Skip to main content
sharethis

รายการ SAT. 1 FRÜHSTÜCKSFERNSEHEN ของเยอรมนี ขอโทษ ยันไม่ได้ตั้งใจดูถูกวัฒนธรรมไทย หลังล้อเลียนการหมอบคลานในพระราชพิธี พร้อมลบคลิปที่เป็นประเด็นแล้ว

7 พ.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่รายการ SAT. 1 FRÜHSTÜCKSFERNSEHEN ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แซทวัน (SAT 1) ของเยอรมนี ได้ล้อเลียนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยโดยเฉพาะช่วงหมอบคลาน จนทำให้คนไทยบางส่วนเข้าไปแสดงความเห็นเชิงต่อว่ารายการดังกล่าว ต่อมาเพจ 'SAT.1 Frühstücksfernsehen' ได้ลบวิดีโอดังกล่าว https://www.facebook.com/fruehstuecksfernsehen/videos/632279803901628

ล่าสุดเมื่อเวลา 21.29 น. ตามเวลาในไทย เพจ 'SAT.1 Frühstücksfernsehen' โพสต์ข้อความ ระบุว่า กองบรรณาธิการรายการยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งใจดูถูกวัฒนธรรมไทยไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสม เราจึงขออภัยอย่างเป็นทางการมา ณ ที่นี้

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2557 ซึ่งเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมนำมาเผยแพร่อีกครั้งเมื่อปี 61 เกี่ยวกับ การยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลาน ของ ร.5 เนื่องจากมีคำวิจารณ์ต่อธรรมเนียมการหมอบคลานของบรรดาข้าทาสบริวารที่ปฏิบัติต่อบรรดาเจ้านายของตน จากชาวตะวันตกที่มีโอกาสเข้ามาติดต่อกับชาวสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นวันแรกจึงทรงประกาศยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานว่า “ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ” 

โดยความหนึ่งในคำประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่หนังสือราชกิจจานุเบกษา ประกาศการยกเลิกการหมอบคลาน พ.ศ. 2416 ระบุไว้ด้วยว่า "แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็จเหนื่อยลำบาก เพราะจะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมือง แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่ จนสิ้นวาระของตนแล้วจึ่งจะได้ออกมา พ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้แลเหนว่าเปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้นจึ่งจะต้องละพระราชประเพณีเดิม ที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : th.m.wikisource.org)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net