Skip to main content
sharethis

คนหนุ่มสาวญี่ปุ่น 1.06 ล้านคน ฉลองปีใหม่ในฐานะคนเพิ่งบรรลุนิติภาวะอายุ 18 ปี

กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นประมาณการว่า จนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2024 มีผู้ชายราว 550,000 คน และผู้หญิงราว 520,000 คนที่มีอายุครบ 18 ปีในประเทศ

เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2566 แล้ว จำนวนผู้ที่มีอายุ 18 ปีในปี 2024 ลดลงราว 60,000 คน ทำให้ตัวเลขนี้น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการเก็บสถิติครั้งแรกในปี 1968

ทั้งนี้ จนถึงวันขึ้นปีใหม่ของปี 2023 กระทรวงนิยามคนที่เพิ่งบรรลุนิติภาวะใหม่ว่าผู้ที่มีอายุครบ 20 ปี

ผู้ที่มีอายุ 18 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.86 ของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งลดลงมาร้อยละ 0.03 จากปีก่อนหน้า และเป็นสัดส่วนที่น้อยสุดเป็นประวัติการณ์

ที่มา: NHK World, 1/1/2024

บริษัทสวีเดนล้มละลายทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990

ยูซี (UC) ซึ่งเป็นหน่วยงานอ้างอิงด้านเครดิต เปิดเผยว่าบริษัทในสวีเดนที่ล้มละลายมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 29% ในปี 2023 แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์จนส่งผลให้ระบบธนาคารของสวีเดนต้องหยุดชะงัก รายงานดังกล่าวระบุว่า เหตุที่บริษัทในสวีเดนล้มละลายเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน

ที่มา: Bloomberg, 2/1/2024

แรงงาน 436 คน เตรียมหยุดงานประท้วง Viterra บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรกรรมของแคนาดา

แรงงาน 436 คน ในบริษัท Viterra Canada ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรกรรม ผู้ดำเนินงานคลังเก็บธัญพืช โรงแปรรูป และโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร ในแคนาดาและสหรัฐฯ เตรียมประท้วงหยุดงานภายใน 72 ชั่วโมง แรงงานเหล่านี้ เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน GSU ในรัฐ Saskatchewan  ยื่นหนังสือแจ้งการเตรียมหยุดงาน พร้อมระบุเหตุผลว่า ไม่พอใจข้อเสนอสัญญาจ้าง โดยต้องการค่าแรงที่ยุติธรรม, การรักษาสมดุลชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น และความเคารพในสถานที่ทำงาน

"ข้อเสนอสุดท้ายของ Viterra ไม่เพียงพอ เราไม่ได้เรียกร้องอะไรเว่อร์วัง แค่สิ่งที่คนพึงได้รับ" เลขาธิการ GSU กล่าว และยืนยันว่าการหยุดงานไม่ใช่ทางเลือกที่ยินดี แต่จำเป็นต้องทำ "เราหวังว่าบริษัทจะเข้าใจข้อกังวล และถ้าไม่ ก็พร้อมยืนหยัดต่อสู้ เพื่อให้เสียงของพวกเราถูกได้ยิน"

การเจรจาที่ยืดเยื้อมาเป็นปีไม่สามารถหาข้อสรุปได้ หลังข้อเสนอสุดท้ายวันที่ 15 ธ.ค. 2023 ไม่เป็นที่ยอมรับ ทั้งสองฝ่ายยังมีกำหนดเจรจาต่ออีกในวันที่ 3-4 ม.ค. 2024 นี้ หากยังตกลงกันไม่ได้ แรงงานจะเริ่มหยุดงานประท้วงในวันที่ 5 ม.ค. 2024 เวลา 14.00 น. Viterra แม้เตรียมแผนฉุกเฉินรับมือผลกระทบ แต่ก็ยอมรับอาจพิจารณาปิดกั้นพนักงาน (lockout) "เราพยายามเจรจาอย่างเต็มที่ หวังว่าจะหาทางออกร่วมกับ GSU ได้"  รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล Viterra กล่าว

