Skip to main content
sharethis

กมธ.ศึกษาแก้ รธน. มีมติตั้ง 2 อนุ ประชาสัมพันธ์-วิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติ รธน.และกม.เกี่ยวข้อง ประธาน กมธ.ย้ำ ระมัดระวังการรับฟังความเห็น อย่าชี้นำ และนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ด้านปิยบุตรแนะอย่าตั้งธงว่าความเห็นต่างคือความขัดแย้ง อย่าเอาปัญหาซุกไว้ใต้พรม

17 ม.ค. 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์แและแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาวาระเกี่ยวกับแนวทางการรับฟังความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ

โดยทีมโฆษกกรรมาธิการฯ นำเสนอเอกสารที่เป็นแนวทางการรับฟังความคิดเห็นต่อที่ประชุม มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนและทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาปัญหา และเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินการให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆนอกจากนี้ ได้กำหนดช่องทางการเผยแพร่และรับฟังความคิดเห็นผ่าน 3 รูปแบบ คือ รูปแบบ Online เช่น การไลฟ์สด (LIVE) การประชุมกรรมาธิการฯ โดยขอมติที่ประชุมในการเผยแพร่เป็นรายครั้ง ประสานงานไปยังสำนักงานสารสนเทศ หรือ โทรทัศน์รัฐสภา รูปแบบ On Ground เช่น การจัดเวทีเสวนาโดยคณะกรรมาธิการฯ และรูปแบบ On Air เช่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางรายการโทรทัศน์ โดยประสานไปยังโทรทัศน์รัฐสภา รายการโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยมเพื่อดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะมีไลฟ์สดการประชุม เพราะไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องการให้กำหนดแนวทางการรับฟังที่จะไม่เป็นการสร้างความขัดแย้งในทางการเมือง นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะว่า หากจะนำเสนอปัญหาของรัฐธรรมนูญ ควรจะให้ข้อมูลรอบด้านกับประชาชน และต้องไม่ให้เกิดการชี้นำมากเกินไป 

ด้าน ปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะกรรมาธิการฯ ต้องการให้กรรมาธิการมองความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไชรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องปกติ เพราะหากกังวลและตั้งประเด็นว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง การทำงานก็จะเดินไม่ได้ และการไม่พูดเรื่องนี้ เท่ากับเป็นการเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม สุดท้ายมันก็ระเบิดอยู่ดี 

จากนั้น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ย้ำว่า การรับฟังความเห็นจะต้องระมัดระวัง ไม่ให้เป็นชนวนสร้าวงความขัดแย้งเสียเอง ต้องเป็นกลางเสมอ และห้ามชี้นำ ควรนำเสนอมุมมองที่เกี่ยวข้องกับประชาชน นอกเหนือจากมุมมองทางการเมือง เช่น หลักประกันสิทธิเสรีภาพ น่าจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า มีความน่าสนใจ และตัวเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมาธิการวิเคราะห์ศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น มีไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน นัดประชุมครั้งแรก วันที่ 21 ม.ค. เวลา 9.30น. และ คณะอนุกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีวัฒนา เมืองสุข เป็นประธาน นัดประชุมครั้งแรก วันที่ 23 ม.ค. เวลา 15.00 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net