Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เวทีเสวนา “ครูบาคติใหม่” คณะศิลปศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์

บ่ายวันนี้ (2 มีนาคม 2562) หลังจากนั่งฟังเสวนา “ครูบาคติใหม่” ผมมีคำถามหนึ่งคาใจที่อยากนำมาคิดต่อคือคำถามที่ว่า “ทำไมรัฐระแวงศาสนา” วิทยากรท่านหนึ่งตอบโดยอ้างความเห็นอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ประมาณ) ว่า รัฐระแวงศาสนาอยู่แล้ว เพราะศาสนามีมิติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ รัฐยอมให้อำนาจศาสนาเป็นคู่แข่งหรือเป็นอันตรายต่อรัฐไม่ได้ จึงต้องควบคุมศาสนาโดยมีจุดประสงค์หลักๆ 2 อย่าง คือ ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรม และป้องกันไม่ให้ศาสนากลายเป็นหอกข้างแคร่ที่อาจเป็นอันตรายต่อรัฐ

ถามต่อว่า ทำไมรัฐจึงต้องควบคุมศาสนาด้วยเหตุผลหลักสองอย่างนั้น ตอบตามข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ใช่รัฐทุกประเภทที่จะต้องควบคุมศาสนาด้วยเหตุผลหลักดังกล่าว เพราะสำหรับรัฐโลกวิสัย (secular state) ที่เป็นเสรีประชาธิปไตยไม่ได้ควบคุมศาสนาด้วยเหตุเช่นนี้เลย เพราะมันมี “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนคือ รัฐไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมือง และศาสนาก็แยกจากรัฐ-การเมือง 

จุดยืนของรัฐโลกวิสัยคือ “เป็นกลางทางศาสนา” ให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น ขณะเดียวกันกลุ่มศาสนาต่างๆ จะเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย “วาระทางศาสนา” ไม่ได้ เช่น เรียกร้องให้บัญญัติศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ, ให้บัญญัติกฎหมายเพื่อสิทธิพิเศษและผลประโยชน์ทางศาสนา หรือใช้ความเชื่อ, สัญลักษณ์ทางศาสนาในการหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ เป็นต้น

แต่รัฐไทยซึ่งจะเป็นรัฐโลกวิสัยก็ไม่ใช่ จะเป็นรัฐศาสนาก็ไม่เชิง ไม่มี “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนเช่นนั้น เพราะไม่แยกศาสนาจากรัฐ ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์รัฐ และเป็นฐานความชอบธรรมของอำนาจชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในแง่นี้ชนชั้นปกครองจึงใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองมายาวนาน

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่มี “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนในการแยกพื้นที่ สถานะ อำนาจ และบทบาทระหว่างศาสนากับรัฐ-การเมือง ก็จึงทำให้ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างไม่มีขอบเขตที่แน่นอน เช่น นักบวชและฆราวาสชุมนุมเรียกร้องสิทธิพิเศษ ผลประโยชน์ทางศาสนา สนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือชุมนุมร่วมกับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สนับสนุนนักการเมือง พรรคการเมือง ขวางการเลือกตั้ง (เป็นต้น) ก็ได้ 

ดังนั้น เมื่อว่าโดยธรรมชาติของรัฐคลุมเครือแบบไทย จึงเป็นรัฐที่ต้องระแวงศาสนาโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะในเมื่อรัฐต้องการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมือง รัฐย่อมต้องการให้กลุ่มศาสนาต่างๆ ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบความจงรักภักดีต่อรัฐ จะปล่อยให้กลุ่มทางศาสนาใดๆ มีการกระทำที่น่าสงสัยว่าเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ หรือสนับสนุนฝ่ายการเมืองตรงข้ามไม่ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อว่าโดยธรรมชาติของศาสนาในไทย (รวมพม่า ศรีลังกาเป็นต้น) ก็เป็นศาสนาที่ทำให้รัฐระแวงได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะเมื่อไม่มี “เส้นแบ่ง” ชัดเจนในเรื่องแยกศาสนาจากรัฐ-การเมือง ศาสนาก็สามารถเล่นการเมืองทั้งใต้ดิน บนดินทั้งในทางสนับสนุนอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายการเมืองอื่นๆ ก็ได้ ธรรมชาติของศาสนาเช่นนี้จึงอาจเป็นที่ระแวงของรัฐได้เสมอ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อมีการปฏิรูปการเมือง จึงมักควบคู่ไปกับการปฏิรูปศาสนาด้วย และมักจะเป็นไปในทางที่ชนชั้นปกครองกระชับอำนาจนำทางการเมืองและกระชับอำนาจควบคุมศาสนามากขึ้นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าศาสนายังสนับสนุนความชอบธรรมหรืออำนาจนำทางวัฒนธรรมของพวกเขา หรือควบคุมไม่ให้กลุ่มทางศาสนาใดๆ เป็นปฏิปักษ์ได้