ที่มา: CBC, 2/1/2023

แรงงานผิดกฎหมายหรือชาวต่างชาติที่อยู่ในไต้หวันเลยกำหนดวีซ่า ค่าปรับเพิ่ม 5 เท่า

กระทรวงมหาดไทยประกาศว่า กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ เริ่มใช้ในปีใหม่ 2024 โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ส่วนที่เป็นมาตรการเกี่ยวข้องกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อน ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2024 เป็นต้นไป ส่วนที่เป็นบทลงโทษจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มี.ค. 2024 เป็นต้นไป โดยแรงงานผิดกฎหมายหรือชาวต่างชาติที่อยู่ในไต้หวันเลยกำหนดวีซ่า จะมีค่าปรับจากเดิมถึงเพิ่ม 5 เท่า จากที่เสียค่าปรับสูงสุด 10,000 เหรียญไต้หวัน เพิ่มโทษปรับเป็น 10,000-50,000 เหรียญ พร้อมจำกัดการเดินทางเข้าไต้หวันเป็นเวลา 7 ปี

ที่มา: Radio Taiwan International, 5/1/2024

Lazada สิงคโปร์ ขอโทษสหภาพแรงงาน หลังปลดพนักงานไม่แจ้งล่วงหน้า เร่งเจรจาเงินชดเชย

Lazada แพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ต้องขอโทษสหภาพแรงงาน FDAWU กรณีปลดพนักงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมเปิดโตเจรจาเงินชดเชยให้ดีขึ้น ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานไม่พอใจการกระทำดังกล่าว บอกไม่ยอมรับ และร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้การเจรจาเรื่องเงินชดเชยกับแรงงาน FDAWU ยังคงดำเนินต่อไป ลาซาด้าต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมให้กับพนักงานที่ถูกปลด โดย Lazada สิงคโปร์แถลงการณ์ว่า บริษัทกำลัง "ร่วมมือและปรึกษา" กับรัฐบาลสิงคโปร์, NTUC, FDAWU และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันให้ข้อมูลทุกอย่างกับสหภาพแรงงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการปลดพนักงานเป็นไปอย่างยุติธรรม

ด้านโฆษกกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ยืนยันว่า "เห็นความคืบหน้าที่ดี" ในการเจรจาระหว่างลาซาด้าและ FDAWU กระทรวงฯ เน้นย้ำให้ลาซาด้าทำงานร่วมกับสหภาพฯ เพื่อให้มั่นใจว่า โครงสร้างการทำงานใหม่จะเกิดขึ้นอย่างยุติธรรมและรับผิดชอบ รวมถึงการเสนอเงินชดเชยที่เหมาะสมตามมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังย้ำเตือนให้บริษัทต่างๆ ปฏิบัติอย่างรับผิดชอบเมื่อต้องลดต้นทุน โดยเฉพาะบริษัทที่มีสหภาพแรงงานควรเปิดการเจรจากับสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพนักงานที่ได้รับผลกระทบ

ที่มา: CNA, 6/1/2024

Amazon เตรียมเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคน ในฝ่ายบริการสตรีมมิ่งอย่าง Prime Video

Amazon เตรียมเลิกจ้างพนักงานหลายร้อยคน ในฝ่ายบริการสตรีมมิ่งอย่าง Prime Video และส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Amazon MGM Studios สตูดิโอผลิตคอนเทนต์ในสหรัฐอเมริกาของ Amazon ในขณะที่ผู้บริหาร Prime Video และ Amazon MGM Studios ระบุบริษัทมีการลด การลงทุน เพื่อเพิ่มการลงทุนไปที่การผลิตเนื้อหา-พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าแทน โดยก่อนหน้านี้  Amazon มีการปลดพนักงานมากกว่า 27,000 ตำแหน่ง ช่วงโควิด-19

ที่มา: Geekwire, 10/1/2024

ศาลฎีกาเกาหลีใต้สั่งให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายค่าเสียหายแก่แรงงานในช่วงสงครามโลก

