Skip to main content
sharethis

สองผู้นำทหารซูดานกองทัพซูดาน อับเดล ฟัตตาห์ อัลเบอร์ฮาน และผู้บัญชาการกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) โมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล สู้รบกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 270 ราย ทั้งสองเคยร่วมกันรัฐประหารยึดอำนาจได้ในปี 2562 แต่ไม่อาจตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้นำภายใต้ขั้วอำนาจใหม่ นานาชาติเรียกร้องสันติ และขอให้ทหารปล่อยซูดานกลับมาสู่กระบวนการรัฐบาลพลเรือน

 

20 เม.ย. 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ว่ามีผู้คนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 270 ราย และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 2,600 ราย นับตั้งแต่ที่เกิดการสู้รบที่เมืองหลวงกรุงคาทูมต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังเกิดการพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลว ทำให้เกิดการสู้รบโดยมีคู่ขัดแย้งหลักๆ คือ ผู้นำกองทัพซูดาน อับเดล ฟัตตาห์ อัลเบอร์ฮาน กับผู้บัญชาการกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) โมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล

สองคนนี้เคยเป็นพันธมิตรกันมาจนถึงกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ พวกเขาเคยร่วมมือกันก่อรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดี โอมาร์ อัลบาชีร์ ในปี 2562 และมีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารอีกรอบหนึ่งในปี 2564 อย่างไรก็ตามเกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างทั้งสองคนในช่วงที่มีการเจรจาต่อรองในเรื่องการรวม RSF เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซูดานในฐานะแผนการส่วนหนึ่งเพื่อทำให้ซูดานกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือน แต่พวกเขาก็ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในลำดับขั้นทางอำนาจแบบใหม่นี้

สองผู้นำทหารสู้รบกัน ทุกข์ตกแก่ประชาชน

การแย่งชิงอำนาจของสองผู้นำกองกำลังทหารทำให้เกิดความเสียหายแม้แต่ในพื้นที่ของพลเรือน ทาฮานี อาบาส นักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงผู้อาศัยอยู่ใกล้กับศูนย์บัญชาการทหารกล่าวถึงสภาพการสู้รบว่า "พวกเขายิงกันบนท้องถนน มันกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในย่านที่อยู่อาศัยของประชาชน ... ไม่มีใครหลับลง เด็กร้องไห้และกรีดร้องทุกครั้งที่มีเสียงระเบิด"

อวาเดยา มาห์มูด โคโค ประธานสหภาพคนขายชาและคนทำงานด้านอาหารที่มีสมาชิกอยู่หลายพันคนเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในละแวกบ้านของเธอที่อยู่ทางตอนใต้ของคาร์ทูมว่า "มีการยิงปืนและการทิ้งระเบิดไปทุกที่" มีระเบิดลูกหนึ่งถูกทิ้งใส่บ้านใกล้กับเธอจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย พวกเธอไม่สามารถพาพวกเขาไปที่โรงพยาบาลหรือแม้กระทั่งฝังศพเพื่อนบ้านได้

ทั้งสองฝ่ายของความขัดแย้งต่างก็ใช้รถถัง, ปืนใหญ่ และอาวุธหนักอื่นๆ ในการห้ำหั่นกันในพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีการใช้เครื่องบินรบแล่นผ่านเหนือน่านฟ้า มีแสงจากกระสุนปืนใหญ่ยิงต่อสู้อากาศยานกระจายไปทั่วน่านฟ้าในตอนกลางคืน

การที่นายพลระดับสูงของประเทศสองนาย ที่บัญชาการให้กองทัพนับหมื่นติดอาวุธหนักสู้รบกันเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนต้องติดอยู่ภายในที่พักอาศัย หรือไม่ก็อาศัยหลบอยู่ในแหล่งพักพิงเท่าที่พวกเขาจะหาได้ โดยที่ในหลายพื้นที่เสบียงของประชาชนกำลังร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

 

นานาชาติเรียกร้องสันติ กลับมาสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือน

โฆษกสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส ประณามการสู้รบระหว่างสองฝ่ายนี้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาอยู่ในความสงบ และเจรจาเพื่อยุติวิกฤต กูแตร์เรสบอกอีกว่าการยกระดับการสู้รบจะยิ่งส่งผลกระทบเลวร้ายต่อพลเรือน และทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของซูดานที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม นอกจากนี้ยังเรียกร้องขอให้กลุ่มในภูมิภาคแอฟริกาด้วยกันช่วยส่งเสริมให้ซูดานกลับมาสันติและกลับสู่การเปลี่ยนผ่านไปเป็นรัฐบาลพลเรือนได้สำเร็จ

องค์กรสันนิบาตอาหรับจัดประชุมด่วนในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีอียิปต์และซาอุดิอาระเบีย เป็นผู้ขอให้เปิดการประชุม ทางกลุ่มเรียกร้องให้มีการหยุดยิงและให้มีการเจรจาสันติภาพเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพ

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงว่าการสู้รบส่งผลเสียต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของพลเรือนชาวซูดาน และเป็นการทำลายความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของซูดาน โดยมีการเรียกร้องให้ยุติความบาดหมางต่อกันโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ ให้ทั้งสองฝ่ายมีมาตรการลดความตีงเครียดรวมถึงทำให้แน่ใจว่าพลเรือนทุกคนจะปลอดภัย รวมถึงขอให้มีการเจรจากันเพื่อที่จะเป็นการสนับสนุนความต้องการประชาธิปไตยของประชาชนชาวซูดาน

ประเทศและองค์การอื่นๆ อย่าง จีน, รัสเซีย, อียิปต์, ซาอุดิอาระเบีย, คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น, สหภาพยุโรป และสหภาพแอฟริกา ต่างก็เรียกร้องให้ยุติความบาดหมางของคู่ขัดแย้งในซูดานเช่นกัน

ถึงแม้ว่า โฟลเกอร์ เพอร์เทส ผู้แทนสหประชาชาติต่อซูดานจะยืนยันเมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า อัลเบอร์ฮาน และดากาโล ยืนยันที่จะ "ยุติการสู้รบชั่วคราวด้วยสาเหตุเรื่องมนุษยธรรม" เป็นเวลา 3 ชั่งโมงในช่วงเย็น แต่สื่อเอพีก็รายงานว่ายังคงมีการทิ้งระเบิดและการสู้รบด้วยอาวุธปืนเกิดขึ้นในกรุงคาทูมหลังช่วงเข้าสู่ช่วงเวลากลางคืนแล้ว

 

ดากาโล กับ อัลเบอร์ฮาน คู่ขัดแย้งผู้ไต้เต้าสู้ตำแหน่งทางการทหาร

สื่อ CNN ระบุว่าการรัฐประหารโค่นล้ม อัลบาชีร์ ส่งผลสะเทือนต่อประเทศซูดานอย่างมาก อัลบาซีร์ เป็นผู้ที่ครองอำนาจในซูดานยาวนานเกือบ 30 ปี จนกระทั่งมีการประท้วงจากประชาชนในเรื่องที่ราคาขนมปังพุ่งสุงขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งทำให้เกิดการโค่นล้มบาชีร์ลงได้ หลังจากนั้นซูดานก็มีการปกครองร่วมกันโดยกองทัพซูดานและกลุ่มพลเรือนที่เป็นพันธมิตรกันแบบกระท่อนกระแท่น แต่พอถึงปี 2564 กองทัพซูดานก็ทำการยุบรัฐบาลร่วมของฝ่ายทหารกับฝ่ายพลเรือน

