Skip to main content
sharethis

 

17 พ.ค.2557  มูลนิธิอัญจารี ร่วมกับองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และกรุงเทพมหานคร จัดงาน “วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกันและการข้ามเพศ” (International Day Against Homophobia and Transphobia) หรือ IDAHOT ซึ่งจะตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี สำหรับปีนี้จัดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
 
อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอัญจารี กล่าวว่า วัน IDAHOT เป็นวันที่เกิดขึ้นจากการที่องค์การอนามัยโลกได้ทำการถอดถอน การรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีรายชื่อความเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งนั่นหมายความว่า การรักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด วันนี้จึงเป็นวันที่ทั่วโลกใช้เพื่อรณรงค์ต่อสังคมในวงกว้างให้หยุดการเกลียดกลัวการรักเพศเดียวกัน  และผู้ที่มีเพศที่แตกต่างออกไปจากความหมายของเพศกระแสหลักตามกรอบของสังคม ทั้งนี้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะถอดถอนการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีรายชื่อผู้เจ็บป่วยทางจิต มาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวนั้นเพิ่งเริ่มต้นขึ้นมาได้เพียง 7 ปีและสำหรับประเทศไทยการจัดงานในลักษณะนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3

 
สำหรับบรรยากาศของงานนั้นเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ที่ให้ความสนใจมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หนึ่งในกิจกรรม ได้แก่ เวิร์คชอป “ความรุนแรงที่ถูกมองข้าม: เยาวชน LGBTIQ กับสถานศึกษา”  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนนักศึกษาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรุนแรง และการถูกกระทำในสถาบันการศึกษา โดยในช่วงนี้ สลิลทิพย์ โพธิพัฒน์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องการแต่งกายเข้ารับปริญญาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  
 
สลิลทิพย์เล่าให้ฟังว่า ตนเองนั้นกำลังจะเข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จึงต้องการที่จะสวมชุดครุยผู้หญิง ตามเพศสภาพที่ตนเองเป็น จึงได้ทำการยื่นคำร้องต่อทางคณะที่ศึกษาอยู่ ทำให้ต้องไปขอใบรับรองแพทย์เพื่อรับรองว่า “สภาวะจิตใจและร่างกายไม่ตรงกับสภาวะกำเนิด” ซึ่งการที่ต้องไปขอใบรับรองแพทย์นั้นเหมือนเป็นการตอกย้ำว่าตนเองป่วย มีความผิดปกติ  จึงอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยมีมาตรฐานเดียวกันและอนุญาตให้มีการแต่งกายตามเพศสภาพ ที่บุคคลคนนั้นเป็น โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์
 
ขณะเดียวกัน ทางสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นำทีมโดยดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฯ ได้นำทีมสมาชิกไปยังสภากาชาดไทยเพื่อขอบริจาคเลือด เนื่องจากสภากาชาดไทยนั้นไม่รับการบริจาคจากผู้ชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ด้วยเหตุผลว่า ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันนั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ HIV มากกว่าคนทั่วไป ขณะที่สมาคมฟ้าสีรุ้งฯ เห็นว่าไม่เป็นธรรมและต้องการเรียกร้องให้พวกเขาได้มีสิทธิที่จะทำความดีเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม และหลังจากเดินทางไปสภากาชาดไทย ทางสมาคมฟ้าสีรุ้งก็ได้เดินทางไปรณรงค์หน้าสถานทูตบรูไน เนื่องจากประเทศบรูไนได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันได้ด้วยวิธีรุนแรง เช่น ปาก้อนหินใส่ โดยดนัยได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ทุกคนมีความเคารพซึ่งความเป็นมนุษย์ของกันและกันและฉุกคิดว่าการกระทำของตนเองนั้นกำลังเป็นการทำร้ายผู้อื่นอยู่หรือไม่



ทีมรณรงค์บุกสภากาชาดไทย
 
และในช่วงท้ายผู้เข้าร่วมงานทุกคนได้ร่วมกันจุดเทียนล้อมรอบเครื่องหมายตกใจ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการถูกเกลียดกลัวและร่วมกันสะท้อนความรู้สึกสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรม โดยหลายคนได้สลับกันแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมงานนี้ และพวกเขารู้ดีว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนทุกคนมารักพวกเขาหรือเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาเป็น อย่างไรก็ตามพวกเขาเพียงขอแค่พื้นที่ที่จะยืนในสังคมนี้ และขอเพียงความเท่าเทียมในการเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันเท่านั้นเอง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net