Skip to main content
sharethis

เผย 'เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย' จะได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี พ.ศ. 2562 นี้

3 มี.ค. 2562 เพจจากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุมcedaw เปิดเผยว่า ระบบจารีตประเพณีตามความเชื่อที่ว่า “ผู้หญิงต้องอาศัยผู้ชายเท่านั้น” เมื่อลูกสาวที่แต่งงานแล้วให้ย้ายออกจากผีเรือนและแซ่ (ตระกูล) ของพ่อไปเป็นสมาชิกของผีเรือนและแซ่ของสามีแทน เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาครอบครัว เช่น การหย่าร้าง ผู้หญิงต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้หญิงจะถูกปฏิเสธจากแซ่ของสามี และไม่สามารถกลับมาเป็นสมาชิกในผีเรือนและแซ่เดิมได้อีก เป็นความเชื่อท้องถิ่นที่หลักความเชื่อยังหลงเหลืออยู่ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ม้ง

ซึ่งหลักความเชื่อดังกล่าวนี้ “เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย” ได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้หญิงม้งจากหลายจังหวัดจำนวนนับพันคน ทำให้พบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหลากหลายรูปแบบที่เกิดจากวัฒนธรรมความเชื่อ และประเพณีท้องถิ่นต่อผู้หญิงดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว การเลือกปฏิบัติทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณต่อผู้หญิงที่หย่าร้าง ผู้หญิงหม้าย แม่เลี้ยงเดี่ยว รวมถึงเด็กที่เกิดจากแม่เลี้ยงเดี่ยว

“เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย” ได้ทบทวนบทเรียนการทำงานสิบปีที่ผ่านมา ทำการศึกษาวิจัยศึกษาด้วยตัวเองและได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้ข้อค้นพบสิ่งสำคัญที่เป็นกุญแจไขปริศนาทางความเชื่อธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวด้วยการทำ “พิธีกรรมผู่ (phum)” หรือ โครงการรับลูกสาวกลับบ้าน

โดยเครือข่ายฯ ทำงานร่วมกับผู้อาวุโสชายที่เป็นผู้นำทางพิธีกรรม ผู้รู้ประเพณีปฏิบัติ ผู้นำท้องถิ่นที่เข้าใจปัญหา รวมถึงผู้เป็นพ่อที่มีลูกสาวประสบปัญหา และกลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหาโดยตรง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ และความเชื่อทางประเพณีเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางเพศต่อผู้หญิงม้ง โดยการต่อสู้ของผู้หญิงม้ง เป็นการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยยึดหลักสันติวิธี จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างพลังอย่างยิ่งใหญ่ในพื้นที่

โดยมีครอบครัวที่นำพิธีกรรมผู่ไปใช้จำนวนมาก โดยปัจจุบันผู้หญิงมากกว่า 50 ครอบครัวที่เข้าร่วมพิธีนี้และมีหนึ่งตระกูลแซ่ที่ประกาศใช้พิธีกรรม "ผู่" อย่างเป็นทางการ มีสองตระกูลแซ่ประกาศใช้ในกลุ่มย่อยของตนเอง และเดือน ก.ย. 2560 เครือข่ายสตรีม้งฯ ได้ร่วมกับองค์กรชาวม้ง เช่น สมาคมม้ง เครือข่ายตระกูลม้ง (เครือข่าย 18 แซ่) ชมรมม้งต่าง ๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีชาวม้งเป็นผู้นำ ได้ร่วมกันผลักดันให้นำ “พิธีกรรมผู่” ไปใช้กับชุมชนชาวม้งอย่างเป็นรูปประธรรม โดยผู้นำม้งกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมลงลายมือชื่อบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเพื่อเป็นหลักฐานด้วย

ด้วยการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมอย่างเป็นรูปธรรม “เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย” จึงได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มี.ค. 2562 เวลา 10.30 น – 13.30 น. ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสตรีสากลประจำปี พ.ศ. 2562 ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มี.ค. 2562 เวลา 10.30 น – 13.30 น. ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปจะได้พบกับกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ

• การกล่าวเปิดงานโดย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้านสิทธิและความเสมอภาพทางเพศภาพ

• พร้อมร่วมรับฟังการปาฐกถาในหัวข้อ “มาตรการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• พบกับกล่าวแสดงความยินดีต่อบุคคล กลุ่มบุคคลที่ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดย Ms. Katia Chirizzi รองผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

• พบกับพิธีมอบเกียรติบัตร เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจในการขับเคลื่อนเพื่อความยุติธรรมในสังคมไทย โดยปีนี้มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติดังนี้ 1. เครือข่ายผู้หญิงกลุ่มรักษ์น้ำอูน 2. เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย 3. เครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4. มูลนิธิผู้หญิง 5. นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิแรงงานและแรงงานข้ามชาติ 6. นางพะเยาว์ อัคฮาด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม่ผู้เรียกร้องความยุติธรรม

• ร่วมรับชมวิดีโอ Presentation ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

• และร่วมรับฟังเวทีอภิปรายเรื่อง “การถอดบทเรียนจากประสบการณ์การต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ร่วมอภิปรายโดย ผู้ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2562 นำอภิปรายโดย นางสาวหทัยรัตน์ พหลทัพ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net