ฝ่ายกองกำลัง RSF เองก็เคยมีประวัติมือเปื้อนเลือดมาก่อน โดยที่ดากาโลเคยเป็นผู้นำของกองกำลังจันจาวีดที่อื้อฉาวซึ่งก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนและเหตุเลวร้ายในดาฟูร์เมื่อราว 20 ปีก่อนหน้านี้ แล้วต่อมาอัลบาชีร์ก็เปลี่ยนให้กองกำลังของดากาโลมาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานรัฐบาลซูดานในหลายชื่อ จนกระทั่งในปี 2556 อัลบาชีร์ ก็จัดตั้งกองกำลัง RSF ขึ้นแล้วให้ดากาโลดูแล กระทั่งในปี 2562 ดากาโลก็แปรพักตร์ต่ออัลบาชีร์ แต่ก่อนหน้านั้นกองกำลังของดากาโลก็ได้เปิดฉากยิงสังหารผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านอัลบาชีร์ จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 118 ราย

ในช่วงที่มีการโค่นล้มอัลบาชีร์นั้น อัลเบอร์ฮานดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ตรวจราชการ ของกองทัพซูดาน ประวัติของอัลเบอร์ฮานมีการไต่เต้าสู่อำนาจแบบเดียวกับดากาโล แล้วตัวเขาเองก็น่าจะรู้จักดากาโลกในช่วงความขัดแย้งดาฟูร์นั่นเอง

มีการตั้งข้อสังเกตจาก CNN อีกว่า กองกำลังของดากาโลและอัลเบอร์ฮานนั้นต่างก็ได้รับการหนุนหลังด้านอาวุธและการฝึกซ้อมรบจากรัสเซีย ก่อนที่จะมีแรงกดดันจากนานาชาติบีบให้อัลเบอร์ฮานประกาศไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ต่อการมีอยู่ของกองกำลังทหารรับจ้างแวกเนอร์ในซูดาน

 

นักวิเคราะห์ขอให้ประชาชนอย่าเลือกข้างพวกผู้นำกองทัพ ขออย่าทิ้งเป้าหมายรัฐบาลพลเรือน

มาร์วาน บิชารา นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการเมืองของอัลจาซีราระบุว่า ประเทศซูดานตกอยู่ภายใต้การรัฐประหาร (ทั้งการพยายามก่อ การก่อได้สำเร็จ การก่อไม่สำเร็จ) มาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดผลเสียหายต่อประชาชนที่ต้องดิ้นรนมากพออยู่แล้ว และทำให้ประเทศขาดเสถียรภาพมากขึ้นไปอีก แม้กระทั่งกลุ่มที่ไม่เคยชนะบนสนามรบกลับโจมตีประชาชนและสถาบันการเมืองของพลเรือน รวมถึงคอยปราบปรามพรรคการเมืองราวกับเป็นศัตรูของชาติเพียงเพราะต้องการรักษาอำนาจเอาไว้

บิชารา บอกว่า ในสภาพการสู้รบของขั้วอำนาจในตอนนี้ประชาชนซูดานไม่จำเป็นต้องไปเลือกข้างผู้นำกองทัพคนใดคนหนึ่ง แต่ขอให้มุ่งเป้าหมายไปที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และขอให้มีความหวังว่าหลังจากการสู้รบจบลงแล้วจะมีการยกเครื่องระบอบทหารในประเทศ ให้รัฐบาลพลเรือนคอยดูแลจัดการให้ทหารกลับเข้ากรมกองของตัวเองไป

 

 

เรียบเรียงจาก

Human Rights Groups Urge Ceasefire as Dozens Killed in Sudan, Truth Out, 16-04-2023

https://truthout.org/articles/human-rights-groups-urge-ceasefire-as-dozens-killed-in-sudan/

Rival generals are battling for control in Sudan. Here’s a simple guide to the fighting, CNN, 17-04-2023

https://edition.cnn.com/2023/04/16/africa/sudan-military-clashes-explained-intl/index.html

More than 180 people killed in Sudan fighting: UN envoy, Aljazeera, 17-04-2023

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/17/more-than-180-people-killed-in-sudan-fighting-un-envoy-to-sudan

Sudan’s tragedy: Rogue generals and failed coups, Aljazeera, 18-04-2023

https://www.aljazeera.com/opinions/2023/4/18/sudans-tragedy-rogue-generals-and-failed-coups

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net