Skip to main content
sharethis

แม้จะมีการโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมด้วยการรัฐประหารที่ซูดาน อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมประท้วงก็ยังคงปักหลักชุมนุมต่อ เพราะพวกเขาไม่ไว้ใจกองทัพและเห็นว่ากองทัพ "ขโมยการปฏิวัติ" โดยเรียกร้องให้คืนอำนาจสู่รัฐบาลพลเรือนโดยเร็วและรื้อถอน 'รัฐพันลึก' ในการเมืองซูดาน ด้านสหภาพแอฟริกัน (AU) ให้เวลา 15 วันคืนอำนาจแก่รัฐบาลพลเรือนและให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

พล.ต.อับเดล ฟาตาท์ อัล-บูรฮัน (ซ้าย) หัวหน้าคณะรัฐประหารซูดานอ่านแถลงการณ์ออกโทรทัศน์ และโอมาร์ อัลบาชีร์ (ขวา) อดีตประธานาธิบดีซูดานซึ่งครองอำนาจมา 30 ปี ที่มา: SudanTV/Wikipedia 

17 เม.ย. 2562 ในซูดานมีการประท้วงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะมีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเดิมซึ่งครองอำนาจมา 30 ปี แล้ว โดยที่ผู้ชุมนุมที่ยังปักหลักบอกว่าพวกเขาต้องการรื้อถอนสิ่งที่เรียกว่า "รัฐพันลึก" (deep state) ที่พวกเขาเชื่อว่ายังคงเป็นสิ่งที่ชักใยการเมืองซูดานอยู่แม้ว่าอดีตผู้นำโอมาร์ อัลบาชีร์ (Omar al-Bashir) จะถูกโค่นล้มแล้ว นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีรัฐบาลจากพลเรือนด้วย

มีเหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้นในซูดานตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. โดยเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องหลังจากที่ในเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีประชาชนประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี โอมาร์ อัลบาชีร์ ผู้ครองอำนาจมากว่า 30 ปี ฝ่ายสภากองทัพซูดานผู้ก่อการรัฐประหารนำโดย พล.ต.อับเดล ฟาตาท์ อัล-บูรฮัน (Abdel Fattah al-Burhan) จะสั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐบาลเดิมรวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยข่าวกรองคนใหม่เป็นฝ่ายของตัวเองเข้าประจำการ นอกจากนี้ยังมีการสั่งปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมในช่วงประท้วงบาชีร์ แต่ก็มีการจับกุมอดีตสมาชิกของรัฐบาลเดิมรวมถึงมีการระงับใช้รัฐธรรมนูญซูดานชั่วคราว

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมสลายตัว พวกเขายังคงปักหลักชุมนุมต่อไปนอกที่ทำการกองทัพในกรุงคาร์ทูมเมืองหลวงของซูดานเรียกร้องให้มีรัฐบาลพลเรือน ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับรัฐบาลอำนาจนิยมของอัลบาชีร์ โดยกลุ่มสหพันธ์เพื่อเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลงระบุว่าตั้งแต่วันเสาร์ที่่ผ่านมา (13 เม.ย.) มีการส่งตัวแทนผู้ประท้วง 10 ราย ไปยื่นข้อเรียกร้องของพวกเขาต่อผู้นำรัฐประหาร ทางกลุ่มยืนยันว่าควรจะเข้าร่วมกับสภาทหารด้วยและควรจะมีรัฐบาลพลเรือนดำเนินกิจการรายวันของประเทศ โอมาร์ อัลเดเกียร์ ประธานกลุ่มสหพันธ์ฯ กล่าวว่าผู้ประท้วงจะปักหลักชุมนุมต่อไปจนกว่าจะบรรลุตามข้อเรียกร้องทั้งหมด

ฝ่ายผู้นำกองทัพเคยประกาศก่อนหน้านี้ให้ซูดานอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินไปเป็นเวลา 3 เดือน และให้มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเป็นเวลาอีก 2 ปีก่อนจะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (14 เม.ย.) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของซูดานยังเรียกร้องให้นานาชาติ "เข้าใจสถานการณ์" และยอมรับรัฐบาลทหารของซูดานเพื่อ "ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย"

อย่างไรก็ตามกลุ่มประท้วงกลุ่มหลักอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มสภาวิชาชีพซูดาน (SPA) กล่าวยืนยันให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนโดยทันทีและบอกว่าจะปักหลักประท้วงบนท้องถนนต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการถ่ายโอนอำนาจสู่พลเรือน ซึ่งทางฝ่ายกองทัพแถลงเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนใหม่

อัมจัด ฟาริด โฆษกของ SPA กล่าวว่าพวกเขาต่อต้านการนำของสภากองทัพในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง และเรียกร้องให้มีการรื้อถอนรัฐพันลึกในซูดานรวมถึงถอดถอนหน่วยงานข่าวกรองของรัฐบาล

ทั้งนี้ในกรุงคาร์ทูมเมื่อวันพุธที่ 17 เม.ย. แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งสวมชุดกราวด์สีขาวเคลื่อนขบวนจากโรงพยาบาลและมานั่งประท้วงหน้าที่ทำการกองทัพ เพื่อตะโกนคำขวัญและชูป้ายที่เขียนว่า "เสรีภาพ สันติภาพ ความยุติธรรม" โดยที่นั่นมีผู้ชุมนุมหลายพันคนเห็นว่ากองทัพกำลังขโมยการปฏิวัติ พร้อมเรียกร้องทหารคืนอำนาจมาสู่พลเรือน

