Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราอยู่ในยุคสมัยแห่งการสวิงกลับของกระแสความคิดผฝ่ายขวาในทางการเมือง และการกลับมาของอิทธิพลทางศาสนาในมิติของชีวิตทางสังคม กระแสแรกส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ขณะที่กระแสหลังศาสนากลับมามีอิทธิพลในมิติชีวิตทางสังคม หรือ “ชีวิตสาธารณะ” มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางศาสนา

ในสหรัฐอเมริกา เราได้เห็นปัญหานโยบายทางการเมืองขวาจัดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กระทบต่อสิทธิของผู้อพยพและอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์สะท้อนความกังวลของคนบางกลุ่มต่อกระแสตีกลับของศาสนา เช่น กรณีการสื่อสารผ่านภาพยนตร์สารคดี "ซาตานจงเจริญ?" หรือ Hail Satan? ที่บอกเล่าเรื่องราวของลัทธิ "วิหารซาตาน" (Satanic Temple) และความพยายามในการใช้สันติวิธีต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพในการนับถือศาสนา จุดยืนของลัทธินี้ผูกโยงอยู่กับ “เสรีภาพ” อันเป็นค่านิยมหลักของสังคมอเมริกัน

 "เราจะส่งเสริมเมตตาธรรมและความกรุณาปรานีต่อกันในหมู่ผู้คนทั้งหลาย ปฏิเสธและต่อต้านการใช้อำนาจของทรราชย์ สนับสนุนความเป็นธรรมและการใช้สามัญสำนึกเพื่อสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ยอมรับคำบัญชาจากจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ เพื่อดำเนินภารกิจอันสูงส่งที่นำทางด้วยเจตจำนงของปัจเจกบุคคล"

และความกังวลของพวกเขาก็คือ

"เราต้องการความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการเลือกนับถือศาสนา เราต้องการให้ผู้คนทบทวนเรื่องสถานะของสหรัฐอเมริกาที่ทำตัวดูคล้ายกับประเทศของคริสต์ศาสนาเข้าไปทุกที ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่"

ในหนังสือ “สิทธิของมนุษย์, สามัญสำนึก และข้อเขียนทางการเมืองอื่นๆ” (Rights of Man, Common Sense and Other Political Writing) ของโธมัส เพน นักคิดนักเคลื่อนไหวคนสำคัญในช่วงปฏิวัติอเมริกา หน้า 137 เขียนว่า การนับถือศาสนาควรเป็นเรื่องของศรัทธาที่ขึ้นกับเสรีภาพส่วนบุคคล หาใช่ธุระกงการอะไรที่รัฐจะบังคับหรือแทรกแซงไม่ เพราะศรัทธาเป็นเรื่องของอิสรภาพแห่งมโนธรรมสำนึก (liberty of conscience) ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า หรือระหว่างผู้บูชากับสิ่งที่เขาบูชา ดังนั้น อำนาจใดๆ ไม่ว่าจะในนามของกษัตริย์, บิชอป, ศาสนจักร, รัฐ หรือสภาและอื่นๆ ย่อมจะเข้ามาแทรกแซงอิสรภาพดังกล่าวไม่ได้ 

นี่ขนาดสังคมอเมริกันเขาผ่านการถกเถียงทางความคิด, การต่อสู้ทางการเมือง, ความสูญเสีย จนสามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตย หลักสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ชัดเจนมานานมากแล้ว แต่กระแสการตีกลับของความคิดทางการเมืองฝ่ายขวาและอิทธิพลของศาสนาในชีวิตสาธารณะยังกลายเป็นเรื่องน่ากังวล

ปรากฎการณ์ “ภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ที่ฉายภาพ “มวลอำนาจ” รุมล้อมนักศึกษาคนหนึ่งที่แสดงภาพวาดดังกล่าวในงานแสดงศิลปะแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา มีทั้งอำนาจของสำนักพุทธฯ, วัฒนธรรมจังหวัด, ผู้ว่าราชการจังหวัด, เจ้าคณะจังหวัด, อาจารย์, คณบดี, อธิการบดี, องค์กรพุทธต่างๆ ที่เคลื่อนไหวให้เอาผิดข้อหา “ดูหมิ่นพุทธศาสนา” ผ่านโลกโซเชียล ที่กดดันให้เธอต้องออกมายอมรับผิดทั้งน้ำตาและ “ขอขมา” ต่อเจ้าคณะจังหวัด ช่างเป็นภาพที่น่าหดหู่ หากมองจากจุดยืนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนา

บางคนแสดงความเห็นในสื่อโซเชียลว่า ในเมื่อนักศึกษาคนนั้นเธอกล้าทำอะไรที่ท้าทายความเชื่อกระแสหลัก ทำไมต้องยอมขอขมาด้วย ทำไมไม่สู้บนจุดยืนของตัวเองให้สุดๆ ไปเลย คำถามแบบนี้ก็เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า “ทำไมคำ ผกาจึงยอมขอขมาคณะสงฆ์กรณีวิจารณ์สวดมนต์ข้ามปีทางทีวี” ผมคิดว่าหากเรามองจาก “บริบท” ของ “ผู้ถูกกระทำ” จากมวลอำนาจมหาศาลที่กดบีบทุกทิศทาง เราไม่รู้ว่าผู้ถูกกระทำอาจต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากเขาไม่ยอมอ่อนข้อ 

