Skip to main content
sharethis

กฎหมายการการุณยฆาตมีอยู่ในประเทศแถบตะวันตกมากว่า 20 ปี สำหรับไทยมีเพียงมาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งแตกต่างกัน นักวิชาการเห็นว่ากฎหมายการุณยฆาตยังไม่ใช่ความสำคัญเร่งด่วนในเวลานี้ แต่ในอนาคตคงเป็นสิ่งที่สังคมต้องถกเถียงกันต่อไป

  • ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาต มีเพียงมาตรา 12 ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งอนุญาตให้ผู้ป่วยระยะท้ายปฏิเสธการรักษาที่ไม่ได้ประโยชน์เท่านั้น
  • ประเทศที่ออกกฎหมายการุณยฆาตมักมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือมีความเชื่อทางศาสนาน้อยและมีประชาชนมีความเป็นปัจเจกสูง
  • กฎหมายการุณยฆาตยังไม่ใช่กฎหมายที่มีความสำคัญในขณะนี้สำหรับประเทศไทย แต่ควรส่งเสริมให้มีการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองอย่างแพร่หลายก่อน

REST IN PEACE วิกฤตความหมายของความตาย งานเสวนาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวทีเสวนาย่อยหัวข้อ ‘Dying in the future อนาคตใหม่ของความตาย จุดจบชีวิตที่กำหนดได้’ มีการอภิปรายกันถึงการทำการุณยฆาต (Euthanasia) ว่าในสังคมไทยควรอนุญาตหรือไม่

และนี่คือข้อมูลและความเห็นของ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่าการการุณยฆาตอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในอนาคตสำหรับผู้ป่วย แต่ยังไม่ใช่ความสำคัญอันดับแรกในเวลานี้

00000

ผมคิดว่าประเด็นการุณยฆาต จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องอนาคต มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานในโลก แต่จะเป็นอนาคตของเมืองไทยหรือไม่ อันนี้ต้องอภิปรายกัน เพราะว่าขณะนี้การุณยฆาตยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เรามีมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เราให้สิทธิประชาชนสามารถปฏิเสธรับการรักษาซึ่งไม่ได้ประโยชน์ แต่นั่นจำกัดไว้เฉพาะในระยะสุดท้าย แล้วก็สามารถรับการรักษาแบบประคับประคอง แต่ไม่ให้เร่งให้เสียชีวิตเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นกฎหมายไทยยังปฏิเสธการทำการุณยฆาต

ประเด็นการุณยฆาตมันเหมือนกับว่าเรามองความตายในหลายรูปแบบ ผมยังเชื่อว่าการตายมีหลายระดับ ถ้าเรามองในชีวิตหนึ่งก็จะเป็นการตายที่แต่ละคนอาจมีนิยามไม่เหมือนกัน เช่น คนที่เป็นผัก เขาอาจจะรู้ว่าเขาตายไปจากสังคมหรือตายจากชีวิตซึ่งมีความหมายสำหรับเขา บางคนอาจจะมีโอกาสกลับขึ้นมา แต่ก็ไม่มากนัก อันนั้นก็เป็นความตายอย่างหนึ่ง ซึ่งในมุมมองบางคนเหมือนเขาตายไปแล้ว ดังนั้น ถ้าอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ก็ขอตายดีกว่า ก็เป็นแนวคิดของการุณยฆาตที่เร่งชีวิตที่ไม่มีคุณภาพให้ไปสู่ความตายเร็วขึ้น

อีกอันหนึ่งคือสมองไม่ทำงาน แต่หัวใจยังอยู่ได้ด้วยเครื่องประคับประคองชีวิต อันนี้ทางกฎหมายถือว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะถ้าสมองไม่ทำงาน โอกาสที่จะกลับฟื้นขึ้นมาก็ไม่มี

และมาถึงการตายทางกฎหมายคือสมองตายด้วย ทุกอย่างหยุดด้วย ที่นี่การตายทางกฎหมายมันสิ้นสุดจริงหรือเปล่า อันนี้เราไม่รู้ว่าเซลล์จะยังทำงานหรือเปล่า ถ้าเราจะเก็บรักษาไว้ อนาคตจะกลับมาหรือเปล่า ตรงนี้ไม่มีข้อมูล ก็เป็นแนวคิดของการทำไครโอนิกหรือไครโอธานาเซีย ซึ่งก็เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง ต้องเรียนว่าข้อมูลตรงนี้ยังมีน้อยมาก แต่ผมคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่ในอนาคตอาจมีการรักษาที่ได้ประโยชน์ โดยผมจะขอพูดถึงการุณยฆาตเป็นหลัก

