Skip to main content
sharethis

สหรัฐฯ ชื่นชมไต้หวันป้องกันค้ามนุษย์ได้เยี่ยม จัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 10

ความพยายามในการการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไต้หวัน ได้รับการยอมรับและยกย่องไปทั่วโลก ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงรายงานประจำปี เรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลกประจำปี 2562 ยกย่องไต้หวันว่า เป็นประเทศที่เอาจริงและมีมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ได้อย่างมีผล จัดให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุด ได้แก่บัญชีกลุ่มที่ 1 หรือ Tier 1 ซึ่งหมายถึงเป็นประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ติดต่อกันเป็นปีที่ 10 แล้ว

กระทรวงมหาดไทยของไต้หวันกล่าวว่า ไต้หวันได้บูรณาการการประสานงานข้ามกระทรวงเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหารตั้งแต่ปี 2007 โดยผนึกกำลังภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เอกชน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ จัดการประชุมประสานงานเป็นประจำเพื่อทบทวนมาตรการและสถานการณ์ เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพสำหรับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไต้หวัน โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ในไต้หวันได้จัดให้ผู้เสียหายชาวต่างชาติไปอยู่ในสถานคุ้มครองจำนวน 120 คน และพนักงานอัยการได้ดำเนินการสั่งฟ้องแก๊งค้ามนุษย์ไปแล้ว 112 คน จัดเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นการแสดงว่า มาตรการป้องปรามของไต้หวันได้ผลและประสบความสำเร็จ จึงได้รับการชื่นชมจากสหรัฐอเมริกาจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ได้ผลดีที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 10 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2562 ฉบับนี้ ได้แนะนำให้ไต้หวันเพิ่มการสอดส่องเรือประมง เพื่อคุ้มครองลูกเรือประมงต่างชาติที่ทำงานอยู่บนเรือประมงและอาจถูกขูดรีดกดขี่ ทบทวนแก้ไขนโยบายหรือบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดภาระด้านค่าใช้จ่ายและค่าบริการของแรงงานต่างชาติ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาเริ่มผลักดันมาตรการป้องกันการใช้แรงงานบังคับ โดยจะห้ามสินค้าจากทั่วโลกที่ผลิตจากแรงงานบังคับและแรงงานขัดหนี้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา หากเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ การป้องกันการค้ามนุษย์ ไม่เพียงแต่จะจำกัดเพียงการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการค้ามนุษย์ทางเพศเท่านั้น ในอนาคต สินค้าทางการเกษตรและประมง หรือสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงสินค้าไฮเทคที่พัวพันกับการใช้แรงงานบังคับ ก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด

ที่มา: Radio Taiwan International, 2/8/2019

แรงงานสหรัฐฯ พยายามเจรจาปรับปรุงสัญญาจ้างให้ดีกว่าเดิม หลังภาคธุรกิจหลักเฟื่องฟู

สถิติล่าสุดชี้ว่าสายการบินในสหรัฐอเมริกาทำกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน สายการบินที่ใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกและผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในสหรัฐอเมริกา ทำกำไรรวมกันได้มากกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 ที่ผ่านมา แต่มีรายงานระบุว่าแรงงานปัจจุบันทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ทั้งที่อยู่ในสายการประกอบรถยนต์ นักบิน ฝ่ายจัดเตรียมอาหารสำหรับบริการบนเครื่องบิน พนักงานทำความสะอาดห้องพัก รวมถึงพนักงานผู้จัดเรียงสินค้าในห้างสรรพสินค้าต่างพยายามหาทางเจรจาเพื่อปรับสัญญาการจ้างงานที่มีสวัสดิการดีกว่า แม้ยังไม่ถึงขั้นนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้อง

ที่มา: CNBC, 4/8/2019

Tesco สหราชอาณาจัก ปลดพนักงาน 4,500 คนในสาขารูปแบบ Metro

Tesco ห้างสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร ประกาศปลดพนักงาน 4,500 คนในสาขารูปแบบ Metro กว่า 153 แห่ง นอกจากนี้ Tesco สาขารูปแบบ Express กว่า 134 แห่ง (มีทั้งหมด 1,750 ในสหราชอาณาจักร) จะมีการปรับเปลี่ยนเวลาในการเปิด-ปิดสาขาด้วย เพื่อทำให้สอดคล้องกับปริมาณลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละพื้นที่

