Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้ฟังคำบรรยายเรื่อง “ชีวิตไม่มีศาสนาได้ไหม” โดย ศ.ดร.สมภาร พรมทา จากที่นี่  

มีบางประเด็นชวนคิดและน่าตั้งคำถามต่อ ผู้บรรยายกล่าวว่า ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ชีวิตด้านกายภาพ (physical), ด้านจิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดต่างๆ (mental) และด้านจิตวิญญาณ (spirituality) สองด้านแรกเราอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันในการทำความเข้าใจ แก้ปัญหา หรือปรับปรุงชีวิตทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกของเราให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น แต่ด้านจิตวิญญาณอันเป็น “ด้านลึกสุด” ของชีวิตเรา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้คำตอบไม่ได้ ต้องอาศัยศาสนาหรือปรัชญาบางสาขา

อันที่จริง นักปรัชญาบางคน เช่นคานท์ (Immanuel Kant) ก็มองคล้ายกันว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้ความรู้ด้านลึกสุดของความเป็นมนุษย์ได้ เราจึงไม่อาจนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเป็น “รากฐาน” ของศีลธรรมได้ รากฐานที่มั่นคงของศีลธรรมต้องมาจากความรู้ที่เรียกว่า “อภิปรัชญาศีลธรรม” (metaphysics of morals) อันเป็นความรู้ที่ให้กฎศีลธรรมที่ถูกต้องและเจตจำนงหรือสปิริตในการทำตามกฎศีลธรรมที่ถูกต้องนั้น

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ผู้บรรยายแบ่งศาสนาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ “ศาสนาแบบที่มนุษย์สร้างขึ้น” (man-made religion) คือศาสนาเชิงสถาบันที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ศาสนาแบบนี้ไม่ค่อยเป็นผลดีต่อชีวิตด้านจิตวิญญาณของเรานัก โดยมากจะเป็นเรื่องของการสร้างพันธนาการ การครอบงำ การแบ่งแยกเป็นพวกเขา พวกเรา และความขัดแย้งต่างๆ มากกว่า แต่ศาสนาประเภทที่สองคือ “ศาสนาธรรมชาติ” (natural religion) เป็นศาสนาที่ให้คำตอบสำหรับชีวิตด้านจิตวิญญาณของเรา

ผู้บรรยายเชื่อว่า พุทธะ, เยซู, มูฮัมหมัด (เป็นต้น) คือผู้ที่เข้าถึงศาสนาธรรมชาติ แต่ในเวลาต่อมาคำสอนของท่านเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นศาสนาเชิงสถาบันที่มักจะปิดกั้นการเข้าถึงความจริงด้านจิตวิญญาณ ศาสนาธรรมชาติเท่านั้นที่ทำให้เราเข้าถึงความจริงมิติที่ลึกสุดของชีวิตหรือมิติด้านจิตวิญญาณที่ทำให้เรามีอิสรภาพด้านในได้ และสำหรับคนที่เข้าถึงศาสนาธรรมชาติจะไม่มีทัศนคติเชิงแบ่งแยกในเรื่องศาสนา เชื้อชาติ และอื่นๆ 

ผู้บรรยายยกตัวอย่างคำสอนและวิถีชีวิตของ “พุทธทาส” ว่าท่านน่าจะเข้าถึงศาสนาธรรมชาติ เพราะคำสอนและข้อเสนอต่างๆ ของท่านสะท้อนออกมาจากการยืนยันความจริงตามกฎธรรมชาติ ซึ่งผมเห็นด้วยในประเด็นนี้และเห็นว่า พุทธทาสได้เสนอศาสนาธรรมชาติเป็นทั้งรากฐานของชีวิตปัจเจกบุคคลและรากฐานของสังคมการเมือง 

