Skip to main content
sharethis

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยภาพรวมสถานการณ์ภัยพิบัติจากอิทธิพลพายุ ใน 32 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.-14 ก.ย. 2562 กระทบ 407,069 ครัวเรือน เสียชีวิต 32 คน ผู้ว่าอุบลฯ แถลงชี้แจงข่าวน้ำท่วมมีผู้เสียชีวิตที่ จ.อุบลฯ 34 คน ไม่เป็นความจริง ด้าน 'เพื่อไทย' ตั้งคำถาม 'ประยุทธ์' จัดลำดับความสำคัญงานอย่างไร หลังเลือกไปภาคใต้มากกว่าอีสานที่โดนน้ำท่วม


ที่มาภาพ: PR-Ubon ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี

14 ก.ย. 2562 นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยภาพรวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย จากอิทธิพลพายุโซนร้อน โพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.-14 ก.ย. 2562  ใน 32 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ กระบี่ ปราจีนบุรี แพร่ นครพนม เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ระนอง เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ น่าน ตราด มุกดาหาร อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ชุมพร อุดรธานี สระแก้ว ลำปาง เลย สุโขทัย ศรีสะเกษ และสกลนคร 32 จังหวัด 179 อำเภอ 932 ตำบล 6,902 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน 

โดยประชาชนได้รับผลกระทบ 407,069 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 32 ศพ บาดเจ็บ 1 คน และ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ อพยพประชาชน 23,039 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 51 จุด ประกอบด้วย ยโสธร 15 จุด , อุบลราชธานี 51 จุด และ ร้อยเอ็ด 22 จุด 130 คน

ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมระดมวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ภัย โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกเครื่องส่งสูบน้ำระยะไกล เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประภัย โดยแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยและเรือท้องแบนให้บริการขนย้ายสิ่งของและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับปริมาณน้ำที่อุบลราชธานีมีมาก 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากเมื่อประมาณ 01.00 น. ที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกลงมาอีก 80 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าหนักมาก ฝั่งอำเภอเมืองจึงได้รับผลกระทบมาก แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เตรียมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเร่งระบายน้ำ โดยได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ทั้งที่อำเภอพิบูลมังสาหารและโขงเจียม ประมาณ 60 เครื่อง ผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดมวลน้ำ และหากฝนไม่ตกลงมาเพิ่มอีกตั้งแต่บ่ายนี้เป็นต้นไป สถานการณ์น่าจะดีขึ้น 

อย่างไรก็ตามในการดูแลประชาชน ทุกภาคส่วนได้ดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งความเดือดร้อนความเป็นอยู่และการสัญจร โดยมีจิตอาสา ตำรวจ ทหาร ลงพื้นที่ไปดูแล รวมถึงโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย ขณะที่ในส่วนการย้ายคนออกจากพื้นที่นั้นจะพิจารณาว่าตรงไหนที่จำเป็นก็ต้องย้าย เพื่อความปลอดภัย

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่านอกจากที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จังหวัดอื่นๆ ก็มีเฝ้าระวังเช่นกัน เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนและน้ำท่ามาก ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด และให้ปรับแผนงานทุกหน่วยงานตามที่มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา อย่างไรก็ตามทุกหน่วยงานได้เตรียมการในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างดี พร้อมติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชาชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อแจ้งให้ย้ายหรืออพยพก็ยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งการสูญเสียส่วนหนึ่งก็เกิดขณะช่วงอพยพที่โดนน้ำพัดพาและเรือล่มบ้าง โดยหลังจากนี้จะดูแลเยียวยา รวมถึงซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับประชาชน

ผู้ว่าฯ อุบล แถลงระบุ 'ข่าวน้ำท่วมมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 34 คนไม่จริง'

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 เวลา 19.00 น. ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดอุบลราชธานี สำนำงาน ปภ. ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แถลงข่าวสรุปสถานการณ์อุทกภัย ประจำวันที่ 13 ก.ย. 2562 ตอนหนึ่งว่าตามที่มีกระแสข่าวทางโซเชียลมีเดียระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ไปแล้ว 34 คนนั้น จากตรวจสอบข้อมูล..พบว่าไม่เป็นความจริง จึงขอให้พี่น้องประชาชน หยุดแชร์ข่าวดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันข่าวลวงต่างๆที่เกิดขึ้น โดยพี่น้องประชาชน สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการได้ที่แฟนเพจ PR-Ubon ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่เชื่อถือได้

วันนี้ (14 ก.ย.) ที่ห้องบัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม จังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2562  โดยในวันนี้ระดับน้ำมูลน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำ M7  เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 14 กันยายน 2562 ระดับน้ำลดลง  1  ซ.ม  ซึ่งมีแนวโน้มลดลง  หรือทรงตัว ส่วนแม่น้ำโขงลดลง 20 ซ.ม. แต่ยังมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ 5 อำเภอริมแม่น้ำมูล ได้แก่ อำเภอเมือง วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร ตาลสุม และสว่างวีระวงศ์ โดยทางจังหวัดอุบลราชธานีได้ติดตามสถานการณ์เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง  และให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้จะเร่งคืนพื้นผิวจราจร โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและวางกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ในเมืองอุบลราชานี  ที่มีน้ำท่วมขังในถนนสายหลักอุบลราชธานี – ศรีสะเกษ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไป – มาได้สะดวกมากขึ้น ส่วนถนนเส้นทาง อุบลราชธานี-ยโสธร  เปิดให้ประชาชน  สัญจรไปมาได้แล้ว 2 ช่องทางจราจร ทั้งนี้จังหวัดอุบราชธานี ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่อำเภอพิบูลมังสาหาร  จำนวน 60 เครื่อง และเพิ่มการติดตั้งที่อำเภอโขงเจียม จำนวนอีก จำนวน 100 เครื่อง รวมทั้งหมด 160 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง

สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ได้ร่วมกับทหาร ตำรวจ ออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนอย่าได้เชื่อกระแสข่าวลือ ขอให้ตรวจสอบที่มาของข่าวให้ถูกต้อง และมอบหมายให้เจ้าหน้าตำรวจตรวจสอบข้อมูลข่าวผ่านสื่อสังคม

'เพื่อไทย' ตั้งคำถาม 'ประยุทธ์' จัดลำดับความสำคัญงานอย่างไร หลังเลือกไปภาคใต้มากกว่าอีสานที่โดนน้ำท่วม

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรง ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกไปแต่ที่ที่ชอบ หรือเข้าใจว่ามีแต่คนรัก ก็เป็นสิทธิ แต่การเลือกลงพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนกระทบต่อจีดีพีภาคการเกษตร พื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวเสียหายอย่างหนัก ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูง ประชาชนอาจสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างไร รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่แบบลูบหน้าปะจมูกไม่ได้ ควรตั้งวอร์รูมบูรณาการจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด และเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ วิธีการโทษรัฐบาลเก่าก็ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มา 5 ปี จะปฏิเสธอย่างไรก็ไม่พ้นความรับผิดชอบของท่านไปได้

 

ที่มาเรียบเรียงจาก: TNN, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี [1] [2], ผู้จัดการออนไลน์






 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net