Skip to main content
sharethis

จากภาพถ่ายของค่ายกักกันอุยกูร์ที่มีการเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ ล่าสุดวิทยุเอเชียเสรีเปิดเผยว่ามีการระบุตัวตนของชาวอุยกูร์ที่อยู่ในรูปถ่ายได้อย่างน้อย 5 รายแล้ว รวมถึงมีการนำเสนอแง่มุมชีวิตของพวกเขา ทั้งความใฝ่ฝันและวิชาชีพที่พวกเขาทำก่อนที่ทางการจีนจะจับพวกเขาเข้าค่ายกักกัน


ที่มาของภาพ: Xinjiang Judicial Administration WeChat account อ้างใน rfa.org

มีภาพๆ หนึ่งที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วคือภาพของชาวอุยกูร์จำนวนมากนั่งเรียงแถวอยู่ในค่ายกักกันปรับทัศนคติของทางการจีน โดยภาพถ่ายนี้มาจากค่ายกักกันในเมืองโฮตาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ในขณะที่พวกเขากำลังนั่งรับฟังคำปราศรัยชวนเชื่อของรัฐบาลกลาง มีการเผยแพร่ภาพนี้ผ่านบัญชี WeChat ของหน่วยงานตุลาการซินเจียงตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา สื่อเรดิโอฟรีเอเชียก็ระบุว่าเพื่อนและคนรู้จักของผู้คนในภาพถ่ายสามารถระบุตัวตนของคนในภาพนี้ได้ 5 ราย

คนทั้ง 5 ในรูปถ่ายนี้เป็นแค่จำนวนหนึ่งของชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆรวม 1.5 ล้านรายที่ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายปรับทัศนคติเพราะถูกกล่าวหาว่า "มีแนวคิดทางศาสนาที่เข้มข้น" มีการเปิดเผยถึงชื่อและการงานของพวกเขาผ่านทางหน้าเพจเฟสบุคของเปอฮัต มูฮัมเหม็ด รองประธานกลุ่มสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. โดยอาศัยข้อมูลจากชาวอุยกูร์ในท้องที่ที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ โดยที่หนึ่งในผู้ถูกเปิดเผยชื่อเป็นคนที่มีแผนการจะเปิดร้านขายขนมปังที่เขตอุตสาหกรรมที่ตอนนี้กลายเป็นสถานที่คุมขังไปแล้ว

ชื่อและอาชีพของคนทั้ง 5 คนนี้ได้แก่ มามทิมิน ผู้จำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์, อะซิซ ฮาจิ ฉางตัง ผู้ประกอบการร้านอาหารและเบเกอรี่, อีไล อะฮุน คาริม ครูสอนศาสนาและพ่อค้าหยก, อับดุลเลาะห์ ฮาเร็ต ช่างไม้ และ อับดุลลาซิซ ฮาจี คนขับรถ

มีเพื่อนของมามทิมินบอกเล่าเรื่องราวของเขาว่าก่อนที่มามทิมินจะถูกจับเขาศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจที่มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพเซียงไฮ้ ก่อนที่จะจบการศึกษาในปี 2555 ก่อนหน้านี้เขาเคยเรียนในโรงเรียนไฮสคูลที่ใช้ภาษาจีนและเป็นคนที่เก่งคอมพิวเตอร์กับเว็บดีไซน์ เพื่อนของเขาบอกว่าพบเห็นมามทิมินครั้งสุดท้ายในโฮตานเมื่อปี 2555 ในตอนนั้นเขากำลังก่อตั้งบริษัทชายเครื่องมือทางการแพทย์ของตัวเอง เพื่อนของมามทิมินบอกว่าเขาไม่รู้ว่าทำไมมามทิมินถึงถูกส่งตัวไปเข้าค่ายกักกัน แต่ก็กล่าวถึงตัวมามทิมินว่าเป็น "นักคิดและนักแสดงออกอย่างอิสระ"

คนต่อมาคืออะซิซ ฮาจี มีเพื่อนผู้ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศพูดถึงเขาว่าเป็นคนที่เคยทำร้านอาหารอยู่ริมแม่น้ำ โยโรนคาช ก่อนที่ต่อมาจะเปิดเบเกอรีเพราะกิจการเขาเป็นไปได้ด้วยดีจึงอยากจะต่อเติมในส่วนของเบเกอรีเพิ่มเติม เพื่อนของฮาจีบอกว่าสาเหตุที่ฮาจีถูกจับโดยทางการจีนน่าจะเป็นเพราะว่าฮาจีเคยเดินทางแสวงบุญไปร่วมพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะ ประเทศซาอุฯ มาก่อนในปี 2545 ทางการจีนจับตัวชาวอุยกูร์ทุกคนที่เคยเดินทางออกนอกประเทศ