ในประเทศไทยเป็นอย่างไรก็ต้องขอทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อาจารย์วีระได้กล่าวถึงคำว่า Slippery Slope อันนี้เป็นสิ่งที่เรากังวล ผมเข้าใจว่าการทำการุณยฆาตเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดคือกฎหมาย เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นกับคนคนเดียว มันต้องมีอีกคนมาช่วยให้เขาตาย การุณยฆาตไม่ใช่การฆ่าตัวตาย เมื่อต้องมีคนมาทำ มันมีองค์ประกอบ มีกิจกรรมเกิดขึ้น และอาจมีความผิด จะเห็นว่าข้อจำกัดขณะนี้คือกฎหมายในการทำการุณยฆาต

กฎหมายฉบับแรกที่ทำให้เกิดการุณยฆาตเพิ่งจะเกิดขึ้นช่วงประมาณปี ค.ศ.2000 มีคนกังวลว่าเมื่ออนุญาตให้ทำการุณยฆาตแล้ว จะเกิดภาวะทำอย่างไม่หยุดยั้ง แล้วเห็นว่าการทำเริ่มมีการ Abuse มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนกังวล ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นหนึ่งที่เราต้องพิจารณา แน่นอน มันมีผลต่อปัจเจกบุคคล แต่ถ้ามันมีกฎหมายออกมาแล้ว ถ้าเราคุมกฎหมายหรือทำให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นไม่ได้ มันจะเกิดการ Abuse เกิดขึ้น อันนี้เป็นข้อที่ต้องใส่ใจมากโดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายทำได้ไม่สมบูรณ์

ขณะนี้มีกี่ประเทศที่ให้ทำ ในเอเชียยังไม่มีเลย ในยุโรปมีเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และอาจจะมีอเมริกาในบางรัฐเท่านั้น และก็แคนาดาซึ่งเริ่มทำในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ไม่ได้นานนัก แล้วก็มีที่สวิสเซอร์แลนด์ ในประเทศกำลังพัฒนามีโคลัมเบียประเทศเดียว จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ทำมาประมาณ 20 ปี มีประเทศที่ยอมให้ทำค่อนข้างจำกัด

ทีนี้ถามว่าทำไปแล้ว 20 ปีเป็นยังไง ต้องเรียนว่าทุกประเทศมีหลักการเหมือนกันอยู่ 4-5 ข้อ ข้อแรกคนไข้ต้องแสดงความจำนงค์และสมัครใจเพราะเขาได้รับความทุกข์ทรมาน แต่ก่อนเริ่มทางกายก่อน คือเจ็บปวดทุกข์ทรมานและเป็นโรคที่รักษาไม่หาย บางประเทศกำหนดไว้เลยว่าต้องเป็นคนไข้ใกล้ตายเท่านั้นคือต้องไม่เกิน 6 เดือน ในอเมริกา ถ้าคุณยังมีชีวิตอยู่อีกนาน ยังทุกข์ทรมานอีกนาน เขายังไม่ให้ตายนะครับ ต้องตายภายใน 6 เดือน จะเห็นว่านี่เป็นข้อปลีกย่อย แต่ละกฎหมายจะไม่เหมือนกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เอาคนซึ่งอาจยังอยู่ได้อีกนานมาทำ ขณะเดียวกันเริ่มมีการขยายข้อบ่งชี้ เช่นความไม่สบายทางจิต ภาวะทุกข์ทรมานทางใจอย่างรุนแรง ในเบลเยี่ยมเริ่มให้ทำแล้ว

