Skip to main content
sharethis

สื่อเดอะโกลบอลลิสต์ นิตยสารออนไลน์ในสหรัฐฯ นำเสนอบทความเปรียบเทียบการจัดการปัญหาเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ รัฐบาลอำนาจนิยม ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสซึ่งส่งผลเสียต่อการสาธารณสุข

กลาง: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประเทศไทย (ที่มา: ข่าวทำเนียบรัฐบาล)

3 ก.พ. 2563 บทความของเดอะโกลบอลลิสต์ระบุว่ากรณีโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีแหล่งระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนนั้น มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อปรากฏในประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายการเดินทางมาเยือนของนักท่องเที่ยวชาวจีน มีชาวเมืองอู่ฮั่นจำนวนมากที่ออกจากเมืองก่อนหน้าที่จะมีการประกาศปิดเมืองเพื่อกักกันโรค

ข้อมูลในวันที่ 2 ก.พ. 63 ไทยรัฐรายงานว่า นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่ที่ 19 ราย หายและกลับบ้านแล้ว 8 ราย มีคนไข้รักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 11 ราย มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ 3 ม.ค. - 1 ก.พ. 63 ทั้งหมดทั่วประเทศ 382 ราย

ในขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้รับการชื่นชมจากสื่อนี้ว่าสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิงคโปร์รวยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุเดียว เพราะที่ผ่านมาสิงคโปร์ก็มีประวัติการจัดตั้งรณรงค์เรื่องสาธารณสุขที่ดีด้วย

เดอะโกลบอลลิสต์วิจารณ์ว่าประเทศที่ทำได้แย่กว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่รวมถึงไทยเป็นประเทศอำนาจนิยมที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พวกเขากังวลว่าการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสจะก่อให้เกิดความไม่พอใจจากประชาชน แสดงให้พวกเขาเห็นว่ากลัวประชาชนตัวเองยิ่งกว่าโคโรนาไวรัสเสียอีก

ในทางกลับกัน การไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลต่อประชาชนรวมถึงการขาดความเร่งด่วนในการหามาตรการควบคุมโรคกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวแทน ทำให้การควบคุมข้อมูลข่าวสารอาจจะยิ่งส่งผลเลวร้ายต่อกรณีการแพร่ระบาดของไวรัส

ในบทความมีการยกตัวอย่างความล่าช้าในการโต้ตอบกับสถานการณ์เช่นในกรณีของของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย เตราวัน อากุส ปูตรันโต ได้แต่โต้ตอบแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าให้ชาวอินโดนีเซียภาวนาและคิดบวก ในบทความยังวิจารณ์ไทยว่าเป็น "ตัวอย่างชัดเจนของรัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สอบตกเรื่องโคโรนาไวรัส"

เดอะโกลบอลลิสต์ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนอย่างมาก มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนและการลงทุนที่เชื่อมโยงกับจีน หากไทยไม่ยอมใช้มาตรการสกัดกั้นก็อาจจะก่อให้เกิดการระบาดภายในประเทศ เดอะโกลบอลลิสต์ยังตั้งข้อสังเกตว่าการที่ไทยสกัดกั้นการเชื่อมต่อกับจีนได้ช้า อาจเป็นเพราะกลัวว่าจะทำร้ายความสัมพันธ์ทางการทูตและการท่องเที่ยวกับจีน

สิ่งที่แย่ประการต่อมาที่โกลบอลลิสต์วิจารณ์ไว้คือการที่รัฐบาลไทยชักช้าในการตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อสอนให้คนไทยรับรู้และเข้าใจไวรัส

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันจะอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เข้าสู่อำนาจจากการรัฐประหารในปี 2557 และมีข้อครหาเรื่องความไม่ปกติในการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมน้อยยิ่งกว่าผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนปัจจุบันด้วย ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจกองทัพหนุนหลังแต่พรรคร่วมรัฐบาลของประยุทธ์ก็ เก้งก้าง ใช้อะไรไม่ได้

เรียบเรียงจาก

Weak and Undemocratic Governance is Dangerous for Your Health, The Globalist, Feb. 1, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net