ที่มา: BBC, 5/8/2019

ธนาคาร HSBC ปรับโครงสร้าง เลิกจ้างพนักงานจำนวน 4,000 ตำแหน่ง

ธนาคาร HSBC ปรับโครงสร้างสำคัญของธุรกิจด้วยการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 4,000 ตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็น 2% ของพนักงานขององค์กรทั้งหมด 235,217 คน ทั่วโลก โดยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ระบุว่าการลดจำนวนพนักงานจะมุ่งเน้นไปที่บุคลากรระดับอาวุโส และธนาคาร HSBC จะต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนทั้งหมด 650-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: Bloomberg, 5/8/2019

โรคลมแดดอาจคร่าชีวิตคนงานก่อสร้างโอลิมปิกโตเกียว 2020

คนงานก่อสร้าง วัย 50 ปีคนหนึ่งเป็นลมหมดสติขณะกำลังวางสายเคเบิลนอก 'Tokyo Big Sight' ซึ่งเป็นศูนย์การประชุมและนิทรรศการในกรุงโตเกียว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดัดแปลงเป็นศูนย์สื่อมวลชนสำหรับการแข่งขันมหกรรมโอลิมปิก ปี 2020 ที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพ โดยคนงานดังกล่าวถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยคาดว่าน่าจะเสียชีวิตเพราะลมแดด

โตเกียวซึ่งจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-9 ส.ค. 2020 มีอากาศร้อนอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จากปกติที่จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 27.5 องศา และในวันพฤหัสซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ โตเกียวมีอุณหภูมิสูงถึง 35.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้มีรายงานระบุว่าระหว่างวันที่ 24 ก.ค.-9 ส.ค. ทั่วญี่ปุ่นมีคนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพราะผลจากความร้อนแล้ว 18,347 คน และมีอย่างน้อย 57 คนเสียชีวิต และตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2019 เป็นต้นมา เฉพาะที่กรุงโตเกียว มีผู้เสียชีวิตเพราะความร้อนแล้ว 45 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยโดยลำพัง

ที่มา: The Asahi Shimbun, 9/8/2019

ไต้หวันเตือนแรงงานต่างชาติพกยาสำเร็จรูปเข้าประเทศ

สำนักงานอัยการชั้นสูงของไต้หวันแถลงข่าวว่านอกจากเปิดเผยข้อมูลชาวต่างชาติในไต้หวันก่อคดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคดียาเสพติด และที่น่ากังวลก็คือช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยในไต้หวันถูกจับคดียาเสพติดมากถึง 1,705 คน ครองแชมป์ชาวต่างชาติในไต้หวัน ตามด้วยเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว

สำนักงานอัยการชั้นสูงของไต้หวันยังเตือนแรงงานต่างชาติว่า อย่าพกพายาสำเร็จรูปขณะเดินทางเข้าไต้หวัน หรือให้ญาติพี่น้องส่งยาสำเร็จรูปมาทางไปรษณีย์หรือผ่านทางบริษัทรับส่งพัสดุ เนื่องจากอาจมีส่วนประกอบเป็นสารเสพติด แม้จะเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 3 และ 4 ก็จะถูกจับกุมดำเนินคดี โดยในแต่ละปี มีแรงงานต่างชาติที่พกพาหรือให้ญาติพี่น้องส่งยาสำเร็จรูปมาทางไปรษณีย์ถูกจับดำเนินคดีนับร้อยราย

