Skip to main content
sharethis

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างหนัก ขณะที่หลายหน่วยงานก็เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยมาตรการหลายอย่าง

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นมลพิษฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กจนสามารถเล็ดลอดขนจมูกและผ่านผนังปอดเข้าสู่ร่างกาย เข้าสู่เส้นเลือดฝอย กระจายไปตามอวัยวะได้ ฝุ่นนี้ยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งอื่น

ประชาชนต่างตระหนักรู้ถึงผลร้ายและคอยตรวจสอบข่าวสาร เพื่อจะพบว่าฝุ่นในเขตพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัยเกินค่ามาตรฐานวันแล้ววันเล่า แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่มีการกล่าวถึง “การป้องกันตัวเอง” เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากนัก

ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช กรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) กล่าวถึงแนวทางในการปฏิบัติตัวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะ ‘กลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม’ ที่มีสภาวะร่างกายอ่อนแอกว่าคนทั่วไป ดังนี้

1. ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้มักมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ

ข้อแนะนำ 1. งดกิจกรรมที่ต้องใช้แรงนอกบ้านทั้งหมด เช่น การออกกำลังกาย การท่องเที่ยว 2. อยู่แต่ภายในบ้าน การอยู่ในบ้านก็สามารถออกกำลังกายได้ 3. ตรวจสอบไม่ให้มีฝุ่นภายในบ้าน โดยไม่ใช้กวาดบ้านกวาดบ้านเพราะฝุ่นจะยิ่งฟุ้งกระจาย แต่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดฝุ่นแทน 4. ปิดประตูหน้าต่างกันฝุ่นจากภายนอก 5. ไม่จุดธูปเทียนในบ้าน ไม่ทำกับข้าวในครัวที่อยู่ภายในบ้าน เพราะงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวในบ้านอาจทำให้มีคุณภาพอากาศแย่กว่าข้างนอกด้วยซ้ำไป 6. ถ้ามีหน้ากากกันฝุ่นก็ควรใส่ไว้แม้อยู่ในบ้าน เพราะเราไม่สามารถปิดประตูหน้าต่างตลอดเวลา ยกเว้นว่าเป็นบ้านที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 7. หากมียาที่ต้องทานประจำก็ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับทานอย่างน้อย 1 สัปดาห์

2. เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 10 ปี เด็กเมื่อคลอดออกมาจะมีภูมิคุ้มกันจากแม่จนถึง 5 ขวบเท่านั้น หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันจะลดลง เราจึงพบว่าหลัง 5 ขวบเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารได้ง่าย และการศึกษาพบชัดเจนว่า ฝุ่นไปกระตุ้นโรคทางเดินหายใจให้เกิดได้ง่ายกว่าปกติ

ข้อแนะนำ การปฏิบัติตัวคล้ายกับผู้สูงอายุ อย่าออกกำลังกายนอกบ้าน กำจัดฝุ่นในบ้าน ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยยังไม่จำเป็นมากในเด็กและหน้ากากไซส์เล็กก็ค่อนข้างหายาก แนะนำให้ใช้เท่าที่จำเป็นเมื่อต้องเดินทางข้างนอก

3. หญิงมีครรภ์ มีการศึกษาชัดเจนว่า ฝุ่นนี้จะทำให้เด็กในท้องเกิดภาวะการเจริญเติบโตช้า มีน้ำหนักน้อยกว่าเด็กปกติในอายุครรภ์เท่ากัน เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีโรคอื่นๆ ตามมามากมาย ทั้งโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และเกี่ยวข้องกับออทิสซึ่มด้วย

ข้อแนะนำ การปฏิบัติตัวก็คล้ายกับกรณีผู้สูงวัย

4. ผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากคือ ผู้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ฝุ่นจะซ้ำเติมให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น

ข้อแนะนำ นอกจากจะปฏิบัติตัวตามที่กล่าวไป สิ่งที่ต้องเตรียมไว้คือ อุปกรณ์เกี่ยวกับการช่วยชีวิตทั้งหลาย เช่น ถังออกซิเจน หรือเตรียมยาพ่นสำหรับผู้ป่วยหอบหืด โดยเตรียมล่วงหน้าให้ใช้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์  หากใช้ตามปกติแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นไข้หวัด ขอให้ไปพบแพทย์โดยไม่ลังเล