ศาลฎีกาเกาหลีใต้ได้ตัดสินยืนตามศาลระดับที่ต่ำกว่าอีกครั้ง โดยสั่งให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์ที่ฟ้องเรื่องการใช้แรงงานช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในวันพฤหัสบดีที่ 11 ม.ค. 2024 ศาลฎีกาเกาหลีใต้ได้ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของบริษัทนิปปอน สตีล และสั่งให้ทางบริษัทจ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัวของชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยเขาได้อ้างว่าถูกบังคับใช้แรงงานในโรงงานเหล็กกล้าที่ญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ศาลระดับที่ต่ำกว่าได้ตัดสินตามคำร้องของโจทก์ ตอนนี้คำสั่งให้จ่ายค่าเสียหายถือเป็นที่สิ้นสุด

เมื่อเดือน ธ.ค. 2023 ศาลฎีกาเกาหลีใต้ได้สั่งให้บริษัทญี่ปุ่น 3 บริษัทรวมถึงนิปปอน สตีลจ่ายค่าเสียหายให้คนงานช่วงสงครามในคดีที่แยกกัน 5 คดี

รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าสิทธิในการเรียกร้องใด ๆ ก็ตามยุติลงแล้วอย่างสมบูรณ์และเป็นที่สิ้นสุดเมื่อญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่ระดับปกติในปี 1965

นายฮายาชิ โยชิมาซะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลได้ยื่นประท้วงฝ่ายเกาหลีใต้ต่อคำตัดสินในวันที่ 11 ม.ค. 2024

นายฮายาชิกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าคำตัดสินนี้ขัดแย้งกับข้อตกลงปี 1965 และเสียใจเป็นอย่างยิ่งรวมถึงยอมรับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

ที่มา: NHK World, 11/1/2024

‘Google’ ประกาศปลดพนักงานนับร้อยเพื่อลดต้นทุน

บริษัท ‘กูเกิล’ (Google) เผยแผนปลดพนักงานหลายร้อยตำแหน่งจากทีมต่าง ๆ ขณะที่ ผู้บริหารชั้นสูงบางรายประกาศการตัดสินใจลาออกจากบริษัทด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ภายใต้แผนการปลดพนักงานครั้งนี้ กูเกิลจะลดขนาดทีมงานจากหน่วยที่ดูแลบริการด้าน Voice Assistant รวมทั้งจากทีมธุรกิจอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ‘พิกเซล’ (Pixel) ทีมธุรกิจระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ ‘เนสท์’ (Nest) และหน่วยธุรกิจอุปกรณ์ ‘ฟิตบิต’ (Fitbit) รวมทั้ง ปลดเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของทีมพัฒนาเทคโนโลยีเสริมจริง (Augmented Reality – AR) เช่นเดียวกับทีมวิศวกรส่วนกลางที่จะต้องลดคนหลายร้อยตำแหน่งด้วย

รอยเตอร์ระบุว่ากูเกิลซื้อกิจการฟิตบิตมาตั้งแต่ปี 2021 ในราคา 2,100 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ไม่ได้ออกนาฬิกา ‘พิกเซล’ รุ่นใหม่ ๆ ที่ควรจะเป็นผลิตภัณฑ์คู่แข่งกับนาฬิกาแอปเปิลวอทช์ (Apple Watch) มาสักพักแล้วด้วย

ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังกูเกิลเพื่อสอบถามรายละเอียด แต่ไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับจำนวนพนักงานที่จะถูกปลดจริง ๆ

ทั้งนี้ การปรับองค์กรของกูเกิลเกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่น ๆ เช่น ไมโครซอฟท์ (Microsoft) กำลังตั้งความหวังกับการผลักดันปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างเนื้อหาใหม่ ๆ เองได้ (generative artificial intelligence) ของตนออกมา หลัง ChapGPT ของบริษัท OpenAI กลายมาเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อปีที่แล้ว กูเกิลเพิ่งประกาศเพิ่มความสามารถของ generative AI เข้าไปในบริการผู้ช่วยเสมือนจริง (virtual assistant) ของตน หลังบริษัทอัลฟาเบท (Alphabet) ซี่งเป็นบริษัทแม่เผยแผนลดพนักงาน 12,000 ตำแหน่งหรือ 0.6% ของจำนวนพนักงานจากทั่วโลก เมื่อเดือน ม.ค. 2023