เมื่อคนไข้แสดงเจตนาก็จะต้องมีแพทย์อย่างน้อย 2 คนเป็นคนประเมินและแพทย์ต้องลงความเห็นว่าสถานการณ์นั้นแก้ไขไม่ได้จริงๆ ต่อให้ทำ Palliative Care หรือการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ความทุกข์ทรมานเหล่านี้ไม่ดีขึ้น เขาจะตกลงกันว่าเป็นไปตามข้อบ่งชี้และแจ้งให้คนไข้ทราบและญาติทุกคนเข้าใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นมา 20 ปีเป็นยังไง ถ้าเราดูประชากรของเบลเยี่ยมขณะนี้ ถามว่าตายเพราะการุณยฆาตกี่เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ 20 คนจะตายจากการุณยฆาต 1 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณปี 2003 ที่อยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ เราจะเห็นว่าตัวเลขเยอะขึ้น อัตราการยินยอมให้ทำตามคำร้องสูงขึ้นเป็นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ เขาไม่ได้ทำทุกราย เมื่อมีการร้องขอจะมีโอกาสทำแค่ 1 ใน 4 และข้อบ่งชี้ทางจิตมีเพิ่มมากขึ้น ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกก็จะมีคนไข้ที่ไปแปลงเพศ แล้วรู้สึกว่าผ่าตัดออกมาไม่ดีอย่างที่คิดไว้ เขาก็ทุกข์ทรมานมาก ไปแก้อยู่สี่ห้าครั้ง และเขาก็อยู่ไม่ได้กับภาพลักษณ์ของเขา ก็ยอมให้ทำการุณยฆาตได้

ที่น่าสนใจคือมีการตั้งตัวชี้วัดที่แปลกๆ มากขึ้น เช่น รู้สึกว่าหมดพลังชีวิต ซึ่งไม่รู้ว่านิยามยังไง ทำให้เกิดความกังวลว่าข้อบ่งชี้เหล่านี้หละหลวมไปหรือไม่ แต่ต้องบอกก่อนว่าไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก แล้วกลุ่มคนด้อยโอกาสจะไปร้องขอทำการุณยฆาตมากขึ้นหรือไม่ ข้อมูลปัจจุบันยังไม่พบว่าจะมีการเลือกทำในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส แล้วปัจจัยของการทำเพื่อต้องการพ้นทุกข์ทรมานหรือภาระทางการเงิน ขณะนี้ในประเทศซึ่งทำเป็นทางการยังไม่เห็นตัวเลขนั้น

เมื่อมองจากทั้งโลกจะเห็นว่าประเทศที่ออกกฎหมายนี้ได้จะมีลักษณะสำคัญอยู่ 2 เรื่องคือมีความเชื่อทางศาสนาค่อนข้างน้อย จะมีโอกาสเป็นประเทศที่ยอมรับการทำการุณยฆาตมากขึ้น อันนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญ ทุกศาสนาเท่าที่ผมรู้ไม่สนับสนุนการฆ่าตัวตาย เนเธอแลนด์คน 50 เปอร์เซ็นต์ประกาศว่าไม่มีศาสนา มีคาทอลิกประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ประการที่ 2 ประเทศซึ่งยอมรับความเป็นตัวตนหรือปัจเจกบุคคลสูงๆ จะมีโอกาสยอมรับการการุณยฆาต

แต่อย่างที่เรียนครับว่าประเทศตะวันตกก็ยังไม่ได้มีการทำอย่างแพร่หลาย สหรัฐฯ ทำอยู่ 6-7 รัฐเท่านั้น และให้ทำเป็นบางประเด็นเท่านั้น เช่น ไม่มีการการุณยฆาต ต้องเป็นการช่วยเหลือให้ฆ่าตัวตาย คือว่าให้คนไข้เป็นคนลงมือเอง แต่ว่าหมอแนะนำ

จะเห็นจากบทเรียนในต่างประเทศ ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือต้องมีการปฏิบัติที่ชัดเจน ต้องมีหลักการที่สังคมหรือคนในประเทศยอมรับ ซึ่งปัจจัยก็ขึ้นกับความเชื่อและแนวคิดของคนในสังคมนั้น

