Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี คือวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ  หรือ วัน IDAHOT (International Day against Homophobia, Transphobia and Biphobia) ซึ่งเป็นวันที่เราทุกคนควรหันมาใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ และ คนข้ามเพศหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็คือคนทั่วไปที่เป็นสมาชิกของครอบครัว ชุมชน และ สังคม แต่พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกตีตรา การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง การกีดกัน และ การละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เพียงเพราะตัวตนของพวกเขา และคนที่พวกเขารัก

ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกีดกันทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในสังคม หรือ รับประโยชน์อย่างเต็มที่ได้จาก เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากอุปสรรคทางโครงสร้าง ตลอดจนบรรทัดฐาน และการกระทำที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ

รายงานการศึกษาที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จะเปิดตัวในสัปดาห์นี้ชื่อ Tolerance but not inclusion (แค่พอรับได้แต่ไม่อยากสุงสิงกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงทัศนคติของประชากรทั่วไปที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

การศึกษาดังกล่าว ได้สำรวจทัศนคติของประชากรทั้งหมด 2,210 คน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ คนทั่วไปจากทั่วประเทศ

ข้อค้นพบสำคัญของการศึกษานี้คือคนทั่วไปสนับสนุนการมีกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ผลการสำรวจเผยอีกว่า คนทั่วไปสนับสนุนการจดทะเบียนคู่ชีวิต สิทธิการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ การระบุเพศนอกจาก ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ ในเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการไม่ปฏิเสธการรับบริจาคเลือดจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนมาก (ร้อยละ 20.5 ถึง ร้อยละ 23.3) รู้สึกเป็นกลางกับประเด็นที่กล่าวมา

ผลสำรวจบอกอะไรกับเรา? สังคมไทยยังไปต่อได้...เรายังมีโอกาสที่จะทำอะไรบางอย่างได้

แก่นสำคัญของวัน IDAHOT ปีนี้คือ ความยุติธรรมและการให้ความคุ้มครองคนทุกคน ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปกฎหมาย และ นโยบายที่จะให้ความคุ้มครองอย่างทั่วถึงแก่ทุกคน ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือ การแสดงออกทางเพศอย่างไร ตลอดจนทำงานเพื่อสร้างกลไกแก้ไขปัญหาความอยุติธรรมจะเกิดขึ้น

เราสามารถแก้ปัญหาความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ ด้วยการประสานความร่วมมืออย่างแข็งขัน การรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย และเปลี่ยนความคิดและทัศนคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เพื่อส่งเสริมศักดิ์ศรีและลดการกีดกันซึ่งก่อกำเนิดจากอุปสรรคเชิงโครงสร้าง บรรทัดฐานและการปฏิบัติที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานเครือข่ายในประเทศไทย เพื่อพัฒนากรอบกฎหมายสำหรับคุ้มครองการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ การออกเอกสารทางการที่เปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในประเด็นวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และ การแสดงออกทางเพศ และการตอบสนองเรื่องสุขภาพ และ ประเด็นความปลอดภัยของผู้ต้องขังข้ามเพศในกระบวนการยุติธรรรม

ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งโอกาส ทรัพยากร และ เสียงสนับสนุนจากสังคมที่จะปฏิรูป บนพื้นฐานของการดำเนินงานเหล่านี้และก้าวข้ามผ่านการเป็นประเทศที่ต้องอดทนต่อความแตกต่างของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไปสู่ประเทศที่ยอมรับพวกเขาได้อย่างแท้จริง

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจะยืนหยัดคู่กับหน่วยงานเครือข่ายของเรา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไทย และ องค์กรประชาสังคม เพื่อคุ้มกันและส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ท้ายสุดนี้ เราขอย้ำว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วัน IDAHOT ปีนี้จึงขอเชิญชวนทุกคนช่วยกันสร้างสังคมที่ไม่ว่าคุณจะมีตัวตนแบบไหน หรือไม่ว่าคุณจะรักใคร คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่

โครงการ Being LGBTI ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค เป็นโครงการระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม การใช้ความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานของวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือสถานะการมีเพศกำกวม และส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสังคมอย่างทั่วถึง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สำนักงานพัฒนาด้านการต่างประเทศสหรัฐฯ กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย กระทรวงกิจการยุโรปประเทศมัลต้า รัฐบาลประเทศแคนาดา และมูลนิธิ Faith in Love (ฮ่ององกง) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา 

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ร่วมมือกับคนในสังคมทุกระดับเพื่อสนับสนุนการสร้างประเทศชาติที่สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติได้ ตลอดจนขับเคลื่อนและคงไว้ซึ่งการเจริญเติบโตที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติดำเนินงานระดับโลกและระดับท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนและส่งเสริมให้ทั้งประเทศมีความแข็งแกร่ง สามารถฟื้นฟูจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ ในประเทศมากกว่า 170 ประเทศและดินแดน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net