ใครที่คุ้นเคยกับงานพุทธทาส ย่อมรู้ว่าท่านเสนอว่า ชีวิตปัจเจกบุคคลที่มีอิสรภาพด้านในคือชีวิตที่สามารถทำกิจกรรมทุกอย่างได้ด้วย “จิตว่าง” จากความยึดมั่นในตัวกูของกู สังคมการเมืองที่ดีก็ต้องเป็นสังคมการเมืองที่ไม่ยึดมั่นในตัวกูของกู เพราะความไม่ยึดมั่นในตัวกูของกูเป็นเจตนารมณ์ของ “การเมืองบริสุทธิ์” ในธรรมชาติที่สรรพสิ่งต่างอิงอาศัยกันและกัน ดังนั้นทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมและการเมืองเราก็ควรปฏิบัติให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธรรมชาติในด้านที่จะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์และการเบียดเบียนกันและกันโดยสิ้นเชิง หรือนัยบวกก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันด้วยปัญญาและกรุณา

ข้อเสนอของพุทธทาสสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในทางปรัชญาเรายอมรับกันว่าข้อเสนอทำนองนี้เป็นข้อเสนอที่มี “ไอเดีย” และมีเหตุผลสนับสนุน (justification) ในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าเป็นข้อเสนอที่เราแย้งได้ ประเด็นของผมคือ ถ้าเรายอมรับว่าพุทธทาสเข้าถึงศาสนาธรรมชาติและการเข้าถึงศาสนาธรรมชาติก็คือการเข้าถึงความจริงด้านลึกสุดของชีวิต นั่นคือด้าน spirituality ดังนั้นเราจะเรียกว่าการเข้าถึง “จิตวิญญาณแบบศาสนา” หรือ “religious spirituality” อันเป็นด้านที่ลึกสุดของชีวิตมนุษย์ตามที่ผู้บรรยายกล่าว และผู้บรรยายยังกล่าวด้วยว่า หากธรรมชาติสร้างชีวิตเรามาให้มีมิติด้านจิตวิญญาณ และการเข้าถึงความจริงด้านจิตวิญญาณก็ต้องอาศัยศาสนาธรรมชาติ ดังนั้นชีวิตที่ไม่มีศาสนาก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

ประเด็นว่า ชีวิตด้าน spirituality ที่ไม่มีศาสนาเป็นไปไม่ได้นั้น ผมจะยังไม่โต้แย้งในที่นี้ ฝากให้ท่านผู้อ่านช่วยคิดกันต่อ

ประเด็นของผมคือ ถ้าการเข้าถึง religious spirituality คือการเข้าถึง “ความจริงที่ลึกสุดของชีวิต” และผู้บรรยายยกตัวอย่างพุทธทาสว่าเข้าถึงความจริงลึกสุดนี้ แล้วผู้เข้าถึงจิตวิญญาณแบบศาสนาปฏิบัติอย่างไรต่อ “จิตวิญญาณแบบโลกวิสัย” หรือ “secular spirituality” อันหมายถึงสปิริตหรือเจตจำนงเคารพและกระทำตามหลักการสากล คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ 

หากพิจารณาความคิดทางการเมืองของพุทธทาสในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ที่สะท้อนออกมาจาก religious spirituality ท่านยืนยันชัดเจนว่า การเมืองของโลกปัจจุบันมีปัญหา เพราะเป็นการเมืองที่หันหลังให้ศาสนา หันหลังให้พระเจ้า ดังนั้นการเมืองที่จะหมดปัญหาคือ “การเมืองของพระเจ้า” และ “การเมืองแบบพระโพธิสัตว์” แต่ประวัติศาสตร์สังคมโลกก็ชี้ชัดแล้วว่าการเมืองในนามของพระเจ้าและพระโพธิสัตว์นั้นได้ก่อปัญหาไว้มากมายอย่างไรบ้าง ส่วนความคิด “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาสนั้น แม้จะยืนยัน “ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่” แต่ประชาชนก็ “ไม่มีตัวตน” ที่เป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ และมีความเสมอภาค เพราะประโยชน์สุขมาจาก “ผู้เผด็จการโดยธรรม” จัดสรรให้

ถามว่าพุทธทาสเคยแสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการบนการยืนยันหลักการแห่งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์อันเป็น “สามัญสำนึก” ที่สะท้อนออกมาจาก secular spirituality หรือไม่ นอกจากจะไม่แล้วยังมีเพื่อนนักวิชาการบางคนตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีหลักฐานปรากฏว่าพุทธทาสเคยแสดงความเห็นปกป้องเสรีภาพของ “พระพิพลธรรม” (อาจ อาสโภ) ที่ถูกเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์เล่นงาน และพุทธทาสก็ไม่เคยแสดงความเห็นในเชิงปกป้องเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชนทีถูกฆ่าในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลาเลย

บางคนอาจคิดว่าคำถามเช่นนั้น “ไม่เป็นธรรม” กับพุทธทาสเลย เพราะท่านเป็น “พระ” ก็เป็นธรรมดาที่จะไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่ประเด็นคือ หากพุทธทาสไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การเมืองภาคนักการเมือง วิจารณ์เสรีประชาธิปไตย สังคมนิยม และเสนอแนวคิดทางการเมือง “เผด็จการโดยธรรม” สู่สาธารณะในช่วงรอยต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาถึง 6 ตุลา และไม่มีคอนเน็คชันกับชนชั้นนำอย่างสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นต้น เราย่อมไม่มีเหตุผลที่จะตั้งคำถามเช่นนั้นกับพุทธทาสเลย

เอาล่ะ ถ้าเราจะไม่พิจารณาพุทธทาสในฐานะ “ตัวแสดง” (actor) ทางการเมืองในยุคนั้น แต่พิจารณาเฉพาะ “ตัวความคิด” ที่ท่านเสนอ คำถามก็คือว่า หรือเป็นเพราะความคิดทางการเมืองที่สะท้อนออกมาจาก religious spirituality นั่นเองที่ทำให้พุทธทาสไม่สนใจเลยที่จะแสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการ หรือแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์เรียกร้องต่ออำนาจรัฐไม่ให้โหดร้ายต่อพระสงฆ์ด้วยกันและประชาชนทั่วไปในยุคของท่าน 

อันที่จริงแล้ว ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือศิษย์พุทธทาสที่เด่นๆ เช่น อาจารย์สุลักษ์ ศิวรักษ์, หมอประเวศ วะสี, เนาวัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และอีกจำนวนมากที่เสพความคิดทางการเมืองของพุทธทาส แทบไม่มีใครเลยที่ยืนยัน “ความชอบธรรม” ตามหลักการประชาธิปไตยในการต่อต้านเผด็จการอย่างคงเส้นคงวา มิหนำซ้ำบางคนยังอ้างวาทะ “เผด็จการโดยธรรม” สนับสนุนการใช้อำนาจของเผด็จการอีก บางคนก็ไปรับตำแหน่งที่เผด็จการแต่งตั้งให้กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนอย่างไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น คำถามหลักก็คือว่า ถ้าการเข้าถึงศาสนาธรรมชาติหรือ religious spirituality ที่ว่าเป็นการ “เข้าถึงความจริงด้านลึกสุดของชีวิต” แล้วสะท้อนออกมาเป็นความคิดและการกระทำที่สอดคล้องกลมกลืนไปกันได้ดีกับการปกครองแบบเผด็จการมากกว่าที่จะสอดคล้องเชื่อมโยงในเชิงสนับสนุนกันกับ secular spirituality อันเป็นสปริตหรือเจตจำนงที่ยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ถ้าชาวพุทธในประเทศนี้เข้าถึงความจริงที่ลึกสุดเช่นนั้นมากขึ้นเพียงใด ก็แปลว่าเผด็จการก็ยิ่งอยู่ยาว เพราะจะมีผู้เข้าถึง religious spirituality เพียงสองประเภทหลักๆ เท่านั้นคือ พวกสนับสนุนเผด็จการ กับพวกที่เพิกเฉย 

ส่วนพลเมืองที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังของ secular spirituality ที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยก็จะถูกขจัดทิ้งหรืออยู่ในประเทศนี้ไม่ได้อย่างที่เป็นมายาวนาน ตกลงศาสนาเชิงสถาบันและศาสนาธรรมชาติแบบที่ว่าช่วยให้เข้าถึงความจริงลึกสุดของชีวิตมีไว้ทำไม เพราะหากมีไว้ตอบสนองอิสรภาพด้านในของปัจเจกบุคคลก็ย่อมจะยอมรับกันได้ แต่ถ้ามีไว้แสดงฤทธิ์เดชกลบเกลื่อนลดทอนหรือต่อต้าน secular spirituality ด้วยนี่ย่อมเป็นปัญหาสำคัญแน่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net