ที่มา: VOA, 12/1/2024

แรงงานต่างชาติในไต้หวันจะได้รับอนุญาตเข้าออกไต้หวันแบบหลายครั้งเหมือนแรงงานกึ่งฝีมือ โดยไม่ต้องยื่นขอทุกครั้งอีกต่อไป

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทยประกาศว่า ตามอำนาจในกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2024 เป็นต้นมา อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทั่วไปที่ทำงานอยู่ในไต้หวันและมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศ สามารถยื่นขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศและกลับเข้าไต้หวันใหม่ได้หลายครั้งหรือที่เรียกว่า Multiple Re-entry Permit ตลอดระยะเวลาของอายุบัตร ARC จากเดิมที่ต้องยื่นขอกลับเข้าไต้หวันได้ทุกครั้ง นับเป็นบริการอำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างชาติที่ดีมากอีกหนึ่งรายการ

ที่มา: Radio Taiwan International, 12/1/2024

ผลศึกษาพบคนทำงานที่บ้านมีโอกาสเลื่อนตำแหน่งน้อยกว่าทำงานที่ออฟฟิศ 31%

ปัจจุบันบริษัทต่างๆ พยายามใช้วิธีการมากมายเพื่อดึงพนักงานให้กลับเข้ามาทำงานออฟฟิศ แต่จากงานศึกษาชิ้นใหม่ดูเหมือนฝ่ายบริหารมีเครื่องมือที่ดีกว่าในการลดความน่าดึงดูดใจของการทำงานทางไกล นั่นก็คือ "การไม่เลื่อนตำแหน่ง"

ตามข้อมูลของ Live Data Technologies ที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลคนทำงาน 2 ล้านคนพบว่าพนักงานที่ทำงานทางไกล (หรือทำงานอยู่ที่บ้าน) มีโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานที่ทำงานประจำสำนักงานถึง 31% ในปี 2023 ที่ผ่านมา

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะในปี 2023 KPMG ได้ทำการสำรวจความเห็น CEO จำนวน 400 คน 90% กล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะให้โบนัส เลื่อนตำแหน่ง หรือมอบหมายงานที่ดีกว่า ให้แก่พนักงานที่เข้ามาทำงานที่สำนักงาน นอกจากนี้ Amazon กำลังบังคับใช้นโยบายเข้มงวดให้พนักงานเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยการบล็อกการเลื่อนตำแหน่งสำหรับทุกคนที่ไม่ปฏิบัติตาม

ที่มา: Morning Brew, 13/1/2024

ILO ส่งเอกสารกรณีพิพาทสิทธิการหยุดงานไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

องการแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2023 ILO ได้ส่งเอกสารจำนวน 342 ชิ้น 5 เล่ม (dossier) ไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ตามข้อกำหนดในข้อ 65(2) ของกฎบัตรศาล

การส่งเอกสารชุดนี้ เป็นผลมาจากการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารของ ILO ที่ให้ส่งกรณีพิพาทเรื่องสิทธิการหยุดงานไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก เอกสารเหล่านี้ มาจากทั้ง ILO และแหล่งภายนอก  มีแนวโน้มว่าจะชี้แจงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับข้อพิพาทในการตีความ เช่น การถกเถียงภายในองค์กรที่ผ่านมาเกี่ยวกับการตีความอนุสัญญาหมายเลข 87 ความเป็นไปได้ในการส่งกรณีพิพาทตามข้อ 37(1) ของรัฐธรรมนูญ ILO หลักปฏิบัติ ("jurisprudence") ของหน่วยงานกำกับดูแลของ ILO เกี่ยวกับสิทธิการหยุดงาน และการยอมรับสิทธิการหยุดงานในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เอกสารชุดนี้มาพร้อมกับบันทึกแนะนำ  ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเตรียมแถลงการณ์ลายลักษณ์อักษรโดยรัฐสมาชิกฝ่ายอนุสัญญาหมายเลข 87 และองค์กรนายจ้างและลูกจ้างระหว่างประเทศ 6 แห่ง ที่ได้รับสถานะการปรึกษาหารือระดับทั่วไป ณ ILO สำนักงานทะเบียน ICJ จึงได้เผยแพร่เอกสารชุดนี้ของ ILO บนเว็บไซต์ ICJ