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่หน่วยงานต่างๆ ใช้แก้ปัญหาเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การติดตั้งเครื่องพ่นน้ำตามตึกสูง แม้มีการนำเสนอตัวเลขว่าลดฝุ่นได้มาก แต่หากดูข้อมูลนานาชาติหรือกรณีที่เกิดในจีนพบว่ามันช่วยลดได้เพียง 5-10% เท่านั้น เป็นต้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การหามาตรการแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาว

นพ.วิพุธ ยกตัวอย่างการจัดการปัญหาในประเทศจีนว่า เมื่อเกิดปัญหามลภาวะเกินขีดมาตรฐานไปมาก ก็จะมีการบังคับให้โรงงานที่ใช้น้ำมันดีเซลขับเคลื่อนเครื่องจักรหยุดการผลิต อาจจะเริ่มต้นที่ 1 สัปดาห์ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวออกไปต้องมีการควบคุมจริงจัง ประเทศไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในการควบคุมฝุ่น PM10 ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเน้นการตรวจสภาพเครื่องยนต์ของรถที่จะต่อทะเบียน ดังนั้น หากตรวจสอบไปได้ถึง PM2.5 ด้วยก็เท่ากับเป็นมาตรการเชิงนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว

“โรงไฟฟ้าจากถ่านหินก็เป็นสาเหตุของ PM2.5 มากพอสมควร เราจึงต้องกำกับควบคุมพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน การจัดการกับ air pollution ที่ออกมาจากโรงงานอาจจะเพิ่มต้นทุนให้โรงงาน แต่หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ต้นทุนดังกล่าวก็จะตกที่สังคมดังที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้

การตรวจวัด PM2.5 ที่ทำกันอยู่นี้ ในแง่หนึ่งก็นับเป็นเรื่องดีเพราะมันจะเป็นตัวกระตุ้นทางนโยบาย การต่อสู้กับโรงงาน ในอดีต เราไม่เคยพูดถึงกันว่าประเทศหรือท้องถิ่นมีสมรรถนะในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากมลพิษเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าไม่มีวิกฤตการณ์ขึ้นมา ก็ยากที่จะกระตุกสังคมไทย” นพ.วิพุธ กล่าว

ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ เห็นว่า ประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาคือการควบคุมการเผาชีวมวลอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2560 พบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มากที่สุด คือ การเผาชีวมวล ประมาณ 38% ซึ่งการเผาดังกล่าวมักเกิดขึ้นในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ อันดับสองคือ ท่อไอเสียรถยนต์ อันดับสามคือ ฝุ่นทุติยภูมิ เกิดจากฝุ่นสองแหล่งแรก ทำปฏิกิริยากันแล้วเกิดฝุ่นชนิดใหม่ซึ่งก็อันตรายพอกัน ข้อแนะนำคือ จัดให้มี call center เหมือนภาคเหนือ เมื่อมีการแจ้งเข้ามาว่ามีการเผาที่ไหนก็มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปดับไฟทันทีตลอด 24 ชม.

ด้านประธาน HIA Commission กล่าวทิ้งท้ายว่า ในระยะยาว ขอให้ประชาชนและผู้ออกแบบนโยบายอย่าลืมว่าเรื่องนี้ต้องแก้เชิงโครงสร้างในการผลิตทางอุตสาหกรรม การขนส่ง การวางผังเมือง

“มีนาคม ลมว่าวมา ปัญหา PM2.5 ก็จะเบาบาง เราอย่าลืมเรื่องนี้ และต้องวางแผนแก้ระยะยาว ทำยังไงที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” นพ.วิพุธ กล่าว

มาตรการระยะกลาง – ระยะยาวของรัฐบาล

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562

มาตรการระยะกลาง (พ.ศ. 2562 - 2564) 
เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดย
- ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm
- พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ
- เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ
- พิจารณาปรับวิธีการและปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ และการควบคุมเป็นระบบ Single Command

มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) 
เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดย
- ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO 6
- กำหนดให้มีการติดตั้ง Diesel Particulate Filter (DPF) ในรถดีเซลเพิ่มเติม
- ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์
- พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่
- กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA
- กำหนดให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ของโครงการหรือพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา
- ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
- ศึกษาความเหมาะสมในการสร้าง/ติดตั้งหอคอยฟอกอากาศขนาดใหญ่ บูรณาการงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศเพื่อขับเคลื่อนระดับนโยบาย
- ปรับปรุง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม (Clean Air Act)
- ปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ WHO IT-3

นอกจากนี้ให้มีกลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยสั่งการตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อจัดการปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และให้จังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/cabt/2950136

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net