ทีนี้ ถ้าถามว่าในประเทศไทย อนาคตจะเป็นอย่างไร มันขึ้นอยู่กับพวกเรา ในมุมมองของแพทย์ ซึ่งมีโอกาสคุยกับแพทย์ในต่างประเทศที่ทำการุณยฆาต ต้องเริ่มต้นก่อนว่าแพทย์คนนั้นเขายอมรับกับการทำให้คนไข้จบชีวิตลงเพื่อหลีกเลี่ยงการทรมาน จะเห็นว่ามันต้องเริ่มจากแนวคิดส่วนบุคคลที่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่เขาทำได้และดี ถามว่าอันนี้ขัดหลักการทางการแพทย์หรือไม่ เราก็มี Code of Ethics อยู่ 4 ข้อคือต้องทำให้เกิดประโยชน์กับคนไข้ อย่าให้เกิดผลเสีย เป็นความต้องการของคนไข้ และมีความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice) ถามว่าการุณยฆาต มันทำให้เกิดผลเสียกับคนไข้หรือไม่ เพราะอะไรที่เกิดผลเสีย เราไม่ทำ ถ้าแพทย์มีมุมมองว่าการทำให้คนเสียชีวิตคือการทำให้คนเสียประโยชน์ กลุ่มนี้ก็เลือกที่จะไม่ทำ แต่ในแพทย์บางคนมองว่าการที่ทำให้เขาอยู่ต่อไปอย่างทุกข์ทรมาน อันนี้เป็นพ้นเสีย แต่การช่วยให้พ้นทุกข์ทรมาน มันไม่ได้ขัดความเชื่อของเขาและเชื่อว่าเป็นการช่วยให้คนไข้ได้ประโยชน์ แพทย์กลุ่มนี้ก็จะยอมและเห็นว่าการุณยฆาตทำได้

ในการทำสำรวจแพทย์ที่ทำการุณยฆาต เขามีมุมมองว่าสิ่งที่เขาทำเป็นประโยชน์และเป็นผลดีต่อคนไข้ ถ้าเรามองฟีดแบ็คจากแพทย์กลุ่มนี้จะมีมุมมองเป็นบวก แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดหรือแย่ก็คือการที่คนไข้ถูกปฏิเสธด้วยกฎหมายบางอย่างทำให้ไม่สามารถทำการุณยฆาตได้

ถามว่าในประเทศไทยควรมีหรือไม่ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวครับ ผมคิดว่าคนไข้ระยะสุดท้าย เราจะเน้นให้การดูแลแบบประคับประคองเป็นหลัก เราจะปฏิเสธการช่วยให้เขาเสียชีวิต เพราะเราเชื่อว่าการดูแลแบบประคับประคองโดยมีทีมเข้าไปดูแลให้ครบวงจร มีญาติช่วย คนไข้ตั้งเป้าหมายไปกับเรา น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในขณะนี้

แต่ถามว่ามีกรณีบ้างหรือไม่ที่การใช้การดูแลแบบประคับประคองเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่ตอบโจทย์คนไข้ทั้งหมด ผมเชื่อว่ามี เพราะบางครั้งการใช้ยา การรักษาประคับประคองที่ดีที่สุดในขณะนี้ ก็อาจทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งยังมีอาการค่อนข้างเยอะ ถ้าเขาจัดการกับอาการได้ มีการเสียชีวิตที่ดีได้ ผมยังเชื่อว่าการทำการุณยฆาตเป็นทางเลือกหนึ่ง เหมือนมีบันไดหนีไฟในกรณีที่จำเป็นจริงๆ

เราไปทำสำรวจและถามในแง่ปัจเจกบุคคลว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ ถ้ามุมมองเฉพาะปัจเจกบุคคล ทุกคนก็ต้องบอกว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขา แต่ผลกระทบด้านอื่นมันมี ถ้าถามผม การุณยฆาตอาจมีประโยชน์ในบางเคส แต่ต้องมีการควบคุมที่ดีมากๆ ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากๆ และทุกคนต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองอย่างดีก่อน ถามว่าจะขับเคลื่อนออกมาเป็นกฎหมายเลยหรือไม่ ผมเชื่อว่ายังไม่ใช่ความสำคัญอันดับแรกๆ ในตอนนี้ ผมเชื่อว่าเราต้องมุ่งเน้นให้การดูแลแบบประคับประคองมีการแพร่หลายเพียงพอก่อน เพราะถ้าคนไข้ยังไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองที่ดีพอ แล้วเขาทุกข์ทรมานมาก เขาจะขอให้เราฆ่าเขาครับ เพราะไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมก่อนตาย แต่ในอนาคตต้องรอดูกันต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net