ที่มา: ILO, 14/1/2024

สมาพันธ์แรงงานเวียดนามเสนอลดชั่วโมงทำงานลงต่ำกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์

สมาพันธ์แรงงานแห่งชาติเวียดนาม เสนอให้กระทรวงแรงงาน ออกกฎหมายลดชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง ปัจจุบันแม้แรงงานเวียดนามทำงานเฉลี่ย 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ 25% ทำงานเกิน 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

อย่างไรก็ตาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานของเวียดนามกล่าวว่า ข้อเสนอนี้ต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากธุรกิจหลายแห่งกำลังประสบปัญหาจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งการลดชั่วโมงทำงานอาจเป็นไปได้หลังปี 2030

ที่มา: Vietnam Briefing, 16/1/2024

YouTube เตรียมปลดพนักงานนับร้อย

มีการเปิดเผยว่า Youtube แพลตฟอร์มวิดีโอชื่อดัง เตรียมปรับลดพนักงานราว 100 คน เป็นส่วนของฝ่ายดูแลและจัดการครีเอเตอร์ ทั้งนี้จากการแข่งขันของแพลตฟอร์มวิดีโอที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เม็ดเงินโฆษณาชะลอตัวลดลงในปีที่ผ่านมา ซึ่ง Youtube พยายามฟื้นฟูธุรกิจอย่างหนัก

ที่มา: The New York Times, 17/1/2024

แรงงานภาคบริการสาธารณะในไอร์แลนด์เหนือหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่

แรงงานภาคบริการสาธารณะในไอร์แลนด์เหนือ มากกว่า 100,000 คน ประกาศหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี  ส่งผลกระทบต่อบริการรถโดยสาร รถไฟ โรงเรียน และโรงพยาบาล

การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสหภาพแรงงาน 16 กลุ่ม ซึ่งไม่พอใจเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง โดยจะมีการชุมนุมใหญ่ในเบลฟัสต์ ลอนดอนเดอร์รี โอมาห์ และเอนนิสกิลเลน สาเหตุหลักของการประท้วงคือ ข้อตกลงเรื่องค่าแรงที่ไม่คืบหน้า และค่าแรงของพนักงานภาครัฐในไอร์แลนด์เหนือต่ำกว่าที่อื่นในสหราชอาณาจักร

ที่มา: BBC, 18/1/2024

สหพันธ์แรงงานสากล เปิดตัวชุดเครื่องมือเพื่อสนับสนุนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2024 สหพันธ์แรงงานสากล (Global Union Federations - GUFs) ได้เปิดตัวชุดเครื่องมือที่ครอบคลุมสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ในที่ทำงาน นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ชุดเครื่องมือนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาหมายเลข 190 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการในโลกของการทำงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2021

ที่มา: IndustriALL, 18/1/2024

ผลสำรวจเผยบริษัทอเมริกัน อยากเรียกคนกลับมาทำงานในออฟฟิศ

รายงานการสำรวจความเห็นจากบริษัทในสหรัฐฯ เผยว่ามากกว่า 80% จะใช้สารพัดวิธีเพื่อเช็คยอดการเข้างาน และ 9 ใน 10 บริษัทเล็งหาทางจูงใจนำพนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ สืบเนื่องจากปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน

การสำรวจความเห็นที่จัดทำตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2023 ของบริษัท Resume Builder สอบถามความเห็นจากตำแหน่งผู้จัดการระดับสูงในบริษัทที่มีพนักงานอย่างน้อย 11 คน และพบว่า บริษัทเหล่านี้แทบทั้งหมด เห็นตรงกันว่าจะตรวจสอบการเข้างาน แต่เห็นต่างกันในแง่วิธีการ

ข้อมูลจากรายงานระบุว่า บริษัทส่วนใหญ่เลือกวิธีสแกนบัตรพนักงาน (62%) รองลงมาคือการตรวจสอบด้วยวิธีดั้งเดิมและการเข้าใช้ระบบอินเทอร์เน็ตไว-ไฟ (50%) เรื่อยไปจนถึงใช้ระบบเซ็นเซอร์นับจำนวนคน และติดเซ็นเซอร์ไว้ใต้โต๊ะพนักงาน

จูเลีย ทูธเอเคอร์ โค้ชด้านอาชีพและเรซูเม่จาก Resume Builder มีความเห็นว่า หากการตรวจสอบของที่ทำงานหนักข้อขึ้น “บริษัทอาจจะเสียคนระดับท็อปไป” เพราะผู้คนไม่ชอบการตามติดแบบจุกจิกทุกฝีก้าว ในลักษณะที่คล้ายกับระบอบเผด็จการในนิยาย 1984 ที่เรียกว่า Big Brother

ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า เหตุผลหลักของการเรียกร้องให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศคือปัญหาประสิทธิภาพของงาน โดยวิธีที่จะใช้จูงใจให้คนออกมาจากบ้าน คือการให้มีช่วงเวลาสังสรรค์ (52%) จัดเลี้ยงอาหารฟรี (46%) ขึ้นเงินเดือน (40%) และสวัสดิการเรื่องเลี้ยงดูบุตร (37%)

63% ของบริษัทที่ทำแบบสำรวจมองว่า การมาทำงานที่สำนักงานจะพัฒนาวัฒนธรรมการทำงาน ในขณะที่อีก 29% เชื่อว่าจะช่วยลดภาวะหมดไฟของพนักงาน

ทูธเอเคอร์มองว่า หากต้องมีแรงจูงใจสักอย่างให้พนักงาน ก็คิดว่าควรเป็นอะไรที่สามารถชดเชยต้นทุนในการออกมาทำงานนอกบ้าน เช่น เรื่องของการเดินทาง เสื้อผ้า หรือการดูแลเด็กและสัตว์เลี้ยง และยังมองว่า บริษัทควรมีการสำรวจความเห็นพนักงาน เพราะมีบ่อยครั้งที่สิ่งที่นายจ้างให้นั้นไม่ตรงกับความต้องการของพนักงานทั่วไป

ในหมู่ผู้ทำแบบสำรวจ มีถึงหนึ่งในสามที่บอกว่าจะไล่พนักงานที่ไม่ยอมทำตามมาตรการออก และมี 53% ที่บอกว่าจะพิจารณาเรื่องการลดเงินเดือนแทน

นักเศรษฐศาสตร์อย่างเซลชุก เอเรน มองปรากฏการณ์นำคนกลับเข้าออฟฟิศในอีกมุม โดยเห็นว่า การเรียกคนกลับมาทำงานที่สำนักงานคือ เครื่องมือของนายจ้างในการบีบพนักงานให้ลาออก เพื่อลดจำนวนลูกจ้างในช่วงที่มีสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้

“มันอาจเป็นสิ่งที่พวกเขา (บริษัท) ต้องการ เขาต้องการลดพนักงานในแบบนั้นเพราะกังวลถึงแนวโน้มเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2024” เอเรนกล่าวที่เวทีของเครือข่ายคลังสมองด้านเศรษฐกิจ The Conference Board

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่เหมือนจะโอบรับกระแสกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ คือกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ข้อมูลจากบริษัทข้อมูล Generation Lab พบว่าแรงงานในกลุ่มเจน Z (กลุ่มคนอายุ 27 ปีขึ้นไป) จำนวน 5 ใน 6 บอกว่าอยากจะทำงานในสำนักงานสัปดาห์ละ 3 วันเป็นอย่างน้อย