ด้านกระทรวงยุติธรรมของไต้หวัน เคยมีรายงานสรุปมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่แรงงานต่างชาติระบุว่า กรมศุลกากรตรวจพบสารเสพติดในรูปยาสำเร็จรูปที่ถูกส่งมาทางไปรษณีย์จากญาติพี่น้องในประเทศไทยเป็นประจำ โดยเฉพาะยาเม็ดที่ใช้รักษาอาการปวดหัวและอาการของโรคไมเกรน ซึ่งเป็นยาในตระกูลฝิ่นและอนุพันธ์ อย่างยาแก้ปวด Tofago, Polygot, Tramal Caps และ Lomotil เป็นต้น มีส่วนผสมของสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 3 ซึ่งไต้หวันมีการควบคุมเป็นพิเศษ

ที่มา: Radio Taiwan International, 9/8/2019

กลุ่มสิทธิแรงงานตีแผ่ปัญหาแรงงานหญิงในโรงงานเย็บผ้าแอฟริกันถูกล่วงละเมิดทางเพศ

กลุ่มสิทธิแรงงานเผย สาวโรงงานเย็บผ้ายีนส์ให้กับบริษัทผลิตกางเกงยีนส์ยี่ห้อดังของสหรัฐฯ เช่น Levi’s, Wrangler, Lee และ Children’s Place ตามโรงงานในแอฟริกาต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศและความรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุพื้นฐานมาจากเรื่องเพศ นอกจากนี้บางคนยังถูกขู่บังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับหัวหน้างานเพื่อรักษาหน้าที่การงานเอาไว้ หลังจากที่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกไป แบรนด์เหล่านั้นต่างเห็นพ้องที่จะนำการควบคุมดูแลจากภายนอกมาใช้กับแรงงานกว่า 10,000 คน ในโรงงานที่ Lesotho ทั้ง 5 แห่ง

กลุ่มสิทธิแรงงานได้ตรวจสอบโรงงานสิ่งทอของไต้หวันใน Lesotho ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนทางใต้ของอาฟริกา ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง หลังจากมีรายงานจากแหล่งข่าวหลายแห่ง เรื่องที่ช่างเย็บผ้าผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงทางเพศ รายงานระบุว่าบรรดาผู้จัดการและหัวหน้างานบังคับให้แรงงานหญิงหลายคนมีความสัมพันธ์ทางเพศเพื่อแลกกับความมั่งคงในหน้าที่การงาน หรือเพื่อการเลื่อนตำแหน่ง แรงงานหญิงเหล่านั้นได้อธิบายถึงรูปแบบของความรุนแรงและการล่วงละเมิด รวมถึงการถูกเนื้อต้องตัวที่ไม่เหมาะสม ความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นที่หยาบคาย

ในรายงานยังเผยว่าเมื่อคนงานหญิงไม่ยอมตาม ก็จะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการตอบโต้ด้วยวิธีต่างๆ และผู้จัดการโรงงานเหล่านั้นยังต่อสู้คัดค้านการก่อตั้งสหภาพแรงงานอีกด้วย ในขณะที่พนักงานส่วนใหญ่มาจาก Lesotho แต่ผู้จัดการก็มีทั้งที่เป็นคนในท้องถิ่นและที่เป็นชาวต่างชาติ คนงานหญิงยังเล่าว่า แม้แต่เพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายก็ลวนลามพวกเธอด้วย คนงานหญิงอีกคนหนึ่งเล่าว่า ผู้จัดการระดับประเทศซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ตบบั้นท้ายของคนงานหญิง จับหน้าอก หรือบางครั้งก็พาคนงานหญิงกลับบ้านเพื่อไปมีเพศสัมพันธ์ด้วย ทั้งนี้คำให้การของสตรีเหล่านี้ในรายงาน ไม่มีการระบุชื่อเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเธอ

Michael Kobori รองประธานฝ่ายความยั่งยืนของ Levi Strauss & Co. กล่าวว่า ทันทีที่บริษัทได้รับรายงานจากกลุ่มสิทธิผู้ใช้แรงงาน ทางบริษัทได้แจ้งกับโรงงานสิ่งทอ Nien Hsing ว่าทางบริษัทจะไม่ยอมรับเรื่องนี้และเรียกร้องให้โรงงานพัฒนาแผนปฏิบัติการแก้ไข ส่วนโฆษกของ Children's Place กล่าวว่า ได้แจ้งให้ทางโรงงานทราบแล้วว่าการจะที่ร่วมงานกันต่อไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขของทางโรงงานเอง

Levi's, The Children's Place และ Kontoor Brands ผู้ผลิตกางเกงยีนส์ Wrangler และ Lee กล่าวในแถลงการณ์ร่วมว่า พวกเขาต้องการให้พนักงานทุกคนโดยเฉพาะพนักงานผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หลายๆ บริษัทในสหรัฐฯ กำลังระดมทุนสนับสนุนโครงการซึ่งมีระยะเวลาสองปี โดยร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในการจัดตั้งกลุ่มสืบสวนอิสระ เพื่อให้พนักงานของโรงงานสามารถแจ้งข้อกังวลต่างๆ ของตนได้

Richard Chen เจ้าของโรงงาน Nien Hsing ได้ตกลงร่วมมือกับสหภาพแรงงานและองค์กรด้านสิทธิสตรีของ Lesotho เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติและกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้ เขากล่าวว่า ทางโรงงานมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานในโรงงานทุกคนรู้สึกปลอดภัย กองทุนโลกสำหรับสตรีระบุว่า พนักงานราว 80% ที่ทำงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกล้วนเป็นผู้หญิง

ด้าน Rola Abimourched ผู้อำนวยการอาวุโสของสภาองค์กรสิทธิแรงงาน (Worker Rights Consortium) กล่าวว่าข้อตกลงใน Lesotho ควรเป็นต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายอื่นๆ ที่เหลือเพื่อป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดต่างๆ และเธอหวังว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบโดยรวมไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย

ที่มา: VOA, 19/8/2019

ไต้หวันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 700 เหรียญ เป็น 23,800 เหรียญ เริ่มใช้ 1 ม.ค. 2020

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2019 กระทรวงแรงงานไต้หวันได้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้า หลังจากใช้เวลาเจรจาต่อรองกันนานกว่า 6 ชาวโมง ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือน 3.03% หรือปรับขึ้นเดือนละ 700 เหรียญ จากปัจจุบัน 23,100 เหรียญเป็น 23,800 เหรียญ ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงสำหรับคนท้องถิ่นที่ทำงานหารายได้เสริมหรือผู้ทำงานเป็นรายชั่วโมง ปรับจากชั่วโมงละ 150 เหรียญเป็น 158 เหรียญ ปรับขึ้น 5.33%

แรงงานที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ มีจำนวน 2,381,000 คน ประกอบด้วยแรงงานท้องถิ่นที่แจ้งเอาประกันกองทุนประกันภัยแรงงาน ณ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในวงเงินค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน 1.36 ล้านคน แรงงานต่างชาติที่ทำงานในภาคการผลิตจำนวน 465,000 คน และยังมีแรงงานท้องถิ่นหรือนักศึกษาที่ทำงานเป็นรายชั่วโมงจำนวน 556,000 คน กลุ่มนี้จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงจากปัจจุบันชั่วโมงละ 150 เหรียญ เพิ่มเป็น 158 เหรียญ

กระทรวงแรงงานจะนำมติที่ประชุมดังกล่าว เสนอต่อสภาบริหาร หลังได้รับอนุมัติแล้ว จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2020 ทั้งนี้ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินขึ้นบริหารประเทศเมื่อปี 2016 เป็นต้นมา มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำติดต่อกัน รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ปีแล้ว โดยในปี 2014 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังอยู่ที่เดือนละ 19,273 เหรียญ ต่อมาในปี 2016 ปรับขึ้น 3.81% เป็น 20,008 เหรียญ ปี 2017 ปรับขึ้นเป็น 21,009 เหรียญ ปี 2018 ปรับเป็น 22,000 เหรียญ ปี 2019 ที่ผ่านมา ปรับเป็น 23,100 เหรียญ และปีใหม่ 2020 จะปรับขึ้นเป็น 23,800 เหรียญไต้หวัน

และเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประกาศอย่างเป็นทางการ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือน 23,800 เหรียญ ค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงสำหรับคนท้องถิ่นที่ทำงานหารายได้เสริมหรือผู้ทำงานเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 158 เหรียญ มีผลใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2020 เป็นต้นไป