ในกรณีของ อีไล อะฮุน คาริม นั้น คนรู้จักของเขาบอกว่าคาริมเป็นคนอายุ 50 ปีที่มีความเข้าใจในศาสนาอย่างมากและเป็นคนที่ถูกจับกุมมาเป็นเวลา 1 ปี แล้วจากการสอนศาสนาของเขา คาริมมีชีวิตค่อนข้างไปได้ดี เขาแต่งงานและมีลูกหนึ่งคน ผู้คนประทับใจคาริมจากการที่เขาเป็นคนมีความรู้ทางศาสนา แต่ความรู้ทางศาสนาของคาริมเองก็ทำให้ทางการจีบอ้างจับกุมตัวเขา โดยที่ก่อนหน้านี้ในปี 2550-2551 คาริมเคยเป็นคนค้าหยกร่วมกันกับคนรู้จักผู้เล่าเรื่องนี้

คนต่อมาคือ อับดุลเลาะห์ ฮาเร็ต เป็นช่างไม้อายุ 45 ปี มีลูก 3 คน และไม่เคยเดินทางออกจากโฮตานเลยจากข้อมูลที่คนเคยเป็นเพื่อนบ้านเล่าให้สื่อฟัง เพื่อนบ้านของฮาเร็ตบอกอีกว่าฮาเร็ตเป็นช่างไม้ที่ทำงานซ่อมประตู ซ่อมหน้าต่าง เป็นคนถ่อมตนและเชื่อถือได้ รวมถึงเป็นคนที่อยากทำงานในเชิงการกุศล เพื่อนบ้านของฮาเร็ตกล่าวสันนิษฐานถึงสาเหตุที่ฮาเร็ตถูกจับกุมว่าน่าจะเป็นเพราะเขาทำงานให้กับมัสยิดชิปางในท้องถิ่นตัวเอง

เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมแรงงานในท้องถิ่นเปิดเผยว่า อับดุลลาซิซ คนขับรถอายุประมาณ 50 ปีนั้นเคยทำงานในสำนักงานประกันสังคมแรงงานมาก่อน ก่อนที่จะไปทำงานเป็นคนขับรถให้กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ อับดุลลาซิซถูกไล่ออกจากงานเพราะไปแต่งงานกับเด็กและในตอนนี้เขากำลังเข้ารับการศึกษา

เรดิโอฟรีเอเชียระบุว่าพวกเขาพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสอบถามถึงบุคคลเหล่านี้และสาเหตุที่พวกเขาถูกควบคุมตัว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปฏิเสธจะพูดถึงเรื่องนี้โดยบอกว่าทางการไม่อนุญาตให้พวกเขาให้สัมภาษณ์กับคนนอกและบอกให้นักข่าวไปถามเรื่องนี้จากสำนักงานความมั่นคงสาธารณะแทน

ถึงแม้ทางการจีนจะเคยปฏิเสธการมีอยู่ของค่ายกักกันเหล่านี้แต่เมื่อเดือน ต.ค. 2561 พวกเขาก็โฆษณาถึงค่ายกักกันเหล่านี้เองโดยบอกว่ามันเป็นเครื่องมือป้องกันการก่อการร้ายและเป็น "สถานฝึกอบรมวิชาชีพ" ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลต่างๆ ของผู้ต้องขังเหล่านี้ที่ระบุว่าพวกเขามีวิชาชีพของตัวเองอยู่แล้ว

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทางการยังจัดให้นักข่าวต่างประเทศกลุ่มเล็กๆ และทูตจากประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตกรวมถึงทูตประเทศไทยเข้าเยี่ยมชมค่ายกักกันโดยมีการบรรยายว่าการปฏิบัติเลวร้ายต่อผู้ต้องขังและสภาพย่ำแย่ในค่ายนั้นเป็น "การโกหกในเชิงให้ร้าย" พวกเขา แต่สื่อต่างๆ และองค์กรผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ก็เปิดเผยว่าผู้ถูกคุมขังในค่ายกักกันถูกบังคับคุมขังแบบไม่เต็มใจและมีการปลูกฝังความเชื่อทางการเมือง ถูกปฏิบัติเลวร้ายจากผู้คุม รวมถึงมีสภาพการกินอยู่และสุขอนามัยที่ย่ำแย่ในสถานที่กักกันที่แออัด

เอเดรียน เซนซ์ อาจารย์ด้านการวิจัยสังคมจากวิทยาลัยวัฒนธรรมและศาสนศาสตร์ยุโรปเปิดเผยว่ามีคนราว 1.5 ล้านรายถูกคุมขังอยู่ในค่างกักกัน คิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรชาวมุสลิมในซินเจียงทั้งหมด หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีตัวเลขประเมินว่ามีผู้ถูกคุมขังอยู่ราว 1.1 ล้านราย

ไมเคิล โคแซก อธิบดีสำนักงานสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พูดถึงค่ายกักกันในจีนนี้โดยเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ช่วงยุคเผด็จการฮิตเลอร์ในเยอรมนีและเผด็จการสตาลินในสหภาพโซเวียต รวมถึงประณามว่าการคุมขังชาวอุยกูร์เช่นนี้เป็น "หนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงที่สุดของโลกในทุกวันนี้"


เรียบเรียงจาก

Uyghur Inmates in Iconic Xinjiang Detention Camp Photo Identified, Radio Free Asia, 26-04-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net