ขณะเดียวกันมีการยืนยันว่าตั้งแต่คืนวันที่ 16 เม.ย. ฝ่ายคณะรัฐประหารได้ย้ายสถานที่ควบคุมตัวอดีตผู้นำซูดาน โอมาร์ อัลบาชีร์ จากทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาร์ทูม ไปยังเรือนจำโคบาร์ (Kobar) ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราในกรุงคาร์ทูมประเมินว่าการควบคุมตัวอดีตผู้นำซูดานจะดำเนินต่อไป เนื่องจากคนใกล้ชิดอัลบาชีร์จำนวนหนึ่งยังคงถูกจับกุม อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนผู้ถูกจับกุม

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูกันดากล่าวว่ากำลังพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่โอมาร์ อัลบาชีร์ เนื่องจากบทบาทของเขาในการเจรจาสันติภาพให้กับเซาท์ซูดาน อย่างไรก็ตามศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็ต้องการตัวอัลบาชีร์ไปดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรสงคราม ต่อกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดาร์ฟูร์

อนึ่งเมื่อวันจันทร์นี้ (15 เม.ย.) สภาสันติภาพและความมั่นคงของสหภาพแอฟริกัน (AU) ได้ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลทหารซูดาน และขีดเส้นตายว่ามีเวลา 15 วันในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ซูดาน "จัดการเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม และโปร่งใส" โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทำไมผู้คนถึงประท้วงต่อต้านโอมาร์ อัลบาชีร์?

โอมาร์ อัลบาชีร์ เป็น ประธานาธิบดีผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามดาร์ฟูร์ซึ่งอัลบาชีร์ปฏิเสธในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามสาเหตุหลักที่เป็นชนวนในการประท้วงครั้งล่าสุดนี้คือปัญหาเศรษฐกิจของซูดานที่ทำให้ของขึ้นราคาอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้หญิงร่วมขบวนการประท้วงครั้งนี้มากถึงร้อยละ 70 ผู้หญิงเหล่านี้กล่าวว่าพวกเขาประท้วงทัศนคติแบบเหยียดเพศในซูดาน โดยซูดานมีสังคมแบบมุสลิมสายอนุรักษ์นิยมและมีการบังคับใข้กฎหมายชารีอะฮ์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนรุ่นเยาว์เป็นส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประท้วงแต่ก็มีประชากรจากช่วงวัยอื่นๆ ที่ร่วมชุมนุมเช่นกัน

การประท้วงเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมปี 2561 ในเมืองอัตบาราทางตะวันออกของประเทศ จากความไม่พอใจที่รัฐบาลสั่งขึ้นราคาขนมปัง 3 เท่า ซึ่งต่อมาการประท้วงก็ลุกลามไปยังที่อื่นๆ ของซูดาน จนกระทั่งถึงเมื่อวันที่ 6 เมษายนก็เริ่มมีการเดินขบวนไปที่หน้าฐานทัพซูดานเพื่อเรียกร้องให้มีการถอดถอนบาชีร์

อย่างไรก็ตามผู้ประท้วงก็ยังคงส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่พอใจที่จะมีรัฐบาลทหาร และถึงแม้จะมีการประกาศเคอร์ฟิว แต่ผู้ชุมนุมที่ยังคงปักหลักชุมนุมต่อไปซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยที่ผู้ประท้วงบอกว่าพวกเขายังคงระมัดระวังและไม่เชื่อใจรัฐบาลทหาร กลุ่ม SPA เปิดเผยว่าการรัฐประหารในครั้งนี้นำโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารไม่กี่คนที่อยู่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีพวกเขามองว่าคนเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย

อลาสแตร์ ลีตเฮด นักข่าวบีบีซีในแอฟริกาวิเคราะห์ว่า  แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาในซูดาน แต่ผู้ประท้วงก็ต้องการอะไรมากกว่านี้เพื่อให้ได้อนาคตของประเทศที่คุ้มค่าต่อการเสี่ยงของพวกเขา ขณะที่ฝ่ายทหารเองก็สุ่มเสี่ยงต่อการที่ผู้จะสูญเสียความเชื่อมั่นต่อพวกเขา ฝ่ายรัฐบาลทหารให้สัญญาว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุม ซึ่งถ้าหากพวกเขากลับคำพูดและใช้กำลังสลายการชุมนุมก็จะทำให้ความเชื่อใจต่อกองทัพที่เปราะบางอยู่แล้วแตกสลายไปได้ง่ายๆ

เรียบเรียงจาก

Sudan military leaders sack defence minister in purge of top officials, The Guardian, 14-04-2019

Sudan coup: Why Omar al-Bashir was overthrown, BBC, 15-04-2019

Sudan crisis: Protest leaders demand end of 'deep state', BBC, 15-04-2019

African Union sets deadline for Sudan power transfer, Aljazeera, 16-04-209

Sudan's military removes al-Bashir: All the latest updates, Aljazeera, 17-04-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net