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศอังกฤษได้เตือนไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ว่าธนาคารที่ยังลงทุนในเศรษฐกิจพลังงานฟอสซิลสุ่มเสี่ยงยิ่งที่จะมีแต่ทรัพย์สินไร้ค่าอยู่ในมือ และเมื่อ 2 วันนี้เอง เทสล่บริษัทผลิตรถ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้าพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกในมูลค่าบริษัทยานยนต์รองจากโตโยต้า หากมองตัวแปรใหม่ ปัญหาโลกร้อนเป็นโอกาส ไม่ใช่วิกฤต จะเห็นช่องทางคิดเกมเศรษฐกิจใหม่ๆ ทุกประเทศในโลกรวมทั้งไทยต้องปรับการใช้การผลิตพลังงานไฟฟ้า การใช้ที่ดิน การสร้างเมืองและสาธารณูปโภคเมืองแบบเดิมๆ รวมทั้งปรับระบบการผลิตอุตสาหกรรมด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2019 ได้สรุปไว้

ทุกประเทศต้องหาวิธีทำให้เมืองใหญ่ๆ ร้อนน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง ลดมลพิษ ลดโลกร้อน จึงเป็นหน้าที่ของสังคมและรัฐบาลที่จะต้องทำหลายอย่าง โดยเฉพาะสนับสนุนส่งเสริมนักลงทุนภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นขนาดกลาง เล็ก หรือใหญ่ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจให้ใช้แหล่งเงินทุนที่สะสมอยู่มากมายภายในประเทศลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเรามีอยู่ในธรรมชาติอย่างเหลือเฟือ การสร้างเมืองน่าอยู่ การสร้างอาคารเขียว ขับรถเขียว ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล รถเมล์ไฟฟ้า หรือการใช้รถจักรยานยนต์พลังงานของเราเอง เหล่านี้มีช่องทางการลงทุนมากมาย ถ้ามีการวางแผนที่ดีและร่วมกันคิดและหากรัฐบาลและสังคมใส่ใจ

เรื่องต่อมา ต้องส่งเสริมให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงทุนทำผังเมืองน่าอยู่ การสร้างสาธารณูปโภคในกรอบเมืองสีเขียวที่โยงกับโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ระบบคมนาคมขนส่ง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกันแบบบูรณาการ อย่างเช่นที่เกิดในประเทศจีนบางแห่ง เกิดในยุโรปแล้วแทบทุกแห่ง และที่บางประเทศก็กำลังทำเรื่องนี้โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน

สิ่งเหล่านี้ต้องการความเข้าใจสภาพธรรมชาติของพื้นที่และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติของพื้นถิ่น ในประเทศไทยมีการสร้างถนนกั้นทางน้ำทั่วประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องคิดด้วย

ข้อเสนอเหล่านี้หมายความด้วยว่าเราต้องสนับสนุนการปกครองระดับภูมิภาคและท้องถิ่นโดยตัวแทนจากการเลือกตั้งและส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นตามกลุ่มพื้นที่ที่จะได้ประโยชน์จากขนาด การมีทรัพยากรที่เอื้อกันที่เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แน่นอนว่าเราอาจจะมีปัญหาคอร์รัปชัน ในรัฐบาลกลางก็มีอยู่แล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขทั่วไปต่อไป คงไม่ใช่เรื่องที่ว่ารัฐบาลท้องถิ่นคอร์รัปชันและเราก็ไม่ควรจะมีรัฐบาลท้องถิ่น เราก็คงต้องเป็นนักสู้ในเรื่องนี้ด้วย

สรุป ผลของการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวหลากหลายประเภทจะกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถทำได้ใน 1-5 ปี สร้างงาน ลดปัญหาโลกร้อน สร้างสังคมน่าอยู่ ช่วยลดความขัดแย้ง ดึงเงินลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมด้วยเมื่อเห็นว่าเข้ามาสร้างประโยชน์ที่คุ้มค่า ข้อเสนอเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่คิดไกลไปข้างหน้าเพื่อให้เราได้สร้างเกมเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาด้วยการคิดไกล คิด Green เป็นยุทธศาสตร์ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เป็นจุดหักเหที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น เพราะมันเป็นโอกาสให้สังคมมีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการบ้านให้น่าอยู่และไม่ต้องเหลื่อมล้ำตลอดชีวิต แต่เนื่องจากเป็นเกมใหม่ ไม่คุ้นเคย การเปลี่ยนแปลงจึงออกจะดูน่ากลัวเพราะการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีผลกระทบมาก อาจจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่ามันจะน่าตื่นเต้นก็ตาม ดังนั้น มันจึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net