Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 15 ก่อน ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 จะพบสถานการณ์บาดแผลความทรงจำหรือเหตุการณ์ “กรือเซะ”[1] เกิดขึ้นหนึ่ง ในวันนี้มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนติดอาวุธจำนวน 32 คน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในขณะนั้นนำกองกำลังโดยพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี รองผู้บังคับการรักษาความสงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลของการต่อสู้ คือ กลุ่มคนติดอาวุธที่หลบอยู่ในมัสยิดกรือเซะทั้งหมดเสียชีวิตท่ามกลางสายตาของประชาชนจำนวนกว่า 1,000 คน ที่รายล้อมอยู่ในเหตุการณ์ แต่นี่เป็นเพียง 1 ในการโจมตีจุดตรวจกว่า 10 จุด กระจายทั่วไปในหลายพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งรวม 108 ราย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหลายคน

เอกสารสำคัญเล่มหนึ่ง ถูกค้นพบในที่เกิดเหตุจากศพผู้ก่อเหตุจากเหตุการณ์กรือเซะ โดยกองทัพภาค 4 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดไว้เป็นของกลาง หนังสือเล่มนั้น คือ “เบอร์ญีฮาด ดิ ปาตานี” และเชื่อกันว่า เอกสารนี้เป็นคัมภีร์ของกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดน

เอกสารเล่มดังกล่าวถูกเขียนด้วยลายมือเป็น “ภาษามลายูญาวี” ในเวลาตอนนั้นยังไม่มีใครแปลและศึกษาอย่างจริงจังว่าเนื้อหาเป็นเช่นไร?!? แต่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเรียกเอกสารชิ้นนี้ว่า “คัมภีร์มรณะ” และท่านใช้แจกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 โดยใช้หัวเรื่องของเอกสารว่า “การต่อสู้ที่ปัตตานี คัมภีร์มรณะที่บิดเบือน”

ณ บัดนี้ปริศนาของคัมภีร์มรณะดังกล่าว ได้ถูกเปิดออกแล้ว!! โดยฝีมือการแปลจากภาษามลายูญาวีให้เป็นภาษาไทยโดย อารีฟิน บินจิ อัล-ฟาตอนี หรือ พล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม อดีตนายตำรวจและประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามในภาคใต้

หนังสือแปลเล่มนี้มีทั้งหมด 6 บท ไม่รวมคำนำและภาคผนวก มีความหนาทั้งสิ้น 240 หน้า พิมพ์เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จำนวน 1,000 เล่ม พิมพ์ที่สำนักพิมพ์วิกายา กรุงเทพฯ


อารีฟิน บินจิ อัล-ฟาตอนี หรือ จำรูญ เด่นอุดม ผู้แปล

ส่วนของคำนำ เริ่มต้นจากการเล่าเรื่องประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนไทย ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และโยงประเด็นมาที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาของนักวิชาการที่ขาดความลุ่มลึกในการศึกษาถึงรากเหง้าของปัญหา รวมถึงการเปิดอกพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และตั้งคำถามว่า ความสงบสุขและสันติภาพภายใต้สภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้เช่นไร

บทที่ 1 เล่าเรื่องความเป็นมาของวันเกิดเหตุความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ของเช้าตรูวันที่ 28 เมษายน 2547 การสำรวจจุดเกิดเหตุ บรรยากาศการให้ปากคำ พร้อมทั้งการจุดกระแส มูลเหตุจูงใจของกลุ่มสมาชิกที่เรียกตนเองว่า “เยาวชนปัตตานี” หรือ Pemuda Patani

บทที่ 2 เป็นการบันทึกการสัมภาษณ์ผู้ร่วมขบวนการ ญีฮาด ดี ปาตานี และรายงานของอนุคณะกรรมการสืบสวนฯ ว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวน 200 คน หลากหลายอายุ จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 108 คน ในเขตพื้นที่ต่างๆ เช่น กรงปีนัง จ.ยะลา, อ.ธารโต จ.ยะลา รายชื่อผู้เสียชีวิต และบทสัมภาษณ์ของท่านจำรูญกับครอบครัวของผู้ตาย