แต่ที่น่าตกใจคือ กรอบคิดเรื่องการควบคุมศาสนา หรือระแวงศาสนาในปัจจุบันเป็นกรอบคิดที่เป็น “มรดก” ตกทอดจากโลกยุคเก่าที่ศาสนากับรัฐ-การเมืองไม่ได้แยกจากกัน หรือเป็นเนื้อเดียวกัน 

อันที่จริงแล้ว แรกเริ่มเดิมทีในโลกยุคเก่า ไม่เพียงแต่ศาสนาไม่ได้แยกจากรัฐ-การเมือง ศาสนายังไม่ได้แยกจากวิทยาศาสตร์และปรัชญาอีกด้วย เพราะเมื่อนักบวชตั้งหน้าตั้งตาจดบันทึกรายละเอียดการโคจรของดวงดาวบนท้องฟ้า ก็ไม่ใช่เพื่อการคำนวนทางโหราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการระบุฤดูกาล ภัยธรรมชาติ การเพาะปลูก ผลผลิตและอื่นๆ 

เมื่อเรามองไปที่ “ปิรามิด” ก็ไม่ได้เห็นเพียงอำนาจทางศาสนาที่สถาปนาฟาโรห์และพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นเทพผู้มีสิทธิ์เป็นอมตะในโลกหน้าเหนือมวลสามัญมนุษย์เท่านั้น แต่ปิรามิดที่ใหญ่โตอลังการอันเป็นที่ฝังศพของฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์นั้น ยังสะท้อนความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือผลงานด้านวิศวกรรมที่น่าตืนตาอีกด้วย การค้นพบยาดองศพไม่ให้เน่าเปื่อยหรือ “มัมมี่” ก็แสดงถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ อีกอย่างการรักษาแบบโบราณนั้นอาจมีทั้งการร่ายมนต์ พิธีกรรมทางศาสนา และการให้ยาสมุนไพร นั่นก็สะท้อนว่าศาสนา วิทยาศาสตร์ยุคแรกเริ่มดำเนินไปด้วยกัน 

แต่เมื่อถึงยุค “วิทยาศาสตร์สมัยใหม่” วิทยาศาสตร์จึงแยกตัวออกจากศาสนา เนื่องจากวิทยาศาสตร์เสนอ “ความจริง” เกี่ยวกับกำเนิดจักรวาลและมนุษย์ต่างออกไปจากความเชื่อในคัมภีร์ทางศาสนา แน่นอนว่า กว่าวิทยาศาสตร์จะแยกตัวเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำทางศาสนาได้ ก็มี “ราคาที่ต้องจ่าย” ทั้งอิสรภาพและชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ที่ขบถต่อศาสนาจำนวนไม่น้อย

ขณะที่ปรัชญาตะวันออกโดยเฉพาะปรัชญาอินเดียมักมีรากฐานจากศาสนา เหล่านักบวชคือผู้แต่งปรัชญากามสูตรไปจนถึงปรัชญาสังคมการเมืองและการสงคราม ปรัชญาจึงเป็นรองศาสนาหรือเป็น “งอกออกมา”จากศาสนามากกว่า แต่ที่จีนปรัชญากับศาสนาสนทนากันอย่างเท่าเทียมกว่า ส่วนโลกตะวันตกปรัชญากับศาสนาปะทะขัดแย้งกันตั้งแต่ยุคกรีก ยุคกลางศาสนานำปรัชญามารับใช้ ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ยุคสว่าง และยุคสมัยใหม่ปรัชญาคืนชีพมาตั้งคำถามกับศาสนาโดยมีวิทยาศาสตร์เป็นพันธมิตร จึงทำให้ทั้งปรัชญาและวิทยาศาสตร์แยกตัวจากอิทธิครอบงำของศาสนาได้สำเร็จ