ที่มา: Radio Taiwan International, 23/8/2019

บริษัทอเมริกันย้ายฐานผลิตออกจากจีนไปเวียดนามและเม็กซิโกในห้วงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนระอุ

บริษัทต่างๆ ที่เจอกับผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นกำลังมองหาแหล่งผลิตสินค้าแห่งใหม่เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว มีโรงงานสองแห่งในเวียดนามที่ผลิตจักรยานไฟฟ้าให้กับบริษัท Pedego บริษัทอเมริกันที่ตั้งอยู่ใน Fountain Valley รัฐ California ราวร้อยละ 80 ของชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานของ Pedego เคยผลิตในจีนในอดีต

Don DiCostanzo ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Pedego และซีอีโอ กล่าวว่าปัจจุบันชิ้นส่วนราวร้อยละ 70 ผลิตในเวียดนามและราวร้อยละ 30 ผลิตในไต้หวัน

บริษัท Pedego ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปทื่อื่นเนื่องจากผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้านี้ บริษัท GoPro ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ก็ได้ย้ายฐานการผลิตกล้องถ่ายรูปที่ส่งขายในสหรัฐฯ ออกจากจีนแล้ว โดยย้ายไปยังเม็กซิโกในเดือนมิถุนายน GoPro บอกว่าเหตุผลก็เพื่อปกป้องบริษัทจากภาษีนำเข้า ประหยัดค่าลงทุนและเพิ่มความมีประสิทธิภาพ แต่กล้องถ่ายรูปของ GoPro ที่ส่งออกไปขายยังประเทศอื่นๆ ยังคงผลิตในจีนอยู่

Kevin Klowden ผู้อำนวยการบริหารของ Center for Regional Economics แห่งสถาบัน Milken สถาบันคลังสมองที่ตั้งอยู่ใน Santa Monica รัฐ California กล่าวว่าทั้งสองประเทศที่กำลังได้รับผลดีมากที่สุดคือ เวียดนามกับเม็กซิโกเพราะความได้เปรียบทางศักยภาพด้านการผลิตและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ต่างประเทศกำลังมองสองประเทศนี้ด้วยความอิจฉา

Klowden กล่าวว่ารัฐบาลเวียดนามทำงานได้เยี่ยมมากในการเตรียมประเทศให้พร้อมและสามารถรองรับบริษัทต่างๆ ที่ย้ายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศ เขากล่าวว่าเวียดนามถือเป็นคู่แข่งกับจีนมาพักหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในด้านค่าลงทุน

Klowden กล่าวว่าการผลิตสินค้าและการ outsourcing ในเศรษฐกิจแบบ global economy เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาแล้วแต่ผลประโยชน์และปัจจัยต่างๆ อาทิ สภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางการเมืองและฐานการผลิตแห่งใหม่ๆ ที่ราคาถูกกว่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ธุรกิจโยกย้ายฐานการผลิตไปที่ใหม่ๆ

ที่มา: VOA, 26/8/2019

แรงงานอพยพในโครงการของรัฐบาลญี่ปุ่นถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง

บีบีซีได้พูดคุยกับแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นที่อ้างว่าถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบจากโครงการจ้างงานที่ดำเนินการโดยรัฐบาล โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานเกี่ยวกับการล่วงละเมิดแรงงานเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

คนเหล่านี้เดินทางไปญี่ปุ่นในฐานะผู้ฝึกงาน แต่พวกเขาอ้างว่าต้องถูกเอารัดเอาเปรียบจากโครงการจ้างงานที่รัฐบาลดำเนินการ "ผู้ฝึกงานเฉพาะทาง" เหล่านี้ กำลังฟ้องร้องนายจ้างของตัวเอง

"ตอนที่ฉันมาถึงในตอนแรก ฉันทำงานตั้งแต่ 06.30 น. ไปจนถึงเที่ยงคืนทุกวัน นาน 6 เดือน ไม่ได้หยุดเลยแม้แต่วันเดียว" จาง เล่า