มาติน มิราเมซานี ประธานฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของ Generation Lab มองแนวโน้มข้างต้นว่า นอกจากคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะไม่คัดค้านการทำงานนอกบ้านแล้ว ก็คงจะมี “การยอมรับโอกาสที่จะได้พบกับที่ปรึกษาและเพื่อนร่วมงานจริง ๆ”

ทั้งนี้ ผลสำรวจของ Resume Builder พบว่า 91% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม ต้องการให้พนักงานเข้ามาออฟฟิศเพียงครั้งละเดือนเป็นอย่างน้อย และมี 75% ที่อยากให้พนักงานเข้ามาออฟฟิศเป็นรายสัปดาห์

ทูธเอเคอร์มองว่า บริษัทกำลังค่อย ๆ วางแนวทางให้พนักงานคุ้นชินกับการกลับเข้ามาทำงานในสำนักงาน และจะค่อย ๆ เพิ่มวันทำงานในออฟฟิศมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

ที่มา: VOA, 19/1/2024

ผลสำรวจปี 2023 นายไต้หวันจ้างปวดหัวปัญหาการสื่อสารกับแรงงานต่างชาติ ปัญหาหลบหนีและไม่ให้ความร่วมมือมากที่สุด

กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศผลการสำรวจการบริหารดูแลและความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติประจำปี 2023 พบปัญหาและอุปสรรคในการบริหารแรงงานต่างชาติของนายจ้างภาคการผลิต ประสบปัญหา 44.6% ในจำนวนนี้ ปัญหาที่สร้างความปวดหัวให้กับนายจ้างมากที่สุดได้แก่ การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน ครองสัดส่วน 68.2% ของปัญหาทั้งหมด รองลงมาเป็นเรื่องการหลบหนี ซึ่งเป็นปัญหาที่นายจ้างภาคการผลิตเริ่มมีความกังวลมากขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่มีการสำรวจเป็นต้นมา ครองสัดส่วน 34% ของปัญหาทั้งหมด ตามด้วยปัญหาที่แรงงานต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือและไม่ตั้งใจทำงาน 27.3%

ที่มา: Radio Taiwan International, 19/1/2024

งานศึกษาพบมลพิษทางอากาศกระทบแรงงานนอกระบบในอินเดีย

การศึกษาซึ่งดำเนินการร่วมกันโดย Help Delhi Breathe และ Mahila Housing Trust ได้เปิดเผยว่าแรงงานนอกระบบในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่ฝังกลบขยะในเดลี เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมลภาวะทางอากาศ เนื่องจากมีอัตราการสัมผัสกิจกรรมกลางแจ้งในระดับสูง สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้ออำนวย สถานที่ทำงานที่เป็นอันตราย และการเลือกปฏิบัติทางสังคม การศึกษานี้อิงจากการสำรวจที่จัดขึ้นในกลุ่มแรงงานนอกระบบ 590 คนใน 5 แห่ง ได้แก่ Bakkarwala, Gokulpuri, Sawda Ghevra, Nathu Colony และ Bhalswa

จากการสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนสูงสุด (95%) กลัวที่จะตกงานหากพวกเขาแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศในสถานที่ทำงานของตน สถานที่ทำงาน ได้แก่ คนทำงานที่บ้าน สถานที่ก่อสร้าง สถานที่ฝังกลบ คนขายของริมถนน คนเก็บขยะ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก คนงานในโรงงาน คนงานรายวัน เจ้าของร้านค้า และผู้ค้ารายย่อย ในขณะที่ 57% กลัวว่าจะถูกนายจ้างตำหนิ แต่อีก 13% ก็กลัวที่จะถูกตัดสินเช่นกัน ผู้คน 85% แสดงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงคุณภาพอากาศในสถานที่ทำงานของตน

ที่มา: Time of India, 20/1/2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net