บทที่ 3 คือ บทที่แปลจากเอกสาร “เบอร์ญีฮาด ดี ปาตานี” ที่มีการอ้างอิงส่วนหนึ่งมาจากพระมหาคัมภร์อัล-กุรอ่าน ส่วนใหญ่เนื้อหาเกี่ยวกับกาต่อสู้กับกาฟิร จนถึงเลือดหยดสุดท้าย โดยเรียกร้องให้ปลดปล่อยตัวเองจากการกดขี่ของผู้ปกครองที่ชั่วร้าย (Zalim) (ในที่นี้คือรัฐสยาม)

บทที่ 4 คือเนื้อหาเกี่ยวกับเอกสารรายงานของคณะกรรมการศึกษาเอกสารฯ ที่จุฬาฯราชมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งเป็นการสำเนาต้นฉบับ เนื้อหาของบทนี้มี 4 บท บทที่ 2 คือ บทที่ว่าด้วยการชี้แจงและการบิดเบือนคำสอนของศาสนาอิสลามในเอกสาร “การต่อสู้ที่ปัตตานี” ส่วนบทที่ 3 คือ หลักคำสอนที่แท้จริงของอิสลาม และบทที่ 4 คือ บทสรุป ซึ่งสำนักจุฬาราชมนตรี ตีความว่า หนังสือ “เบอร์ญีฮาด ดี ปาตานี” มีเนื้อหาของการต่อสู้เพื่อแยกดินแดน โดยใช้คำว่า “ญิฮาด” ว่าเป็นหลักของศาสนา

ส่วนบทที่ 5 คือ ความเห็นจากภาครัฐ และนักวิชาการ เช่น เอกสารของท่านพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ โดยมีข้อวิจารณาของ ณรงค์ ชื่นนิรันดน์ ต่อทัศนะของท่านที่เกี่ยวข้องกับเอกสารชิ้นนี้ด้วยอย่างน่าสนใจ คำสัมภาษณ์ของ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้บังคับการรักษาความสงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการอีก 4 ท่าน ที่ท่านจำรูญขอความคิดเห็น

ส่วนบทสุดท้าย คือ บทที่ 6 เป็นข้อมูลจากการซักถาม ฝ่ายขบวนการญีฮาด และผลการศึกษาจากเอกสาร เบอร์ญีฮาด ดี ปาตานี เกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจ ผลของความสูญเสียและความล้มเหลว และผลกระทบทางสังคมต่างๆ


Francis Bradley

สำหรับผู้ที่ศึกษาชีวิตทางสังคมของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “เบอร์ญีฮาด ดิ ปาตานี” เล่มนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าติดตามและศึกษา แต่ถ้าจะให้ดีควรจะต้องอ่านควบคู่ไปกับหนังสือที่เขียนโดย เหลนของหมอบรัดเล่ย์ ที่ชื่อ Francis Bradley (ซิสโก้) นักประวัติศาสตร์ด้านอารยธรรมปาตานีและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นใหม่ ผู้ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง “Forging Islamic Power and Place: The Legacy of Shaykh Daud bin ‘Abd Allah al-Fatani in Mecca and Southeast Asia (Southeast Asia: Politics, Meaning, and Memory)” (อเมซอนขาย $51.25) ลูกศิษย์ของ ศ.ธงชัย วินิจจะกูล ซิสโก้ผู้ซึ่งมีความสามารถด้านอ่านและเขียน 10 ภาษาได้แก่ ภาษาอาหรับ ภาษาดัชโบราณ ภาษามลายูญาวี อินโดนีเซีย (เพราะพี่แกใช้เวลาเรียนที่ Wisconsin กว่า 10 ปี) และเราจะได้มุมมองทางประวัติศาสตร์และเข้าใจสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่แตกต่างหลากหลาย เพราะความเข้าใจและความรู้ คือ เส้นทางหนึ่งที่จะนำไปสู่สันติภาพและความสงบในจังหวัดชายแดนใต้

 

อ้างอิง: 

[1]ศิลปวัฒนธรรม. (2561). 28 เมษายน 2547: เกิดเหตุปะทะอย่างรุนแรงที่ “กรือเซะ” ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตรวม 108 ศพ. สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1425


หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อในราคา 250 บาท ได้ที่คุณอารีฟีน บินจิ อัลฟาฏอนี เลขที่ 6 ซอย 5 หมู่บ้านไทยสมุทร (เพชรเกษม) ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110โทร. 081-766-8472 E-mail: tk.arifin@gmail.com

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net