เกิดการปะทะขัดแย้งทางความคิดความเชื่อจนนำไปสู่การปฏิวัติโครงสร้างการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนต้อง “แยกศาสนาจากรัฐ” รูปปธรรมก็คือ มีการนำหลักการโลกวิสัย คือหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมาใช้เป็นหลักการปกครองแทนหลักเทวาธิปไตยหรือหลักอำนาจเทวสิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา และแยกองค์กรศาสนาจากสถาบันที่มีอำนาจรัฐให้เป็นเอกชน 

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสามารถกำหนด “เส้นแบ่ง” ที่ชัดเจนว่า รัฐกับศาสนาจะไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกัน รัฐมีบทบาททางการเมืองการปกครองตามหลักการโลกวิสัย ศาสนาทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางจิตใจและศีลธรรมส่วนบุคคล ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องสาธารณะหรือการเมือง ดังนั้นรัฐกับศาสนาจึงตัดปัญหาเรื่องระแวงซึ่งกันและกัน

แน่นอนว่า การหลุดออกจากอิทธิพลครอบงำของศาสนาและอำนาจรัฐแบบยุคเก่าสู่การนำหลักปรัชญาโลกวิสัยมาเป็นหลักการปกครองในยุคสมัยใหม่ ย่อมมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ด้วยอิสรภาพและชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาลผ่านช่วงเวลายาวนายของการปฏิวัติดังกล่าว

แต่ในอีกด้านหนึ่งปรัชญาความคิดใหม่ๆ ก็ก้าวหน้าขึ้นทั้งจากการตีความแก่นสาระของศาสนาสนับสนุน และจากการโต้แย้งศาสนา ขณะเดียวกันเมื่อแยกศาสนาจากรัฐ ศาสนานิกายต่างๆ ก็ “ปฏิรูปตัวเอง” ให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะมีเสรีภาพทางศาสนามากขึ้นตามหลักการโลกวิสัย ดังนั้นถึงจะแยกศาสนาจากรัฐ ศาสนาก็ยังคงอยู่ และอยู่อย่างมีอำนาจครอบงำน้อยลง แต่ตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกบุคคลได้ดีกว่า

หากบ้านเราไม่แยกศาสนาจากรัฐ ก็ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างบทบาทของรัฐกับศาสนา รัฐก็ยังจะระแวงศาสนา พยายามควบคุมศาสนามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถาการณ์ที่ชนชั้นปกครองเห็นสมควร ส่วนศาสนาก็อาจกลายเป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงรัฐได้เสมอหากรัฐอ่อนแอลง ขณะเดียวกันศาสนาที่เป็นคู่แข่งก็ต่างระแวงกันและกัน เพราะแต่ละกลุ่มศาสนาต่างแข่งกันกันที่จะให้รัฐเพิ่มสิทธิพิเศษและผลประโยชน์ต่างๆ แก่ศาสนาตัวเอง

เปรีบบเทียบให้เห็นภาพคือ “ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ที่เสมือนมีรัฐซ้อนรัฐย่อมเป็นระบบที่เป็นรากฐานของความขัดแย้งทางการเมือง และการแบ่งฝ่ายประชาชน ส่วนระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ ไม่เป็นรัฐโลกวิสัย ก็คือระบบที่ทำให้รัฐระแวงศาสนา และศาสนาระแวงรัฐ หรือศาสนาคู่แข่งระแวงกันและกัน

จึงต้องสร้างระบอบเสรีประชาธิปไตยและเป็นรัฐโลกวิสัย จึงจะแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองแบบที่เป็นมาได้จริง และแก้ปัญหาความคลุมเครือในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาดังที่กล่าวมา(เป็นต้น)ได้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net