จาง ทำงานให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าขนาดเล็กแห่งหนึ่ง

"สลิปเงินเดือนก็ทำปลอมขึ้น" จาง กล่าว

เธอบันทึกข้อความเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาไว้นานเกือบ 1 ปี เพื่อเป็นหลักฐาน จางอ้างว่าไม่ได้รับค่าจ้างเลย ทางบริษัทติดหนี้เธอเกือบ 50,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.85 ล้านบาท

"ฉันทำงานหนักมาก จนขาบวม แล้วก็เจ็บหลังด้วย ฉันปวดหัวจนร้องไห้ในตอนกลางคืน" จาง เล่า

นอกจากนี้ ยังมีคนเข้าเมืองจากจีนอีก 2 คน กล่าวหาบริษัทนี้ด้วยข้อหาคล้ายกัน

ทางบริษัทปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่า "เงินเดือนพื้นฐานของเราคำนวณตามค่าจ้างขั้นต่ำ...เรายังจ่ายค่าล่วงเวลาด้วย" และบอกว่า "สลิปเงินเดือนของเราเป็นของจริง"

"นี่คือป้ายที่คุณต้องเย็บลงบนผ้าเหรอคะ" ผู้สื่อข่าวถาม จาง "อันนี้คือ กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ คุณจำได้ไหมว่า เห็นป้ายนี้เยอะไหมคะ"

"ดูเหมือนจะเยอะนะคะป้ายแบบนี้" จาง ตอบ

"อันนี้คือ บาร์นีย์ส นิวยอร์ก" ผู้สื่อข่าวถามต่อ

"อันนี้เราก็ทำมากเหมือนกันค่ะ" จาง บอก

เราสอบถามไปยัง กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ และ บาร์นีย์ส นิวยอร์ก

กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ ตอบกลับมาว่า "เรามีเงื่อนไขที่เข้มงวด...มีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน สุขภาพ และความปลอดภัยของคนงาน"

ทั้ง 2 แบรนด์ บอกว่า บริษัทแห่งนี้รับงานจากผู้ทำสัญญารับช่วงมาอีกทีหนึ่ง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางแบรนด์

"[ผู้รับช่วง] กำลังดำเนินการและรับปากกับเราว่า จะไม่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก" กอมม์ เดส์ การ์ซงส์ ระบุ

ส่วน บาร์นีย์ส นิวยอร์ก บอกว่า "บาร์นีย์ส นิวยอร์ก ไม่ได้สั่งซื้ออะไรโดยตรง [จากบริษัทนี้]"

บริษัทบอกว่า กำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาเหล่านี้อยู่

รายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2017 ระบุว่า 70% ของธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ ที่ว่าจ้างผู้ฝึกงานเฉพาะทางกำลังทำผิดกฎหมายทั้งในเรื่องชั่วโมงทำงาน และการทำงานล่วงเวลา แต่ผู้ฝึกงานในบริษัทอื่นอีกหลายแห่งระบุว่า เผชิญปัญหาที่รุนแรงกว่านั้น

"นี่คือยาที่จิตแพทย์สั่งจ่ายให้ฉันค่ะ" สือ แรงงานต่างชาติอีกคนกล่าว

สือ ถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน เพราะเธอเป็นชาวต่างชาติ

"ฉันได้แต่มองไปบนท้องฟ้า ตอนพักกลางวัน ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว ฉันก็เลยพยายามฆ่าตัวตายค่ะ" สือ เล่าทั้งน้ำตา

เธอรอดชีวิต แต่ตอนนี้มีปัญหาที่หลัง และอาจจะไม่สามารถกลับมาทำงานในโรงงานได้อีก

ญี่ปุ่นยอมรับว่า มีการจ้างแรงงานอพยพทักษะต่ำอีก 345,000 คน ในช่วง 5 ปี ข้างหน้า แต่ตอนนี้คงต้องรอดูว่าญี่ปุ่นจะปฏิบัติต่อแรงงานที่ทำงานอยู่ที่นั่นแล้วอย่างไร

ที่มา: BBC, 30/9/2019 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net