ประเด็นคือ ไม่ว่ากรณีคำ ผกา หรือกรณีภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมน มันไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ทั้งในทางหลักการพุทธศาสนาเองและข้อเท็จจริงของการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นการ “ดูหมิ่นพุทธศาสนา” ที่เราเห็นได้ มีเพียงความไม่พอใจ ความโกรธของชาวพุทธบางกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมความคิด ความเชื่อจากพุทธศาสนาแบบรัฐ ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่แยกศาสนจักรกับรัฐเป็นอิสระจากกัน คณะสงฆ์จึงมีอำนาจทางกฎหมาย และรัฐเองก็มี “กฎหมายหมิ่นศาสนา” ที่อาจใช้เอาผิดได้เสมอกับการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาที่อาจถูกตีความว่าลบหลู่ดูหมิ่น 

นี่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมและโครงสร้างที่ขัดกับหลักการพื้นฐานที่ว่า “รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา” และขัดกับหลัก “เสรีภาพทางศาสนา” เพราะตามหลักความเป็นกลางทางศาสนา รัฐจะให้อำนาจทางกฎหมายแก่องค์กรศาสนาใดๆ ไม่ได้ และตามหลักเสรีภาพทางศาสนา รัฐและสังคมต้องเคารพการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในแบบใดๆ ที่ตรงข้ามกับความเชื่อกระแสหลัก หรือแม้แต่ทำให้คนที่ยึดความเชื่อกระแสหลักไม่พอใจก็ได้ ตราบที่การแสดงออกนั้นๆ ไม่ละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่น หรือไม่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลออื่น ฉะนั้น จึงอ้างเรื่อง “หมิ่นความรู้สึก” หรือ “ความเชื่อของคนส่วนใหญ่” มาเอาผิดไม่ได้ เพราะเป็นข้ออ้างที่ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงจนสิ้นสงสัยได้เหมือนกรณีดูหมิ่นเหยียดหยามตัวบุคคล

ภาพที่เราเห็นนักศึกษาคนหนึ่งกราบขอขมาท่ามกลางมวลอำนาจที่รุมล้อม พิสูจน์ไม่ได้ในทางหลักการพุทธศาสนาและข้อเท็จจริงของการกระทำว่าเป็นการหมิ่นศาสนาอย่างไร แต่สิ่งที่เราเห็นและรู้สึกได้คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเธอไม่ได้รับการเคารพ หากมองจากสามัญสำนึกในสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพทางศาสนา

ภาพที่เห็นสะท้อน “ความขัดแย้ง” ระหว่างกระแสตีกลับของอิทธิพลทางศาสนาเชิงสถาบันต่อชีวิตสาธารณะ กับความคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อศาสนา ซึ่งต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนรุ่นเก่าและอำนาจรัฐ 

กล่าวคือ คนรุ่นใหม่ต้องการนำเสนอความคิดและมุมมองทางศาสนาของพวกเขาบนจุดยืนเสรีภาพภาพทางศาสนาแบบเสรีนิยม ขณะที่ระยะหลังกระแสตีกลับของอิทธิพลทางศาสนาที่มาพร้อมกับกระแสการเมืองฝ่ายขวา ทำให้เกิดองค์กรพุทธต่างๆ ผุดขึ้นจำนวนมาก ทั้งเป็นองค์กรของนักบวชและฆราวาสที่มีบทบาทเรียกร้องสิทธิพิเศษต่างๆ ของพุทธศาสนาในโครงสร้างอำนาจรัฐ เช่น การบัญญัติศาสนาประจำชาติ และอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีองค์กรต่อต้านมุสลิมและเคลื่อนไหวปกป้องพุทธศาสนาจากการวิจารณ์ การแสดงออกใดๆ ที่เชื่อกันว่าไม่ตรงตามคำสอนในไตรปิฎกบ้าง ที่ตีความกันว่าจาบจ้วงลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนาบ้าง องค์กรเหล่านี้ทำงานเชื่อมโยงกับอำนาจคณะสงฆ์ของรัฐ และหน่วยงานราชการก็ต้องสร้างผลงานตามนโยบายรัฐบาลฝ่ายขวาที่คุมเข้มในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และทางศาสนากขึ้น

เมื่อมองจากจุดยืนเสรีภาพทางศาสนาและสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ศาสนามีอิทธิพลระรานเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและชีวิตสาธารณะมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และส่งผลเสียแม้กระทั่งต่อคำสอนของพุทธะเอง 

เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้ศาสนามากขึ้น หากแต่ยิ่งศาสนาเชิงองค์กรฉุนเฉียวและระรานมากขึ้นเท่าใด ยิ่งสะท้อนการเดินสวนทางต่อคำสอนของพุทธะมากขึ้นเท่านั้น เพราะ พุทธะสอนให้ใช้ปัญญาและกรุณาอย่างเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและผู้อื่น การปฏิบัติสวนทางกับคำสอนพุทธะ ไม่ใช่การปกป้องพุทธศาสนา ศาสนาแบบฉุนเฉียนและระรานจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธะ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างถึงราก 


ที่มาภาพ: https://thethaiger.com/thai/news-th/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%99

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net